มงคลชีวิต 38 ประการ | ๗. เป็นพหูสูตร
ธรรมคือแรงใจ
96 ธรรมคือแรงใจ
จิตเดิมแท้ของเรานั้นทุกคนนั้นมาจากธรรมชาติอันบริสุทธิ์
๗. เป็นพหูสูตร
พหูสูต หมายถึง "ความเป็นผู้ฉลาดรู้" คือผู้ที่รู้จักเลือกในสิ่งที่ควรรู้ เป็นผู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมามาก ได้ยินได้ฟังมามาก และเป็นคนช่างสังเกต ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้เป็นต้นทางแห่งปัญญา ทำให้เกิดความรู้สำหรับบริหารงานชีวิตและเป็นกุญแจไขไปสู่ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และทุกสิ่งที่ เราปรารถนา

ความแตกต่างระหว่างบัณฑิตและพหูสูต
บัณฑิต คือ ผู้มีคุณธรรมประจำใจ มีความประพฤติดีงาม ไม่ว่าจะมีความรู้มากหรือน้อยก็ตาม บัณฑิตจะใช้ความรู้นั้น ๆ สร้างประโยชน์แก่ตนเอง และผู้อื่นอย่างเต็มที่ เป็นผู้ที่สามารถเอาตัวรอดได้แน่นอน ไม่ตกไปสู่อบายภูมิเป็นอันขาด
พหูสูต คือ ผู้มีความรู้มาก แต่คุณธรรมความประพฤติยังไม่แน่ว่าจะดียังไม่แน่ว่าจะดี ยังไม่แน่ว่าจะเอาตัวรอดได้ ถ้าใช้ความรู้ที่มีอยู่ไปทำชั่ว เช่น เอาความรู้เคมีไปผลิตเฮโรอีน ก็อาจตกนรกได้

ลักษณะของพหูสูต คือ
๑. รู้ลึก หมายถึง รู้เรื่องราวไปหาเหตุในอดีต ลึกซึ้งถึงความเป็นมา เช่น แพทย์เมื่อเห็นอาการก็สามารถรู้ว่าเป็นโรคอะไรรู้ไปถึว่าที่เป็นโรคนี้เพราะเหตุใด หรือช่างเมื่องเห็นอาการเครื่องยนต์ที่เสียก็สามารถบอกได้ทันทีว่าเครื่องนั้นเสียที่ไหน เป็นเพราะอะไร เป็นต้น
๒. รู้รอบ หมายถึง ช่างสังเกต รู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว  สภาพภูมิประเทศดินฟ้าอากาศ ผู้คนในชุมชน ความเป็นไปของเหตุการณ์ต่าง ๆ รอบตัว สภาพภูมิประเทศ ดินฟ้าอากาศ ผู้คนในชุมชน ความเป็นไปของเหตุการณ์ต่าง ๆ รอบตัว สิ่งที่ควรรู้ต้องรู้
๓. รู้กว้าง หมายถึง สิ่งรอบตัว แต่ละอย่างที่รู้ก็รู้อย่างละเอียดรู้ถึงความเกี่ยวพันของสิ่งนั้นกบสิ่งอื่น ๆ ด้วย คล้ายรู้รอบแต่เก็บรายละเอียดมากขึ้น
๔. รู้ไกล หมายถึง มองการณ์ไกล รู้ถึงผลที่จะตามมาในอนาคต เช่น เห็นสภาพดินฟ้าอากาศก็รู้ทันทีว่าปีนี้พืชผลชนิดใดจะขาดแคลน เห็นพฤติการณ์ ของผู้ร่วมงานไม่น่าไว้วางใจก็รู้ทันทีว่า เขากำลังจะคิดไม่ซื่อ เห็นตนเองเริ่มย่อหย่อนต่อการปฏิบัติธรรมก็รู้ทันทีว่าถ้าทิ้งไว้เช่นนี้ต่อไปตนก็จะเสื่อมจากกุศลธรรม ฯลฯ
ผู้ที่ประกอบด้วยความรู้ ๔ ประการนี้ ทั้งทางโลกและทางธรรมจึงจะเป็นพหูสูตที่แท้จริง

คุณสมบัติของพหูสูต หรือนักเรียน นักศึกษาที่ดี
    ๑.พหุสฺสุตา ความตั้งใจฟัง คือมีนิสัยชอบฟัง ชอบอ่าน ชอบค้นคว้า ยึดหลัก "เรียนจากครู ดูจากตำรับ สดับปาฐะ"
    ๒.ธตา ความตั้งใจจำ คือมีความจำดี รู้จักจับสาระสำคัญ จับหลักให้ได้ แล้วจำได้แม่นยำ คนที่ความจำไม่ดี เพราะภพในอดีตชอบพูดปด ดื่มสุรามาก ฯลฯ ดังนั้น ถ้าในชาตินี้เลิกดื่มสุรา เลิกพูดปดและพยายามบ่อย ๆ หมั่นจดหมั่นเขียนบ่อย ๆ ไม่ช้าก็จะเป็นผู้มีความจำดี
    ๓.วจสา ปริจิตา ความตั้งใจท่อง คือต้องฝึกท่องให้คล่องปากท่องจนขึ้นใจ จำได้คล่องแคล่วจัดเจน ไม่ต้องพลิกตำรา โดยเฉพาะพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นความจริงแท้แน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลง ควรท่องไว้ให้ขึ้นใจทุกข้อกระทงความให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ส่วนวิชาการทางโลกยังมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ เพราะยังไม่มีใครรู้จริง จึงควรท่องเฉพาะที่สำคัญ และหมั่นคิดหาเหตุผลด้วย
    ๔.มนสานุเปกขา ความตั้งใจขบคิด คือใส่ใจนึกคิด ตรึกตรองสาวเหตุสาวผลให้เข้าใจตลอด พิจารณาให้เจนจบ นึกถึงครั้งใดก็เข้าใจปรุโปร่งหมด
    ๕.ทิฏฐิยา สุปฏิวิทฺธา ความแทงตลอดด้วยปัญญา คือเข้าใจแจ่มแจ้งทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ความรู้กับใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อย่างไรก็ตามตราบใดที่ยังไม่ได้ฝึกสมาธิอย่างจริงจังคุณสมบัติข้อนี้ จะเกิดไม่เต็มที่

ลักษณะผู้ที่เป็นพหูสูตไม่ได้
๑.คนราคจริต คือ คนขี้โอ่ บ้ายอ เจ้าแง่แสนงอน รักสวยรักงาม พิถีพิถันจนเกินเหตุ มัวแต่งอน มัวแต่แต่งตัวจนไม่มีเวลาท่องบ่น ค้นคว้าหาความรู้ พวกนี้แก้โดยให้หมั่นนึกถึงความตาย พิจารณาซากศพอสุภะเนือง ๆ
๒.คนโทสจริต คือ คนขี้โมโห ฉุนเฉียว โกรธง่าย ผูกพยาบาทมากมัวแต่คิดโกรธแค้นจนไม่มีเวลาไตร่ตอง พวกนี้แต้โดยให้หมั่นรักษาศีลและแผ่เมตตาเป็นประจำ
๓.คนโมหจริต คือ คนสะเพร่า ขี้ลืม มักง่าย ทำอะไรไม่พยายามเอาดีสักแต่ให้เสร็จ สติไม่มั่นคง ใจกระด้างในการกุศล สงสัยในพระรัตนตรัยว่ามีคุณจริงหรือไม่ พวกนี้แก้โดยให้หมั่นฝึกสมาธิอย่างสม่ำเสมอ
๔.คนขี้ขลาด คือ พวกขาดความเชื้อมั่นในตนเอง ไม่กล้าลงมือทำอะไร กลัวถูกติ คอยแต่จะเป็นผู้ตาม ไม่มีความคิดริเริ่ม พวกนี้แก้โดยให้คบกับคนมาตรฐาน คือ คบบัณฑิต จะอ่าน จะทำอะไรก็ให้จับให้ทำแต่สิ่งที่เป็นมาตรฐานไม่สักแต่ว่าทำ
๕.คนหนักในอามิส คือ พวกบ้าสมบัติ ตีค่าทรัพย์ว่ามากกว่าความรู้ทำให้ไม่ขวนขวายในการแสวงหาปัญญาเท่าที่ควร
๖.คนจับจด คือ พวกทำอะไรเหยาะแหยะไม่เอาจริง
๗.นักเลงสุรา คือพวกขี้เมา ขาดสติ หมดหนทางที่จะเรียนรู้
๘.คนที่มีนิสัยเหมือนเด็ก คือ พวกชอบเอิกเกริกสนุกเฮฮาจนเกินเหตุ ไม่มีความรับผิดชอบ

วิธีฝึกตนเองให้เป็นพหูสูต
๑. ฉลาดเลือกเรียนแต่สิ่งที่ควร
๒. ตั้งใจเรียนวิชาที่ตนเลือกอย่างเต็มความสามารถ
๓. มีความกระตือรือร้นที่จะศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ
๔. เมื่อเรียนแล้วก็จำไว้เป็นอย่างดี พร้อมจะนำความรู้ที่ได้ไปใช้ได้ทันที

ข้อเตือนใจ
    ถ้ามีความรู้ทางโลกอย่างเดียว ไม่ว่าตนเองจะเป็นคนฉลาดเพียงใดก็มีโอกาสพลาดพลั้งได้ เช่น มีความรู้เรื่องปรมาณู อาจนำไปใช้ในทางสันติเป็นแหล่งพลังงาน หรือนำไปสร้างระเบิดทำลายล้างชีวิตมนุษย์ก็ได้ เราจึงต้องศึกษาความรู้ทางธรรมไว้คอยกำกับความรู้ทางโลกด้วย ควารู้ทางธรรมะจะเป็นเสมือนดวงประทีปส่องให้เห็นว่า สิ่งที่กระทำนั้นถูกหรือผิด ควรหรือไม่ควร
ผู้ที่คิดแต่จะตักตวงความรู้ทางโลก แม้จะฉลาดร่ำรวยมีอำนวจสักปานใดก็ไม่น่ารัก ไม่น่าเคารพ ไม่น่ายำเกรง ไม่น่านับถือ ยังเป็นบุคคล ประเภทเอาตัวไม่รอด
โปรดจำไว้ว่า "ความรู้ที่เกิดแก่คนพาล ย่อมนำความฉิบหายมาให้ เพราะเขาจะนำความรู้ไปใช้ในทางที่ผิด ๆ"  เราทุกคนจึงควรจะแสวงหาโอกาสศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรมและรู้ให้ลึกซึ้งเกินกว่า การงานที่ตนตับผิดชอบ ความรู้ที่เกินมานี้ จะเป็นเสมือนดวงประทีป ส่องให้เห็นทางเบื้องหน้าที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้โดยง่าย

อานิสงส์การเป็นพหูสูต
๑.ทำให้เป็นที่พึ่งของตนเองได้
๒.ทำให้ได้ความเป็นผู้นำ
๓.ทำให้แกล้วกล้าองอาจในทุกที่ทุกสถาน
๔.ทำให้บริบูรณ์ด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ สุข
๕.ทำให้ได้รับคำชมเชย ได้รับความยกย่องเกรงใจ
๖.ไม่มีใครแย่งชิงได้ เป็นสหชาติปัญญาติดตัวข้ามภพข้ามชาติไป
๗.เป็นพื้นฐานของศิลปะ และความสามารถอื่น ๆ ต่อไป
๘.ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้โดยง่าย    
"แสงสว่างเป็นสิ่งจำเป็นในการเดินทางไกลฉันใด ความเป็นพหูสูตก็เป็นสิ่งจำเป็นในการบุกเบิกสร้างความเจริญให้แก่ชีวิตฉันนั้น"