ทำไมจึงต้องบำเพ็ญตบะ ?
ผ่านบันไดชีวิตมาแล้ว ๓๐ ขั้น เราจะพบว่านิสัยไม่ดีความประพฤติที่ไม่ดีของตัวเราที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นยังมีอยู่อีกมาก บางอย่างที่เราได้พยายามแก้ไขปรับปรุงแล้วมันก็ดีขึ้นตามลำดับ เคยมีโกรธ เห็นแก่ตัว ขี้อิจฉา โอหัง ฯลฯ ก็ดีขึ้นแล้ว แต่อีกหลายๆ อย่างทั้งที่พยายามแก้ไขแล้วแต่ก็ยังไม่หายอยู่ดี เช่น กามกำเริบ รักสวยรักงาม รักความสะดวกสบายจนเกินเหตุ ง่วงเหงา ซึมเซา ท้อถอย ฟุ้งซ่าน รำคาญใจ ฯลฯ เราจึงต้องหาวิธีที่รัดกุมยิ่งๆ จึ้นไปอีกมาจัดการแก้ไข แต่สิ่งที่ควรจำไว้ก่อน คือ
๑.เหตุแห่งความประพฤติไม่ดีทั้งหลาย ล้วนเกิดมาจากกิเลสที่ซุกซ่อนอยู่ในใจเรา
๒.เหตุที่ทำให้กำจัดกิเลสยาก เป็นเพราะ
๒.๑ เรามองไม่เห็นตัวกิเลส อย่างมากก็เพียงแค่เห็นอาการของกิเลสทำให้ไม่รู้จักกิเลสดี บางคราวถูกกิเลสโจมตีเอาแล้วก็ยังไม่รู้ตัว
๒.๒ ใจของเราคุ้นเคยกับกิเลสมาก เหมือนเสือคุ้นป่า ปลาคุ้นน้ำ ปลาพอถูกจับพ้นน้ำแล้วมันจะดิ้นรนสุดชีวิต จะกลับมาลงน้ำให้ได้ คนส่วนใหญ่ก็เหมือนกัน รู้สึกว่าการมีกิเลสเป็นของธรรมดา รักกิเลส พวกขี้เมาติดเหล้าเสียแล้ว ใครไปดึงขวดเหล้าออก เดี๋ยวเถอะได้ตามฆ่ากันเลย “อุ๊ยไม่ได้ ไม่ได้ ไอ้ขวดเหล้านี้มันเป็นกล่องดวงใจของฉันเชียวนะ” มันไม่ยอมหรอก หรือบางคนใครทำอะไรขัดใจหน่อยก็โกรธพูดจาโผงผางไปเลย แล้วก็ภูมิใจ “เออ มันต้องให้รู้ซะบ้าง ไม่งั้นหนอยแน่ะ ไม่เกรงใจเราเลย”ภูมิใจในความมีกิเลสของตัวเองเป็นเสียอย่างนี้
๒.๓ เรายังขาดวิธีที่เหมาะสมไปกำจัดกิเลส ตราบใดพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่บังเกิดขึ้น เราก็ยังไม่รู้วิธีกำจัดกิเลส บางศาสนา บางลัทธิเขารู้ว่ากิเลสมี แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร แก้ไม่ตก หาทางออกไม่เป็นเรื่อง บูชาไฟบ้าง กราบไหว้อ้อนวอนเทพเจ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ้บ้าง
ในมงคลนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนวิธีกำจัดกิเลสที่เหมาะสมและได้ผลเด็ดขาด เฉียบพลันให้กับเรา โดยถือหลักว่า “หนามยอกต้องเอาหนามบ่ง”
เมื่อกิเลสมันเผาใจเราให้รุ่มร้อน เราก็ต้องเอาไฟไปเผากิเลสบ้าง แต่เป็นการเผาไฟภายในเผา วิธีการที่เอาไฟภายในเผากิเลสในตัวเองนี้เราเรียกว่า "ตบะ"
ตบะ แปลว่า ทำให้ร้อน หมายความรวมตั้งแต่ การเผา ลน ย่าง ต้ม ปิ้ง อบ คั่ว ผิง อะไรก็ได้ที่ทำให้ร้อน
บำเพ็ญตบะ จึงหมายถึง การทำความเพียรเผาผลาญความชั่ว คือกิเลสทุกชนิดให้ร้อนตัวทนอยู่ไม่ได้ เกาะใจเราไม่ติด ต้องเผ่นหนีไปแล้วใจของเราก็จะผ่องใส หมดทุกข์
การที่เราจะขับไล่สิ่งใด เราก็จะต้องทำทุกอย่างที่ฝืนความต้องการของสิ่งนั้น เหมือนการไล่คนออกจากบ้าน เขาอยากได้เงินเราก็ต้องไม่ให้ อยากกินก็ไม่ให้กิน อยากนอนก็ไม่ให้นอน คือ ต้องฝืนใจเขาจึงจะออก การไล่กิเลสออกจากใจก็เหมือนกัน หลักปฏิบัติอันสำคัญคือ ต้องฝืนความต้องการของกิเลส
ประเภทของการบำเพ็ญตบะ
การไล่คนออกจากบ้านนั้นมีหลายขั้น จะค่อยๆ ขัดใจทีละนิดให้เขาทนไม่ได้แล้วออกไปก็ได้ หรือจะไล่ตะเพิดกันจริงๆ ก็ได้ทันใจดีเหมือนกัน
การฝืนความต้องการของกิเลสเพื่อไล่กิเลสออกจากใจก็ในทำนองเดียวกัน คือ สามารถแบ่งออกได้เป็น ๒ แบบ ดังนี้
๑.ประเภทสัลเลขะ เป็นการฝืนกิเลส กำจัดกิเลสแบบค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆ ขัดเกลากันไป เช่น
ความต้องการของกิเลส สัลเลขะปฏิบัติ
โลภ ให้ทาน
ขี้เกียจ ขยันทำ
เห็นแก่กิน งดอาหารยามวิกาล
ชอบเจ้าชู้ งดเสพเมถุน
ชอบโกรธคนอื่น แผ่เมตตา
ฯลฯ ฯลฯ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ข้อธรรมในศาสนาของพระองค์ล้วนเป็น “สัลเลขธรรม” ทั้งสิ้น (ยกเว้นธุดงค์) ถือเป็นวิธีปฏิบัติเพื่อกำจัดกิเลสทุกข้อ เพราะฉะนั้น เมื่อใครตั้งอยู่ในธรรมข้อไหน ก็จัดเป็นการบำเพ็ญตบะขั้นต้นอยู่แล้วในตัว
๒.ประเภทธุตังคะ เป็นการฝืนกิเลส กำจัดกิเลสแบบหักโหมรุนแรงได้ผลทันตาเห็น ใช้ปฏิวัติอุปนิสัยได้รวดเร็วเฉียบพลัน ผู้ปฏิบัติต้องมีขันติมีความเพียรสูง จึงจะทำได้แต่ให้ผลน่าชื่นใจ พระภิกษุที่บำเพ็ญธุดงควัตรเราเรียกท่านว่า พระธุดงค์ แต่ธุดงควัตรนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะพระภิกษุ แม้ฆราวาสก็ปฏิบัติได้เป็นบางข้อ ธุดงค์มีข้อปฏิบัติรวม ๑๓ ข้อ แบ่งเป็น ๔ หมวดให้เลือกปฏิบัติได้ตามกำลังศรัทธา คือ
หมวดที่ ๑ เกี่ยวกับเครื่องแต่งตัว
๑.ใช้แต่ผ้าบังสุกุลที่ชักมาได้เท่านั้น แม้จะได้มาทางอื่น เช่นมีคนถวายให้ด้วยมือก็ไม่ใช้
๒.ใช้เฉพาะผ้าไตรจีวรเพียง ๓ ผืนเท่านั้น คือ มีสบง จีวร สังฆาฏิ อย่างละผืน ใช้ผ้าอื่นๆ อีกนอกจาก ๓ ผืนนี้ไม่ได้
เราลองคิดดู ทำถึงขั้นนี้แล้ว กิเลสมันจะร้อนตัวสักแค่ไหน คนนิสัยขี้โอ่อวดมั่งอวดมี รักสวยรักงามพิถีพิถันกับเครื่องแต่งตัวจนเกินเหตุ ชนิดที่เสื้อผ้าเป็นตู้ๆ ก็ยังไม่พอใจนั้นเจอธุดงค์สองข้อนี้เข้าก็สะอึกแล้ว
หมวดที่ ๒ เกี่ยวกับการกิน
๑.ฉันแต่อาหารที่บิณฑบาตมาได้เท่านั้น ใครจะใส่ปิ่นโต ใส่หม้อแกงมาถวายที่วัดก็ไม่ฉัน บิณฑาตมาได้เท่าไรก็ฉันเท่านั้น
๒.เดินบิณฑบาตไปตามแนวที่กำหนดไว้เท่านั้น ตั้งใจไว้ว่าจะไปทางไหนก็ไปทางนั้น ไม่ใช่มานึกๆ เอาว่าไปทางนั้นจะได้มากทางนี้จะได้น้อยเลยเปลี่ยนทางเดินอยู่เรื่อย อย่างนั้นไม่ได้
๓.ฉันหนเดียว คือ วันหนึ่งฉันอาหารมื้อเดียว ที่เราเรียกกันว่าฉันเอกา
๔.ฉันสำรวม คือ ฉันอาหารในบาตร ไม่ใช้ภาชนะอื่นเอาอาหารทั้งหมดทั้งคาวทั้งหวาน ใส่ลงรวมกันในบาตรแล้วฉัน
๕.เมื่อลงมือฉันแล้วไม่รับประเคนอีก ใครจะนำอาหารมาถวายให้อีกก็ไม่รับ
ทั้งห้าข้อนี้เป็นตบะเกี่ยวกับการกิน ใช้แก้นิสัยตามใจปากตามใจท้องไม่ต้องพูดถึงว่าจะลักเขากินโกงเขากิน แม้แต่ของที่ได้มาดีๆ นี่แหละ ก็ตัดความฟุ้งเฟ้อลง พวกนิสัยกินจุบกินจิบจะกินนั่นจะกินนี่พิรี้พิไรไม่รู้จักกระเป๋าของตนเอง ตลอดจนกิเลสประเภทที่ยุใจเราให้ทำผิดเพราะเห็นแก่ปากแก่ท้อง พอเจอธุดงค์ ๕ ข้อ นี่เข้าก็งง
หมวดที่ ๓ เกี่ยวกับที่ยู่อาศัย
๑.อยู่ในป่านอกละแวกบ้านเท่านั้น ไม่มาอาศัยอยู่ตามแหล่งชุมชน
๒.อยู่ตามร่มไม้เท่านั้น ไม่อาศัยอยู่ในเรือนโรง ไม่อาศัยนอนในกุฏิ ศาลา ปักกลดนอนใต้ร่มไม้กันเลย
๓.อยู่กลางแจ้งเท่านั้น ในกุฏิก็ไม่นอน ใต้ร่มไม้ก็ไม่นอนกันล่ะ ปักกลดนอนกลางแจ้งกันเลย
๔.อยู่ในป่าช้าเท่านั้น เข้าปักกลดนอนในป่าช้ากันเลยจะนั่งนอนบนหลังโลงศพ หรือปักกลดนอนใต้ต้นไม้ในป่าช้าก็เอา
๕.อยู่ในที่ที่คนอื่นจัดให้ ไม่เลือกที่อยู่ เขาจัดให้พักที่ไหนก็พัก ไม่เลือก
โปรดพินิจดู เรื่องโกงที่โกงทางดื้อแพ่งเพราะที่อยู่ไม่ต้องพูดถึงกันเพียงแค่นิสัยติดที่ ชอบที่นอนนุ่มๆ บ้านหรูๆ เครื่ออำนวยความสะดวกพร้อมกิเลสเรื่องที่อยู่อาศัย พอเจอธุดงค์ ๕ ข้อนี้เข้าก็เผ่นหนีกันกระเจิง
หมวดที่ ๔ เกี่ยวกับการดัดนิสัยเกียจคร้าน
๑.อยู่ในอิริยาบถ ๓ คือ ยืน เดิน นั่ง ไม่นอน ง่วงมาก ก็ยืน เดิน อย่างมากก็นั่งหลับแต่ไม่ยอมนอน ไม่ให้หลังแตะพื้น
หมวดที่ ๔ นี้มีอยู่ข้อเดียว พวกที่ติดนิสัยขี้เกียจ เช้าเอน เพลนอน บ่ายพักผ่อน ดึกๆ จำวัด นี่เจอธุดงค์ข้อนี้เข้าก็หาย พวกเราใครมีนิสัยชอบผัดวันประกันพรุ่ง จะลองรักษาธุดงควัตรข้อนี้ดูบ้างก็ดีเหมือนกันจะรักษาสัก ๑ วัน ๓ วัน ๕ วัน ๗ วัน ก็ตามกำลัง สำหรับผู้ปฏิบัติธรรมทำสมาธิ ถ้าใจเริ่มสงบแล้ว การอยู่ในอิริยาบถ ๓ นี้ จะทำให้สมาธิก้าวหน้าเร็วมาก และถ้าสมาธิดีก็จะไม่ง่วง มีพระภิกษุบางรูปรักษาธุดงควัตรข้อนี้ได้นาน ๓ เดือน ๗ เดือน ก็มี บางรูปรักษาตลอดชีวิต เช่น พระมหากัสสปะ ท่านอยู่ในอิริยาบถ ๓ ยืน เดิน นั่ง ไม่นอนได้ตลอดชีวิตได้โดยไม่ง่วงเลย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะทางอยู่ธุดงค์
ทั้งหมดนี้รวมเป็นธุดงควัตร ๑๓ ข้อ จัดเป็นตบะชั้นยอดในพุทธศาสนาความมุ่งหมายเพื่อจะกำจัดกิเลสออกจากใจให้เด็ดขาดในทางปฏิบัติ ใครจะเลือกทำข้อใดบ้างก็ได้ และจะทำในระยะใด ก็ให้ตั้งใจอธิษฐานสมาทานธุดงค์เอา
การบำเพ็ญตบะในชีวิตประจำวัน
พวกเราบางคนอาจสงสัยว่า การบำเพ็ญตบะทั้ง ๒ ประเภทที่กล่าวมาแล้วนั้น ตอนนี้ก็ทราบละ ประเภทสัลเลขะก็ดูเหมือนจะซ้ำๆ กับมงคลต้นๆ ดังได้กล่าวมาแล้ว สำหรับประเภทธุตังคะ ถ้าผู้ที่ยังเป็นฆราวาสอยู่ยังต้องทำงานทางโลกก็ยากที่จะปฏิบัติไปได้ตลอด อย่างมากก็หาเวลาช่วงว่างๆ สุดสัปดาห์หรือพักร้อนไปปักกลดกัน แล้วในชีวิตประจำวันมีวิธีบำเพ็ญตบะได้หรือไม่ คำตอบก็คือ ได้
วิธีบำเพ็ญตบะในชีวิตประจำวัน เพื่อกันไม่ให้กิเลสฟุ้งและเพื่อกำจัดกิเลสออกจากตัว ทำได้ดังนี้คือ
๑.มีอินทรีย์สำวร
๒.มีความเพียรปฏิบัติธรรม
อินทรีย์สังวร
อินทรีย์สังวร คือ การสำรวมระวังตนโดยอาศัยสติเป็นตัวกำกับสำรวมอย่างไร ขอให้เรามาดูอย่างนี้
คนเรานี้มีช่องทางติดต่อกับภายนอกอยู่ ๖ ทาง คือ
๑.ตา ๔.ลิ้น
๒.หู ๕.กาย
๓.จมูก ๖.ใจ
เหมือนกับบ้านก็มีประตูหน้าต่าง เป็นทางติดต่อกับภายนอก คนเราก็เหมือนบ้านที่มีประตูหน้าต่างอยู่ ๖ ช่องทาง สิ่งต่างๆ ภายนอกที่เราจะรับรู้รับทราบก็มาจาก ๖ ทางนี้ จะเป็นสิ่งที่ดีทำให้ใจของเราสงบผ่องใสก็มาจาก ๖ ทางนี้ จะเป็นสิ่งที่ทำให้ใจของเราฟุ้งซ่าน ขุ่นมัว ก็มาจาก ๖ ทางนี้เหมือนกัน ช่องทางทั้ง ๖ นี้นับว่ามีความสำคัญมากเราจึงควรมารู้จักถึงธรรมชาติช่องทางทั้ง ๖ นี้
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเปรียบช่องทางทั้ง ๖ ไว้ดังนี้
๑.ตาคนเรานี้เหมือนงู คือ ชอบที่ลับๆ อะไรที่เขาปกปิดเอาไว้ละก็ชอบดู ยิ่งปกปิดยิ่งอยากดู แต่อะไรที่เปิดเผยออกแล้วไม่ลับแล้ว ความอยากดูกลับลดลง
๒.หูคนเรานี้เหมือนจระเข้ คือ ชอบที่เย็นๆ อยากฟังคำพูดเย็นๆ ที่เขาชมตัว หรือคำพูดเพราะๆ ที่เขาพูดกับเรา
๓.จมูกคนเรานี้เหมือนนกในกรง คือ ชอบดิ้นรนพอได้กลิ่นอะไรหน่อยก็ตามดมทีเดียวว่ามาจากไหน
๔.ลิ้นคนเรานี้เหมือนสุนัขบ้า คือ บ้าน้ำลายว่างๆ ไม่รู้จะทำอะไรขอให้ได้นินทาชาวบ้านละก็ชอบ
๕.กายคนเรานี้เหมือนสุนัขจิ้งจอก คือ ชอบที่อุ่นๆ ที่นุ่มๆ ชอบซุก เดี๋ยวจะไปซุกตักคนโน้น เดี๋ยวจะไปซุกตักคนนี้ ชอบอิงคนโน้น ชอบจับคนนี้
๖.ใจคนเรานี้เหมือนลิง คือ ชอบซน คิดโน่น คิดนี่ ประเดี๋ยวก็ฟุ้งซ่านถึงเรื่องในอดีต ประเดี๋ยวก็สร้างวิมานในอากาศถึงเรื่องในอนาคต ไม่ยอมอยู่นิ่ง ไม่ยอมสงบ
อินทรีย์สังวร ที่ว่าสำรวมระวังตัวก็คือระวังช่องทางทั้ง ๖ นี้เมื่อรู้ถึงธรรมชาติของมันแล้วก็ต้องคอยระวังใช้สติเข้าช่วยกำกับ อะไรที่ไม่ควรดูก็อย่าไปดู อะไรที่ไม่ควรฟังก็อย่าไปฟัง อะไรไม่ควรคบก็อย่าไปคบ อะไรไม่ควรลิ้มชิมรสก็อย่าไปชิม อะไรไม่ควรสัมผัสก็อย่าไปสัมผัส อะไรไม่ควรคิดก็อย่าไปคิด หรือถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไปเห็นสิ่งที่ไม่ควรดูเข้าแล้ว ก็ให้สุดแค่เห็น ไม่คิดปรุงแต่งต่อว่า สวยจริงนะหล่อจริงนะ อะไรทำนองนี้ ต้องไม่ถึงโดยนิมิต หมายถึง เห็นว่าสวยไปทั้งตัว เช่น “เออคนนี้สวยจริงๆ” ต้องไม่นึกถึงโดยอนุพยัญชนะ หมายถึง เห็นว่าส่วนใดส่วนหนึ่งสวย เช่น “ตาสวยนะคมปลาบเลย” หรือแขนสวย ขาสวยอะไรอย่างนี้
อินทรีย์สังวรนี้เป็นเรื่องสำคัญมากเราจะสู้กับกิเลสชนะหรือแพ้ก็อยู่ตรงนี้ เรามีอินทร์สังวรณ์ดีแล้ว โอกาสที่กิเลสจะรุกรานเราก็ยาก คุณธรรมต่างๆ ที่เราตั้งใจรักษาไว้ก็จะสามารถทำได้อย่างที่ตั้งใจเหมือนบ้านถ้าเราใส่กุญแจ ดูแลประตูหน้าต่างอย่างดีแล้ว ถึงแม้ตามลิ้นชักตามตู้จะไม่ได้ใส่กุญแจก็ย่อมปลอดภัย โจรมาเอาไปไม่ได้ แต่ถ้าเราขาดการสำรวมอินทรีไปดูในสิ่งไม่ควรดู จับต้องสัมผัสในสิ่งไม่ควรสัมผัส คิดในสิ่งไม่ควรคิด ฯลฯ แม้เราจะมีความตั้งใจรักษาศีล รักษาคุณธรรมต่างๆ ดีเพียงไร ก็มีโอกาสพลาดได้มาก เหมือนบ้านที่ไม่ได้ปิดประตู หน้าต่าง แม้จะใส่กุญแจตู้ ลิ้นชักดีเพียงไรก็ย่อมไม่ปลอดภัย โจรสามารถมาลักไปได้ง่าย
วิธีที่จะทำให้อินทรีย์สังวรเกิดขึ้นนั้น ให้เราฝึกให้มีหิริโอตตัปปะมีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป โดยคำนึงถึงชาติตระกูล อายุ วิชาความรู้ ครูอาจารย์ สำนักศึกษาของเรา และอื่นๆ ดังรายละเอียดในมงคลที่ ๑๙
ท่านเปรียบเป็นลูกโซ่แห่งธรรมไว้ดังนี้
หิริโอตตัปปะ ทำให้เกิด อินทรีย์สังวร
อินทรีย์สังวร ทำให้เกิด ศีล
ศีล ทำให้เกิด สมาธิ
สมาธิ ทำให้เกิด ปัญญา
ผู้มีอินทรีย์สังวรดี ศีลก็ย่อมบริสุทธิ์ ศีลบริสุทธิ์ สมาธิก็เกิดได้ง่าย สมาธิตั้งมั่น ปัญญาก็เกิดขึ้น เป็นความสว่างภายในเห็นถึงสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง เห็นถึงตัวกิเลสที่ซุกซ่อนอยู่ภายใน และสามารถกำจัดไปให้หมดสิ้นได้
เราทุกคนจึงควรฝึกให้มีอินทรีย์สังวรในตัวให้ได้
ความเพียรปฏิบัติธรรม
คนเราส่วนใหญ่มักพอจะทราบอยู่ว่าอะไรดี อยากจะได้สิ่งที่เห็นว่าดีนั้นเกิดขึ้นกับตัว แต่ก็มักทำความดีนั้นไปได้ไม่ตลอดรอดฝั่ง ทั้งนี้เพราะขาดคามเพียร คนเราถ้าขาดความเพียรเสียแล้ว คุณธรรมทั้งหลายก็ไม่สามารถงอกเงยขึ้นมาได้เลย
เราลองมาดูถึงเหตุที่ทำให้พระภิกษุเกียจคร้านและเหตุที่ทำให้พระภิกษุปรารภความเพียรที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ บางทีอาจได้ข้อคิดนำมาใช้กับตัวของเราได้
เหตุแห่งความเกียจคร้าน ๘ ประการของภิกษุ
๑.รู้ว่างานมีอยู่ แต่กลัวว่าทำแล้วจะเหนื่อย จึงนอนเสียก่อนคิดว่าเอาแรง ไม่ปรารภความเพียร เพื่อให้บรรลุธรรมที่ตนยังไม่บรรลุ
๒.งานได้ทำเสร็จแล้ว คิดว่าทำงานมาแล้วเหนื่อยนักจึงนอน ไม่ปรารภความเพียร ฯ
๓.รู้ว่าทางที่จะต้องไปมีอยู่ แต่คิดว่าเมื่อเดินทางจะเหนื่อย จึงนอนเสียก่อนคิดว่าเอาแรง ไม่ปรารภความเพียร ฯ
๔.ได้เดินทางแล้ว คิดว่าเหนื่อยนัก จึงนอน ไม่ปรารภความเพียร ฯ
๕.บิณฑบาตไปไม่ได้อาหารมากตามต้องการ คิดว่าเหนื่อยนักถึงความเพียรคงไม่ได้ดี อย่ากระนั้นเลยนอนดีกว่าจึงนอน ไม่ปรารภความเพียร ฯ
๖.บิณฑบาตได้อาหารมามาก คิดว่าตัวก็ฉันจนอิ่มเนื้อตัวหนักไม่ควรแก่การงาน อย่ากระนั้นเลยนอนดีกว่า จึงนอน ไม่ปรารภความเพียร ฯ
๗.เจ็บป่วยเล็กน้อย ก็คิดว่าพอมีเหตุจะอ้างได้แล้วว่ากลัวโรคจะกำเริบ จึงนอน ไม่ปรารภความเพียร ฯ
๘.หายป่วยแล้ว ก็คิดว่าเพิ่งหายป่วย ตัวเรานี้กำลังยังไม่ดี เดี๋ยวโรคจะกลับ จึงนอนไม่ปรารภความเพียร ฯ
เหตุแห่งความเพียร ๘ ประการของภิกษุ
๑.รู้ว่างานรออยู่ จึงคิดว่าเวลาทำงานจะทำสมาธิ ทำความเพียรก็ไม่สะดวก ตอนนี้ยังพอมีเวลา จึงรีบปรารภความเพียรเพื่อคุณวิเศษที่ตนยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ตนยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมซึ่งตนยังไม่ได้ทำให้แจ้ง
๒.ทำงานเสร็จแล้ว จึงคิดว่าเมื่อตอนขณะทำงานการทำสมาธิก็ทำได้ไม่เต็มที่ ตอนนี้เสร็จงาน ว่างแล้วจึงรีบปรารภความเพียรฯ
๓.รู้ว่าทางที่จะต้องไปมีอยู่ จึงคิดว่าเวลาเดินทางจะทำสมาธิก็ไม่สะดวกตอนนี้ยังไม่ได้เดินทาง ต้องรีบเอาเวลาไปปรารภความเพียรฯ
๔.เดินทางเสร็จแล้ว ก็คิดว่าเมื่อตอนเดินทางจะทำความเพียรก็ไม่สะดวกไม่เต็มที่ ตอนนี้เดินทางเสร็จแล้ว ต้องรีบปรารภความเพียรฯ
๕.บิณฑบาตได้อาหารมาน้อย ก็คิดว่าตอนนี้เนื้อตัวกำลังเบาสบายเหมาะแก่การงานอย่ากระนั้นเลยเราจะต้องรีบปรารภความเพียรฯ
๖.บิณฑบาตได้อาหารมามาก ก็คิดว่า ตอนนี้เราฉันอิ่มแล้ว ตัวกำลังมีกำลังการงาน อย่ากระนั้นเลย เราต้องรีบปรารภความเพียรฯ
๗.เจ็บป่วยเล็กน้อย ก็คิดว่าต่อไปอาจป่วยหนักกว่านี้ก็ได้ ต้องรีบฉวยโอกาสที่ยังป่วยน้อยอยู่นี้ รีบปรารภความเพียรฯ
๘.เพิ่งหายป่วย ก็คิดว่าเราเพิ่งหายป่วย โอกาสที่จะกลับไปป่วยอีกก็มีอยู่ ต้องรีบฉวยโอกาสที่หายป่วยแล้วนี้ทำความเพียร จึงรีบปรารภความเพียรฯ
พวกเราลองเอาหลักเหล่านี้มาเปรียบดูกับตัวเองก็แล้วกันว่า ตัวเราจัดอยู่ในประเภทไหน เกียจคร้านหรือขยัน แล้วจะปล่อยตัวเหลวไหลอย่างนั้นไป หรือจะปรับปรุงให้ดีขึ้น “แม้เลือดเนื้อในกายของเราทั้งหมด จักแห้งเหือดหายไปเหลือแต่หนัง เอ็น กระดูก ก็ตามที หากยังไม่บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว เราจะไม่ยอมลุกขึ้นเป็นอันขาด”
(ปณิธานในวันตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า)
อานิสงส์การบำเพ็ญตบะ
๑.ทำให้เลิกเป็นคนเอาแต่ใจตัวได้ในเร็ววัน
๒.ทำให้คุณธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นในตัว
๓.ทำให้มงคลข้อต้นๆ ทั้งหมดเกิดขึ้นกับเรา
๔.ทำให้เข้าถึงพระนิพพานได้เร็ว "ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา ความอดทนอย่างแรงกล้า เป็นตบะอย่างยิ่ง”
(พุทธพจน์)