ตั้งตนชอบ หมายถึงอย่างไร ?
ตั้งตนชอบ หมายถึง การตั้งเป้าหมายชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรมไว้ถูกต้องแล้วประคับประคองตน ให้ดำเนินชีวิตไปตามเป้าหมายนั้นด้วยความระมัดระวัง การตั้งตนชอบ เป็นสิ่งสำคัญมาก เป็นขั้นตอนแรกในการสร้างความสุข ความเจริญก้าวหน้าแก่ชีวิต เพราะถ้าใครตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ผิด เช่น ตั้งเป้าหมายนั้นด้วยความระมัดระวัง การตั้งตนชอบ เป็นสิ่งสำคัญมาก เป็นขั้นตอนแรกในการสร้างความสุข ความเจริญก้าวหน้าแก่ชีวิต เพราะถ้าใครตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ผิด เช่นตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็นโจรที่ปล้นเก่งที่สุด หรือจะเป็นนักผลิตเฮโรอีนที่เก่งที่สุดแล้วพยายามดำเนินชีวิตไปตามนั้น คน ๆ นั้นก็ไม่มีทางที่จะมีความสุขความเจริญก้าวหน้าได้ ถึงจะไปเสาะแสวงหาความรู้ความสามารถได้มากเพียงไรก็ไม่เกิดประโยชน์อันใด เพราะความรู้ความสามารถนั้น ๆ ล้วนเป็นไปเพื่อยังความพินาศให้เกิดขึ้นแก่ตนเองและผู้อื่นทั้งสิ้น
ผู้ที่รักความก้าวหน้าทั้งหลาย จึงจำเป็นต้องตั้งเป้าหมายชีวิตให้ถูกต้องก่อน จากนั้นจึงไปเสาะแสวงหาความรู้ความสามารถ พากเพียรพยายามเพื่อบรรลุเป้าหมายชีวิตที่ถูกต้องนั้นให้ได้
อะไรคือเป้าหมายชีวิต ?
เป้าหมายของคนทุกคนแบ่งได้เป็น ๓ ระดับ ได้แก่
๑.เป้าหมายชีวิตขั้นต้น คือ การตั้งเป้าหมายชีวิตเพื่อประโยชน์ในชาตินี้ เป็นการตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องตั้งตัวตั้งฐานะให้ได้ ด้วยการประกอบอาชีพที่สุจริต ไม่ผิดกฎหมายไม่ผิดศีลธรรม จะเป็นอาชีพอะไรก็แล้วแต่ความถนัดของแต่ละบุคคล จะเป็นนักธุรกิจ แพทย์ วิศวกร ชาวนา ชาวไร่ หรือ อื่น ๆ ได้ทั้งนั้น ขอแต่เพียงให้เป็นอาชีพสุจริตก็แล้วกัน และเมื่อตั้งเป้าหมายชีวิตไว้แล้ว ก็มุมานะฝึกฝนตนเองสร้างตัวให้บรรลุเป้าหมายชีวิตนั้นให้ได้ "หนูตัวเล็ก ๆ ยังสู้อุสส่าห์ขุดรูอยู่ นกกระจิบกระจอกยังสู้อุสส่าห์สร้างรัง เราเกิดมาเป็นคนทั้งทีก็ต้องสร้างฐานะให้ให้ได้"
๒.เป้าหมายชีวิตขั้นกลาง คือ การตั้งเป้าหมายชีวิตเพื่อประโยชน์ในชาติหน้า เป็นการตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ว่า นอกจากจะพยายามตั้งฐานะของตนให้ได้แล้ว ก็จะตั้งใจสร้างบุญกุศลอย่างเต็มที่ในทุก ๆ โอกาสที่อำนวยให้เพื่อสะสมเป็นทุนเป็นเสบียงในภพชาติต่อไป เพราะว่าสัตว์โลกทั้งหลายตายแล้วไม่สูญ ตราบใดที่ยังไม่หมดกิเลส ก็ยังต้องเกิดใหม่อีกอยู่ร่ำไป
คนบางคนคิดแต่จะหาประโยชน์เฉพาะในชาตินี้ โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ชาติหน้าเลย คิดแต่จะหาทรัพย์จะตั้งฐานะให้ได้ โดยไม่ประกอบการบุญการกุศล เราลองคิดดูว่า ชีวิตของคนประเภทนี้ จะมีคุณค่าสักเพียงไรตั้งแต่เกิดก็อาศัยพ่อแม่เลี้ยง โตขึ้นหน่อยก็เรียนหนังสือหาความรู้ ครั้นโตขึ้นอีกก็ทำงาน มีครอบครัว เลี้ยงลูก เลี้ยงหลาน ดิ้นรนหาสิ่งต่าง ๆ มาบำรุงบำเรอตน แล้วก็แก่เฒ่าตายไป ดูพวกนกกา ตั้งแต่เล็กมันก็อาศัยพ่อแม่เลี้ยงสอนบิน สอนให้รู้จักหาอาหาร โดขึ้นก็แยกรังไปมีครอบครัว หาอาหารมาเลี้ยงลูกเลี้ยงตัว หาความสุขตามประสานกกา แล้วก็แก่เฒ่าตายไปเหมือนกัน ถ้ามีชีวิตอยู่เพียงเท่านี้ ก็มีคุณค่าไม่ต่างอะไรกับนกกา
แต่นี่เราเป็นคน ซึ่งมีโครงร่างที่เหมาะแก่การใช้ทำความดีมากที่สุด ดังนั้น นอกจากความพยายามตั้งฐานะในชาตินี้ให้ได้แล้ว เราทุกคนจึงควรที่จะรู้จักสร้างคุณค่าแก่ชีวิตด้วยการตั้งใจทำความดี ประกอบการบุญการกุศลอย่างเต็มที่เผื่อไว้เป็นเสบียงในการเดินทางข้ามภพข้ามชาติ และเป็นปัจจัยในการบรรลุถึงเป้าหมายชีวิตขึ้นสูงสุด
๓.เป็นหมายชีวิตขั้นสูงสุด คือการตั้งเป้าหมายชีวิตเพื่อเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ได้แก่ การตั้งใจปฏิบัติธรรมทุกรูปแบบ เพื่อปราบกิเลสให้หมดสิ้นแล้วเข้าพระนิพพาน ตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเหล่าพระอรหันต์ทั้งหลายจะได้มีแต่ความสุขอันเป็นอมตะตลอดไป ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไปอีก
โดยธรรมชาติ ทุกชีวิตเมื่อถึงที่สุดย่อมหมดกิเลสเข้าพระนิพพานไปด้วยกันทุกคน ต่างแต่ว่าช้าหรือเร็วเท่านั้น ในช่วงที่ยังไม่หมดกิเลสนี้ก็ต้องทนรับทุกข์กันไป มากบ้างน้อยบ้าง ตามแต่กรรมที่ตนทำไว้ เราเวียนเกิดเวียนตายกันมานับภพนับชาติไม่ถ้วนแล้ว ถ้ามีใครสามารถเอากระดูกของเราทุกชาติมากองรวมกันเข้าก็จะสูงท่วมภูเขา ถ้าเอาน้ำตาของเราที่หลั่งไหลออกมาเพราะความทุกข์ ทุก ๆ ชาติมารวมกัน ก็จะมากกว่าน้ำในมหาสมุทรเสียอีกใครสามารถเข้าพระนิพพานได้ก่อนก็หมดทุกข์ก่อน ที่ยังอยู่ก็ต้องเวียนเกิดเวียนตายในทะเลทุกข์แห่งวัฎสงสารต่อไป
แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ ก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดเช่นเดียวกับพวกเรา แต่พระองค์ตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ถูกต้อง คือตั้งเป้าไว้ว่าจะกำจัดกิเลสในตัวให้หมดโดยเร็ว แล้วนำตนเองและผู้อื่นเข้าพระนิพพานด้วย จากนั้นก็ตั้งใจบำเพ็ญเพียรฝึกฝนตนเองอย่างเต็มที่มานับภพนับชาติไม่ถ้วน แม้มีอุปสรรคหนักหนาสาหัสเพียงไรก็ไม่ย่อท้อสละได้แม้เลือดเนื้อและชีวิตเพื่อรักษาเป้าหมายที่จะเข้าพระนิพพานไว้ไม่ให้คลอนแคลน ในที่สุดพระองค์ตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสามารถกำจัดกิเลสได้หมด เข้าพระนิพพานอันบรมสุขได้
ส่วนพวกเรามัวเที่ยวเถลไหล เกะ ๆ กะ ๆ ไม่เอาจริง ไม่ตั้งใจมุ่งมั่นในการทำความดี บ้างก็ยังไม่รู้เป้าหมายสูงสุดของชีวิตว่าคือการเข้าพระนิพพานบ้างก็รู้แล้ว แต่เกียจคร้านประพฤติย่อหย่อน ทำ ๆ หยุด ๆ จึงจ้องมาเวียนเกิดเวียนตายรับทุกข์อยู่อย่างนี้
ฉะนั้น ถ้าใครฉลาด ก็ต้องรีบแก้ไขตนเอง ตั้งเป้าหมายสูงสุดของชีวิตไว้ให้มั่นคงไม่ประมาทในการสร้างความดี หมั่นให้ทาน รักษาศีลเจริญภาวนา ชำระกาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ เพื่อกำจัดกิเลสให้หมดจะได้พ้นทุกข์ เข้าพระนิพพาน ได้รับความสุขอันเป็นอมตะตามอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบ้าง "จงอย่างประมาท เร่งเดินตามรอยบาทพระบรมศาสดา" "ถึงจะทำประโยชน์ให้คนอื่นมากมาย ก็ไม่ควรละทิ้งจดหมาย ปลายทางของตน เมื่อรู้ว่าอะไรคือ จุดหมายปลายทางแล้วก็ควรใส่ใจขวนขวาย "
อุปสรรค
คนบางคน เริ่มแรกก็ตั้งเป้าหมายชีวิตดีอยู่ เช่น ตั้งใจจะทำมาหากินโดยสุจริต แต่กำลังใจยังไม่เข้มแข็งพอ ครั้นทำไปทำไปเริ่มรู้สึกว่ารวยช้าไม่ทันใจ เป้าหมายชีวิตชักเขว ลงท้ายเลยไปคดโกงคนอื่นเขา ต้องติดคุกติดตะรางไป หรือบางคนตั้งใจจะให้ทาน รักษาศีล เจริญสมาธิภาวนา แต่พอถูกคนอื่นเย้าแหย่บ้าง ล้อเลียนบ้าง เจอสิ่งยั่วยุมากเข้ามากเข้าเลยเลิกปฏิบัติธรรม ปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามอำนาจของกิเลส
ทำอย่างไร เราจึงจะป้องกันตัวเราไม่ให้เป็นอย่างนั้นบ้าง ทำอย่างไร จึงจะรักษาเป้าหมายชีวิตของเราไว้ให้มั่นคง
วิธีรักษาเป้าหมายชีวิตให้มั่นคง
๑.ฝึกให้เป็นคนมีศรัทธา ได้แก่ มีเหตุผล เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ การเชื่อมี ๒ แบบ คือ
๑.๑ เชื่ออย่างมีเหตุผล ประกอบด้วยปัญญา เรียกว่า "ศรัทธา"
๑.๒ เชื่ออย่างไร้เหตุผล ปราศจากปัญญา เรียกว่า "งมงาย"
ศรัทธาขั้นพื้นฐาน ๓ ประการ คือ
-เชื่อว่าพระพุทธเจ้ามีจริง เชื่อในพระปัญญาการตรัสรู้ของพระองค์
-เชื่อในกฎแห่งกรรม เช่น เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว โดยการทำดีนั้นจะต้องทำ ให้ครบองค์ประกอบสามประการ คือต้องทำให้
ถูกดี คือ มีปัญญาสามารถทำถูกวัตถุประสงค์ของงานนั้น
ถึงดี คือ มีความพยายามที่จะทำงานนั้นให้เต็มตามความสามารถ
พอดี คือ มีสติดี ไม่ทำจนเลยเถิดไป เผื่อเหนียวมากไปจนเกิดความเสียหาย จึงจะได้ดี
-เชื่อในผลของกรรมว่าสามารถติดตามบุคคลผู้ทำนั้นตลอดไป
๒.ฝึกให้เป็นคนมีศีล อย่างน้อยศีล ๕
๓.ฝึกให้เป็นคนมีความรู้ เป็นพหูสูต คือ หมั่นศึกษาหาความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม
๔.ฝึกให้เป็นคนมีจาคะ คือ รู้จักเสียสละ การเสียสละแบ่งเป็น
๔.๑ สละทรัพย์สิ่งของเป็นทาน เป็นการกำจัดความตระหนี่ออกจากใจ จึงเป็นที่รักของคนทั้งหลาย
๔.๒ สละอารมณ์บูดเป็นทาน คือ ละอารมณ์โกรธ พยาบาทให้เป็นอภัยทาน ทำให้ใจผ่องใสเบิกบานเป็นปกติ
๕.ฝึกสมาธิภาวนาเพื่อให้ใจผ่องใส เกิดปัญญา ซึ่งเป็นข้อที่สำคัญที่สุดเพราะจะเห็นได้ว่า เหตุทำให้เป้าหมายชีวิตของเราคลอนแคลนนั้นเป็นเพราะใจของเราขาดความมั่นคง ทนต่อความยั่วยุไม่ได้ แต่การฝึกสมาธิภาวนาเป็นการฝึกใจโดยตรง ทำให้ใจเรามีพลัง มีความหนักแน่นเข้มแข็ง ในการรักษาเป้าหมายชีวิตไว้ได้โดยสมบูรณ์
การฝึกทั้ง ๕ ประการนี้ นิยมเรียกว่า สารธรรม แปลว่า "ธรรมที่เป็นแก่น" ถ้าผู้ใดมีคุณธรรมทั้ง ๕ ข้อนี้ ชื่อว่า เป็นคนที่มีแก่นคนอย่างแท้จริง สามารถตั้งตนชอบได้
อานิสงส์การตั้งตนชอบ
๑.เป็นผู้สามารถพึ่งตนเองได้
๒.เป็นผู้ไม่ประมาท
๓.เป็นผู้เตรียมไว้ดีแล้วก่อนตาย
๔.เป็นผู้มีความสวัสดีในทุกที่ทุกสถาน
๕.เป็นผู้บูชาพระรัตนตรัยอย่างสูงสุด
๖.เป็นพลเมืองดีของประเทศชาติ
๗.เป็นตัวอย่างที่ดีแก่อนุชนรุ่นหลัง
๘.เป็นผู้ป้องกันภัยในอบายภูมิ
๙.เป็นผู้มีแก่นคน สามารถตักตวงประโยชน์จากชีวิตได้เต็มที่
๑๐.เป็นผู้ได้รับสมบัติทั้ง ๓ โดยง่าย คือ มนุษย์สมบัติ ทิพยสมบัติ และนิพพานสมบัติ