มงคลชีวิต 38 ประการ | ๑๐. มีวาจาสุภาษิต
ธรรมคือแรงใจ
96 ธรรมคือแรงใจ
จิตเดิมแท้ของเรานั้นทุกคนนั้นมาจากธรรมชาติอันบริสุทธิ์
๓๘. จิตเกษม
ภัยของมนุษย์
     ทันทีที่เกิดลืมตามาดูโลก เราก็ต้องผจญกับภัยต่างๆ นานาชนิดที่พร้อมจะเอาให้ถึงตายอยู่ทุกวินาที เหมือนว่ายน้ำท่ามกลางความมืดอยู่กลางทะเลมหาโหด ภัยทั้งหลายเหล่านี้แบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ
 ๑.ภัยภายใน พอเกิดมาเราก็มีภัยชนิดนี้มาผจญคอยดักอยู่ตลอดเวลารุมล้อมรอบตัว
     ข้างหลัง  คือ   ชาติภัย ภัยจากการเกิด
     ข้างขวา  คือ   ชราภัย ภัยจากความแก่
     ข้างซ้าย  คือ   พยาธิภัย ภัยจากความเจ็บ
     ข้างหน้า  คือ   มรณภัย ภัยจากความตาย
 ภัยเหล่านี้รุมล้อมเราทั้งซ้ายขวาหน้าหลัง ทุกด้านเลยทีเดียว ใคร ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้
 ๒.ภัยภายนอก มีอยู่นับไม่ถ้วน เช่น
 - ภัยจากคน เช่น ผัวร้าย เมียเลว ลูกชั่ว เพื่อนที่ไม่ดี คนพาล คนเกเร นับไม่ถ้วน
 - ภัยจากธรรมชาติเช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ฟ้าผ่า
 - ภัยจากบาปกรรมตามทัน ถูกล้างผลาญทุกรูปแบบ ไปลักขโมย โกงเขาเขาจับได้ถูกขังคุกลงโทษกัน ก็สารพัดล่ะ ฯลฯ

ทำไมเราจึงต้องพบกับภัยเหล่านี้
     การที่เราต้องตกอยู่ท่ามกลางวงล้อมของภัยทั้งหลาย ดิ้นกันไม่หลุดเกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด ก็ยังต้องรับทุกข์รับภัยกันอยู่ไม่รู้กี่แสนกี่ล้านๆๆๆ ชาติมาแล้ว ทั้งนี้ก็เพราะถูกผูกด้วย “โยคะ” แปลว่า เครื่องผูกสัตว์ไว้ในภพมีอยู่ ๔ ประการได้แก่
 ๑.กามโยคะ คือ ความยินดีพอใจในกามคุณ อยากฟังเพลงเพราะๆ อยากทานอาหารอร่อยๆ ได้สวมใส่เสื้อผ้าสวยๆ นุ่มนวลสวมใส่สบาย อยากเห็นรูปสวยๆ ได้สัมผัสที่นุ่มนวล ได้แฟนสวยๆ มีสมบัติเยอะๆ ความใคร่ทั้งหลายเหล่านี้เป็นเหมือนเชือกเกลียวแรกที่ผูกมัดตัวเราไว้
 ๒.ภวโยคะ คือ ความยินดีพอใจในรูปฌานและอรูปฌาน คนที่พ้นเชือกเกลียวแรก พ้นกามโยคะมาได้ ก็มาเจอเชือกเกลียวที่ ๒ นี้ คือ เมื่อได้เจอความสุขจากการที่ใจเริ่มสงบ ทำสมาธิจนได้รูปฌานหรืออรูปฌานก็พอใจยินดีติดอยู่ในความสุขจากอารมณ์ของฌาน ตายไปก็ไปเกิดเป็นรูปพรหม หรือ อรูปพรหม ซึ่งก็ยังไม่พ้นภัย หมดบุญก็ต้องลงมาเกิดเจอภัยกันอีก นี่เป็นเหมือนเชือกเกลียวที่ ๒
 ๓.ทิฏฐิโยคะ คือ ความยึดถือความคิดเห็นที่ผิดๆ ของตนเอง เช่น เห็นว่าพ่อแม่ไม่มีพระคุณต่อตนบ้าง เห็นว่าโลกนี้โลกหน้าไม่มีจริงบ้าง เห็นว่าตนเองจะพ้นทุกข์ได้ด้วยการบวงสรวงอ้อนวอนบ้าง ใจยังมืดอยู่ยังไปหลงผิด ความเห็นผิดๆ อยู่ สิ่งนี้ก็เลยเป็นเหมือนเชือกเกลียวที่ ๓
 ๔.อวิชชาโยคะ คือ ความไม่รู้แจ้งในพระสัทธรรม ความสว่างของใจยังไม่พอ ยังไม่เห็นอริยสัจ ๔ ไม่เห็นทางพ้นทุกข์พ้นภัย นี่ก็เป็นเหมือนเชือกเกลียวที่ ๔
 ทั้ง ๔ อย่างนี้เป็นเหมือนเชือก ๔ เกลียวที่ผูกมัดตัวเราไว้กับภพ ทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารโดยไม่รู้จบสิ้น ทำให้ต้องมาพบกับภัยทั้งหลาย ดิ้นกันไม่หลุดทีเดียว

จิตเกษมคืออะไร?
 เกษม แปลว่า ปลอดภัย พ้นภัย สิ้นกิเลส มีความสุข
 จิตเกษม จึงหมายถึง สภาพจิตที่หมดกิเลสแล้ว โยคะเครื่องผูกสัตว์ไว้ในภพ เชือกทั้ง ๔ เกลียว ได้ถูกฟันขาดสะบั้นโดยสิ้นเชิง จิตเป็นอิสระเสรี ทำให้คล่องตัวไม่ติดขัด ไม่อึดอัดอีกต่อไป ไม่มีภัยใดๆ มาบีบคั้นได้อีก จึงมีความสุขอย่างแท้จริง พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดผู้ที่จะมีจิตเกษมได้อย่างแท้จริง คือผู้ที่มีใจจรดนิ่งแช่อิ่มอยู่ในพระนิพพานตลอดเวลา ซึ่งก็ได้แก่ พระอรหันต์นั่นเอง
 จิตของพระอรหันต์นั้น นอกจากจะหมดกิเลสแล้ว ก็ยังทำให้มีความรู้ความสามารถพิเศษอีกหลายประการ เช่น
วิชชา๓

 วิชชา ๓ คือ ความรู้แจ้ง ความรู้พิเศษอันลึกซึ้งด้วยปัญญา ได้แก่ ญาณ คือ ความหยั่งรู้ ซึ่งเกิดจากการทำสมาธิสุดยอดเข้าถึงธรรมกายคือ
 ๑.ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือ ระลึกชาติตัวเองได้
 ๒.จุตูปปาตญาณ คือ ตาทิพย์ ระลึกชาติคนอื่นได้
 ๓.อาสวักขยญาณ คือ ความรู้ที่ทำให้หมดกิเลส

อภิญญา ๖
 อภิญญา ๖ คือ ความรู้อันยิ่งยวด เหนือความรู้จากการตรองด้วยหลักเหตุผลธรรมดา ได้แก่
 ๑.อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ได้ เช่น เหาะเหินเดินอากาศ แปลงกายเป็นสิ่งต่างๆ ย่อ-ขยายตัวได้ หายตัวได้ ฯลฯ
 ๒.ทิพยโสต มีหูทิพย์
 ๓.เจโตปริยญาณ รู้วาระจิตคนอื่น รู้ว่าเขากำลังคิดอะไร
 ๔.ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติได้
 ๕.จุตูปปาตญาณ (ทิพยจักษุ) มีตาทิพย์
 ๖.อาสวักขยญาณ ทำกิเลสให้สิ้นไปได้

 ในอภิญญา ๖ นี้ ๕ ข้อแรกเป็นโลกียอภิญญา ข้อที่ ๖ เป็นโลกุตรอภิญญา คุณวิเศษเหล่านี้ เป็นผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติธรรมด้วยตัวเอง ไม่ใช่เกิดขึ้นเพียงด้วยการบอกเล่าหรือสั่งสอนกัน ผู้ปฏิบัติธรรมถึงขั้นนั้นๆ แล้วจึงจะประจักษ์แจ้งด้วยตนเอง

ปฏิสัมภิทาญาณ ๔
 ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ คือ ความสามารถพิเศษในการสั่งสอนคนอื่นได้แก่
 ๑.อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ เห็นข้อธรรมใดก็สามารถอธิบายขยายความออกไปได้โดยพิสดาร
 ๒.ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม สามารถสรุปข้อความได้อย่างกระชับเก็บความสำคัญได้หมด
 ๓.นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในนิรุตติ คือ แตกฉานเรื่องภาษาทุกภาษาทั้งภาษาของมนุษย์และสัตว์ สาารถเข้าใจได้
 ๔.ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ มีไหวพริบปฏิภาณดี

สามารถอธิบายแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าได้ดี ตอบคำซักถามได้แจ่มแจ้ง
 การปฏิบัติธรรมมีอานิสงส์มากมายถึงปานนี้ เราทุกคนจึงควรตั้งใจฝึกฝนตนเองตามมงคลต่างๆ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ทำอย่างเอาจริงเอาจังตั้งใจ ไม่ช้าเราก็จะเป็นผู้รู้จริงทำได้จริงผู้หนึ่ง มีจิตเกษมปลอดภัยจากภัยต่างๆ และมีความรู้พิเศษสุดยอด ตามเยี่ยงอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเหล่าพระอรหันต์สาวกทั้งหลายได้

“เกิดมาว่าจะหาแก้ว พบแล้วไม่กำ จะเกิดมาทำอะไร อ้ายที่อยากมันก็หลอก อ้ายที่หยอกมันก็ลวง ทำให้จิตเป็นห่วงเป็นใย เลิกอยากลาหยอก รีบออกจากกาม เดินตามขันธ์สามเรื่อยไป เสร็จกิจสิบหก ไม่ตกกันดาร จะเรียกว่านิพพานก็ได้”

(โอวาทพระมงคลเทพมุนี หลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ)
"ผู้ที่ถูกตีตรวนคุมขังอยู่ เมื่อได้รับอิสรภาพหลุดพ้นจากเครื่องพันธนาการ ย่อมมีอิสระเสรี มีความสุขกายสบายใจฉันใด ผู้ที่ทำพระนิพพานให้แจ้งแล้ว หลุดพ้นจากกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งหลาย ก็ย่อมมีจิตเกษมฉันนั้น"