นิพพานคือะไร ?
นิพพาน มีคำแปลได้หลายแบบ เช่น
- แปลว่า ความดับ คือ ดับกิเลส ดับทุกข์
- แปลว่า ความพ้น คือ พ้นทุกข์พ้นจากภพสาม
นิพพาน โดยความหมาย หมายได้ ๒ นัยยะใหญ่ๆ คือ
๑.หมายถึง สภาพจิตที่หมดกิเลสแล้ว
๒.หมายถึง สถานที่ที่ผู้หมดกิเลสแล้ว ไปเสวยสุขอันเป็นอมตะอยู่ ณ ที่นั้นๆ
นิพพาน เป็นที่ซึ่งความทุกข์ทั้งหลายเข้าไปไม่ถึง อยู่พ้นกฎของไตรลักษณ์ ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิด ไม่มีแก่ เจ็บ ตาย ทุกอย่างเป็นสุขัง เป็นนิจจัง เป็นอัตตา เป็นตัวตนที่แท้จริง บังคับบัญชาได้ เที่ยงแท้แน่นอนไม่มีการเปลี่ยนแปลง เกิดขึ้นด้วยอำนาจการปฏิบัติธรรม มีพระพุทธพจน์ที่กล่าวถึงนิพพานไว้หลายครั้ง อาทิ “นิพฺพานํ ปรมํ สุญฺญํ” นิพพานสูญอย่างยิ่ง คือ สูญกิเลส สูญทุกข์ “นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ” นิพพานสุขอย่างยิ่ง ทหารเมื่ออยู่ในหลุมหลบภัย ย่อมปลอดภัยจากอาวุธร้ายของศัตรูฉันใดผู้ที่มีใจจรดนิ่งอยู่ในพระนิพพาน ก็ย่อมปลอดภัยจากทุกข์ทั้งปวงฉันนั้น
ประเภทของนิพพาน
นิพพานมีอยู่ ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ
๑.สอุปาทิเสสนิพพาน เรียกว่า นิพพานเป็น อยู่ในศูนย์กลางธรรมกายในตัวของเราทุกคนที่ปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ สามารถเข้าถึงนิพพานนี้ได้ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ยังเป็น ๆ อยู่ เป็นนิพพานของพระอริยเจ้าผู้ละกิเลสได้แล้ว แต่ยังมีชีวิตอยู่
ยังเป็นๆ อยู่ เป็นนิพพานของพระอริยเจ้าผู้ละกิเลสได้แล้ว แต่ยังมีชีวิตอยู่เพื่อบำเพ็ญประโยชน์แก่สัตว์โลกต่อไปพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเข้านิพพานเป็นนี้ได้ เมื่อวันที่พระองค์ตรัสรู้
นิพพานเป็นนี้ แต่ละคนก็มีเฉพาะของตนเป็นเหมือนหลุมหลบภัยในตัว เรามีทุกข์ โศก โรค ภัยใดๆ พอเอาใจจรดเข้าไปในนิพพาน ความทุกข์ก็จะหลุดไปหมด จะตามไปรังควาน ไปบีบคั้นใจเราไม่ได้
๒.อนุปาทิเสสนิพพาน เรียกว่า นิพพานตาย เป็นเหตุว่างอยู่นอกภพสาม ผู้ที่หมดกิเลสเป็นพระอรหันต์เมื่อเบญจขันธ์ดับ(กายเนื้อแตกทำลายลง)เหลือแต่ธรรมขันธ(ธรรมกาย) ก็จะถูกอายตนะนิพพานนี้ ดึงดูดให้ไปปรากฏที่นั่น เสวยความสุขอันเป็นอมตะ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อปรินิพพานแล้วธรรมกายของพระองค์ก็ไปปรากฏประทับอยู่ที่อายตนะนิพพานนี้เอง โดยมีธรรมกายของพระอรหันต์สาวกอยู่ล้อมรอบ
ผู้ที่สามารถทำพระนิพพานให้แจ้งได้
จะเข้านิพพานต้องเข้าด้วยธรรมกาย มนุษย์เข้าไปไม่ได้ เทวดาเข้าไปไม่ได้ รูปพรหมเข้าไปไม่ได้ อรูปพรหมก็เข้าไปไม่ได้ ธรรมกายเท่านั้นที่มีสิทธิ์เข้าไปได้
เพราะฉะนั้นผู้ที่จะทำพระนิพพานให้แจ้งได้ ก็คือ พระอริยบุคลทุกระดับ ทั้งพระอรหันต์ พระอนาคามี พระสกิทาคามี และพระโสดาบัน รวมทั้งโคตรภูบุคคลที่ปฏิบัติธรรมจนมีกิเลสเบาบางเกือบถึงขั้นพระโสดาบันโดยต้องฝึกสมาธิจนเข้าถึงธรรมกาย จากนั้นเอาใจจรดเข้าศูนย์กลางกายจึงเห็นอริยสัจ และต้องเห็นอริยสัจอย่างชำนาญ พิจารณาอริยสัจซ้ำแล้วก็ซ้ำอีก จนใจแนบแน่นอยู่ที่ศูนย์กลางกาย จึงเห็นนิพพานได้
บางท่านอาจนึกสงสัยว่า ก็เห็นบอกว่าเข้าถึงนิพพานแล้วจะหมดกิเลสความทุกข์ตามไปรังควานไม่ได้ แล้วตอนนี้มาบอกว่าโคตรภูบุคคลซึ่งยังไม่ได้หมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ก็เข้านิพพานได้ จะไม่เป็นการขัดกันเองหรือ
คำตอบคือ ไม่ขัดกัน เพราะโคตรภูบุคคลนั้น เมื่อเอาใจจรดเข้าพระนิพพาน ขณะนั้นก็หมดทุกข์ กิเลสทำอะไรไม่ได้แต่ทว่าใจยังจรดอยู่ในนิพพานได้ไม่ตลอดเวลา เมื่อไหร่ใจถอนออกมาก็ยังต้องมีทุกข์อยู่เหมือนตัวของเราถ้าหากเป็นแขกรับ เชิญไปเที่ยวพักผ่อนยังปราสาทใหญ่ระหว่างที่พักอยู่ในนั้นก็มีความสุขสบาย แต่ก็อยู่ได้ชั่วคราวเพราะยังไม่ได้เป็นเจ้าของเอง เมื่อไหร่ครบกำหนดกลับก็ต้องออกจากปราสาท มาสู้เหตุการณ์ภายนอกใหม่
ตัวของเราจะเข้านิพพานได้หรือไม่
คำตอบคือ ได้ โดยจะต้องตั้งใจฝึกสมาธิไปจนเข้าถึงธรรมกายก่อน แล้วฝึกต่อไปจนเข้าถึงธรรมกายที่ละเอียดอ่อนยิ่งขึ้น เห็นอริยสัจและทำพระนิพพานให้แจ้งได้ในที่สุด ซึ่งไม่ยากจนเกินไปที่เราจะปฏิบัติได้เพราะถ้ายากเกินไปแล้วคงไม่มีพระอรหันต์เป็นล้านๆ รูปในสมัยพุทธกาลถ้านิพพานนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าไปได้พระองค์เดียว คนอื่นไปไม่ได้เลย เราจะบอกว่ายาก แต่จริงๆ แล้วมีผู้ที่ปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ตั้งใจฝึกสมาธิเข้านิพพานได้เยอะแยะ แสดงว่าไม่ยากจนเกินไป แต่แน่นอนก็คงไม่ง่ายเพราะถ้าง่ายเราก็คงเข้าไปตั้งนานแล้ว
เพราะฉะนั้นตั้งใจฝึกตัวเองกันเข้า วันหนึ่ง เราก็จะเป็นคนหนึ่งที่ทำได้แล้วเข้านิพานได้ ตอนนี้ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้แต่ว่ายังไม่ได้ทำต่างหากอย่าเพิ่งไปกลัว อย่าไปท้อใจเสียก่อนว่าจะทำไม่ได้ ถ้าทำจริงแล้วต้องได้
อานิสงส์การทำพระนิพพานให้แจ้ง
๑.ทำให้จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม
๒.ทำให้จิตไม่โศก
๓.ทำให้จิตปราศจากธุลี
๔.ทำให้จิตเกษม
“ไฟใดเสมอด้วยราคะไม่มี โทษใดเสมอด้วยโทสะไม่มี ทุกข์ใดเสมอด้วยเบญจขันธ์ไม่มี สุขใดเสมอด้วยความสงบไม่มี ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่ง พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง”
(พุทธพจน์)