ถิ่นที่เหมาะสมหมายถึงอย่างไร ?
ถิ่นที่เหมาะสม หมายถึง ถิ่นที่สิ่งแวดล้อมดี ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่สุขภาพกายและใจ ยิ่งกว่านั้น ยังสนับสนุนให้ผู้อยู่อาศัย สามารถประกอบกิจการงานในหน้าที่อันเป็นสัมมาอาชีพ ให้เจริญก้าวหน้าได้โดยง่าย และสร้างสมคุณงามความดีได้เต็มที่
ถิ่นที่เหมาะสม มีความหมายกว้าง ครอบคลุมถึงถิ่นที่อยู่ทุกระดับ เช่น บ้านที่เราอาศัย โรงเรียนที่เราเรียน สถานที่ที่เราทำงาน หมู่บ้านชุมชนที่เราอยู่ ตำบลที่เราตั้งหลักฐาน อำเภอ จังหวัด ประเทศ ทวีป
วิธีอยู่ในถิ่นที่เหมาะสม
๑.เมื่อเรายังเป็นเด็ก หรือเมื่อยังมีความสามารถน้อย ควรแสวงหาถิ่นที่เหมาะสมอยู่อาศัยให้ได้จึงจะเจริญ เช่น เสาะหาโรงเรียนดี ๆ ที่ทำงานดี ๆ ทำเลปลูกบ้านดี ๆ จะบวชก็หาวัดดี ๆ
๒.เมื่อเป็นผู้ใหญ่ หรือ มีความรู้ความสามารถเพียงพอแล้ว ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ใดก็ตาม ต้องพยายามพัฒนาถิ่นที่เราอยู่ให้เป็นถิ่นที่เหมาะสมอย่างเต็มความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นบ้านที่เราอยู่ สถานที่ที่เราทำงานหรือชุมชนที่เราอยู่อาศัยก็ตาม โดยยึดหลักการพัฒนาให้เป็นถิ่นที่เหมาะสมดังนี้
ลักษณะของถิ่นที่เหมาะสม
๑.อาวาสเป็นที่สบาย หมายถึง เป็นที่ที่มีสภาพทางภูมิศาสตร์ดี เช่น ถ้าเป็นบ้านก็ต้องให้มีต้นไม้ร่มรื่น น้ำไฟสะดวก ถ้าเป็นโรงเรียนก็ต้องมีลุขลักษณะดี มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่มีเสียงอึกทึก มีบริเวณกว้างขวาง มีสนามกีฬา ถ้าเป็นที่ตั้งร้านค้า ก็ต้องเป็นบริเวณที่อยู่ในย่านชุมชน การคมนาคมสะดวก ถ้าเป็นจังหวัดหรือภาคก็ต้องเป็นบริเวณที่สภาพภูมิศาสตร์ดี เช่น ไม่ลุ่มไม่ดอนเกินไป ไม่หนาวไม่ร้อนจนเกินไป เป็นต้น
๒.อาหารเป็นที่สบาย หมายถึง เป็นบริเวณที่สามารถจัดหาอาหารกินได้สะดวก เช่น อาจอยู่ใกล้ตลาด บริเวณที่มีการเกษตรกรรมสามารถผลิตอาหารได้เองพอเพียง
๓.บุคคลเป็นที่สบาย หมายถึง บริเวณที่อยู่นั้นต้องไม่มีนักเลงอันธพาล ดจรผู้ร้ายไม่ชุกชุม คนส่วนใหญ่ในละแวกนั้นเป็นคนดี มีศีลธรรม มีวินัย ใฝ่หาความก้าวหน้า
๔.ธรรมะเป็นที่สบาย
-ในทางโลก หมายถึง ในถิ่นนั้นมีโรงเรียน สถานศึกษาสำหรับให้ความรู้ได้อย่างดี ตลอดจนมีหลักการปกครองที่ดีอีกด้วย
-ในทางธรรม หมายถึง ในถิ่นนั้นมีพระภิกษุ หรือฆราวาส ผู้รู้ธรรมเป็น บัณฑิต สามารถให้การอบรมสั่งสอนศีลธรรมได้อย่างดี หรือถิ่นที่พุทธศาสนาแผ่ ไปถึง สามารถให้ทานรักษาศีล ฟังเทศน์ เจริญสมาธิภาวนาได้เป็นนิจ
ลำดับความสำคัญของปัจจัยทั้ง ๔ ประการ
องค์ประกอบของถิ่นที่เหมาะสมดังได้กล่าวมาแล้วทั้ง ๔ ประการ จัดเรียงลำดับความสำคัญได้ดังนี้
ธรรมเป็นที่สบาย สำคัญอันดับ ๑
บุคคลเป็นที่สบาย สำคัญอันดับ ๒
อาหารเป็นที่สบาย สำคัญอันดับ ๓
อาวาสเป็นที่สบาย สำคํญอันดับ ๔
เพราะถึงแม้อาวาสจะไม่เป็นที่สบาย แต่ถ้ามีอาหารอุดมสมบูรณ์ก็ยังพออยู่ได้ หรือถ้าอาวาสและอาหารไม่เป็นที่สบาย แต่บุคคลเป็นที่สบายแล้ว ก็จะสามารถปรับปรุงอาหารและอาวาสให้เป็นที่สบาย แต่บุคคลจะเป็นที่สบายได้ก็ต้องมีธรรมเป็นที่สบายอยู่ในจิตใจเสียก่อน
ตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุนพื้นที่เป็นเกาะ มีภัยธรรมชาติจากพายุพัดภูเขาไฟระเบิดอยู่บ่อย ๆ พื้นที่ก็น้อย (อาวาสไม่เป็นที่สบาย) เดินอาหารการกินก็ไม่เพียงพอ (อาหารไม่เป็นที่สบาย) แต่เนื่องจากประชากรของเขามีประสิทธิภาพ ขยันขันแข็ง มีวินัย ใฝ่หาความก้าวหน้า (บุคคลเป็นที่สบาย) และมีหลักในการปกครองประเทศที่ดี มีความรักชาติ (ธรรมะในทางโลกเป็นที่สบาย) จึงเป็นผลให้ประเทศญี่ปุ่นพัฒนาเจิรญรุ่งเรือง จนเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกได้
ส่วนประเทศไทย มีสภาพภูมิศาสตร์ที่ดีเยี่ยม ไม่มีภัยธรรมชาติที่รุนแรง (อาวาสเป็นที่สบาย) อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ (อาหารเป็นที่สบาย) แต่ที่ยังขาดอยู่ คือ คนของเรายังขาดวินัย ยังมีความมานะพากเพียรไม่เพียงพอ แม้เราชาวไทยจะมีพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องมือเหนี่วจิตใจ แต่ทว่าเรายังเห็นแก่ความสะดวกสบายส่วนตัวอยู่มาก ยังไม่นำพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาประพฤติปฏิบัติมากเท่าที่ควร ทำให้ความเจริญของเรายังล้าหลังประเทศอื่นอยู่มาก
ดังนั้น ถ้าพวกเราทั้งหลายร่วมใจกันพัฒนาตนเองให้เป็นคนดี มีระเบียบวินัย มีความขยันขันแข็ง ใฝ่หาความก้าวหน้าอยู่เสมอ นำหลักธรรมในพุทธศาสนามาประพฤติปฏิบัติ ก็เป็นที่หวังได้ว่าชาติไทยของเรา จะมีความรุ่งเรืองก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศทั้งหลายได้ในอนาคตอันใกล้นี้
ข้อเตือนใจ
ในหลาย ๆ ประเทศมีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านวัตถุมาก ประชาชนได้รับความสะดวกสะบายในเรื่อง เครื่องอุปโภค บริโภค หางานทำได้ง่าย เก็บเงินทองได้มาก ดูเผิน ๆ แล้วน่าไปอยู่อาศัยมาก แต่อย่าไปอยู่เลย เพราะธรรมะไม่เป็นที่สบาย โอกาสที่ผู้อยู่อาศัยจะสร้างความก้าวหน้าทางใจ โอกาศที่จะสร้างบุญบารมีมีน้อย คนอยู่ในประเทศเหล่านั้น ตื่นเช้าขึ้นมาก็นึกถึงแต่งานไม่เคยไม่นึกถึงการทำบุญทำทาน การรักษาศีล หรือการทำสมาธิภาวนาเลย หรือบางครั้งนึกถึงแต่ก็ไม่มีใครแนะนำให้ ดังนั้น ถึงมีชีวิตอยู่ก็เหมือนคนที่ตายแล้ว คือตายไปแล้วจากคุณงามความดี
ในประเทศไทยเรา แม้ความเจริญทางด้านวัตถุ อาจจะยังล้าหลังแต่ด้านธรรมะยังเจริญอยู่มาก เรายังมีโอกาสให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนาได้เต็มที่ มีโอกาสให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ได้เต็มที่ มีโอกาสสร้างบุญให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปได้
วิธีทำบ้านให้น่าอยู่
๑.ดูแลบ้านให้สะอาด เป็นระเบียบ มีทางถ่ายเทอากาศได้สะดวก
๒.เลือกซื้อ เลือกทำอาหารให้ถูกหลักอนามัย แม่บ้านหัดทำอาหารให้เป็น
๓.จูงใจคนในบ้านให้มีศีลธรรม มีความเคารพซึ่งกันและกัน มีความขยันหมั่นเพียร โดยเริ่มปรับปรุงที่ตัวเราเองให้ดีก่อน แล้วจึงชักชวนผู้อื่นให้ปฏิบัติตาม
๔.ชักนำกันไปวัดฟังเทศน์ ฝึกสมาธิ รักษาศีล เป็นประจำ จัดบ้านให้มีอุปกรณ์ เครื่องเสริมสร้างทางใจ เช่น มีหนังสือธรรมะ มีห้องพระ หรือหิ้งพระ กำจัดภาพและหนังสือที่ไม่เหมาะสมออกให้หมด เช่น ภาพหรือหนังสือลามก เป็นต้น
อานิสงส์การอยูในถิ่นที่เหมาะสม
๑.ทำให้ได้รับความสุขกาย สุขใจ เต็มที่
๒.ทำให้ได้รับความเจริญก้าวหน้าทั้งทางโลกและทางธรรม
๓.ทำให้มีโอกาสบำเพ็ญบุญเต็มที่ทั้งทาน ศีล ภาวนา
๔.ทำให้ได้รู้พระสัทธรรม คือ ได้ศึกษาธรรมะ
๕.ทำให้ได้การเห็นอันประเสริฐ คือ ได้เห็นพระรัตนตรัย
๖.ทำให้ได้ฟังธรรมอันประเสริฐ คือ ได้ฟังคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
๗.ทำให้ได้ลาภอันประเสริฐ คือ ได้ความศรัทธาในพระรัตนตรัย
๘.ทำให้ได้การศึกษาอันประเสริฐ คือ ได้ศึกษาศีล สมาธิ ปัญญา
๙.ทำให้ได้การบำรุงอันประเสริฐ คือ ได้บำรุงพุทธศาสนา
๑๐.ทำให้ได้การระลึกอันประเสริฐ คือ ใจระลึกผุกพันอยู่กับพระรัตนตรัย
๑๑.ทำให้ได้นิสัยไม่ประมาท โดยดูตัวอย่างจากผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย
๑๒.ทำให้ได้ที่พึ่งอันสูงสุด คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
๑๓.ทำให้ได้อริยทรัพย์ คือ ทรัพย์ของพระอริยเจ้า ได้แก่ หนทางสู่พระนิพพาน