ชีวิตสัตว์ก็เช่นกัน เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิดอีก หมุนเวียนเป็นวัฏฏะอยู่อย่างนี้ไม่มีที่สิ้นสุด
เป็นเช่นนี้มานานเท่าไรก็เหลือจะนับ และจะเป็นเช่นนี้ไปอีกนานเท่าใดก็ไม่อาจคะเนได้
สายน้ำจากที่สูงไหลไปแล้วไม่ไหลกลับฉันใด ชีวิตของสัตว์ที่ล่วงไปแล้วก็ไม่ย้อนกลับมาอีกฉันนั้น
กาลเวลาย่อมกลืนกินชีวิตสัตว์ให้ใกล้ต่อความตายเข้าไปทุกเวลานาที
ชีวิตนี้ไม่น่ารื่นรมย์เลย
แต่คนเขลากลับเห็นว่างามวิจิตร พากันยินดีร่าเริงติดข้องอยู่เหมือนนกติดอยู่ในตาข่าย ใจของ
คนเขลาถูกความมืด คืออวิชชาหุ้มห่อไว้ จึงไม่รู้ว่าชีวิตนี้เป็นทุกข์ ไม่น่ารื่นรมย์ ถูกไฟ คือราคะ ความกำหนัด
ยินดี โทสะความโกรธ ความประทุษร้าย โมหะ ความหลงไม่รู้ความจริงเผาไหม้อยู่เป็นนิจ
ไยจึงไม่แสวงหาดวงประทีปมาดับความมืดกันเสียเล่า
พระอรหันต์ทั้งหลาย ได้จุดประทีปให้สว่างไสวดับความมืดเสียได้แล้ว ชีวิตของท่านดับสนิทแล้ว
ไม่ย้อนกลับมาเกิดอีก วัฏฏะของท่านหยุดหมุนแล้ว
เมื่อไรวัฏฏะของเราจึงจะหยุดหมุนอย่างท่าน
ชีวิตนี้น้อยนัก สั้นนัก บางคนก็ตายเสียแต่ในครรภ์ บางคนออกมาจากครรภ์ก็ตาย บางคนอยู่ ๑
เดือนก็ตาย บางคนปีเดียวก็ตาย บางคนมีชีวิตไปจนหนุ่มสาวแล้วก็ตาย บางคนอยู่ไปจนแก่เฒ่าแล้วก็ตาย
ที่อายุยืนอย่างมากก็ไม่เกิน ๑๐๐ ปี หรือจะเกิน ๑๐๐ ปีขึ้นไปก็ไม่มาก แล้วก็ตายเพราะชรา ทุกชีวิตล้วนมี
ความตายเป็นเบื้องหน้า
สัตว์ทั้งหลายที่เกิดแล้ว ที่จะไม่ตายไม่มี
ผลไม้ที่สุกงอมแล้ว ย่อมร่วงหล่นไปตามธรรมดาฉันใด สัตว์ทั้งหลายที่เกิดแล้วย่อมตายไปเป็น
ธรรมดาฉันนั้น
ชีวิตนอกจากจะน้อยตามธรรมดาของตนอย่างนี้แล้ว ยังน้อยด้วยขณะ คือตั้งอยู่ได้เพียงชั่วขณะ
จิตเกิดขึ้นแล้วดับไปครั้งหนึ่งเท่านั้น
จิตนั้นเกิดดับรวดเร็วนัก เพียงลัดนิ้วมือครั้งเดียว จิตเกิดดับถึงโกฏิแสนขณะ
เมื่อจิตดับชีวิตก็ดับไปขณะหนึ่ง แต่เพราะจิตดับแล้วยังเกิดใหม่สืบต่ออยู่ทุกขณะ ชีวิตของสัตว์
ทั้งหลายจึงยืนยาวสืบต่อกันมา ชาติแล้วชาติเล่า เปลี่ยนจากสัตว์ชนิดนี้เป็นสัตว์ชนิดนั้น เปลี่ยนจากสัตว์ชนิด
นั้นเป็นสัตว์ชนิดโน้น จากสัตว์ชนิดโน้นกลับมาเป็นสัตว์ชนิดนี้ จากสัตว์ชนิดนี้กลับเป็นสัตว์ชนิดนั้น หมุนเวียน
เปลี่ยนกันไปอยู่อย่างนี้จนกว่าเมื่อไรจะได้พบดวงประทีป คือปัญญาที่ขจัดความมืด คืออวิชชาที่ห่อหุ้มจิตใจ
เสียได้ เมื่อนั้นจิตจะดับแล้วไม่เกิดอีกต่อไป ชีวิตก็ดับไปพร้อมกับจิตด้วยเป็นการสิ้นสุดชีวิตกันอย่างแท้จริง
ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ไม่มีเครื่องต้านทาน คือใครๆ ไม่อาจป้องกันให้พ้นจากความตายได้
ทุกชีวิตล้วนตกอยู่ในอำนาจของความตาย มีความตายเป็นเบื้องหน้า เมื่อความตายครอบงำแล้วต้องไปอยู่
ปรโลก บิดามารดาก็ไม่อาจป้องกันบุตรไว้ได้ ญาติสนิทมิตรรักก็ไม่อาจป้องกันได้
ชีวิตของสัตว์ไม่มีนิมิตรเครื่องหมายให้รู้ว่า เวลาไหนจะถึงกาลแตกดับ อาจจะตายในนาทีนี้
ชั่วโมงนี้ วันนี้ เดือนนี้ ปีนี้ ปีหน้า หรือเมื่อใดก็ได้ จะตายในบ้าน นอกบ้าน หรือที่ไหนก็ไม่อาจทราบได้
จะถูกงูกัดตาย ถูกฆ่าตาย ฆ่าตัวเองตาย เป็นโรคตาย ฯลฯ จะตายดีตายร้ายประการใด หามีใครทราบไม่
พระพุทธองค์ทรงเปรียบเทียบความน้อยนิดของชีวิตสัตว์ไว้ในที่หลายแห่งว่า
๑. ชีวิตสัตว์น้อยนิด เหมือนหยดน้ำค้างบนยอดหญ้า พอถูกแสงอาทิตย์ก็แห้งไปโดยรวดเร็ว
๒. ชีวิตสัตว์น้อยนิด เหมือนฟองน้ำที่เกิดจากเม็ดฝนใหญ่ ย่อมแตกไปโดยเร็วพลัน
๓. ชีวิตสัตว์น้อยนิด เหมือนรอยไม้ที่ขีดลงในน้ำ ย่อมกลับเข้าหากันโดยเร็ว
๔. ชีวิตสัตว์น้อยนิด เหมือนน้ำที่ไหลจากภูเขา ย่อมไหลลงไปอย่างเดียวโดยไม่หยุดยั้ง
๕. ชีวิตสัตว์น้อยนิด เหมือนบุรุษมีกำลังตะล่อมก้อนเขฬะไว้ที่ปลายลิ้น ย่อมถ่มออกจากปาก
โดยง่าย
๖. ชีวิตสัตว์น้อยนิด เหมือนชิ้นเนื้อที่ใส่ลงไปในกะทะเหล็กที่ร้อนจัดตลอดวัน เนื้อนั้นย่อมไหม้
ไปโดยพลัน
๗. ชีวิตสัตว์น้อยนิด เหมือนแม่โคที่ถูกนำไปฆ่าย่อมเดินเข้าไปใกล้ที่ฆ่า (คือความตาย) ทุกขณะ
เพราะเหตุที่บัณฑิต ผู้มีปัญญาทั้งหลาย ทราบชัดถึงความเป็นไปของชีวิตสัตว์อย่างนี้ว่าไม่มีนิมิต
เครื่องหมาย น้อยนิด รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก จึงได้เร่งรีบทำกุศล ประพฤติพรหมจรรย์
เพราะสัตว์ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตายนั้นไม่มี
ถ้าจะตั้งคำถามว่าสัตว์ทั้งหลายเกิดมาเพื่ออะไร
คำตอบก็เห็นจะเป็นว่า สัตว์ทั้งหลายเกิดมาเพื่อใช้กรรมเก่า ๑ เพื่อสร้างกรรมใหม่ ๑
และเพื่อตาย ๑
๑. สัตว์ทั้งหลายเกิดมาเพื่อใช้กรรมเก่าอย่างไร
การเกิดเป็นสัตว์ในอบาย มีสัตว์นรก เปรต อสูรกาย สัตว์เดรัจฉาน ล้วนเกิดมาเพราะกรรมเก่า
คือ บาปที่ทำเอาไว้นำเกิด เกิดมาแล้วบางเวลาทุกข์ยากลำบากแสนสาหัส ก็เพราะบาปที่ทำไว้อีกนั่นแหละติด
ตามมาให้ผล เมื่อใดได้รับความสุขก็เป็นเพราะบุญที่เคยทำไว้มีโอกาสมาให้ผล
การเกิดเป็นมนุษย์ และเทวดานั้นอาศัยกรรมเก่าคือบุญที่ทำไว้นำเกิด เกิดมาแล้วบางเวลาก็ได้รับ
ความสุขสบาย เพราะบุญเก่านั้นแหละประสิทธิ์ประสาทให้ แต่บางเวลาก็ได้รับความทุกข์ ทั้งนี้ก็เพราะบาปที่
ทำไว้ตามมาให้ผล
เพราะเหตุที่สัตว์ทั้งหลายทำกรรม คือบุญบาปไว้ในอดีต จึงต้องเกิดมารับผลของบุญและ
บาปที่ทำไว้
บางคนเกิดมาร่ำรวยมหาศาลด้วยผลของบุญ แต่ใช้ความร่ำรวยที่ได้มานั้นในทางที่ผิด เช่นเป็น
นักเลงการพนัน เป็นต้น คนอย่างนี้ผู้ใหญ่ท่านเรียกว่า คนกินบุญเก่า เพราะไม่ได้ทำบุญใหม่ไว้สำหรับใช้
ในชาติหน้า
สัตว์ทั้งหลายเกิดมาใช้กรรมเก่า คือบุญ และบาปที่ตนได้ทำไว้ด้วยอาการอย่างนี้
๒. สัตว์ทั้งหลายเกิดมาสร้างกรรมใหม่อย่างไร
กรรมนั้นมี ๒ ประเภท คือ กรรมที่ทำให้วนอยู่ในวัฏฏะ ๑ กรรมที่ทำให้ออกจากวัฏฏะ ๑
สัตว์ส่วนมากทำกรรมที่ทำให้วนอยู่ในวัฏฏะ
กล่าวคือ ถ้าเป็นกรรมฝ่ายดีคือ บุญ ก็ทำบุญ ให้ทาน รักษาศีล ฟังธรรม ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
เมตตาอารีต่อกัน กรรมที่ดีที่สูงขึ้นไป ก็คือการทำสมาธิ ให้จิตใจสงบ ทำฌานเพื่อบรรเทากิเลสให้ระงับไป
ชั่วคราว ตราบเท่าที่อำนาจของฌานยังอยู่ ซึ่งกรรมฝ่ายดีคือ บุญที่ทำใหม่นี้ จะไปให้ผลให้ได้ดีมีสุขในอนาคต
ต่อไปอีก
ถ้าเป็นฝ่ายชั่วคือ บาป ก็ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดคำหยาบ พูดส่อ
เสียด พูดเพ้อเจ้อ เพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่น คิดพยาบาทปองร้ายผู้อื่น และมีความเห็นผิด ไม่เชื่อบาปบุญ
เป็นต้น บางพวกทำบาปหนักยิ่งกว่านั้น ด้วยการทำอนันตริยกรรม ๕ อย่าง คือฆ่าแม่ ฆ่าพ่อ ฆ่าพระอรหันต์
ทำพระโลหิตของพระพุทธเจ้าให้ห้อ ทำลายสงฆ์ให้แตกกันเป็น ๒ ฝ่าย ซึ่งกรรมฝ่ายบาปที่สัตว์ทำใหม่
ในปัจจุบันนี้ จะไปให้ผล คือความทุกข์ในอนาคตต่อไปอีก
ส่วนกรรมที่นำออกจากวัฏฏะมีประการเดียวคือ มรรคกรรม ได้แก่การเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ คือ
สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ
เมื่อใดที่อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ประชุมพร้อมกัน มีนิพพานเป็นอารมณ์ครั้งแรก
เมื่อนั้นสังโยชน์ ๓ ประการ จะถูกละเลยออกไปโดยสิ้นเชิง สังโยชน์ ๓ ประการคือ ทิฎฐิ ๑
วิจิกิจฉา ๑ สีลัพพตปรามาส ๑ บรรลุเป็นพระโสดาบัน เป็นพระอริยบุคคลขั้นต้น ไม่ใช่ปุถุชนผู้ยังมีกิเลส
ครบถ้วนอีกต่อไป พระโสดาบัน ท่านตัดวัฏฏะซึ่งจะต้องสืบต่อกันไปอีกยืดยาว ให้เหลือเพียงอย่างมากไม่
เกิน ๗ ชาติ
เมื่ออริยมรรคครั้งที่ ๒ เกิดขึ้นมีนิพพานเป็นอารมณ์
ทำลายสังโยชน์ที่เหลืออีก ๗ ให้เบาบาง บรรลุเป็น พระสกทาคามี ผู้จะกลับมาเกิดในกามโลกนี้
อีกเพียงครั้งเดียว
เมื่ออริยมรรคครั้งที่ ๓ เกิดขึ้นมีนิพพานเป็นอารมณ์
ทำลายสังโยชน์อีก ๒ คือ กามราคะ ๑ ปฏิฆะ ๑ ให้หมดไป เป็น พระอนาคามี ผู้ไม่กลับมาเกิด
ในกามโลกอีกจะเกิดอยู่ในพรหมโลกนั้นเอง แล้วสำเร็จเป็นพระอรหันต์ปรินิพพานในพรหมโลกนั้นเอง
เมื่ออริยมรรคครั้งที่ ๔ เกิดขึ้นมีนิพพานเป็นอารมณ์
ทำลายสังโยชน์ ๕ ที่เหลือให้หมดสิ้น คือทำลายรูปราคะ ๑ อรูปราคะ ๑ มานะ ๑ อุทธัจจะ ๑
และอวิชชา ๑ บรรลุเป็น พระอรหันต์ ผู้บริสุทธิ์ หมดจดจากกิเลสทั้งปวง ปริพพานแล้วไม่กลับมาเกิดใน
โลกไหนๆ อีก
เป็นการสิ้นสุดวัฏฏะกันเพียงเท่านี้
สัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาจึงกล่าวได้ว่า เกิดมาเพื่อทำกรรมใหม่อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ ๒ อย่าง
หรือทั้ง ๓ อย่าง ด้วยประการฉะนี้
๓. สัตว์ทั้งหลายเกิดมาเพื่อตายนั้นอย่างไร
ข้อนี้เห็นจะไม่ต้องอธิบายกันมาก เพราะทุกคนแม้ยังไม่เคยตายในชาตินี้ แต่ก็ได้เคยตายมามาก
แล้วในอดีต ถึงนึกไม่ได้ว่า ความตายเป็นอย่างไร แต่ก็พออนุมานเอาได้จากสัตว์อื่นที่ตายอยู่ทุกวัน เป็นตัว
อย่างให้เห็น ไม่มีใครพ้นจากความตายได้สักคนเดียว ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นคนโง่หรือคนฉลาด คนสวย หรือคน
ขี้ริ้ว ไพร่ หรือผู้ดี มียศ หรือไม่มียศ มีอำนาจ หรือไม่มีอำนาจ เป็นพระราชา หรือประชาราษฎร์ มีฤทธิ์
หรือไม่มีฤทธิ์ ล้วนแต่หนีความตายไม่พ้นทั้งสิ้น
เวลาเกิด มามือเปล่าอย่างไร เวลาตาย ก็ไปมือเปล่าอย่างนั้น
กรรมทั้งหลายเมื่อทำไปแล้ว ไม่ว่าดี หรือชั่ว เราไม่สามารถแก้ไข หรือเรียกคืนมาได้ กรรมเก่า
ที่สัตว์ทำแล้วในอดีต จึงเป็นอันทำแล้ว แก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่กรรมใหม่ที่สัตว์กำลังทำอยู่ในบัดนี้สิ
ที่พอจะเลือกทำแต่กรรมดีคือบุญได้แต่ก็ไม่เสมอไป เพราะกิเลสนั้นมีกำลังใหญ่หลวงนัก ผู้มีปัญญาน้อยจึงไม่
อาจต้านทานอำนาจกิเลสได้ ปล่อยให้กิเลสชัดนำให้ทำกรรมชั่วคือบาป บางทีก็ทำทั้งๆ ที่รู้ว่าบาปตาบางทีก็ทำ
โดยไม่รู้ แต่ขึ้นชื่อบาปแล้ว ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม เมื่อทำลงไปแล้วย่อมมีผลเป็นทุกข์ทั้งสิ้น
เพราะเหตุที่กิเลสมีอำนาจมาก ชักจูงให้สัตว์หลงผิดได้ง่าย ท่านจึงสอนให้เว้นห่างจากคนชั่ว
(คือคนที่มีกิเลสมาก) เพราะถ้าคลุกคลีใกล้ชิดกันบ่อยๆ จิตใจก็อาจจะหันเหไปตามคนชั่วได้ง่าย ร่วมทำ
กรรมกับคนชั่วได้ง่าย
ในทางตรงกันข้าม เมื่อเว้นจากคนชั่วแล้ว ท่านก็สอนให้คบคนดี เข้าหาใกล้ชิดคนดี คนดีนั้นมีทั้งที่ดี
สุดยอด คือไม่มีกิเลสอย่างพระอรหันต์ หรือคนดีปานกลางที่มีกิเลสน้อย อย่างพระอริยบุคคล ที่เหลืออีก ๓ พวก
คือพระอนาคามี พระสกทาคามี และพระโสดาบัน ตามลำดับ หรือคนดีธรรมดาที่ยังมีกิเลสครบเป็นปุถุชน มีหิริ
ความละอายบาป มีโอตตัปปะ ความกลัวบาป มีศีลงาม มีธรรมงาม มีความประพฤติสะอาด การอยู่ใกล้ชิดกับ
คนดี ได้เห็นการกระทำที่ดีของท่าน จะเป็นปัจจัยให้ผู้เข้าใกล้ได้ดำเนินตามรอยและประพฤติตาม
การคบคนดีจึงเป็นการหลีกเลี่ยงอบายได้ทางหนึ่ง
ส่วนการคบคนชั่วนั้น เป็นการปิดกั้นทางสวรรค์และมรรคผลนิพพานโดยแท้
พระพุทธองค์ตรัสไว้ใน นิธิกัณฑ์ (ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ) ว่า เทวดาและมนุษย์ย่อมได้ผล
อันน่าพอใจด้วย บุญนิธิ คือ ขุมทรัพย์ที่บุคคลได้ฝังไว้ คือกระทำไว้แล้ว บุคคลจะถึงมนุษย์สมบัติ เทวดา
สมบัติ และนิพพานสมบัติ
บุญ จึงเป็นมิตรชนิดเดียว ที่ติดตามไปให้ความสุขถึงภพหน้า ใครๆก็ไม่อาจลักพาบุญของเรา
ไปได้ อันตรายใดๆ ก็ไม่อาจแผ้วพานบุญของเราได้ บุญนั้นพร้อมเสมอที่จะอำนวยประโยชน์สุขให้แก่ผู้เป็น
เจ้าของ
ชีวิตนี้น้อยนัก มานานก็จะจากโลกนี้ไป เหตุใดจึงไม่สั่งสมบุญกันเล่า
บุญนั้นเป็นเครื่องชำระจิตใจให้สะอาดปราศจากกิเลส
กุศลนั้นเป็นสภาพที่ตัดบาปธรรม คือกิเลสความชั่วร้ายอันบัณฑิตพึงรังเกียจ
เพราะฉะนั้น บุญ กับ กุศล จึงมีความหมายไม่ต่างกัน เรานิยมเรียกรวมกันว่า บุญกุศล
ก็กุศลนั้นเป็นธรรมที่ไม่มีโรค เป็นธรรมที่ไม่มีโทษ เป็นธรรมที่ให้ผลเป็นความสุขและเป็นธรรม
ที่เกิดแต่ความฉลาด กุศลเป็นฉันใด บุญก็เป็นฉันนั้น
กิเลสทั้งหลาย คือ โลภะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา ถีนะ อุทธัจจะ อหิริกะ และอโนตตัปปะ
เรียกว่า โรค เพราะคอยเสียดแทงใจ และเบียดเบียนใจให้เดือดร้อน แต่บุญกุศลไม่มีโรคคือกิเลศเหล่านั้น
คนที่มีบุญกุศลคือคนที่มีลาภอันประเสริฐ ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสใน มาคัณฑิยสูตร มัชฌิมนิกาย
มัชฌิมปัณณาสก์ว่า "ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ"
โรคในที่นี้มิใช่โรคกาย แต่เป็นโรคใจคือกิเลส คนที่ไม่มีโรคทางกายนั้น นับว่าประเสริฐ
แต่คนที่ไม่มีโรคทางใจคือกิเลส ประเสริฐกว่า
เพราะฉะนั้น บุญกุศลจึงเป็นธรรมที่ไม่มีโรค คือกิเลส
กิเลสเหล่านั้นเป็นธรรมที่มีโทษ คือประทุษร้ายจิตให้เศร้าหมองเร่าร้อน เป็นทุกข์ บุญกุศลไม่มี
โทษเหมือนกิเลสเหล่านั้น มีแต่ทำให้จิตใจปลอดโปร่ง เบิกบาน แจ่มใส เป็นสุข
เพราะฉะนั้น บุญกุศลจึงเป็นธรรมที่ไม่โทษ คือ กิเลส
ความสุขที่ได้รับทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ในภพชาตินี้ กล่าวคือเมื่อเห็นแต่สิ่งที่งดงาม
เมื่อได้ยินก็ได้ยินเสียงที่ไพเราะหวานหู เมื่อได้กลิ่นก็ได้กลิ่นหอมรวยรื่นใจ เมื่อได้รสก็ได้รสที่อร่อย เมื่อ
ได้รับถูกต้องสัมผัส ก็ได้รับแต่สัมผัสที่ดี อ่อนนุ่ม เหล่านี้ และการได้สุขสมบัติในมนุษย์และเทวดาในภพ
หน้าชาติหน้า ล้วนแต่เป็นผลของบุญกุศลทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้น บุญกุศลจึงเป็นธรรมที่ให้ผลเป็นความสุข
บุญกุศลนั้นมีทั้งที่เกิดพร้อมด้วยความฉลาด คือปัญญาและที่ไม่เกิดพร้อมด้วยปัญญา บุญกุศล
นั้นชื่อว่าเกิดแต่ความฉลาด บุญกุศลที่เกิดแต่ความฉลาด มีกำลังและอานิสงส์มากกว่าบุญกุศลที่ไม่เกิด
จากความฉลาด
ก็เพราะบุญกุศลมีคุณมากดังกล่าวมา บุคคลจึงควรทำบุญกุศลอันนำสุขมาให้ โดยเฉพาะบุญกุศล
ที่เกิดแต่ปัญญาความฉลาดละเว้นบาปอกุศลเสีย
บุญกุศลที่ควรทำนั้นคืออะไรเล่า ?
ถ้าจะกล่าวให้ครบถ้วนแล้วบุญกุศลมีมากมายหลายชนิด เป็นสิ่งที่ควรทำทุกชนิด
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำหนดไว้เป็นพวกใหญ่ๆ ๓ พวก คือ ทาน ศีล ภาวนา
๑. ทาน หมายถึงการให้ การให้สิ่งของที่สมควรและจำเป็นแก่ผู้รับ เพื่ออนุเคราะห์ให้เกิด
ความสุขก็ดี ให้เพื่อบรรเทามัจฉริยะ ความตระหนี่ที่มีอยู่ในใจก็ดี ให้เพื่อให้จิตใจอ่อนโยนเป็นบาทแก่
การเจริญสมถะและวิปัสสนาก็ดี ล้วนแต่ได้ชื่อว่าทานทั้งสิ้น แต่ทานประการหลังมีผลมากที่สุด
อภัยทาน การให้อภัยกันและกัน ไม่ถือโทษกัน ไม่พยาบาทปองร้ายกัน ก็เป็นทาน
ธรรมทาน หารให้ธรรมะด้วยประสงค์ที่จะให้ผู้อื่นเกิดปัญญา ก็เป็นทาน และเป็นทานที่
พระพุทธเจ้าตรัสว่า เลิศกว่าทานทั้งปวง
ปัตติทาน การให้ส่วนบุญ การที่เราทำบุญแล้วอุทิศหรือแบ่งบุญให้ผู้อื่นโดยไม่หวงแหน
เป็นการสละมัจฉริยะ ความตระหนี่ออกจากใจ ก็เป็นทาน
ปัตตานุโมทนา การพลอยยินดีในบุญที่ผู้อื่นทำแล้ว เป็นการกำจัดความริษยาในใจ ก็เป็นทาน
และศีล ๕ ท่านก็เรียกว่า มหาทาน เพราะให้ความไม่มีเวร ไม่มีภัยแก่สัตว์ทั้งหลาย
๒. ศีล หมายถึง การมีปกติเว้นจากกายทุจริต คือความประพฤติชั่วทางกาย ๓ มีการฆ่าสัตว์
การถือเอาของที่เจ้าของมิได้ให้ การประพฤติผิดในกาม และเว้นจากวจีทุจริต คือความประพฤติชั่วทางวาจา ๔
มีการพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดหยาบคาย และพูดเพ้อเจ้อ
อปจายนะ การอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม ก็สงเคราะห์ลงในศีล
เวยยาวัจจะ การขวยขวายช่วยเหลือผู้อื่นในกิจการงานที่ไม่มีโทษ ก็สงเคราะห์ลงในศีล
อปจายนะและเวยยาวัจจะทั้งสองนี้ สงเคราะห์ลงเป็นศีลในส่วนที่เป็นจารีตศีล คือเป็นการกระทำ
ตามจารีตประเพณีตามปกติของคนดี
๓. ภาวนา หมายถึงการอบรมเจริญให้เกิดมีขึ้นได้แก่ การอบรมให้เกิดความสงบใจ ที่เรียกว่า
สมาธิ หรือ สมถะภวนาอย่างหนึ่ง และได้แก่การอบรมให้เกิดปัญญา รู้เท่าทันสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามความ
เป็นจริงว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในบังคับบัญชาของใคร ที่เรียกว่า วิปัสสนาภาวนา อีกอย่าง
หนึ่ง ในสองอย่างนี้ วิปัสสนาเป็นเลิศ
แม้ ธัมมัสสวนะ การฟังธรรม ด้วยจุดประสงค์จะให้เกิดประโยชน์ เพื่อนำมาประพฤติปฏิบัติตาม
ก็สงเคราะห์ลงในภาวนา
ธรรมเทศนา การแสดงธรรมโดยไม่มุ่งลาภสักการะ แต่มุ่งประโยชน์ และความถูกต้องแก่ผู้ฟัง
ก็สงเคราะห์ลงในภาวนา
ทานก็ดี ศีลก็ดี ภาวนาก็ดี ถ้าขาดความรู้ที่ถูกต้อง คือขาดปัญญาพิจารณา ว่าอย่างไหนถูก
อย่างไหนผิด อย่างไหนควรกระทำ อย่างไหนไม่ควรกระทำ ทำสักแต่ว่าทำทานนั้น ศีลนั้น ภาวนานั้นก็
มีผลน้อย
เพราะฉะนั้น ทาน ศีล ภาวนา ที่จะมีผลมากได้จึงต้องอาศัยทิฏฐุชุกรรม การทำความเห็นให้
ถูกต้องว่าผลของทานมีอยู่ เป็นต้น แล้วจึงลงมือกระทำ ทานที่ประกอบด้วย ทิฏฐุชุกรรม คือ ปัญญาเชื่อ
กรรมและผลของกรรมอย่างนี้ จึงมีผลมาก แม้ศีลและภาวนาที่ประกอบด้วยปัญญา ความเห็นถูกต้องก็มี
ผลมากเช่นกัน
ทาน ศีล และภาวนา ล้วนเป็นบุญเป็นกุศลที่ให้ผลเป็นความสุขทั้งสิ้น ถึงกระนั้นก็ยังให้ผลแตก
ต่างกันตามลำดับ คือทานมีผลน้อยกว่าศีล ศีลมีผลน้อยกว่าภาวนา
การให้ทานนั้น บางแห่งท่านเรียกว่า ยัญ แต่ในกูฏทัณฑสูตร ทีฆนิกาย ศีลขันธวรรค พระพุทธเจ้า
ตรัสเรียกบุญกุศลทั้งที่เป็นทาน ศีล และภาวนา ว่าเป็น ยัญที่ให้ผลแตกต่างกันเป็นลำดับ ดังนี้
๑. การถวายทานเป็นประจำ แก่บรรพชิตผู้มีศีลที่เรียกว่า นิจทาน แม้จะยากจนลงก็มิได้ละเลย
คงถวายอยู่เป็นนิจตามกำลัง เพื่อรักษาประเพณีที่เคยทำไว้ มีผลน้อยกว่า มีอานิสงส์น้อยกว่า การสร้างวิหาร
ถวายสงฆ์ ที่มาจากทิศทั้งสี่
๒. การสร้างวิหารถวายสงฆ์ ที่มาจากทิศทั้งสี่ มีผลน้อยกว่า มีอานิสงส์น้อยกว่า สรณคมน์
คือการถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ
๓. การถึงสรณคมน์ ก็ยังมีผลน้อยกว่า มีอานิสงส์น้อยกว่า การรักษาศีล ๕ ของผู้ถึงสรณคมน์
อันให้ความไม่มีเวรไม่มีภัยแก่สัตว์ทั้งปวง
๔. การรักษาศีล ๕ ของผู้ถึงสรณคมน์ ก็ยังมีผลน้อยกว่า มีอานิสงส์น้อยกว่า การมีศีลสังวร
คือการสำรวมในศีล ทั้งปาฏิโมกขสังวรศีลและอินทริยสังวรศีล คือสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
ด้วยสติ ไม่หลงใหล ไปตามนิมิต คือรูปร่าง และอนุพยัญชนะ คือส่วนปลีกย่อยของรูป เสียง กลิ่น รส
โผฎฐัพพะ และธัมมารมณ์ ที่มาปรากฎทาง ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ เหล่านั้น
๕. การมีศีลสังวร ยังมีผลน้อยกว่า มีอานิสงส์น้อยกว่า การบรรลุปฐมฌาน - ฌานที่ ๑
๖. การบรรลุ ปฐมฌาน ยังมีผลน้อยกว่า มีอานิสงส์น้อยกว่า การบรรลุทุติยฌาน - ฌานที่ ๒
๗. การบรรลุ ทุติยฌาน ยังมีผลน้อยกว่า มีอานิสงส์น้อยกว่า การบรรลุตติยฌาน - ฌานที่ ๓
๘. การบรรลุ ตติยฌาน ยังมีผลน้อยกว่า มีอานิสงส์น้อยกว่า การบรรลุจตุตถฌาน - ฌานที่ ๔
๙. การบรรลุ จตุตถฌาน ยังมีผลน้อยกว่า มีอานิสงส์น้อยกว่า วิปัสสนาญาณ - ญาณของวิปัสสนา
๑๐. วิปัสสนาญาณ ยังมีผลน้อยกว่า มีอานิสงส์น้อยกว่า มโนมยิทธิญาณ - ฤทธิ์ที่สำเร็จด้วยใจ
๑๑. มโนมยิทธิญาณ ยังมีผลน้อยกว่า มีอานิสงส์น้อยกว่า อิทธิวิธญาณ - ความรู้ที่แสดงฤทธิ์ต่างๆ
๑๒. อิทธิวิธญาณ ยังมีผลน้อยกว่า มีอานิสงส์น้อยกว่า ทิพโสตญาณ - ความรู้ที่สามรถฟังเสียงทิพย์
และเสียงมนุษย์ได้ทั้งที่อยู่ในที่ปกปิด อยู่ใกล้และไกล ด้วยทิพโสต คือหูทิพย์
๑๓. ทิพโสตญาณ ยังมีผลน้อยกว่า มีอานิสงส์น้อยกว่า เจโตปริยญาณ - ความรู้ที่กำหนดรู้ใจของ
บุคคลอื่นได้ด้วยใจตนเอง
๑๔. เจโตปริยญาณ ยังมีผลน้อยกว่า มีอานิสงส์น้อยกว่า ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ - ความรู้ที่ตาม
ระลึกถึงที่อยู่ในชาติก่อนได้
๑๕. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ยังมีผลน้อยกว่า มีอานิสงส์น้อยกว่า จุตูปปาตญาณ - ความรู้การ
ตาย และการเกิดของสัตว์ทั้งหลายด้วยทิพยจักษุ คือตาทิพย์
๑๖. จุตูปปาตญาณ ยังมีผลน้อยกว่า มีอานิสงส์น้อยกว่า อาสวักขยญาณ - ความรู้ที่ทำลายอาสว
กิเลสให้สิ้นไป บรรลุเป็นพระอรหันตขีณาสพ
การเจริญวิปัสสนา จนบรรลุอาสวักขยญาณเป็นพระอรหันต์ได้นั้น มีผลมากมีอานิสงส์มากที่สุด
พระอรหันต์ได้เป็นความถึงพร้อมแห่งยัญคือบุญ เป็นยอดแห่งยัญ ยัญอื่นจะประณีตและมีค่าเสมอด้วยยัญ
คือพระอรหันต์นั้นไม่มี เพราะการบรรลุพระอรหันต์นั้น เป็นบรมสุข คือเป็นยอดแห่งความสุข เป็นความสุข
ที่ปราศจากกิเลสโดยแท้
บุญกุศลทั้งหลายเหล่านั้นชื่อว่ายัญ ก็เพราะสละคือละกิเลสอันเป็นข้าศึกของใจเลียได้ เป็นสิ่งที่
ควรบำเพ็ญให้เกิดขึ้นเสียแต่วันนี้ เพราะเราไม่รู้ว่าความตายจะมาถึงเมื่อไร
พระอริยบุคคลท่านทำทุกอย่างเพื่อละความอยาก ความต้องการ แต่ปุถุชนคนธรรมดา ทำทุกอย่าง
เพื่อสนองและเพิ่มความต้องการ
ดูอย่างพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงสละจักรพรรดิสมบัติอันจะพึงได้ สละปราสาทราชวัง พระราชบิดา
พระมเหสี พระโอรส ข้าราชบริพารและสาวสวรรค์กำนัลในทั้งหมดออกทรงผนวช พระอริยสาวกทั้งหลายก็เช่น
กัน ล้วนแต่สละบ้านเรือนทรัพย์สมบัติ บุตร ภรรยา สามี ข้าทาส ออกบวช
หันมาดูตัวเราเองบ้าง ไม่เห็นละอะไรได้ มีแต่เพิ่มความอยากได้ขึ้นทุกวัน จนไม่อาจสนองความ
อยากได้นั้นได้หมด จึงพากันคร่ำครวญเป็นทุกข์
แม่น้ำอะไรที่จะกว้างใหญ่เสมอด้วยแม่น้ำ คือ ตัณหา ความอยาก ความต้องการ
เป็นไม่มี ( นตฺถิ ตณฺหาสมา นที )
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ธรรมบท ปุปวรรค ว่า มัจจุย่อมจับนระ (คือสัตว์) ผู้มีใจอันซ่านไป
ในอารมณ์ต่างๆ ผู้กำลังเก็บดอกไม้ทั้งหลายเที่ยวไป เหมือนห้องน้ำใหญ่พัดบ้านอัน (เจ้าของ)
หลับอยู่ไปฉะนั้น
หากเรายังยินดี ร่าเริง หลงใหลอยู่กับอารมณ์ต่างๆ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็น
เสมือนดอกไม้ของมาร เราก็จะถูกมัจจุราชคือ ความตายฉุดคร่าเราไปแล้วๆ เล่าๆ อยู่อย่างนี้ ไม่พ้นไปจาก
อำนาจของมารได้ คงไม่ผิดกับคนที่นอนหลับใหลไร้สติ จนไม่รู้ว่า ได้มีห้วงน้ำใหญ่พัดพาเอาบ้านที่ตนนอนอยู่
ลอยเปะปะไปปะทะตลิ่งหรือขอนไม้แตกทำลายไปทั้งตนและบ้านฉะนั้น
สัตว์ทั้งหลายเกิดมาแล้ว ย่อมได้รับภัยนานาประการ มีภัยจากความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความ
เศร้าโศก ความทุกข์ยากลำเค็ญ ตลอดจนภัยจากกิเลสที่คอยเผาไหม้จิตใจของเราให้เดือดร้อน ซึ่งเรารู้สึกว่า
ภัยเหล่านี้ช่างใหญ่หลวงแท้ๆ แต่กระนั้น ภัยที่ใหญ่ที่สุดของสัตว์ทั้งหลายก็หาใช่ภัยดังกล่าวแล้วไม่ หากเป็นภัย
อันเกิดจากทุกข์ในวัฏฏะที่ต้องเวียนว่ายตายอยู่บ่อยๆ ต่างหาก
เมื่อพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณใหม่ๆ ได้ตรัสว่า "เมื่อเราแสวงหานาย
ช่างผู้สร้างเรือนอยู่ เมื่อยังไม่พบแล่นไปสู่สงสารมีการเกิดมิใช่น้อย ความเกิดบ่อยๆ เป็นทุกข์
แน่ะนายช่างผู้สร้างเรือน บัดนี้เราพบท่านแล้ว ท่านจะสร้างเรือนไม่ได้อีกแล้ว ซี่โครงทั้งหมด
ของท่านเราหักเสียแล้ว ยอดเรือนของท่านเราก็รื้อทิ้งแล้ว จิตของเราถึงนิพพานอันปราศจาก
สังขารการปรุงแต่งแล้วบรรลุความสิ้นไปแห่งตัณหาแล้ว"
นายช่างเรือน ที่พระพุทธองค์ทรงแสวงหานั้น คือ ตัณหา ความทะเยอทะยานอยากได้ในกาม
ในภพ และในวิภพ อันเป็นเหตุใหญ่ให้เกิดภพชาติ ก่อให้เกิดอัตภาพร่างกาย ที่พระพุทธองค์ตรัสเรียกว่า
เรือน เมื่อพระพุทธองค์ทรงค้นพบตัณหาแล้ว ทำลายตัณหาให้สิ้นเชื้อแล้ว ตัณหาจึงไม่สามารถสร้างเรือน
คืออัตภาพ ร่างกายของพระองค์ (ในภพใหม่) ได้อีก
ซี่โครง คือ กิเลสทั้งมวล พระองค์ก็ทรงทำลายเสียสิ้นแล้ว
ยอดเรือน คือ อวิชชา พระองค์ก็ทรงรื้อทิ้งแล้วด้วยวิชชา คือปัญญาในอรหันตมรรค-อรหัตตผล
จิต อันมีนิพพานเป็นอารมณ์ พระองค์ และพระสาวกผู้ค้นพบตัณหาด้วยอริยปัญญา ต่างพากันปรินิพพาน
หมดแล้ว
การตายนั้นมีหลายอย่าง ไหนๆ ต้องตายแน่ๆ ควรจะเลือกเอาการตายอย่างไหนดี ลองพิจารณาดู
๑. ขณิกมรณะ การตายชั่วขณะ หมายถึงการตายของรูปนามขันธ์ ๕ ซึ่งตายอยู่ทุกขณะจิต
สัตว์ที่ประกอบด้วยรูปนามขันธ์ ๕ จึงตายอยู่ทุกขณะเป็นธรรมดา แต่หากตายแล้วไม่ตายกลับเกิดใหม่สืบ
ทอดอยู่ทุกขณะ สัตว์ทั้งหลายจึงดำรงชีวิตอยู่ได้จนหมดอายุ
๒. สมมติมรณะ การตายโดยสมมติ การที่สัตว์ทุกชนิดตาย เช่น คนตาย มดตาย ช้างตาย
เป็นต้น ชื่อว่าตายโดยสมมติ การตายที่รู้จักกันทั่วไป และทุกคนยอมรับรู้ว่านี่แหละคือความตาย แต่ความ
จริงยังหาตายจริงๆ ไม่ เพราะตายแล้วยังต้องเกิดอีก (เว้นพระอรหันต์)
๓. สมุจเฉทมรณะ ตายโดยสิ้นเชิง (ปรินิพพาน) ไม่มีการกลับมาเกิดใหม่อีก การตายอย่างนี้
มีเฉพาะพระอรหันต์เท่านั้น
การตายอย่างแรกคือ ขณิกมรณะนั้น คนธรรมดาสามัญหารู้ไม่ ถึงรู้ก็รู้ตามที่ท่านบอก แต่ไม่
เคยประจักษ์กับใจตนเอง ผู้ที่รู้จริงว่านามรูปตายอยู่ทุกขณะ คือ ผู้ที่เจริญวิปัสสนาที่เรียกว่า สติปัฏฐาน ๔
หรืออริยมรรคมีองค์ ๘ ที่ถึงวิปัสสนาญาณขั้นต้น คือ อุทยัพพยญาณ เป็นต้นไปแล้วเท่านั้น การรู้แจ้งประ
จักษ์ความจริงคือการตายของนามรูปว่ามีอยู่ทุกขณะนี้แหละ เป็นเบื้องต้นที่จะพาให้ผู้แจ้งประจักษ์ได้พบกับ
สมุจเฉทมรณะ คือการตายโดยสิ้นเชิงในบั้นปลาย ไม่เหลือแม้แต่ร่างกาย และกิเลสที่จะเป็นเชื้อให้เกิด
ใหม่อีก
เพราะฉะนั้นสัตว์ที่ตายแล้ว ที่ยังต้องเกิดอีกจึงตายไม่จริง เพราะตายจริงจะต้องตายแล้วไม่เกิด
อีก พระอรหันต์พวกเดียวเท่านั้นที่ตายจริง การตายจริงเรียกว่า ปรินิพพาน