ดับร้อน

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ
ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น
ดับร้อน
โดย อ. ประณีต ก้องสมุทร

            ในท่ามกลางฤดูร้อน ท้องฟ้าโปร่งปราศจากเมฆหมอก แสงแดดแผดกล้า ความร้อนกระจายไปทั่ว ต้นไม้ใบหญ้าเหี่ยวเฉา ผู้คนพากันหลบร้อนอยู่ภายใต้ชายคาของอาคาร หรือร่มไม้ใบหนา แม้จะมีลมพัดมาเป็นครั้งคราว ลมนั้นก็พาเอาความร้อนมาด้วย ตามถนนหนทางหลายสาย และตามขุนเขาลำเนาไพร งดงามไปด้วยดอกไม้ป่าหลายสีต่างพรรณ ที่บานสะพรั่งเต็มไปทั้งต้น อาทิเช่น สีม่วงของอินทนิลและเสลา สีเหลืองของราชพฤกษ์และประดู่ สีชมพูอมขาวของชัยพฤกษ์สีแดงแสดของนกยูง แต่ความสวยสดใสของดอกไม้เหล่านั้น ก็หาช่วยให้ความร้อนคลายไปได้ไม่
             นั่นเป็นเพียงความร้อนที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล ซึ่งไม่นานก็จะแปรเป็นความเย็นชุ่มฉ่ำ เมื่อฤดูฝนเยื้องกรายมาแทนที่ และพระพิรุณโปรยปรายลงมา ให้ความชุ่มชื้นแก่ต้นไม้และแผ่นดิน
            ก็ความร้อนที่เกิดจากลมฟ้าอากาศนั้น อย่างมากก็เพียงทำให้ร้อนกาย ซึ่งยังจะมีทางบรรเทาได้ด้วยน้ำ หรือด้วยอุปกรณ์เครื่องทำความเย็นหลายชนิด หรือแม้เพียงด้วยพัดใบลานเล่มเดียว
             แต่ความร้อนใจเมื่อเกิดขึ้น เราไม่อาจดับได้ด้วยน้ำ หรือด้วยอุปกรณ์เครื่องทำความเย็นเหล่านั้น ทั้งนี้เพราะความร้อนใจนั้น ถึงจะมีสาเหตุมาจากสิ่งอื่น บุคคลอื่นภายนอก หรือแม้จากภายในใจของเราเอง สาเหตุเหล่านั้นก็เป็นเพียงสาเหตุที่เรายกมาอ้างกันเท่านั้น มิใช่สาเหตุที่แท้จริง สาเหตุที่แท้จริงของความร้อนใจนั้นคือกิเลส ที่หมักดองสะสมอยู่ในใจของเรามาช้านานต่างหาก ก็เราไม่มีกิเลสแล้วความร้อนใจเพราะเหตุต่างๆ เหล่านั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย
            ต้นเหตุของความร้อนใจจึงอยู่ที่กิเลส คือ ราคะ โทสะ โมหะ

            พระพุทธองค์ตรัสว่า 1 สิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน ร้อนเพราะไฟคือราคะ ร้อนเพราะไฟคือโทสะ ร้อนเพราะไฟคือโมหะ

ร้อนเพราะไฟคือราคะอย่างไร
            ดูได้จากชาดกเรื่องนี้ 2
            พระพุทธเจ้าของเรา ครั้งยังทรงบำเพ็ญบารมีอยู่ ได้ทรงพบมา แล้วตรัสเล่าเรื่องนี้ ไว้เป็นเครื่องเตือนสติสาวกทั้งหลายไม่ให้มัวเมาประมาท
            พระเจ้าภัลลาติยะเสด็จประพาสป่าล่าเนื้อโดยลำพังพระองค์กับฝูงสุนัขไล่เนื้อ ได้เสด็จไปถึงภูเขาคันธมาทน์ซึ่งอุดมไปด้วยไม้ดอก และไม้ใบนานาพรรณ พระองค์ทรงพบสัตว์ ที่มีเพศพรรณคล้ายมนุษย์สองสามีภรรยา ที่ริมฝั่งแม่น้ำเหมวดี สัตว์ทั้งสองนั้นสวมกอดกันร้องไห้บ้าง หัวเราะบ้างมิรู้หยุดหย่อน
            พระราชาภัลลาติยะทรงแปลกพระทัย จึงทรงให้สัญญาณแก่ฝูงสุนัขให้หมอบคอยอยู่ แล้วเสด็จไปตรัสถามว่า
            “เจ้าทั้งสองเป็นใคร จึงมีเพศพรรณคล้ายมนุษย์ ชาวโลกเรียกเจ้าว่าอะไร”
            ได้รับคำตอบว่า “เราเป็นมฤค มีเพศพรรณคล้ายมนุษย์ ชาวโลกเรียกเราว่า กินนร”

            พระราชาตรัสถามว่า “เจ้าทั้งสองมีทุกข์ร้อนมากนักหรือ จึงร้องไห้คร่ำครวญมิรู้สร่างซา”
            กินนรทูลว่า “เราทั้งสองคิดถึงวันที่ต้องพรากจากกันไปหนึ่งราตรี จึงร้องไห้คร่ำครวญ ไม่ปรารถนาจะพบวันเช่นนั้นอีก”

            พระราชาตรัสถามถึง เหตุที่สามีภรรยาต้องพรากจากกัน
            นางกินนรีเล่าว่า
            “ในฤดูฝนวันหนึ่ง เราเที่ยวไปตามโขดหินน้อยใหญ่ริมแม่น้ำ ที่อุดมด้วยพรรณไม้ดอกส่งกลิ่นหอมรวยริน สามีของเราข้ามฝั่งแม่น้ำไปแล้ว ด้วยคิดว่าเราจะข้ามตามไป แต่เรามัวเพลินเลือกเก็บดอกไม้มาร้อยกรองเป็นมาลัยอยู่ หวังจะให้สามีที่รักได้ทัดทรงดอกไม้ แล้วเราก็จะสอดแซมดอกไม้เข้าไปนอนแนบสามี
            ก็เพราะเรามัวเก็บดอกไม้อยู่นั่นแหละ น้ำได้ขึ้นมาเต็มฝั่ง พัดเอาดอกไม้ลอยตามน้ำไปหมด เราข้ามไปหาสามีไม่ได้ แม้สามีก็ข้ามมาหาเราไม่ได้ ได้แต่เฝ้ามองกันอยู่คนละฝั่ง เวลาฟ้าแลบครั้งหนึ่ง ก็ได้เห็นหน้ากันทีหนึ่ง เมื่อเห็นหน้ากัน ก็ดีใจหัวเราะขึ้น ครั้นฟ้าไม่แลบ เดือนมืดมองไม่เห็นกัน ก็ร้องไห้คิดถึงกัน เราเฝ้าแต่เวียนหัวเราะและร้องไห้อยู่อย่างนี้ทั้งคืน
            ครั้นรุ่งเช้าน้ำลด จึงได้ท่องน้ำมาหากัน ต่างดีใจสวมกอดกันด้วยความรัก เมื่อเราทั้งสองคิดถึงคืนที่ต้องจากกันครั้งไร ก็ร้องไห้และหัวเราะอีก เป็นเช่นนี้มานานถึง ๖๙๗ ปีแล้ว
            ส่วนท่านพรานเป็นมนุษย์ มีอายุน้อยเพียง ๑๐๐ ปี เหตุใดจึงทิ้งภรรยาที่รักมาเที่ยวป่า ไกลถึงเพียงนี้”

            พระราชาตรัสถามว่า “กินนรมีอายุยืนนานเท่าไร”
             ได้รับคำตอบว่า มีกำหนดอายุ ๑,๐๐๐ ปี ไม่ถึงกำหนดก็ไม่ตาย และรักใคร่กันอยู่อย่างนี้ไม่มีจืดจาง

            พระราชาทรงสดับแล้วสลดพระทัย ทรงดำริว่า “ชีวิตของเราสั้นกว่าพวกกินนรมากนัก ไม่ควรทิ้งพระเทวีและราชสมบัติมาเที่ยวป่า ควรกลับไปบำเพ็ญกุศล”
            ครั้นทรงดำริแล้ว ก็เสด็จกลับเข้าเมือง ตรัสเล่าเรื่องที่ทรงพบมาให้พระอัครมเหสีและข้าราชบริพารฟัง จากนั้น พระองค์ก็ทรงบำเพ็ญกุศลอยู่จนตลอดพระชนมายุ โดยไม่ประมาท ครั้นสิ้นพระชนม์แล้ว เสด็จอุบัติในเทวโลก

            ไม่น่าเชื่อว่าเพียงชาติเดียว ไฟคือราคะ ได้เผาไหม้กินนรสองสามีภรรยามานานถึง ๖๙๗ ปี และจะเผาไหม้ต่อไปอีกกี่ชาติ นานเท่าใด หาทราบไม่

            ความยึดถือผูกพันกันด้วยราคะ คือความกำหนัดยินดี จึงเป็นภัยอย่างนี้ ผู้ไม่เห็นโทษของราคะตัณหา ย่อมตกอยู่ในอำนาจของมาร ต้องเวียนตายเวียนเกิดอยู่ตลอดกาลนาน ไม่ล่วงพ้นสงสารไปได้ ย่อมตกไปตามกระแสของราคะ ติดอยู่ในกระแสของราคะ เหมือนปลาติดข่าย เพราะเหตุที่ไฟราคะเผาไหม้จิตใจของผู้มีราคะ ให้เร่าร้อน เป็นทุกข์ ถ้าราคะมีกำลัง ก็ถึงกับกระทำอกุศลทุจริต ๑๐ ประการ มีปาณาติบาตเป็นต้นได้
            เพราะฉะนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี

            ราคะนั้นเกิดขึ้นเพราะได้อารมณ์ที่ชอบใจ ก็อารมณ์ที่ชอบใจนั้นมีอยู่มากมาย ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ
             เพราะฉะนั้น ราคะความยินดีจึงเกิดขึ้นได้แทบทุกเวลานาที หากขาดสติ

            ราคะนั้นมิได้หมายเฉพาะ ความยินดีในเรื่องเพศเท่านั้น แต่รวมไปถึงความยินดีทุกชนิด ไม่ว่าจะยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่เรียกว่า กามราคะ ยินดีในรูปฌาน ที่เรียกว่า รูปราคะ หรือยินดีในอรูปฌานที่เรียกว่า อรูปราคะ ยินดีในญาณของวิปัสสนา ที่เรียกว่า ธรรมราคะ ก็ชื่อว่า ราคะ ความยินดีทั้งสิ้น

            พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า ไฟคือราคะ หรือโลภะนั้นมีโทษน้อย แต่คลายช้า ที่ตรัสเช่นนั้น ทรงหมายเอาความยินดีธรรมดา เช่น ความรักลูกเมีย การหาสามีภรรยาให้ลูกเป็นต้น อันไม่เป็นเหตุให้ไปอบาย แต่ก็คลายได้ช้า เพราะยึดมั่นผูกพันกันทั้งในชาตินี้และชาติต่อไปนับไม่ถ้วน แม้โลภะที่ต้องการเกิดในที่ดีมีสวรรค์เป็นต้น แล้วบำเพ็ญกุศลเพื่อให้เกิดในที่ดีเหล่านั้น ก็มีโทษน้อย แต่ถ้าเป็นโลภะที่ถึงขั้นทำอกุศลทุจริต มีการฆ่าสัตว์เป็นต้น ก็มีโทษมากเพราะนำเกิดในอบายได้

ร้อนเพราะไฟคือโทสะนั้นอย่างไร

            ดูได้จากเรื่องนี้ 3
            ในพระนครสาวัตถี มีหญิงแม่เรือนคนหนึ่ง ชื่อนางเวเทหิกา เป็นคนสงบเสงี่ยมอ่อนโยนเรียบร้อย เป็นที่สรรเสริญของคนทั่วไป เกียรติคุณของนางขจรขจายไปไกล นางมีสาวใช้คนหนึ่งชื่อว่า กาลี เป็นคนขยันไม่เกียจคร้าน ทำการงานดี นางกาลีใคร่จะทดลองดูว่า นายของตนเป็นคนดีสมกับที่เขาเล่าลือหรือไม่
            วันหนึ่งจึงแกล้งนอนตื่นสาย ไม่ลุกขึ้นทำงานแต่เช้าเหมือนเคย นางเวเทหิกา ก็ถามว่าเจ้าไม่สบายไปหรือ นางกาลีตอบว่า นางมิได้เป็นอะไร นางเวเทหิกาก็ตวาดว่า อีคนชั่ว เมื่อไม่ได้เป็นอะไร ทำไมเอ็งจึงนอนตื่นสาย เมื่อว่าดังนั้นแล้ว ก็แสดงความโกรธ ขัดใจ ทำหน้าบึ้ง
            นางกาลีก็คิดว่า ที่ใครๆ ว่านายของเราไม่โกรธนั้น ไม่จริง เพียงแต่ไม่แสดงให้ปรากฎเท่านั้น คิดดังนั้นแล้ว ก็ใคร่จะทดลองให้ยิ่งขึ้น
            วันรุ่งขึ้น นางกาลีจึงแกล้งนอนให้สายกว่าวันก่อน นางเวเทหิกาก็ถามเหมือนเดิมว่า ไม่สบายไปหรือ ครั้นได้รับคำตอบว่าไม่เป็นอะไร ก็โกรธจัดแผดเสียงด่าว่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย นางกาลีก็คิดว่า นายของเราไม่ใช่ไม่มีความโกรธ หากแต่ไม่แสดงให้ปรากฎเท่านั้น คิดแล้วก็ให้ทดลองยิ่งขึ้น
            วันต่อมา จึงลุกขึ้นสายกว่าทุกวัน นางเวเทหิกาก็ตวาดว่า อีกาลีตัวร้าย เจ้าเป็นอะไรจึงตื่นสาย นางกาลีก็ตอบว่า ไม่ได้เป็นอะไร นางเวเทหิกาโกรธจัด คว้าลิ่มประตูปาศีรษะนางกาลีแตก เลือดไหลโทรม
            นางกาลีก็ออกจากบ้านเที่ยวโพนทะนาให้คนบ้านใกล้เรือนเคียงได้ทราบการกระทำของนางเวเทหิกานั้น ตั้งแต่นั้นมา ก็เป็นที่เล่าลือกันไปทั่วว่า นางเวเทหิกาเป็นคนดุร้าย ไม่อ่อนโยน ไม่สงบเสงี่ยม ขี้โกรธ

            การที่นางเวเทหิกาต้องเสื่อมจากความยกย่องสรรเสริญของคนทั้งหลาย ก็เพราะโทสะความโกรธ โทสะจึงเป็นไฟอย่างนี้

            ความโกรธนั้นเกิดขึ้น เพราะได้กระทบกระทั่งกับอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ ไม่ถูกใจ เมื่อเกิดขึ้นกับผู้ใดแล้ว ผู้นั้นย่อมลืมตัว ลงมือทำสิ่งที่ไม่เคยทำได้ ความโกรธปิดบังปัญญาเสียสิ้น ขาดการพินิจพิจารณาว่า อะไรถูก อะไรควร หากความโกรธนั้นรุนแรง ก็อาจฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ทำร้ายผู้มีพระคุณ ย่อมฆ่าและทำร้ายได้แม้แต่ตนเอง ตลอดจนทำอะไรที่ร้ายแรงเป็นบาปอกุศลได้ทั้งสิ้น

            โทสะนั้น มิได้หมายความเฉพาะความโกรธเท่านั้น แม้ความที่จิตใจไม่ปลอดโปร่ง ไม่แช่มชื่น ขุ่นมัว ก็ชื่อว่าโทสะ แต่เป็นโทสะที่ไม่รุนแรง ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน แต่ก็ทำให้ตนเองเดือดร้อน ไม่สบายใจ แม้ความริษยาไม่อยากเห็นใครได้ดี หรือดีกว่า ก็อาศัยความไม่ชอบใจเช่นกัน

            พระพุทธองค์ตรัสว่า 4 คนที่โกรธกันย่อมปรารถนาให้ คนที่ตนโกรธ มีผิวพรรณทราม ๑ ให้นอนเป็นทุกข์ ๑ อย่ามีความเจริญ ๑ อย่ามีโภคสมบัติ ๑ อย่ามียศ ๑ อย่ามีมิตร ๑ เมื่อตายไปพึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ๑
            พระพุทธองค์ทรงแสดงสภาพของคนโกรธไว้ว่า
            “คนโกรธย่อมมีผิวพรรณทราม ย่อมนอนเป็นทุกข์ ได้รับสิ่งที่เป็นประโยชน์แล้ว กลับปฏิบัติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ทำปาณาติบาตด้วยกายและด้วยวาจา ย่อมถึงความเสื่อมทรัพย์ ผู้มัวเมาด้วยความโกรธ ย่อมถึงความไม่มียศ ญาติ มิตร สหาย ย่อมหลีกเว้นคนโกรธเสียห่างไกล คนโกรธย่อมไม่รู้จักความเจริญ ทำจิตให้กำเริบ ภัยที่เกิดมาจากภายในนั้น คนโกรธย่อมไม่รู้สึก คนโกรธย่อมไม่รู้อรรถ ไม่เห็นธรรม ความโกรธย่อมครอบงำนรชนในขณะใด ความมืดตื้อย่อมมีในขณะนั้น คนโกรธย่อมก่อกรรมที่ทำได้ยาก เหมือนทำได้ง่าย ภายหลังเมื่อหายโกรธแล้ว เขาย่อมเดือดร้อนเหมือนถูกไฟไหม้ คนโกรธย่อมแสดงความเก้อยากก่อน เหมือนไฟแสดงควันก่อน ในกาลใดความโกรธเกิดขึ้น ในกาลนั้น คนโกรธย่อมไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ และไม่มีความเคารพ คนที่มีความโกรธครอบงำย่อมไม่มีความสว่างแม้แต่น้อย”

            คนโกรธฆ่าบิดาก็ได้ ฆ่ามารดาของตนก็ได้ ฆ่าพระขีณาสพก็ได้ ฆ่าปุถุชนก็ได้ ลูกที่มารดาเลี้ยงไว้จนลืมตาดูโลกนี้ ลูกเช่นนั้นกิเลสหยาบช้า โกรธขึ้นมาย่อมฆ่าแม้มารดานั้น ผู้ให้ชีวิตความเป็นอยู่ได้
             จริงอยู่ สัตว์เหล่านั้นมีตนเป็นเครื่องเปรียบเทียบ เพราะตนเป็นที่รักอย่างยิ่ง คนโกรธหมกมุ่นในอารมณ์ต่างๆ มีรูปเป็นต้น ย่อมฆ่าตัวเองได้เพราะเหตุต่างๆ ย่อมฆ่าตัวเองด้วยดาบบ้าง กินยาพิษบ้าง เอาเชือกผูกคอตายบ้าง โดดเขาตายบ้าง คนเหล่านั้นเมื่อกระทำกรรมอันมีแต่ความเสื่อม และทำลายตนก็ไม่รู้สึก ความเสื่อมเกิดแต่ความโกรธ ตามที่กล่าวมานี้เป็นบ่วงของมัจจุราช มีถ้ำเป็นที่อยู่อาศัย (คืออาศัยหทยวัตถุ)
            บุคคลผู้มักโกรธ มีการฝึกตน คือปัญญา ความเพียรและสัมมาทิฎฐิ พึงตัดความโกรธนั้นขาดได้ บัณฑิตพึงตัดอกุศลธรรมแต่ละอย่างเสียให้ขาด พึงศึกษาในธรรม (คือสมถและวิปัสสนา) เหมือนอย่างนั้น เธอทั้งหลายปรารถนาอยู่ว่า ขอความเป็นผู้ปราศจากความโกรธ ไม่มีความคับแค้นใจ ปราศจากความโลภ ไม่มีริษยา ฝึกฝนตนแล้ว ละความโกรธได้ เป็นผู้ไม่มีอาสวะ จักปรินิพพาน

            ทุกคนคงเคยเป็นอย่างนี้ ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ความโกรธจึงน่ากลัว พาไปอบายได้ง่ายนัก แต่ถ้าเห็นโทษของความโกรธ ก็เป็นพระอรหันต์ได้ ดังเรื่องนี้
            ธนัญชานีพราหมณ์เป็นมิจฉาทิฎฐิ แต่มีภรรยาเป็นพระโสดาบัน วันหนึ่งได้เชิญพราหมณ์ ๕๐๐ คนมาเลี้ยง นางพราหมณีภรรยาก็ได้ช่วยสามีเลี้ยงดูพวกพราหมณ์เหล่านั้นด้วย แต่เกิดก้าวเท้าพลาด ลื่นล้มลง จึงเปล่งอุทานขึ้น ๓ ครั้งว่า
            นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
             ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น

            ธนัญชานีพราหมณ์โกรธ จึงไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทูลถามว่า
            บุคคลฆ่าอะไรได้ย่อมนอนเป็นสุข ฆ่าอะไรได้ย่อมไม่เศร้าโศก ข้าแต่พระโคดม พระองค์ย่อมชอบใจการฆ่าธรรมอะไรอันเป็นธรรมเอก

            พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า
            บุคคลฆ่าความโกรธได้แล้ว ย่อมนอนเป็นสุข ฆ่าความโกรธได้แล้วย่อมไม่เศร้าโศก พระอริยเจ้าสรรเสริญการฆ่าความโกรธ อันมีรากเป็นพิษ มียอดหวาน เพราะว่าบุคคลฆ่าความโกรธนั้นได้แล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก

            ธนัญชานีพราหมณ์ฟังแล้วเข้าใจแจ่มแจ้ง ถึงกับขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ กับทูลขอบรรพชาอุปสมบท ซึ่งเมื่อบรรพชาอุปสมบทแล้วไม่นาน ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
            ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ความโกรธมีรากเป็นพิษ มียอดหวานนั้น เพราะความโกรธเมื่อแรกเกิดขึ้น ทำให้จิตใจเร่าร้อน ขุ่นมัว กระวนกระวาย ใคร่ที่จะทำอะไรให้สาสมกับที่โกรธ เช่น อยากตี อยากด่าว่าให้สมใจ ครั้นทำได้สมใจแล้วก็รู้สึกโล่งอก สบายใจ อย่างน้อยแม้ทำอะไรให้สมใจไม่ได้ เพียงได้ถ่ายทอดความโกรธของตนให้คนอื่นรับรู้ด้วย ก็ยังสบายใจหายหนักอก
            คำว่า ราก จึงหมายถึง ความโกรธเบื้องต้นเมื่อแรกเกิด
            คำว่า ยอด หมายถึง ความโกรธบั้นปลาย ที่ระงับลงเพราะได้ทำอะไรลงไปสมใจแล้ว
            ความโกรธจึงมีรากเป็นพิษ มียอดหวานอย่างนี้ ด้วยเหตุนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสว่า 5 ผู้ที่ฆ่าความโกรธได้แล้ว ย่อมนอนเป็นสุข คือไม่ต้องนอนกระวนกระวาย กระสับกระส่าย หวาดผวา เป็นทุกข์ เพราะความโกรธรบกวน
            พระพุทธองค์จึงตรัสว่า โทสะมีโทษมาก แต่คลายได้เร็ว
             ที่ว่า มีโทษมากนั้น เพราะโทสะนำไปอบายได้ง่าย
            ที่ว่า คลายได้เร็วนั้น เพราะเมื่อได้ทำอะไรสมใจแล้ว ความโกรธนั้นก็บรรเทา หรือหายไป

ร้อนเพราะไฟคือโมหะอย่างไร

            คนโง่ย่อมไม่รู้ว่า อะไรผิด อะไรถูก ย่อมเข้าใจสิ่งที่ผิดว่าถูก เข้าใจสิ่งที่ถูกว่าผิด ทำอะไรโดยไม่คำนึงถึงบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ เหมือนธิดาเศรษฐี 6 ในเรื่องนี้
            ธิดาเศรษฐีนางหนึ่ง ได้เห็นคนทั้งหลายบูชาโคอุสุภราชในเรือนของตน ด้วยเครื่องสักการะเป็นอันมาก จึงถามพี่เลี้ยงว่า เครื่องสักการะเหล่านี้ตกเป็นของใคร ได้รับคำตอบว่า ตกเป็นของโคอุสุภราชตัวหัวหน้าฝูง อยู่มาวันหนึ่ง ธิดาเศรษฐีได้เห็นชายหลังค่อมคนหนึ่ง มีโหนกที่หลังเหมือนโหนกของโคอุสุภราช ก็เข้าใจผิดว่า ชายค่อมคนนี้คงจะได้รับเครื่องสักการะใหญ่ จากคนทั้งหลายเช่นเดียวกับโคอุสุภราช เราควรจะเป็นภรรยาของชายเช่นนี้ นางคิดแล้วก็เก็บของมีค่า ลอบหนีออกจากบ้านไปอยู่กินกับชายค่อมนั้น
             ก็เพราะธิดาเศรษฐีเป็นคนโง่ ย่อมไม่รู้จักไตร่ตรองว่า อะไรถูก อะไรควร จึงได้รับความอัปยศ ต้องเป็นภรรยาของชายค่อม เพราะความโง่ของตนอย่างนี้

            ด้วยเหตุนี้ ไฟคือโมหะ จึงทำลายคุณงามความดีที่ควรจะเกิดมิให้เกิดขึ้น คนที่มากด้วยโมหะ เป็นเหมือนคนตาบอด ย่อมไม่รู้อรรถ ไม่เห็นธรรม เห็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ว่าไม่เป็นประโยชน์ ปกปิดญาณปัญญาความรู้เสียสิ้น ย่อมทำบาปอกุศลทุจริตกรรมได้ทุกชนิด ไม่เว้นแม้แต่ฆ่าพ่อฆ่าแม่ของตน ด่าว่า ทำร้ายพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
             บาปอกุศลทุกอย่าง จึงเกิดขึ้นเพราะมี โมหะ ความโง่ ความไม่รู้ เป็นปัจจัย

            พระพุทธองค์ตรัสว่า โมหะมีโทษมากเช่นเดียวกับโทสะ ทั้งคลายช้าด้วย
             คือให้โทษมากทั้งในปัจจุบันชาติ และอนาคตชาติ กล่าวคือ อาจตกนรกอยู่ตลอดกัป ด้วยอำนาจอนันตริยกรรมที่ทำลงไปเพราะโมหะครอบงำ โมหะนั้นคลายช้า เพราะไม่อาจทำลายได้ด้วยกุศลอย่างอื่น เว้นแต่วิปัสสนากุศล ที่รู้เท่าทันสภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริงเท่านั้น
            ผู้ที่ขาดโยนิโสมนสิการ การกระทำไว้ในใจด้วยอุบายอันแยบคาย ย่อมไม่อาจพ้นไปจากอำนาจของโมหะได้เลย โมหะจึงเป็นเหมือนข่ายที่ครอบคลุมสัตว์ทั้งหลายไว้ มิให้หลุดพ้นไปจากภพ คือการต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏนี้ เป็นเหมือนความมืดที่ปกปิดสัตว์ทั้งหลายไว้ ไม่ให้พบกับแสงสว่างคือปัญญา โดยเฉพาะโลกุตตรปัญญา
            ผู้ที่ปราศจากโมหะ จึงได้แก่พระอรหันต์พวกเดียว
             นอกจาก ราคะคือโลภะ โทสะ โมหะ จะเป็นไฟแล้ว แม้ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัสสะ อุปายาสะ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสว่าเป็นไฟ รวมแล้วจึงมีไฟถึง ๑๑ กอง แต่ไฟที่ใหญ่จริงๆ นั้นมี ๓ กอง คือ โลภะ โทสะ โมหะ ถ้าปราศจากไฟใหญ่ ๓ กองนี้แล้ว ไฟที่เหลืออีก ๘ กองมี ชาติคือความเกิด เป็นต้น ก็มีไม่ได้

            เพราะเหตุที่ไฟ คือราคะหรือโลภะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ มีโทษมาก นำความทุกข์เดือดร้อนมาให้ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เป็นเหตุแห่งอกุศลทุจริตกรรมทั้งมวล การจะดับทุกข์จึงต้องดับที่ไฟ ๓ กองนี้ แม้เราไม่อาจดับได้สิ้นเชิงในปัจจุบัน เพียงทำให้ไฟนั้นคลายร้อนลงบ้าง ก็ยังดีกว่าปล่อยให้ร้อนระอุเผาใจอยู่ตลอดเวลา

            เราจะดับไฟ ๓ กองนั้นได้อย่างไร
             พระพุทธองค์ทรงแนะนำไว้ดังนี้
             คนที่มีราคะตัณหา ยินดีพอใจในสิ่งต่างๆ มี รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสอยู่เสมอ ดิ้นรนที่จะแสวงหาสิ่งเหล่านั้นมาบำรุงบำเรอตนมิรู้หยุดหย่อน ต้องใช้ธรรมะคือ สันโดษ ความยินดีในของที่ตนมีอยู่ ไม่ต้องการของที่ตนไม่มี เช่น คนที่มีสามีภรรยาแล้ว ก็ยินดีในเฉพาะภรรยาสามีของตนเท่านั้น ไม่ยินดีพอใจในชายหญิงที่มิใช่ภรรยาของตน เพียงทุกคนประพฤติตนอยู่ในสันโดษ ไม่ล่วงศีลข้อกาเมเพียงข้อเดียว ปัญหาเรื่องการคบชู้ หรือผิดลูก เมีย สามีผู้อื่น ตลอดจนการฉุดคร่า ข่มขืน ก็คงไม่มี
            คนที่อยากได้โน่นได้นี่ไม่รู้จบสิ้น หรือไม่รู้จักพอใจในสิ่งที่ตนได้มา ถ้าใช้ธรรมะข้อนี้ ก็คงเหลือกินเหลือใช้ ไม่ต้องเป็นหนี้สิน หรือไม่ต้องลักขโมย ฉ้อโกง เบียดบังทรัพย์สินของผู้อื่น นั่นคือ ความพอใจเท่าที่ตนมี เท่าที่ตนหามาได้โดยชอบธรรม หรือพอใจเท่าที่ฐานะของตนจะอำนวยให้ ไม่พอใจเกินกว่านั้น เรียกว่า ไม่อยากได้ให้เกินกำลัง เกินฐานะของตน
            คนที่ขาดสันโดษจึงเป็นทุกข์เดือดร้อน เพราะต้องเที่ยวเสาะแสวงหาสิ่งต่างๆ มาบำรุงบำเรอความอยากของตน เมื่อได้มาแล้วก็อยากได้ต่อไปอีก ไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ เมื่อไม่ได้ก็เป็นทุกข์ เศร้าโศกเสียใจ

            โดยปกตินั้น น้ำในแม่น้ำยังมีเวลาพร่อง หรือเต็มฝั่ง แต่ตัณหาความอยากความต้องการนั้น มีแต่พร่องอย่างเดียวไม่มีเวลาเต็มเลย เพราะได้เท่าไรก็ไม่พอ ได้ภูเขาทองมาลูกหนึ่งแล้ว ก็ยังอยากได้ลูกที่สองอีก ที่สามอีก
            เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า
            นตฺถิ ตณฺหาสมา นที แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี

            ก็ราคะและตัณหานั้น เป็นเพียงชื่อหนึ่งของโลภะ นั่นเอง
             สันโดษจึงมีคุณมาก เพราะระงับความอยากเสียได้
             อนึ่ง สันโดษ มิได้หมายถึง การงอมืองอเท้า ไม่ทำการงาน รอคอยความช่วยเหลือของผู้อื่น นั่นเป็นลักษณะของ โกสัชชะ ความเกียจคร้าน อันเป็นอกุศล หากแต่ว่า สันโดษ หมายถึงความยินดีพอใจเฉพาะของที่ตนมี ตนได้ ไม่ยินดีพอใจในสิ่งที่ตนไม่มีและไม่ได้ คนมีสันโดษเป็นคนรู้จักอิ่ม รู้จักพอ ไม่มักมาก
            สันโดษจึงเป็นกุศล ที่ทุกคนควรเจริญให้มีขึ้นเป็นธรรม ที่ช่วยบรรเทาราคะตัณหาให้เบาบางลง เป็นมงคลข้อหนึ่งใน มงคล ๓๘

            ส่วนคนเจ้าโทสะ ขี้โกรธ ริษยา อาฆาต พยาบาท เห็นใครดีกว่าไม่ได้นั้น ต้องใช้ พรหมวิหาร คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา เป็นเครื่องแก้
            การปลูกเมตตาความรัก ลงในบุคคลทั่วไป ไม่ว่ามิตร หรือศัตรู ในลักษณะที่ว่า เราเกลียดทุกข์รักสุขอย่างไร คนอื่นเขาก็เกลียดทุกข์รักสุขอย่างนั้น
            แต่ความรักด้วยเมตตานั้น ต่างจากความรักด้วยราคะตัณหา
             ความรักด้วยเมตตานั้น เป็นความปรารถนาให้คนและสัตว์ทั่วไปทุกหมู่เหล่า ทั้งที่เป็นมิตรและศัตรู ทั้งคนที่รู้จักและไม่รู้จัก มีความสุข ปราศจากทุกข์เวรภัยทั้งปวง โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน เมื่อเห็นเขาได้ดีมีสุข พ้นจากความทุกข์เดือดร้อนก็มี มุทิตาจิต พลอยยินดีด้วย ไม่ริษยาในความสุขของเขา มุทิตาจึงเป็นกุศลเช่นเดียวกับเมตตา
             ส่วนความรักด้วยตัณหาราคะนั้น เป็นความต้องการอยากได้มาเป็นของตน เพื่อตนโดยประการเดียว หรือมิฉะนั้นก็เพราะต้องการให้เขารักตอบ รักเพราะต้องการสิ่งตอบแทน ความรักด้วยราคะตัณหา จึงเป็นอกุศล
             บางคนอาจคิดว่า “ฉันไม่รู้จะเมตตาเขาได้อย่างไร ในเมื่อเขาเลวเหลือเกิน หาดีอะไรไม่ได้เลย” ถ้าคิดอย่างนี้ ก็ขอให้คิดเสียใหม่ว่า คนเราที่จะเลวไปหมดทุกอย่างนั้นเป็นไปไม่ได้ ทุกคนย่อมต้องมีทั้งความดีและความเลว บางคนอาจจะดีมากเลวน้อย บางคนดีน้อยเลวมาก ลองค้นหาด้วยใจเป็นธรรมเถิด แล้วท่านจะพบความดีของทุกคน ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง เว้นเสียแต่ว่า เราได้ปล่อยให้ อคติความลำเอียง ครอบงำจิตใจของเราเสียจนค้นไม่พบ แต่ถ้าพบแล้ว ก็จงดูที่ความดีส่วนนั้นของเขา แล้วเราจะเมตตาเขาได้
            ถ้าท่านค้นหาเท่าใดก็ไม่พบความดี ในบุคคลนั้นเลย ก็จงเกิด กรุณาสงสาร เขาเถิดว่า คนเช่นนี้น่าสงสารนัก เพราะเขามีอบายคอยอยู่เบื้องหน้า แล้วจงพยายามช่วยเหลือเขา หากช่วยไม่ได้จริงๆ ก็ต้องวางใจเป็นอุเบกขา พิจารณาว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน ย่อมเป็นไปตามกรรมที่เขาทำไว้ เขาทำกรรมมาอย่างนั้น จึงเป็นอย่างนั้น
             โดยความเป็นจริงแล้ว เราจะหวังให้ทุกคนดีถูกใจเราไปทุกอย่างนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะการอบรมและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันของแต่ละคนต่างกัน อุปนิสัยใจคอที่เคยสั่งสมมาในอดีตก็ต่างกัน ในทำนองเดียวกัน เราจะหวังให้การกระทำของเราถูกใจทุกคนนั้น ก็เป็นไปไม่ได้เช่นกัน เพราะถ้าเป็นไปได้แล้ว โลกนี้คงสงบสุข ไม่วุ่นวายเดือดร้อนอย่างทุกวันนี้ แต่การนินทาว่าร้ายก็มีอยู่คู่โลก เป็นธรรมประจำโลก แม้พระพุทธองค์ผู้ทรงเพียบพร้อมด้วยพระรูปสมบัติ จริยสมบัติ และคุณสมบัติ ก็ยังไม่พ้นคนนินทา การแสดงธรรมของพระองค์ก็มิได้ถูกใจใครไปทั้งหมด มิฉะนั้นแล้ว คนในสมัยโน้นก็คงนับถือพระพุทธศาสนากันทุกคน
            ก็เมื่อคนและสัตว์มีความแตกต่างกัน ตามการกระทำของตนทั้งในอดีตและปัจจุบัน เราจะยึดถือการกระทำของเขาที่ไม่ถูกใจเรา มาเป็นเหตุให้เกิดความขุ่นข้องหมองใจ เดือดร้อนใจกันทำไม ให้อภัยกันเสีย มิเป็นสุขใจกว่าหรือ
             แต่ละคนมีชีวิตอยู่ไม่นานก็จะจากโลกนี้ไป จากไปแล้วจะไปเกิดเป็นอะไร อยู่ที่ไหน ก็หามีใครทราบไม่ เพราะฉะนั้น เราจึงไม่ควรจากโลกนี้ไปด้วยความขุ่นข้องหมองใจในกันและกัน แต่ควรจะจากไปด้วยความปลอดโปร่งสบายใจ
            พระพุทธองค์ตรัสว่า เมื่อจิตเศร้าหมองทุคติเป็นอันหวังได้ เมื่อจิตไม่เศร้าหมองสุคติเป็นอันหวังได้
             พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงวิธีดับไฟ คือโทสะ ไว้ถึง ๕ 7 อย่างคือ
            ๑. เมื่อความอาฆาตเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญเมตตา ในบุคคลนั้น
            ๒. เมื่อความอาฆาตเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญกรุณา ในบุคคลนั้น
            ๓. เมื่อความอาฆาตเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญอุเบกขา ในบุคคลนั้น
            ๔. เมื่อความอาฆาตเกิดขึ้นในบุคคลใด ไม่พึงเอาใจใส่นึกถึงบุคคลนั้น
             ๕. เมื่อความอาฆาตเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงนึกถึงกรรมของบุคคลนั้นว่า บุคคลนั้นมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นพวกพ้องเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ทำกรรมใดดีหรือชั่ว จักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น

            แม้ท่านพระสารีบุตร อัครสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ได้แสดงวิธีระงับความอาฆาตในบุคคลที่เราไม่ชอบใจ ไม่พอใจไว้ ๕ 8 ประการ คือ
            ๑. บางคนมีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ แต่ทางวาจาบริสุทธิ์ พึงระงับความอาฆาตในบุคคลแม้เช่นนี้
            ๒. บางคนมีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ แต่ทางกายบริสุทธิ์ พึงระงับความอาฆาตในบุคคลแม้เช่นนี้
            ๓. บางคนมีความประพฤติทางกาย และทางวาจาไม่บริสุทธิ์ แต่มีความสงบใจ มีความเลื่อมใส ในกาลอันสมควร พึงระงับความอาฆาตในบุคคลแม้เช่นนี้
            ๔. บางคนมีความประพฤติทางกาย และทางวาจาไม่บริสุทธิ์ และไม่ได้สงบใจ พึงระงับความอาฆาตในบุคคลแม้เช่นนี้
            ๕. บางคนมีความประพฤติทางกาย และทางวาจาบริสุทธิ์ ได้ความสงบใจ ได้ความเลื่อมใส โดยกาลอันสมควร พึงระงับความอาฆาตในบุคคลแม้เช่นนี้

            ท่านพระสารีบุตร ท่านสอนให้พิจารณาแต่การกระทำในส่วนดีของผู้ที่เราไม่ชอบใจ ซึ่งมีอยู่ถึง ๓ ทาง คือ ทางกาย ทางวาจา และทางใจ คือความสงบใจ ว่า บุคคลนั้นคงจะมีความดีทางใดทางหนึ่ง แล้วให้อาศัยความดีส่วนนั้นของเขา เป็นเครื่องระงับความไม่ชอบใจของเราเสีย เช่น บางคนชอบฆ่าสัตว์ เบียดเบียนสัตว์ แต่รักความจริงพูดจริงเสมอ เราโกรธคนเช่นนั้น เราก็ต้องระงับความโกรธของเรา โดยดูแต่วาจาจริงของเขา ดังนี้เป็นต้น
            อุปมาเหมือนคนเดินทางไกล เหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า กระหายน้ำ ได้มาพบบ่อน้ำที่เต็มไปด้วยจอกแหนปกคลุมไว้ ก็ใช้มือแหวกจอกแหนออกไปเสีย แล้วกอบน้ำขึ้นดื่มแก้กระหาย ลูบเนื้อลูบตัวให้คลายร้อน ฉันใดก็ฉันนั้น
             ถ้าเราเมินการกระทำที่ไม่ดีของเขาเสีย แล้วดูแต่การกระทำที่ดี เราก็จะสามารถบรรเทาความโกรธ ความอาฆาต แล้วเกิดเมตตาในบุคคลนั้นได้

            ส่วนคนที่ไม่มีอะไรดีเลยทั้ง ๓ ทาง เราก็สามารถกรุณาเขาได้ว่า เขาเป็นคนน่าสงสาร เป็นคนขาดที่พึ่ง ขาดผู้ที่จะคอยอบรมสั่งสอนให้เขาประพฤติดี ทั้งไม่มีโอกาสได้พบ หรือคบหากับสัตบุรุษ คนที่ขาดที่พึ่งอย่างนี้ น่าสงสารนัก ควรที่เราจะกรุณาสงสาร ไม่โกรธตอบ แล้วชักจูงแนะนำให้เขาทำแต่ความดี เพื่อว่า เขาจะได้พ้นจากอบาย
            คนชนิดนี้ไม่ผิดกับคนไข้หนัก ไร้ที่พึ่งพิง ต้องเดินทางไกลแต่ลำพัง ขาดทั้งคนพยาบาล และอาหารที่ถูกกับโรค จุดหมายปลายทางก็อยู่ไกล ไม่มีทางที่เขาจะไปถึงได้ แต่มีคนเดินทางไกลบางคนมาพบเข้า ก็เกิดกรุณาว่า ขอคนไข้นี้อย่าได้ตายเสียเลย แล้วก็สงเคราะห์เขาด้วยอาหารและพยาบาล พาไปส่งถึงที่หมาย
            ขอเราจงเป็นเหมือนคนเดินทางไกล ผู้มีน้ำใจกรุณานั้นเถิด

            สำหรับคนที่ดีพร้อมทั้งกาย วาจา ใจนั้น ถ้าเราโกรธเขา เราควรระงับความโกรธในบุคคลนั้น ด้วยความดีพร้อมของเขา ให้ระลึกว่า คนที่ดีพร้อมนั้น เหมือนสระน้ำใสสะอาด เย็นจืดสนิท มีท่าน้ำที่ราบเรียบ ร่มเย็นไปด้วยเงาไม้ใหญ่ ที่ขึ้นอยู่รอบสระนั้น คนเดินทางไกลที่เหนื่อยอ่อน เมื่อยล้า กระหายน้ำได้มาพบเข้า ก็ย่อมถือเอาประโยชน์จากสระน้ำนั้น ด้วยการก้าวลงสู่สระ อาบบ้าง ดื่มบ้าง แล้วขึ้นมาพักผ่อน นั่งนอนอยู่ภายใต้ร่มไม้ในบริเวณนั้น ได้รับความสุขสบายฉันใด แม้เราเองก็จงเป็นเหมือนคนเดินทางไกล ที่ได้รับประโยชน์สุขจากสระน้ำนั้น ฉันนั้น ด้วยการไม่โกรธตอบ ท่านผู้ดีพร้อมแล้วนั้น เข้าไปคบหาสมาคมกับท่าน ประพฤติตามท่าน เพื่อว่า เราจะได้เป็นคนที่ดีพร้อมอย่างท่านบ้าง
            นี่คือ วิธีดับไฟคือโทสะ

                         คนที่มีโมหะมาก โง่ หลงใหล งมงายนั้น ไม่สามารถแก้ได้ด้วยธรรมอื่น เว้นเสียแต่ ปัญญา ความรอบรู้ พิจารณาใคร่ครวญให้รอบคอบ
            ก็ปัญญาจะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องอาศัยการเข้าไปคบหาสมาคมกับท่านผู้รู้ ๑ ฟังคำสั่งสอนของท่าน ๑ ไตร่ตรองตามธรรมที่ท่านสอน ๑ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ๑
             คนเราถ้าเพียงเข้าไปคบหาบัณฑิตท่านผู้รู้แต่ไม่ฟังธรรมของท่าน ก็ไม่เกิดประโยชน์อันใด แม้ฟังแล้วสักแต่ว่าฟัง ไม่เอาใจใส่หรือไตร่ตรองให้เข้าใจ ก็ไม่เกิดประโยชน์อันใด หรือแม้ไตร่ตรองแล้วเข้าใจแล้ว ไม่ปฏิบัติตาม ก็ไม่เกิดประโยชน์เช่นกัน เพราะฉะนั้น คนเราที่จะพ้นจากความโง่ความหลงใหลได้ จึงต้องอาศัยเครื่องประกอบ ๔ ประการ ดังกล่าวแล้ว

            ผู้ที่ดับไฟ ๓ กองนี้ให้เบาบางลง แล้วบำเพ็ญกุศลอันไม่มีโทษ มีใจประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ในสัตว์ทั้งหลายทุกหมู่เหล่า เป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท ไม่มีความเศร้าหมอง ย่อมได้รับความอุ่นใจสบายใจ ๔ ประการ 9 ในปัจจุบันว่า
            ๑. ถ้าโลกหน้ามีจริง ผลวิบากของกรรมดีกรรมชั่วมี การที่เราจะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เมื่อตายแล้วมีเหตุที่เป็นไปได้
             ๒. ถ้าโลกหน้าไม่มี ผลวิบากของกรรมดีกรรมชั่วไม่มี เราก็ได้ทำตัวของเราให้ไม่มีเวร ไม่มีภัย ไม่มีพยาบาท ไม่มีทุกข์ อยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
             ๓. ถ้าว่าเมื่อบุคคลทำบาป ชื่อว่าบาป เราก็ไม่ได้จงใจทำบาปแก่ใคร เมื่อเราไม่ทำบาป ความทุกข์จะมีแก่เราได้อย่างไร
             ๔. ถ้าว่าบุคคลทำบาป ไม่ชื่อว่าทำบาป เราก็พิจารณาเห็นว่า ตัวเราเป็นผู้บริสุทธิ์ทั้งสองส่วน (คือ บริสุทธิ์จากการชื่อว่าทำบาป และไม่ชื่อว่าทำบาป ตามความเชื่อถือของคนบางพวก เพราะเราไม่ได้ทำบาป)

            แต่การดับไฟ ๓ กอง ตามวิธีที่กล่าวแล้ว เป็นเพียงการดับราคะ โทสะ โมหะ ให้บรรเทาเบาบางลงชั่วคราวเท่านั้น หาได้ดับให้หมดเชื้อโดยสิ้นเชิงไม่ หากมีเหตุปัจจัยเมื่อใด ไฟ ๓ กองนี้ก็เกิดขึ้นได้อีก และจะติดตามไปเกิดแก่เราในทุกภพทุกชาติ ตราบเท่าที่ยังต้องเกิดอยู่

            ความร้อนที่เกิดจากไฟ ย่อมเผาไหม้สิ่งทั้งหลายให้เป็นจุณวิจุณไป ตราบเท่าที่ยังไม่สิ้นเชื้อ ฉันใด
             ความร้อนที่เกิดจากกิเลส ก็ย่อมเผาไหม้จิตใจของผู้ที่มีกิเลส ให้เร่าร้อนอยู่เป็นนิจ ตราบเท่าที่ยังทำลายกิเลสให้หมดไปสิ้นเชิงไม่ได้ ฉันนั้น

            พระพุทธองค์ตรัสไว้ ใน คาถาธรรมบท ชราวรรค ข้อ ๒๑ ว่า

                  เมื่อโลกสันนิวาส อันไฟลุกโพลงอยู่เป็นนิตย์
                   พวกเธอยังร่าเริงบันเทิงอะไรกันหนอ
                   เธอทั้งหลาย อันความมืดปกคลุมแล้ว
                   ทำไมจึงไม่แสวงหาประทีปเล่า

            ซึ่งมีความหมายว่า เมื่อโลกคือรูปนามขันธ์ ๕ ของเรานี้ ถูกไฟ ๑๑ กอง คือ ราคะ โทสะ โมหะ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัสสะ และอุปายาสะ เผาไหม้อยู่เป็นนิตย์ มานานแสนนาน เหตุไรจึงมัวร่าเริงบันเทิงใจกันอยู่ ในเมื่อเราทั้งหลายถูกความมืด คืออวิชชาความไม่รู้ปกคลุมแล้ว เหตุใดจึงไม่แสวงหาประทีป คือญาณปัญญา กำจัดอวิชชาความมืดนั้นเสียเล่า

            เพราะฉะนั้น เราจึงต้องหาวิธีดับไฟเหล่านี้ ให้สิ้นเชื้อหมดความร้อน ไม่มาไหม้เราได้อีกต่อไป

            วิธีดับไฟให้สิ้นเชื้อนั้น พระพุทธองค์ทรงสอนไว้แล้ว นั่นคือทรงสอนให้ เจริญสติปัฏฐาน ๔ หรือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา อันเป็นทางสายเดียวที่ให้บรรลุนิพพาน ทำลายราคะ โทสะ และโมหะ ให้สิ้นเชื้อ
             เมื่อสภาพธรรมใดๆ เกิดขึ้น ก็ให้มีสติและปัญญาระลึกรู้ อยู่ที่ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง เมื่อระลึกรู้อยู่อย่างนี้ บ่อยๆ เนืองๆ ก็จะทำลายความเห็นผิดว่าธรรมเหล่านั้นเป็นเรา เป็นของเราเสียได้ เมื่อทำลายความเห็นผิด ก้าวข้ามความสงสัยได้จริงๆ เมื่อใด เมื่อนั้นก็จะเปลี่ยนจากปุถุชนผู้หนาด้วยกิเลส มาเป็นพระอริยบุคคลชั้นต้น ที่ชื่อว่า พระโสดาบัน ผู้ทำลายการเกิดในภพใหม่ ให้เหลือเพียง ๗ ชาติเป็นอย่างมาก
            ผู้เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ มาจนได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้ว ย่อมไม่เป็นการยาก ที่จะเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ต่อไป เพื่อเป็นพระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ในที่สุด
            เมื่อใดที่ท่านได้เป็นพระอรหันต์ เมื่อนั้นท่านได้ดับไฟคือ ราคะ โทสะ โมหะที่มีอยู่ในใจได้หมดสิ้นแล้ว ราคะ โทสะ โมหะไม่มีโอกาสเกิดแก่ท่านได้อีกต่อไป ใจของท่านเย็นสนิท ไม่ว่าใครจะยั่วยวน ยั่วยุ ดุด่า ฆ่าตี อย่างไร ไฟเหล่านั้นจะไม่กำเริบขึ้นอีก เพราะท่านได้ดับไฟเหล่านั้นเสียแล้ว ด้วยน้ำอมฤตคือ อริยมรรค อันมีนิพพานเป็นอารมณ์
            ท่านที่ต้องการพบกับความเย็นสนิท จึงควรได้ดับไฟ ๓ กองนี้เสีย ตามวิธีที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ เมื่อไฟ ๓ กองนี้ดับสนิทแล้ว ความร้อนกายร้อนใจ จะไม่เกิดแก่ท่านเลย

เราจงมาดับไฟกันเถิด
________________________________________


นตฺถิ ราคสโม อคฺคิ
นตฺถิ โทสสโม คโห

นตฺถิ โมหสมํ ชาลํ
นตฺถิ ตณฺหาสมา นที




ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี
ผู้จับเสมอด้วยโทสะไม่มี

ข่ายเสมอด้วยโมหะไม่มี
แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี
ธรรมคือแรงใจ
96 ธรรมคือแรงใจ
จิตเดิมแท้ของเรานั้นทุกคนนั้นมาจากธรรมชาติอันบริสุทธิ์