โครงการดูแลห่วงใยใส่ใจวิถีพุทธ
หลักการและเหตุผล
ประชากรเขตพื้นที่อำเภอเสลภูมิ-ทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ดส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ และวีถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่อำเภอเสลภูมิ-ทุ่งเขาหลวง มีการนำพุทธศาสนามาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันโดยเฉพาะในยามเจ็บป่วย ประชาชนจะมีความเชื่อเกี่ยวกับการทำพิธีกรรมต่างๆ ตามความศรัทธาที่ผสมผสานกับความเชื่อในพุทธศาสนา เพื่อเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ สร้างกำลังใจ เกิดความผาสุกด้านจิตวิญญาณ และช่วยให้หายจากอาการเจ็บป่วย เช่น การสวดมนต์ แผ่เมตตา การพรมน้ำมนต์ ผูกแขน บายศรีสู่ขวัญ การขอขมาลาโทษ ขออโหสิกรรมในวาระสุดท้าย และการแก้กรรมตามความเชื่อเป็นต้น
การรักษาผู้ป่วยในปัจจุบันจะเป็นการรักษาแบบแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งไม่ได้นำความเชื่อตามวิถีชีวิตของชาวบ้านมาปรับใช้กับแผนการรักษา ทำให้ผู้ป่วยที่นอนรักษาในหอผู้ป่วย ไม่สามารถปฏิบัติศาสนกิจหรือพิธีกรรมต่างๆตามความเชื่อของตนเองที่อยากจะทำได้ ซึ่งผู้ป่วยและญาติยังมีความต้องการปฏิบัติศาสนกิจหรือพิธีกรรมตามความเชื่อของตนเองไปพร้อมๆกับการรักษาแบบแพทย์แผนปัจจุบัน บางรายขอกลับบ้านเพื่อไปทำพิธีกรรมตามความเชื่อ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นจึงจะกลับมารักษาที่โรงพยาบาลอีกครั้ง
ผู้ป่วยและญาติที่เข้ามาใช้บริการในหอผู้ป่วยในชาย โรงพยาบาลเสลภูมิโดยเฉพาะผู้สูงอายุผู้ที่มีภาวะเจ็บป่วยเรื้อรังและผู้ป่วยระยะสุดท้าย ต้องเข้ารักษาในหอผู้ป่วยเป็นประจำ หรือต้องนอนโรงพยาบาลเป็นเวลานานๆทำให้ไม่มีโอกาสได้ทำพิธีกรรมตามความเชื่อที่เคยปฏิบัติเหมือนขณะที่พักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ดังนั้นการที่นอนรักษาในหอผู้ป่วยถ้าสามารถปฏิบัติศาสนกิจ หรือพิธีกรรมตามความเชื่อที่ไม่ขัดต่อแผนการรักษาของแพทย์ โดยการจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมแก่การปฏิบัติศาสนกิจหรือพิธีกรรมต่างๆและมีเจ้าหน้าที่หอผู้ป่วยในชายเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ความช่วยเหลือจนสามารถประกอบพิธีกรรมนั้นๆตามความเชื่อได้สำเร็จ อันส่งผลให้ผู้ป่วยและญาติเกิดความผาสุกด้านจิตวิญญาณ ลดความวิตกกังวล ความทรมานด้านจิตใจ ท้อแท้ เบื่อหน่าย เศร้าหมอง ในผู้ป่วยและญาติได้ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยและญาติมีพลังและกำลังใจที่จะต่อสู้กับความทุกข์ทรมานจากภาวะคุมคามของโรคได้อย่างเข้มแข็งต่อไป
ดังนั้นหอผู้ป่วยในชาย โรงพยาบาลเสลภูมิได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำพระพุทธศาสนาเข้ามาปรับใช้ผสมผสานไปพร้อมๆกันกับการรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบัน โดยได้จัดตั้งศูนย์ดูแลห่วงใยใส่ใจวิถีพุทธ เพื่อเป็นการฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ป่วยและผู้ดูแลหลัก ที่มีความทุกข์ทรมานด้านร่างกายและด้านจิตใจ จากความเจ็บป่วยของตนเองหรือบุคคลที่อันเป็นที่รัก ให้เกิดความผาสุกด้านจิตวิญญาณ ซึ่งจะนำไปสู่ความผาสุกด้านร่างกายต่อไป
วัตถุประสงค์
1.ผู้ป่วยและญาติสามารถปฏิบัติศาสนกิจและพิธีกรรมต่างๆตามความเชื่อของแต่ละบุคคลได้สำเร็จ
เหมือนอยู่ที่บ้าน โดยไม่ขัดต่อแผนการรักษาของแพทย์
2.ผู้ป่วยและญาติมีความผาสุกด้านจิตวิญญาณ คลายความวิตกกังวล มีพลังและกำลังใจที่จะต่อสู้กับ
ภาวะคุกคามของโรคต่อไป
3.ผู้ป่วยและญาติมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกันและเข้าใจกันมากขึ้น
4.ผู้ป่วยและญาติมีสัมพันธภาพที่ดีต่อเพื่อนผู้ป่วยด้วยกันและมีสัมพันธภาพที่ดีต่อเจ้าหน้าที่หอ
ผู้ป่วยในชายและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเสลภูมิแผนกอื่นๆมากขึ้นและมีความเป็นกันเองมากขึ้น
5.ผู้ป่วยและญาติมีความรู้สึกที่ดีต่อหอผู้ป่วยในชายมากขึ้น
6. เจ้าหน้าที่หอผู้ป่วยในชายมีความรู้สึกที่ดีต่อการปฏิบัติศาสนกิจ ทำให้เจ้าหน้าที่มีสมาธิในการ
ทำงานมากขึ้นจากการนิเทศทางการพยาบาลพบข้อผิดพลาดจากการทำงานน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
เป้าหมาย
1.ผู้ป่วยและญาติทุกคนที่เข้ามารับการรักษาในหอผู้ป่วยในชาย
2.เจ้าหน้าที่หอผู้ป่วยในชายทุกคนและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลแผนกอื่นๆที่สนใจร่วมโครงการดูแล
ห่วงใยใส่ใจวิถีพุทธ
การดำเนินงาน
1.จัดสิ่งแวดล้อมส่งเสริมการปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา
-จัดซื้อตู้หนังสือธรรมะ
-จัดซื้อหนังสือธรรมะ
-จัดซื้อ CD ธรรมะ
-จัดซื้อขันเงิน/พานเงิน พานทอง/ขันทอง
-จัดซื้ออุปกรณ์ในการทำพิธีขอขมา อโหสิกรรมในระยะสุดท้ายของชีวิต
2.จัดงานวันสงกรานต์และวันขึ้นปีใหม่ไทยสานสัมพันธ์สายใยครอบครัวใส่ใจวิถีพุทธ
-ทำบุญตักบาตรเช้าที่หอผู้ป่วยในชาย
- ทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ และผูกข้อต่อแขน
-ถวายภัตราหารเพลและพระคุณเจ้าพรมน้ำมนต์
-สรงน้ำพระพุทธรูปประจำตึกผู้ป่วยในชาย, สรงน้ำพระคุณเจ้า และรดน้ำดำหัว
ผู้ป่วย (ผู้สูงอายุ) ผู้ป่วยที่ลุกจากเตียงไม่ได้ให้รดน้ำดำหัวที่ข้างเตียงผู้ป่วย
3.ปฏิบัติศาสนกิจ/ปฏิบัติตามความเชื่อของผู้ป่วยและญาติตามแนววิถีพุทธที่ไม่ขัดต่อแผนการรักษา
ของแพทย์ ดังนี้
3.1.ทำบุญตักบาตรเช้าทุกวันศุกร์
3.2.สวดมนต์ทำวัตรเย็นทุกวัน
3.3.ฝึกทักษะการคลายเครียด
3.4.ผูกแขนให้พรในเทศกาลต่างๆ
3.5.นิมนต์พระสวดมนต์ให้พรผู้ป่วยระยะสุดท้าย
4.ให้คำปรึกษาการบริหารกาย จิต สมาธิบำบัด
5.ติดตามเยี่ยมผู้ป่วยเรื้อรัง/ระยะสุดท้ายร่วมกับสหวิชาชีพ
6.จัดประชุมวิชาการเพิ่มพูนทักษะความเข้าใจในเจ้าหน้าที่และเครือข่ายผู้ดูแลผู้ป่วย
7.ร่วมจัดมหกรรมผลงานคุณภาพโรงพยาบาล
8.ส่งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติธรรมวิปัสสนา กรรมฐาน
9.ออกหน่วยบริจาคสิ่งของร่วมกับชมรมเกื้อกูลอุ่นใจรัก