ความเป็นพระ คือจิตพราก จากกิเลส
รู้สังเกต ไม่ประมาท ฉลาดเฉลียว
สำรวมระวัง รักษาใจ ไปท่าเดียว
เพื่อหลีกเลี้ยว ภัยทั้งสาม ไม่ตามตอม
จากเรื่องกิน เรื่องกาม และเรื่องเกียรติ
เห็นเสนียด ในร้อนเย็น ทั้งเหม็นหอม
ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ไม่ออมชอม
กิเลสล้อม ลวงเท่าไร ไม่หลงลม
ทั้งครันครบ กายวจี ที่เหมาะสม
ความเป็นพระ จึงชนะ เหนืออารมณ์
โลกนิยม กระหยิ่มใจ จึงไหว้แลฯ
นิทานเซ็น เล่าโดย .. ท่านพุทธทาสภิกขุ เรื่อง ถ้าจะรักก็จงรักอย่างเปิดเผย
นิทานเรื่องที่ ๕ เรื่อง "If love, love openly" ถ้าจะรัก ก็จงรักอย่างเปิดเผย. ในวัดนิกาย เซ็น อีกเหมือนกัน มีภิกษุ อยู่หลายสิบรูป และมี นักบวชผู้หญิง ที่เรียกว่า nun อยู่คนหนึ่ง ชื่อ เอฉุ่น รวมอยู่ด้วย เอฉุ่น เป็นหญิง ที่สวยมาก แม้จะเอา ผมออก เสียแล้ว แม้จะใช้ เครื่องนุ่งห่ม ของนักบวช ที่ปอนมาก ก็ยังสวย อย่างยิ่ง อยู่นั่นเอง และทำความ วุ่นวาย ให้แก่ภิกษุทั้งหมด นั้นมาก แทบว่า จะไม่มีจิตใจ ที่จะสงบได้ ภิกษุองค์หนึ่ง ทนอยู่ไม่ได้ ก็เขียนจดหมาย ส่งไปถึง ขอร้อง ที่จะมีการพบ อย่าง private คือเป็นการขอพบ เฉพาะตัว เอฉุ่น ก็ไม่ตอบจดหมายนั้น อย่างไร แต่พอวันรุ่งขึ้น กำลังประชุม อบรมสั่งสอน กันอยู่ ซึ่งมีชาวบ้าน จำนวนมาก รวมอยู่ด้วย พอสั่งสอน จบลง เอฉุ่น ก็ยืนขึ้น กล่าวถึง ภิกษุนั้นว่า ภิกษุที่เขียนจดหมาย ถึงฉันนั้น ขอให้ก้าวออกมา ข้างหน้า จากหมู่ภิกษุ เหล่านั้นเถิด ถ้ารักฉันมากจริงๆ ก็จงมากอดฉัน ที่ตรงนี้ แล้วนิทาน ของเขาก็จบ
นี่ท่านลองคิดดูเองว่า นิทานอิสปเรื่องนี้ จะสอนว่ากระไร ก็หมายความว่า การสอน การอบรม ที่ตรงไปตรงมา ตามแบบ ของนิกายเซ็นนั้น กล้ามาก ทำให้คนเรา กล้าหาญมาก และไม่มีความลับ ที่จะต้องปิดใคร จะว่าอย่างไรก็ได้ ไม่ต้องปกปิด คือสามารถ ที่จะเปิดเผยตนเองได้ มีสัจจะ มีความจริง โดยไม่ถือว่า ความลับมีอยู่ในโลก นี้เราจะต้องเป็น ผู้ที่ปฏิญญาตัว อย่างไรแล้ว จะต้องทำอย่างนั้น ไม่มีความลับ ที่ปกปิดไว้ จนสะดุ้งสะเทือน แม้ในการ ที่จะเรียกตัวเองว่า "ครู" อย่างนี้ เป็นต้น บางคนกระดาก หรือ ร้อนๆ หนาวๆ ที่ว่า จะถูกเรียกว่า ครู หรือ จะถูกขอร้อง ให้ยืนยัน ปฏิญญา ความเป็นครู นี้แสดงว่า ไม่เปิดเผยเพียงพอ ยังไม่กล้าหาญเพียงพอ จะกล้าปฏิญญาว่า เป็นครู จนตลอดชีวิต หรือไม่ ยิ่งไม่กล้าใหญ่ ใครกำลังจะ ลงเรือน้อย ข้ามฟาก ไปฟากอื่น ซึ่งไม่ใช่ นครของพวกครูบ้าง ก็ดูเหมือน ไม่กล้าเปิดเผย เพราะเราไม่ชอบ ความกล้าหาญ และเปิดเผย กันอย่างสูงสุด เหมือน กะคน ในเรื่องนิทานนี้
นิทานเซ็น มหรสพทางวิญญาณเพื่อจริยธรรม เล่าโดย.. ท่านพุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขพลาราม ณ หอประชุมคุรุสภา พุทธศักราช ๒๕๐๕ พิมพ์โดย ธรรมสภา