เป็นมนุษย์หรือเป็นคน?
เป็นมนุษย์ เป็นได้ เพราะใจสูง
เหมือนหนึ่งยูง มีดี ที่แววขน
ถ้าใจต่ำ เป็นได้ แต่เพียงคน
ย่อมเสียที ที่ตน ได้เกิดมา
ใจสะอาด ใจสว่าง ใจสงบ
ถ้ามีครบ ควรเรียก มนุสสา
เพราะทำถูก พูดถูก ทุกเวลา
เปรมปรีดา คืนวัน สุขสันต์จริง
ใจสกปรก มืดมัว และร้อนเร่า
ใครมีเข้า ควรเรียก ว่าผีสิง
เพราะพูดผิด ทำผิด จิตประวิง
แต่ในสิ่ง นำตัว กลั้วอบาย
คิดดูเถิด ถ้าใคร ไม่อยากตก
จงรีบยก ใจตน รีบขวนขวาย
ให้ใจสูง เสียได้ ก่อนตัวตาย
ก็สมหมาย ที่เกิดมา อย่าเชือนเอยฯ
ความสุข
ความเอ๋ย ความสุข
ใครๆทุก คนชอบเจ้า เฝ้าวิ่งหา
“แกก็สุข ฉันก็สุข ทุกเวลา”
แต่ดูหน้า ตาแห้ง ยังแคลงใจ
ถ้าเราเผา ตัวตัณหา ก็น่าจะสุข
ถ้ามันเผา เราก็”สุก” หรือเกรียมได้
เขาว่าสุข สุขเน้อ! อย่าเห่อไป
มันสุขเย็น หรือสุกไหม้ ให้แน่เอยฯ 
จงรู้จักตัวเอง
“จงรู้จัก ตัวเอง” คำนี้หมาย
มีดีร้าย อยู่เท่าไร เร่งไขขาน
ข้างฝ่ายดี มีไว้ ในดวงมาน
ข้างฝ่ายชั่ว รีบประหาร ให้หมดไป
จงรู้จัก ตัวเอง คำนี้หมาย
ว่าในกาย มีกิเลส เป็นเหตุใหญ่
จึงสาระแน แต่จะทำ บาปกรรมไกล
ต้องควบคุม มันไว้ ให้รักบุญ
จงรู้จัก ตัวเอง คำนี้หมาย
สังขารไร้ ตนตัว มัวแต่หมุน
ไปตามเหตุ ปัจจัย ที่ไสรุน
พ้นบาปบุญ ชั่วดี มีนิพพานฯ 
นิทานเซ็น เล่าโดย .. ท่านพุทธทาสภิกขุ เรื่อง เพชรที่หาได้จากโคลนในถิ่นสลัม
เรื่องที่สอง เรื่อง เพชรที่หาได้จากโคลนในถิ่นสลัม อาตมา ต้องขอใช้คำอย่างนี้ เพราะไม่ทราบว่า จะใช้คำอย่างไรดี ที่จะให้รวดเร็ว และสั้นๆ ท่านจะรู้สึกอย่างไร ก็ตามใจ ที่จะต้อง ใช้คำอย่างนี้ "เพชรที่หาพบจากโคลนในถิ่นสลัม" เรื่องนี้ก็เล่าว่า อาจารย แห่ง นิกายเซ็น ชื่อ กูโด เป็นอาจารย์ ของพระจักรพรรดิ แห่งประเทศญี่ปุ่น ในสมัยนั้น ท่านอาจารย์องค์นี้ ชอบเที่ยว ไปไหนคนเดียวโดดๆ อย่างนักบวชเร่ร่อน แบบปริพพชก ไม่ค่อยได้อยู่ กับวัดวาอาราม ครั้งหนึ่ง ท่านเดินทาง ไปยัง ตำบลอีโด เพื่อประโยชน์ อย่างใด อย่างหนึ่ง ของท่าน ที่จะมีแก่คนอื่น ท่านได้ผ่านตำบลๆ หนึ่ง เย็นวันนั้น ฝนก็ตกมา ท่านจึงเปียกปอน ไปหมด และรองเท้าของท่านที่ใช้ เป็นรองเท้า ทำด้วยฟาง เพราะ นักบวชนิกายเซ็น ใช้รองเท้าฟางถัก ทั้งนั้น เมื่อฝนตก ตลอดวัน รองเท้าก็ ขาดยุ่ย ไปหมด ท่านจึงเหลียวดูว่า จะมีอะไรที่ไหน จะแก้ปัญหา เหล่านี้ ได้บ้าง ก็พบกระท่อมน้อยๆ แห่งหนึ่ง ในถิ่นใกล้ๆ นั้น เห็นรองเท้าฟาง มีแขวนอยู่ด้วย ก็คิดจะไปซื้อ สักคู่หนึ่ง เอาแห้งๆ มาใส่ เพื่อเดินทาง ต่อไป หญิงเจ้าของบ้านนั้น เขาถวาย เลยไม่ต้องซื้อ และเมื่อเห็นว่า เปียกปอนมาก ก็เลยขอนิมนต์ ให้หยุดอยู่ก่อน เพราะ ฝนตกจนค่ำ ท่านก็เลยต้องพัก อยู่ที่บ้านนั้น ด้วยคำของร้อง ของหญิงเจ้าของบ้าน
หญิงเจ้าของบ้าน เรียกเด็กๆ และญาติๆ มาสนทนาด้วยท่านอาจารย์; ท่านได้สังเกตเห็นว่า สกุลนี้ เป็นอยู่ ด้วยความข้นแค้น ที่สุด ก็เลยขอร้อง ให้บอกเล่าตรงๆ โดยไม่ต้องเกรงใจ ว่าเรื่องมันเป็นอย่างไรกัน หญิงเจ้าของบ้านก็บอกว่า "สามีของดิฉัน เป็นนักการพนัน แล้วก็ดื่มจัด ถ้าเผอิญเขาชนะ เขาก็ดื่มมัน จนไม่มีอะไรเหลือ ถ้าเขาแพ้ เขาก็ยืมเงินคนอื่น เล่นอีก เพิ่มหนี้สิน ให้มากขึ้น เขาไม่เคยมาบ้านเลย เป็นวันเป็นคืน หรือหลายวัน หลายคืน ก็ยังมี ดิฉันไม่รู้ว่า จะทำอย่างไรดี"
ท่านอาจารย์กูโด ว่า ไม่ต้องทำหรอก ฉันจะช่วยทำ แล้วก็ว่า นี่ ฉันมีเงินมาบ้าง ช่วยให้ซื้อเหล้าองุ่น มาให้เหยือกใหญ่ๆ เหยือกหนึ่ง แล้วก็อะไรๆ ที่ดีๆ ที่น่ากิน เอามาให้ เป็นจำนวนเพียงพอ เอามาวางที่นี่ แล้วก็กลับไปทำงาน ตามเรื่องเถอะ ฉันจะนั่งอยู่ที่นี่ ตรงหน้า ที่บูชา ข้อนี้ หมายความว่า บ้านนั้น ก็มีหิ้งบูชาพระ เมื่อผู้ชายคนนั้น กลับมาบ้าน เวลาดึก เขาก็เมา เขาก็พูด ตามประสาคนเมา นี่คำนี้ จะแปลว่ายังไง Hey! wife; ก็ต้องแปลว่า เมียโว้ย! มาบ้านแล้วโว้ย; มีอะไรกินบ้างโว้ย ตัวหนังสือ เขาเป็นอย่างนี้ ซึ่งมันก็ เหมือนๆกับ ในเมืองไทยเรา นี้เอง นี่ลองคิดดูว่า คนๆ นี้ จะเป็นอย่างไร ฉะนั้น กูโด ท่านอาจารย์ ที่นั่ง ที่หน้าหิ้งพระ ก็ออกรับหน้า บอกว่า ฉันได้มีทุกอย่าง สำหรับท่าน เผอิญ ฉันมาติดฝนอยู่ที่นี่ ภรรยาของท่าน เขาขอร้องให้ฉันพัก ค้างฝน ที่นี่ตลอดคืนนี้ ฉันก็ควรจะมีส่วนตอบแทน ท่านบ้าง ฉะนั้น ขอให้ท่านบริโภค สิ่งเหล่านี้ ตามชอบใจ ชายคนนั้น ดีใจใหญ่ มีทั้งเหล้าองุ่น มีทั้งปลา มีทั้งอาหารต่างๆ เขาก็ดื่มและรับประทาน จนนอนหลับไป ไม่รู้สึกตัว อยู่ตรงข้างๆ เข่าของท่านอาจารย์ กูโด ที่นั่งสมาธิ ตลอดคืนนั้น เหมือนกัน ทีนี้ พอตื่นขึ้นมา ตอนเข้า ชายคนนั้น ก็ลืมหมด ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เพราะเมื่อคืนนี้เขาเมาเต็มที่ และถามว่า ท่านเป็นใคร  และจะไปข้างไหน ท่านอาจารย์ ก็ตอบว่า อ๋อ! อาตมาคือ กูโด  แห่งนคร กโยโต(Kyoto  เกียวโต) กำลังจะไปธุระ ที่ตำบล อิโด ตามเรื่องที่ว่ามาแล้ว เมื่อกี้นี้ ถ้อยคำอย่างนี้ มันประหลาดที่ว่า บางครั้ง ก็มีอิทธิพล มากมาย คือว่า ชายคนนั้น ละอายจนเหลือที่จะรู้ว่า จะอยู่ที่ไหน จะแทรกแผ่นดิน หนีไปที่ไหน ก็ทำไม่ไหว แทรกไปไม่ได้ มันละอาย ถึงขนาดอย่างนั้นแล้ว ก็ขอโทษขอโพย ขอแล้ว ขออีก จนไม่รู้จะขออย่างไร ต่ออาจารย์ ของพระจักรพรรดิ ซึ่งจับพลัดจับผลู เข้ามาอยู่ที่บ้านเขา ท่านกูโด ก็ยิ้มละไมอยู่เรื่อย แล้วก็พูดขึ้นช้าๆ บอกว่า "ทุกอย่างในชีวิตนี้ มันเปลี่ยนแปลงเรื่อย เป็นกระแสไหลเชี่ยว ไปทีเดียว และทั้งชีวิตนี้ มันก็ สั้นเหลือเกินด้วย ถ้ายังเล่นการพนัน และดื่ม อยู่ดังนี้ ก็หมดเวลา ที่จะทำอะไรอื่น ให้เกิดขึ้น หรือ สำเร็จได้ นอกจาก ทำตัวเอง ให้เป็นทุกข์ แล้ว ก็จะทำให้ครอบครัว พลอย ตกนรก ทั้งเป็น กันไปด้วย" ความรู้สึก อันนี้ ได้ประทับใจ นายคนนั้น มีอาการเหมือนกับว่า ตื่นขึ้นมา ในโลกอื่น เหมือนกับตื่นขึ้นมา จากความฝัน ในที่สุด ก็พูดกับท่านอาจารย์ว่า ที่ท่านอาจารย์กล่าวนั้น มันถูกหมดเลย มันถูกอย่างยิ่ง ถ้าอย่างไร ก็ขอให้กระผม ได้สนอง พระคุณอาจารย์ ในคำสั่งสอน ที่ประเสริฐนี้ เพราะฉะนั้น ของให้กระผม ออกติดตาม ท่านอาจารย์ ไปส่งท่านอาจารย์ ในการเดินทางนี้ สักระยะหนึ่ง ท่านอาจารย์กูโด ก็บอกว่า ตามใจ สองคน ก็ออกเดินทาง ไปได้ประมาณ ๓ ไมล์ ท่านอาจารย์ก็บอกว่า กลับเถอะ นายคนนี้ก็บอก ขออีกสัก ๕ ไมล์ อาจารย์ขยั้นขยอ ให้กลับอีก ว่าถึงคราวที่ต้องกลับแล้ว นายคนนั้น ก็บอกว่า ขออีกสัก ๑๐ ไมล์เถอะ ในที่สุดก็ต้องยอม พอถึง ๑๐ ไมล์ ท่านอาจารย์ ขยั้นขยอให้กลับ เขาก็ว่า ขอตลอดชีวิตของผมเถอะ นี่ก็เป็นอันว่า ไปกับท่านอาจารย์ ไปเป็น นักบวชแห่งนิกายเซ็น ซึ่งต่อมา ก็เป็น ปรมาจารย์พุทธศาสนา แห่งนิกายเซ็นในญี่ปุ่น นิกายเซ็นทุกสาขา ที่เหลืออยู่ในญี่ปุ่น ในทุกวันนี้ ออกมาจาก อาจารย์องค์นี้ องค์เดียวเท่านั้น ล้วนแต่เป็น ลูกศิษย์ที่สืบมาจาก อาจารย์องค์นี้ องค์เดียว ท่านกลับตัว ชนิดที่เราเรียกกันว่า เพชรที่พบจากโคลนในถิ่นสลัม นี้เป็นอย่างไรบ้าง ก็ลองคิดดู ในประเทศญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรีบางคน ก็มาจาก เด็กที่ขายเต้าหู้ หาบหนังสือพิมพ์ ก็เป็น นักเขียนหนังสือพิมพ์น้อยๆ สั้นๆ และเขื่องขึ้นๆ จนเป็นบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ ที่มีชื่อเสียง และไปเป็นนายกรัฐมนตรี สมัยหนึ่งในที่สุด นี่เราจะบอกเด็กๆ ตาดำๆ ของเราว่า สิ่งต่างๆ นั้นเปลี่ยนแปลง ได้ถึงอย่างนี้ กันสักทีจะได้ไหม เด็กๆ เขาจะมี ความรู้สึกอย่างไร ในฐานะของเขา เขาจะทำตัว ให้เป็นเหมือนกับ "เพชรที่พบในโคลนจากถิ่นสลัม" ได้อย่างไร โดยมาก เขามักจะขายตนเอง เสียถูกๆ จนเป็นเหตุให้ เขา วกไปหา ความสุข ทางเนื้อทางหนัง ต่ำๆ เตี้ยๆ ไม่น่าดูนั้น ก็เพราะว่า เขาเป็นคน ที่ไม่เคารพตัวเอง ท้อถอย ต่อการที่จะคิดว่า มันจะเป็นได้มากอย่างนี้
พระพุทธเจ้า ท่านก็ยังตรัสว่า เกิดมาเป็นคน นี่ ไม่ควรให้ตัวเอง "อตฺตานํ น ทเทยฺยโปโส" แปลว่า เป็นลูกผู้ชาย เป็นบุรุษ ไม่ควรให้ซึ่งตน ให้ซึ่งตน นี้ หมายความว่า  ยกตนให้เสียแก่กิเลส หรือ ธรรมชาติฝ่ายต่ำ มันก็ไม่ได้คิด ที่จะมีอะไร ที่ใหญ่โตมั่นคง ที่จะเป็นนั่น เป็นนี่ ให้จริงจังได้ ข้อนี้ เรียกว่า เราควรจะถือ เป็นหลักจริยธรรม ข้อหนึ่งด้วย เหมือนกัน
นิทานเซ็น มหรสพทางวิญญาณเพื่อจริยธรรม เล่าโดย.. ท่านพุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขพลาราม ณ หอประชุมคุรุสภา พุทธศักราช ๒๕๐๕ พิมพ์โดย ธรรมสภา
สำนักพิมพ์ฟ้าประทานบุ๊ค