ความเอ๋ย ความสุข
ใครๆทุก คนชอบเจ้า เฝ้าวิ่งหา
แกก็สุข ฉันก็สุข ทุกเวลา
แต่ดูหน้า ตาแห้ง ยังแคลงใจ
ถ้าเราเผา ตัวตัณหา ก็น่าจะสุข
ถ้ามันเผา เราก็สุก หรือเกรียมได้
เขาว่าสุข สุขเน้อ! อย่าเห่อไป
มันสุขเย็น หรือสุกไหม้ ให้แน่เอยฯ
ปีใหม่มี สำหรับดี กว่าปีเก่า
พืชมีเหง้า ครบปี ทวีหัว
ทั้งขนาด และจำนวน ล้วนเกินตัว
แต่คนชั่ว กลับถดถอย ดีลดลง
คือปีหน้า เลวลงกว่า ในปีนี้
ไม่กี่ปี จะหมดดี เพราะมีหลง
รู้สึกตัว ละชั่ว เพราะเห็นตรง
ดีจะลง ดีขึ้นไป ชื่นใจเอยฯ
นิทานเรื่องสั้นของท่านพุทธทาส เรื่อง หลวงพ่อกับเณรจ้อย
ปีนั้น เป็นปีแรก ที่วัฒนธรรม การแจกความสุข ปีใหม่ ระบาดเข้าไปในเขตวัด หลวงพ่อ ตะโกนส่งความสุข ปีใหม่ ให้แก่ เณรจ้อย ลูกศิษย์ก้นกุฎิ เสียงลั่น ในเช้าตรู่ ของวันขึ้นปีใหม่ และได้กล่าวคำสวัสดีปีใหม่ แก่คนทุกคน ที่เราพบหน้ากัน ในวันนั้น ทั้งพระทั้งเณร และ ทายก ทายิกา ทั่วไปหมด
เณรจ้อย เข้าไปถามท่าน ในตอนสายว่า หลวงพ่อมีเรื่องที่ต้องปวดเศียรเวียนเกล้า ตลอดทั้งวัน แล้วหลวงพ่อจะเอาความสุขที่ไหน มาแจกให้แก่พวกเขา ที่พูดนั้น เป็นการกล่าวด้วยใจจริง หรือว่า พูดเล่นๆ
"ฉันพูดตามธรรมเนียม" หลวงพ่อตอบ เณรจ้อย เกิดสงสัยขึ้น มาเป็นกำลังว่า นี่มันธรรมเนียม ของพุทธบริษัท หรือ ธรรมเนียมของใคร? เราไม่เคยพบในบาลีว่า มีธรรมเนียมอย่างนี้ ในครั้งพุทธกาล ทั้งยังขัดต่อ หลักของพระพุทธองค์ ที่ว่า ทุกคนมีกรรมเป็นของตัว เขาต้องทำกรรม ตามที่เขาปรารถนา เอาด้วยตัวเอง สัตว์เช่นอ้ายตูบ ได้รับความสุขปีใหม่ น้อยไปกว่าคน ที่ต้องเสียเงิน ค่าบัตรส่งความสุข กันปีละมากๆ ดังนั้นหรือ? "วัฒนธรรมแจกความสุข" นี้เหมาะสำหรับ พุทธบริษัทหรือเปล่า? หลวงพ่อท่านว่า "สวัสดีปีใหม่-เจ้าจ้อย!" ดังนี้ ท่านหมายความ ว่าอย่างไร? ถ้าท่านไม่ทำดังนั้นแล้ว เราจะมีความสุข น้อยลงไปกว่า ปู่ย่าตายาย ของเรา ที่ไม่เคย ส่งความสุขกันเลย ดังนั้นหรือ ทำไมหลวงพ่อ จึงต้อง "ทำตามธรรมเนียม" กับเขาด้วยเล่า? ธรรมเนียมนี้ จะนำไปสู่ ผลอย่างไรหนอ? ซักถามข้อไหน เท่าไรๆ หลวงพ่อ ท่านก็ตอบ ได้แต่เพียงว่า ฉันทำตาม ธรรมเนียม อยู่นั่นเอง หลวงพ่อ มีความทุกข์ร้อน กว่าเรา มากมาย เป็นประจำวัน ท่านเอาความสุขปีใหม่ จากไหน มาแจกกันหนอ? ถ้าพวกเรา จะต้องมีความสุข อย่างของท่านแล้ว เราก็ต้องไปนอน ที่โรงพยาบาล ก่อนท่าน เพราะเรา ยังไม่มีความอดทน มากเท่ากับท่าน คนก็เป็นโรคจิต กันเพิ่มมากขึ้น เท่าๆ กับ ได้มีการพิมพ์บัตร ส่งความสุข ในโลกเพิ่มมากขึ้นๆ เราจะไม่ยอมรับ ธรรมเนียม "แจก ความสุข" นี้ เป็นอันขาด เพราะเรา ยังคนต้องยึดถือ ธรรมเนียม "เตือนให้นึกถึง ความทุกข์" ในวันขึ้นปีใหม่ แล้วร่วมมือกัน กำจัดมันให้ สูญสิ้นไปโดยเร็ว โดยไม่ต้องมีการส่งบัตร ให้สิ้นเปลือง นอกจาก ตะโกน บนธรรมาสน์ เรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ต่อไปตามเดิม ถ้ามิฉะนั้นแล้ว เราจะต้องมีอะไร หลายอย่าง ที่พ่ายแพ้ แก่อ้ายตูบมัน โดยไม่ต้องสงสัยเลย
คัดจากหนังสือ นิทานเซ็น มหรสพทางวิญญาณเพื่อจริยธรรม เล่าโดย.. ท่านพุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขพลาราม ณ หอประชุมคุรุสภา พุทธศักราช ๒๕๐๕ พิมพ์โดย ธรรมสภา