ถ้าจะอยู่ ในโลกนี้ อย่างมีสุข
อย่าประยุกต์ สิ่งทั้งผอง เป็นของฉัน
มันจะสุม เผากระบาล ท่านทั้งวัน
ต้องปล่อยมัน เป็นของมัน อย่าผันมา
เป็นของกู ในอำนาจ แห่งตัวกู
มันจะดู วุ่นวาย คล้ายคนบ้า
อย่างน้อยก็ เป็นนกเขา เข้าตำรา
มันครึ กว่า กู-ของ-กู อยู่ร่ำไป
ตามระบิล อย่างอิ่มหนำ ก็ทำได้
โดยไม่ต้อง มั่นหมาย ให้อะไรๆ
ผูกยึดไว้ ว่าตัวกู หรือ ของกู ฯ
ินิทานเรื่องสั้นของท่านพุทธทาส เรื่อง เจ้าของเรือ
"พ่อจ๋า พ่อว่า พ่อเป็นเจ้าของเรือ แต่พ่อต้องล้างเรือ เช็ดถูเรือ ต้องชะโลมน้ำมัน ให้มันบ่อยๆ พ่อต้องเก็บรักษา แจวพาย และ เครื่องใช้ ในเรือ ทุกๆ อย่าง แล้วพ่อก็แจว เมื่อพาพวกเราไปนั่งเรือเล่น พร้อมกับเพื่อนบ้านของเราทุกคน พ่อเหนื่อยเกือบตาย ทีพวกนั้น ทำไมนั่งสบาย ไม่ช่วยพ่อแจว ไม่ช่วยพ่อเช็ดล้างเรือบ้างเล่าพ่อจ๋า?" หนูจ้อย ถามพ่อ ทำตาแดงๆ
"ก็พ่อเป็น เจ้าของเรือ นี่ลูกเอ๋ย"
"ใครเป็นเจ้าของอะไร ก็ต้องเหนื่อยเกือบตาย ใครไม่เป็นเจ้าของก็สบาย พ่อเห็นว่า มันจะยุติธรรมหรือ?"
"ธรรมเนียม มันเป็นอย่างนั้นเอง ใครเป็นเจ้าของ ก็ต้องทนเหนื่อย ทนหนักใจ"
"แล้วพ่อจะขืน เป็นเจ้าของเรือ ไปทำไม ให้เขาเสีย แล้วขอนั่งกะเขา เป็นครั้งคราว เหมือนที่เขานั่งเรือเรา อย่างสนุกสนาน มิดีกว่าหรือ?"
"ก็ พ่อ อยากจะเป็น เจ้าของเรือสักลำหนึ่ง นี่ลูกเอ๋ย"
"ขออย่าให้ ฉันต้องเป็น เจ้าของเรือ ร่วมกับพ่อ ฉันจะ ไม่ยอมเป็น เจ้าของ อะไรๆ เลย แม้แต่ ตัวของฉันเอง!"
"แล้วลูก จะอยู่ได้อย่างไร?"
"อยู่อย่าง ไม่ต้อง ทนเหนื่อย เหมือนพ่อ และตรงกันข้าม จากพ่อ ทุกประการ!"
ดังนั้น หนูจ้อยจึงกลายเป็น เณรจ้อยไป เพราะเขา ไม่อยากเป็น เจ้าของสิ่งใด แต่อยากเป็นอยู่ ชนิดที่เขาเห็นว่า ตรงกันข้าม จากพ่อ ทุกประการ
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า: ถ้าใครไม่เป็น เจ้าของสิ่งใด กลับจะได้กิน "ไข่แดง" ของสิ่งนั้น (เหมือน คนที่มาพลอย นั่งเรือเล่น กับพ่อ) ส่วนใครที่เป็น เจ้าของสิ่งใด เขาจะกินได้เพียง "ไข่ขาว" ของสิ่งนั้น ซึ่งบางที ถึงกับอาจจะต้อง กินเปลือกไข่ หรือ มูลโสโครก ที่ติดอยู่กับ เปลือกไข่ เข้าไปด้วยกัน ดังนี้แล้ว ใครจะอยู่ใน สภาพที่น่าสงสาร กว่าใคร ในระหว่าง พ่อ-ลูก สองคนนี้ เพื่อตอบปัญหา เกี่ยวกับ ตัวเราโดยตรง สืบไป
คัดจากหนังสือ นิทานเซ็น มหรสพทางวิญญาณเพื่อจริยธรรม เล่าโดย.. ท่านพุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขพลาราม ณ หอประชุมคุรุสภา พุทธศักราช ๒๕๐๕ พิมพ์โดย ธรรมสภา