ติดตำราจะติดตัง
จงรักษา ดวงใจ ให้ผ่องแผ้ว
อย่าทิ้งแนว การถือ คือเหตุผล
อย่าถือแต่ ตามตำรา จะพาตน
ให้เวียนวน ติดตัง นั่งเปิดดู
อย่าถือแต่ ครูเก่า เฝ้าส่องบาตร
ต้องฉลาด ความหมาย สมัยสู
อย่ามัวแต่ อ้างย้ำ ว่าคำครู
แต่ไม่รู้ ความจริง นั้นสิ่งใด
อย่ามัวแต่ ถือตาม ความนึกเดา
ที่เคยเขลา เก่าแก่ แต่ไหนๆ
ต้องฉลาด ขูดเขลา ปัดเป่าไป
ให้ดวงใจ แจ่มตรู เห็นลู่ทางฯ 
นิทานเรื่องสั้นของท่านพุทธทาส  เรื่อง ศิษย์-อาจารย์
สามเณรจ้อย เป็นเปรียญ ตั้งแต่ยังเป็นสามเณร วันหนึ่ง อ่านพระบาลี มหาปรินิพพานสูตร ไปจนถึง ภาณวารที่ห้า ได้พบข้อความว่า อิเม จ สุภทฺท ภิกฺขุสมฺมา วิหเรยฺยุ อสุญฺโญ โลโก อรหนฺเตหิ อสฺสฺ (ล. ๑๐ น. ๑๗๖ บ. ๑๓๘)  แปลเป็นใจความได้ว่า "ดูก่อน สุภัททะ ถ้าภิกษุ ทั้งหลาย เหล่านี้ จะพึง เป็นอยู่ โดยชอบไซร้ โลก ก็จะไม่ว่าง จาก พระอรหันต์" ดังนี้ สามเณรจ้อย เกิดฉงน อยู่ตลอดเวลา ว่า การเป็นพระอรหันต์นั้น เป็นกันได้ง่ายๆ เช่นนี้ หรือว่า ตนแปล พระบาลีนี้ ผิด เพราะไม่รู้ เท่าถึง อย่างใด อย่างหนึ่ง มีความกลัดกลุ้ม เป็นกำลัง
สามเณรจ้อย จึงพาคัมภีร์นั้น เข้าไปหาเจ้าคุณหลวงพ่อ ผู้เป็นสมภาร สอบถามถึงการแปลบาลี ตอนนี้ ก็ได้ความตรงกันว่า สามเณร แปลถูก จึงได้ เรียนถาม ขึ้นว่า จะเป็น พระอรหันต์ กันได้ด้วย เหตุ เพียงเป็นอยู่ โดยชอบ เท่านั้น แลหรือ ท่านเจ้าคุณ ได้ยืนยันว่า เป็นเช่นนั้นจริง เพราะ เป็นอยู่ โดยชอบ นั้น หมายถึง ตั้งอยู่ใน มรรคมีองค์แปด สามเณรจ้อยได้ ถามขึ้นอีกว่า
"ก็พระสงฆ์ ทั้งหลายในบัดนี้ ไม่ได้เป็นอยู่กัน โดยชอบดอกหรือ?"
ท่านเจ้าคุณได้โพล่งออกมา "ก็เป็นกันอยู่โดยชอบซิ" ด้วยน้ำเสียง มีแวว แห่งความขุ่น ที่ไม่ชัดเจน
สามเณร จึงเรียนถาม ต่อไปว่า "ถ้าเช่นนั้น ก็ต้องมีพระอรหันต์ กันอยู่ทั่ว ทุกวัดวาอาราม นะขอรับ?"
เงียบกันไป ขณะหนึ่งแล้ว ก็มีเสียง ซึ่งใครๆ แทบจำไม่ได้ว่า เป็นเสียงของ ท่านเจ้าคุณ ดังลั่นขึ้น แต่เพียงว่า "..อื้อ..อื้อ.. ง่า.. อื้อ..ง่า..อื้อ.. นี่มันยังไงกันนี่หว่า!..ง่า..ไปเถอะ!"
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า: มันเป็นการ สุดวิสัย ที่ใครจะตอบได้ เพราะพระบาลีนั้นก็ถูก พระเจ้า พระสงฆ์ ก็เป็นอยู่โดยชอบจริง แต่แล้ว ก็ไม่มีใครเชื่อว่า พระอรหันต์ นั้นมีอยู่ตามวัดวาอาราม ทั่วๆ ไป และ ใครเป็นคนที่น่าสมเพชกว่าใคร ในระหว่าง ศิษย์-อาจารย์ รายนี้
คัดจากหนังสือ นิทานเซ็น มหรสพทางวิญญาณเพื่อจริยธรรม เล่าโดย.. ท่านพุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขพลาราม ณ หอประชุมคุรุสภา พุทธศักราช ๒๕๐๕ พิมพ์โดย ธรรมสภา
สำนักพิมพ์ฟ้าประทานบุ๊ค