วัชระเฉทิกปรัชญา ปารมิตาสูตร
1
ข้าพเจ้าได้สดับมาดั่งนี้ ว่าครั้งหนึ่งเมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ เชตวนารามวิหาร ในอุทยานของท่านอนาถบิณฑิกะโกล้กรุงสาวัตถี พร้อมด้วยหมู่ภิกษุสงฆ์ 1,250 รูป
วันนั้นเมื่อได้เวลาบิณฑบาตโปรดสัตว์ สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงครองจีวร สังฆาฏิ ทรงบาตร แล้วเสด็จพุทธดำเนินไปในนครสาวัตถี ทรงบิณฑบาตตามบ้านเรือนไปตามลำดับ เมื่อทรงกิจเสร็จกลับไปที่ประทับ เสวยภัตตาหารเพล จากนั้นทางปลดสังฆาฏิ เก็บบาตรขึ้น ชำระพระบาท ทรงลาดอาสนะ แล้วประทับนั่ง
2ิ
ครั้งนั้นพระสุภูติมหาเถระได้ลุกขึ้น ลดจีวรไหล่ขวาพาดเฉวียงบ่าซ้าย แล้วคุกเข่าประคองอัญชลีทูลถามสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์ทรงติดตามสั่งสอน ชี้ทาง และวางพระทัยในปวงพระโพธิสัตว์อยู่เป็นนิจ ยากจะหาผู้ใดเสมอเหมือน ”
“ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หากกุลบุตรกุลธิดาปรารถนาจะบรรลุธรรม บรรลุจิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบานแล้วไซร้ เขาและเธอควรตั้งจิตและควบคุมจิตของตนอย่างไร พระเจ้าข้า ”
สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสตอบ “ สาธุ สุภูติ ที่เธอกล่าวนั้นเป็นความจริงทีเดียวตถาคตได้ติดตาม สั่งสอน ชี้ทาง และวางใจในปวงพระโพธิสัตว์อยู่เป็นนิจ จงตั้งใจฟังเราจักแสดงแก่เธอ หากกุลบุตรกุลธิดาปรารถนาจะตรัสรู้ธรรม บรรลุจิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบานแล้วไซร้ เขาควรตั้งจิตและโน้มนำจิตของตนอย่างนี้ ”
ภิกษุสุภูติกราบทูล “ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์มีความปราบปลื้มยินดี เฝ้าคอยสดับอยู่ ”
3
สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสสุภูมิ “ ปวงพระโพธิสัตว์ มหาสัตว์ ควรจักตั้งจิตและโน้มนำจิตของตนอย่างนี้ว่า สรรพสัตว์ไม่ว่าจักเป็นเหล่าใด ๆ จักเกิดจากฟองไข่ก็ดี เกิดจากครรภ์ก็ดี เกิดจากคราบไคลความชื้น หรือผุดขึ้นมาเองก็ดี จักมีรูปหรือไม่มีรูปก็ดี จักมีสัญญาหรือไม่มีสัญญาก็ดี มีสัญญาก็มิใช่ไม่มีสัญญาก็มิใช่ก็ดี เราจักต้องสั่งสอน ชี้ทางให้สรรพสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นบรรลุนิพพานได้วิมุตติ หลุดพ้นเป็นอิสระและเมื่อสรรพสัตว์อันไม่สิ้นสุดไม่มีประมาณนี้ลุถึงความ เป็นอิสระแล้ว เราย่อมไม่คิดเลยว่าสัตว์ใดลุถึงความเป็นอิสระ
ไฉนจึงเป็นเช่นนั้นเล่า สุภูติ ก็เพราะเหตุว่า ถ้าพระโพธิสัตว์ยังมีจิตยึดมั่นผูกพันอยู่ด้วยตัวตน บุคคล สัตวะและชีวะแล้วไซร้ นั่นหาชื่อว่าพระโพธิสัตว์แท้จริงไม่ ”
4
“ อนึ่ง สุภูติ เมื่อพระโพธิสัตว์บำเพ็ญทาน ท่านย่อมไม่ยึดมั่นผูกพันอยู่กับสิ่งใด กล่าวคือ ไม่ยึดรูป ไม่ยึดเสียง ไม่ยึดกลิ่น รส โผฎฐัพพะและธรรมารมณ์ สุภูติเอย พระโพธิสัตว์พึงมีจิตใจเช่นนี้ในการบำเพ็ญทาน คือไม่ยึดมั่นอยู่กับสัญญาใด ๆ ไฉนจึงเป็นเช่นนี้เล่า ก็เพราะเหตุว่า เมื่อพระโพธิสัตว์บำเพ็ญทานด้วยความไม่ยึดมั่นผูกพันอยู่กับสัญญาใด ๆ แล้ว ความปีติปราโมทย์ที่ได้รับย่อมไม่อาจประมาณได้เลย สุภูติเธอคิดว่าอวกาศในฟากฟ้าตะวันออกเป็นสิ่งที่จะวัดประมาณได้ละหรือ ”
“ หามิได้ พระเจ้าข้า ”
“ สุภูติ แล้วฟากฟ้าด้านตะวันตก ด้านใต้ และด้านเหนือเล่า ตลอดจนอวกาศ ทิศเบื้องบนและทิศเบื้องล่างจักเป็นสิ่งที่วัดประมาณได้อยู่ฤา ”
“ หามิได้ พระเจ้าข้า ”
“ ดูก่อน สุภูติ หากพระโพธิสัตว์ไม่คิดยึดมั่นผูกพันอยู่กับสิ่งใดในการบำเพ็ญทานแล้ว ความปีติปราโมทย์ซึ่งได้จากการบำเพ็ญทานนั้นย่อมไพศาลดุจห้วงอวกาศซึ่งไม่ อาจประมาณนั่นแล สุภูติ พระโพธิสัตว์พึงตั้งจิตดังคำสอนที่ตถาคตได้กล่าวแสดงนี้ ”
5
“ ดูก่อน สุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน การเห็นตถาคตนั้นจักพึงเห็นได้ด้วยรูปลักษณะฤาหนอ ”
“ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค หามิได้ พระเจ้าข้า เมื่อพระตถาคตตรัสถึงรูปลักษณะแท้จริงแล้วมิได้มีรูปลักษณะอยู่เลย ”
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแก่สุภูติ “ ที่ใดมีรูปลักษณะที่นั่นมีมายา ถ้าสามารถเห็นแจ้งว่าธรรมชาติของรูปลักษณะทั้งปวงไร้รูปก็ย่อมเห็นตถาคตได้ ”
6
ภิกษุสุภูติกราบทูลพระผู้มีพระภาค “ ในกาลข้างหน้าหากจักมีสัตว์ใด เมื่อสดับพระธรรมคำสอนนี้แล้ว บังเกิดศรัทธาเลื่อมใสอย่างแท้จริงขึ้นได้หนอ ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบ “ อย่ากล่าวอย่างนั้นสิสุภูติ เมื่อตถาคตดับขันธปรินิพพานล่วงไปแล้วห้าร้อยปี ก็ยังจะมีผู้ได้เสวยรสธรรมจากการปฏิบัติตามพระสัทธรรมนี้ เมื่อบุคคลเช่นนั้นได้ฟังพระธรรมคำสอนนี้เข้าจักบังเกิดศรัทธาเลื่อมใสว่า พระสัทธรรมนี้คือสัจจะ ดังนั้นแล้ว จงสำเหนียกไว้เถิด ว่าบุคคลนั้นหาได้ปลูกฝังกุศลมูลเพียงในกาลสมัยแห่งพระพุทธเจ้าพระองค์เดียว หรือในกาลสมัยแห่งพระพุทธเจ้าสองพระองค์ สาม สี่ หรือห้าพระองค์เท่านั้น แท้จริงแล้วเขาได้สั่งสมบุญกุศลมาตลอดพุทธะสมัยแห่งพระพุทธเจ้าอเนกอนันต์ นับพันนับหมื่นพระองค์ บุคคลใดได้สดับพระธรรมซึ่งตถาคตได้ตรัสแสดง แล้วบังเกิดศรัทธาด้วยจิตบริสุทธิ์สว่างไสวแม้เพียงชั่วขณะจิตเดียว ตถาคตย่อมเห็นและรู้ว่าบุคคลนั้นจักเกิดปีติปราโมทย์อย่างไม่อาจประมาณได้ ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ”
“ ก็เพราะเหตุว่า บุคคลเช่นนั้นไม่ยึดมั่นอยู่กับความคิดเนื่องด้วยตัวตน บุคคล สัตวะ และชีวะ เขาไม่ยึดมั่นอยู่กับความคิดเกี่ยวกับธรรมและอธรรม ไม่ยึดมั่นว่านี้คือรูปลักษณะ นั่นไม่ใช่รูปลักษณะเช่นนั้น เพราะเหตุใด ก็เพราะว่า ถ้าบุคคลยึดมั่นอยู่กับความคิดเกี่ยวกับธรรม จิต บุคคลนั้นก็ยังผูกพันอยู่กับตัวตน บุคคล สัตวะและชีวะ ถ้าเขายึดมั่นอยู่กับความคิดว่าไม่มีธรรม จิตเขาก็ยังผูกพันอยู่กับตัวตน บุคคล สัตวะและชีวะ อยู่นั่นเอง ฉะนั้นบุคคลจึงไม่พึงยึดถือผูกพันอยู่กับธรรมหรือคิดว่าธรรมเป็นสิ่งไม่มี อยู่ นี่คือนัยความหมาย เมื่อตถาคตกล่าวว่า “ ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงกำหนดรู้ ว่าธรรมที่เราแสดงมีอุปมาดั่งพ่วงแพ ” แม้แต่สิ่งที่ตถาคตสอนก็ต้องละเสีย จักกล่าวไปใยถึงที่ไม่ได้กล่าวเทศนา ”
7
“ เธอคิดอย่างไรเล่า สุภูติ ตถาคตได้บรรลุถึงจิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบาน กระนั้นหรือตถาคตได้แสดงธรรมเทศนาอยู่ฤา ”
ภิกษุสุภูติกราบทูล “ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ตามที่ข้าพระองค์เข้าใจนั้นพระธรรมคำสอนของตถาคตไม่มีธรรมารมณ์อิสระที่ เรียกว่า จิตอันเลิศ รู้ตื่น รู้เบิกบาน ไม่มีคำสอนใดของพระตถาคตดำรงเอกภาวะ ไฉนซึ่งเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเหตุว่าพระธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้และเทศนาสั่งสอนนั้นไม่อาจบรรยาย ไม่อาจกล่าวได้ว่าดำรงภาวะอิสระแยกจากกัน ไม่เป็นทั้งตัวตนดำรงอยู่ หรือไม่มีตัวตนดำรงอยู่ ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเหตุว่า พระอริยะบุคคลย่อมต่างจากผู้อื่น ก็ด้วยอสังขตธรรมนี้แล ”
8
“ เธอคิดอย่างไรเล่า สุภูติ ถ้าบุคคลใดบำเพ็ญทานบริจาคด้วยสัปตรัตนะจนเปี่ยมล้นทั่วสามล้านอสงไขย โลกธาตุ บุคคลนั้นจะได้เสวยปีติสุขมากล้นเพราะกุศลกรรมนี้ฤาไฉน ”
ภิกษุสุภูติกราบทูล “ เช่นนั้น พระเจ้าข้า เพราะกุศลกรรมและปีติสุขเช่นนั้น มิใช่กุศลกรรมและปีติสุขดั่งที่พระตถาคตทรงแสดง ”
พระผู้มีพระภาคตรัส “ อนึ่ง ถ้าบุคคลใดยอมรับคำสอนนี้แล้วนำไปปฏิบัติแม้เพียงคาถาเดียว สี่บาท และยังอธิบายเผยแผ่แก่ผู้อื่นด้วย ปีติสุขจากกุศลกรรมนี้ย่อมลึกซึ้งไพศาลกว่าปีติสุขจากการบริจาคสัปต-รัตนะ มากมายนัก ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น สุภูติเอย ก็เพราะว่าบรรดาพระพุทธเจ้าทั้งปวง พระธรรมของพระพุทธเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานทุกพระองค์ ล้วนบังเกิดจากคำสอนนี้ สุภูติ ที่เรียกว่าพุทธธรรม คือทุกสิ่งที่ไม่ใช่พุทธธรรม
9
“ ดูก่อน สุภูติ เธอคิดอย่างไรเล่า พระโสดาบันจักมีมนสิการว่า ‘ เราได้บรรลุโสดาปัตติมรรคผล ' ได้ฤา ”
สุภูติตอบ “ หามิได้ พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเหตุว่า พระโสดาบันนั้นชื่อว่า เป็นผู้เข้าสู่กระแส แต่แท้จริงแล้วไม่ได้มีกระแสให้เข้าสู่เลย บุคคลมิได้เข้าสู่กระแสซึ่งเป็นรูป เป็นเสียง กลิ่น รส สัมผัส หรือธรรมารมณ์ เมื่อกล่าวว่าบุคคลเข้าสู่กระแสก็คือเข้าสูกระแสโดยนัยนี้ พระเจ้าข้า ”
“ เธอคิดอย่างไรเล่า สุภูติ พระสกทาคามีจักมีมนสิการว่า ‘ เราได้บรรลุสกทาคามิผล ' ได้ฤา ”
สุภูติตอบ “ หามิได้ พระเจ้าข้า ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเหตุว่าพระสกทาคามีชื่อว่าจักเป็นผู้เวียนกลับมาอีกครั้งเดียว แต่แท้จริงแล้วมิได้มีการไปมิได้มีการกลับ นี่คือความหมายเมื่อกล่าวว่าบุคคลจักเวียนกลับมาอีกครั้ง ”
“ เธอคิดอย่างไรเล่า สุภูติ พระอนาคามีจักมีมนสิการว่า ‘ เราได้บรรลุอนาคามีผล ' ได้ฤา ”
สุภูติตอบ “ หามิได้ พระเจ้าข้า ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเหตุว่าพระอนาคามีมีชื่อว่า เป็นผู้ไม่เวียนกลับมาในโลกนี้อีก แต่แท้จริงแล้วมิได้มีสภาวะของการไม่เวียนกลับนี่คือความหมายเมื่อกล่าวว่า บุคคลจักไม่เวียนกลับมาในโลกนี้อีก ”
“ เธอคิดอย่างไรเล่า สุภูติ พระอรหันต์มีมนสิการว่า ‘ เราได้บรรุลอรหัตตผล ' ได้ฤา ”
สุภูติตอบ “ หามิได้ พระเจ้าข้า ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเหตุว่ามิได้มีสภาวะอิสระใดที่อาจเรียกว่า อรหันต์ ถ้าอรหันต์คิดว่าท่านได้บรรลุอรหัตตผล ก็เท่ากับท่านติดข้องอยู่ในความคิด เนื่องด้วยตัวตน บุคคล สัตวะและชีวะนั่นเอง ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ทรงรับสั่งเสมอว่าข้าพระองค์บรรลุแล้วซึ่งอรณยิกสมาธิอันสงบ ว่าข้าพระองค์เป็นพระอรหันต์สิ้นแล้วซึ่งกิเลสทั้งปวง เป็นผู้ยอดเยี่ยมในชุมชนสงฆ์แห่งนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หากแม้นว่าข้าพระองค์คิดว่าข้าพระองค์ได้บรรลุอรหัตตผลแล้วไซร้ พระตถาคตย่อมจักไม่ตรัสว่าข้าพระองค์ยินดีในอรณยิกสมาธิธรรม พระเจ้าข้า ”
10
พระผู้มีพระภาคตรัสแก่สุภูติ “ ดู่ก่อนสุภูติ ณ เบื้องอดีตกาลโน้น เมื่อตถาคตยังท่องเที่ยวอยู่ในสมัยของพระทีปังกรพระพุทธเจ้า ตถาคตได้บรรลุธรรมอันใดฤา ”
สุภูติตอบ “ หามิได้ พระเจ้าข้า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ณ เบื้องอดีตกาลโน้น ครั้งเมื่อพระตถาคตยังท่องเที่ยวอยู่ในสมัยของพระทีปังกรพุทธเจ้า พระตถาคตมิได้บรรลุธรรมอันใด พระเจ้าข้า ”
“ เธอคิดอย่างไรเล่า สุภูติ พระโพธิสัตว์ได้ตกแต่งพุทธเกษตร อันสงบงดงามกระนั้นหรือ ”
“ หามิได้ พระเจ้าข้า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเหตุว่า ในการตกแต่งพุทธเกษตรอันสงบงดงามนั้น แท้จริงแล้วมิได้มีการตกแต่งอย่างใด ดังนี้พุทธเกษตรอันสงบงดงามจึงได้บังเกิดขึ้น ”
พระผู้มีพระภาคตรัสแก่สุภูติ “ ดังนี้แล สุภูติ พระโพธิสัตว์และมหาสัตว์ ทั้งปวงจึงพึงยังจิตให้บริสุทธิ์ สะอาดอยู่เป็นนิจ เมื่อตั้งจิตไว้เช่นนี้ พระโพธิสัตว์และมหาสัตว์จึงไม่ยึดมั่นผูกพันอยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ เป็นจิตอิสระไม่เกี่ยวเนื่องอยู่ด้วยสภาวะใด ๆ ”
“ สุภูติ แม้นบุคคลใดรูปร่างสูงใหญ่ดั่งเขาพระสุเมรุ เธอคิดว่ารูปกายนั้นสูงมหึมากระนั้นหรือ ”
สุภูติกราบทูล “ มหึมานัก พระเจ้าข้า ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเหตุว่าสิ่งที่ตถาคตตรัสถึงมิใช่รูปกายอันสูงมหึมา เป็นแต่ชื่อว่ารูปกายสูงมหึมา พระเจ้าข้า ”
11
“ ดูก่อน สุภูติ แม้นว่ามีคงคานทีมากมหาศาลเท่าจำนวนเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา เธอจะกล่าวได้ฤาว่า จำนวนเม็ดทรายในนทีเหล่านี้มากมหาศาล ”
สุภูติตอบ “ มหาศาลยิ่งนัก พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้นว่าคงคานทีมีมากมหาศาลแล้ว จำนวนเม็ดทรายในนทีเหล่านี้ย่อมอเนกอนันต์กว่านั้นนัก ”
“ สุภูติ เราจักถามเธอว่า ถ้ากุลบุตรกุลธิดาบำเพ็ญทานบริจาคจนเปี่ยมล้นทั่วสามล้านอสงไขยโลกธาตุ ด้วยสัปตรัตนะมากเท่าจำนวนเม็ดทรายในท้องนทีเหล่านี้แล้ว เขาจักบังเกิดปีติปราโมทย์ยิ่งนักกระนั้นหรือ ”
สุภูติกราบทูล “ ยิ่งนักแล้ว พระเจ้าข้า ”
พระผู้มีพระภาคตรัสแก่สุภูติ “ ถ้ากุลบุตรกุลธิดาบังเกิดศรัทธาพระสูตรนี้ รับปฏิบัติ และอธิบายเผยแผ่แก่ผู้อื่นด้วย แม้เพียงคาถาเดียว สี่บาท เขาจะได้ความปีติปราโมทย์เป็นอานิสงส์มากมายกว่านั้นนัก ”
12
“ อนึ่งเล่า สุภูติหากพระสูตรนี้ได้ประกาศแสดง ณ ดินแดนใด แม้เพียงคาถาเดียว สี่บาทแล้ว เทวดา มนุษย์ และมาร จักพากันมาสักการะบูชาดินแดนนั้นประหนึ่งดังบูชาพระพุทธสถูป เมื่อสถานที่ยังศักดิ์สิทธิ์เป็นมงคลได้ถึงเพียงนี้ บุคคลผู้สาธยายและปฏิบัติตามพระสูตรจักจำเริญมงคลยิ่งกว่าเพียงไหน สุภูติเอย เธอจงสำเหนียกไว้เถิดว่า บุคคลนั้นได้บรรลุแล้วซึ่งสิ่งลึกซึ้งหายาก ที่ใดมีพระสูตรนี้ประดิษฐานอยู่ ที่นั่นย่อมเป็นสถานอันศักดิ์สิทธิ์ ดุจมีพระอัครสาวกพำนักหรือมีพระพุทธเจ้าประทับอยู่ด้วย ”
13
จากนั้นอรหันต์สุภูติได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ ข้าแต่พระองค์ พึงเรียกพระสูตรนี้นามใด และข้าพระองค์ทั้งหลายจักพึงปฏิบัติต่อพระสัทธรรมนี้อย่างไร พระเจ้าข้า ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบ “ พึงเรียกพระสูตรนี้ว่า วัชรเฉทิก (เพชรตัดทำลายมายา) เพราะเหตุว่าเป็นพระสูตรอันตัดทำลายมายากิเลสทั้งปวง และนำสรรพสัตว์ให้ถึงฝั่งวิมุตติ จงเรียกพระสูตรตามนามนี้ และปฏิบัติตามพระสัทธรรมอันลึกซึ้งแห่งพระสูตรนั้นเถิด ไฉนจึงกล่าวเช่นนี้ ก็เพราะเหตุว่าสิ่งที่ตถาคตเรียกปัญญาบารมีแท้จริงแล้วใช่ปัญญาบารมีไม่ ปัญญาบารมีที่แท้ย่อมมีนัยดังกล่าวมานี้ ”
สมเด็จพระผู้มีพระภาครับสั่ง “ เธอคิดอย่างไรเล่า สุภูติ ตถาคตได้แสดงธรรมอยู่ฤา ”
ภิกษุสุภูติตอบ “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระตถาคตเจ้ามิได้มีสิ่งใดจักแสดง ”
“ เธอคิดอย่างไรเล่า สุภูติ ในสามล้านอสงไขยโลกธาตุนี้มีปรมาณุภาคมากมายกระนั้นหรือ ”
“ มากมายนัก พระเจ้าข้า ”
“ สุภูติ ตถาคตกล่าวว่าปรมาณุภาคเหล่านี้มิใช่ปรมาณุภาค ฉะนี้จึงเป็นปรมาณุภาคที่แท้จริง และเมื่อตถาคตกล่าวถึงโลกธาตุแท้จริงแล้วมิได้มีโลกธาตุอยู่เลย ดังนี้จึงได้ชื่อว่าโลกธาตุ ”
“ เธอคิดอย่างไรเล่า สุภูติ จักพึงเห็นตถาคตได้ในลักษณะ 32 ประการ กระนั้นหรือ ”
ภิกษุสุภูติกราบทูล “ หามิได้ พระเจ้าข้า ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเหตุว่าลักษณะ 32 ประการที่พระตถาคตทรงรับสั่งนั้น แท้จริงแล้วมิใช่ลักษณะอันใดเลย ฉะนี้พระตถาคตจึงตรัสเรียกลักษณะ 32 ประการ พระเจ้าข้า ”
“ สุภูติเอย หากแม้นกุลบุตรกุลธิดาใดสละชีวิตเป็นทานครั้งแล้ว ครั้งเล่าเท่าจำนวนเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา ส่วนกุลบุตรกุลธิดาอื่น ๆ รู้จักรับปฏิบัติพระสูตรนี้ แล้วยังอธิบายเผยแผ่แก่ผู้อื่น แม้เพียงคาถาเดียว สี่บาท กุลบุตรกุลธิดาเหล่าหลังนี้จักได้รับความสุขเป็นอานิสงส์มากมายยิ่งกว่านัก ”
14
เมื่อเข้าใจสิ่งที่ได้สดับอย่างลึกซึ้งแจ่มแจ้ง ภิกษุสุภูติน้ำตาไหลด้วยความปีติ กราบทูลสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค จะหาใครในโลกนี้เสมอเหมือนพระองค์ได้ยากนัก นับแต่ข้าพระองค์ได้ดวงตาเห็นธรรมจากการแนะนำสั่งสอนของสมเด็จพระผู้มีพระ ภาค ข้าพระองค์ไม่เคยได้ฟังคำสอนใดลึกซึ้งอัศจรรย์เช่นนี้มาก่อน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้นผู้ใดได้สดับพระสูตรนี้แล้วได้บังเกิดศรัทธาเลื่อมใสด้วยจิตใยบริสุทธิ์ สว่างไสว ได้บรรลุธรรมสัจจะ บุคคลผู้นั้นย่อมแจ่มแจ้งในกุศลธรรมอันหาได้ยากนัก ข้าแต่พระผู้มีพระภาค การบรรลุถึงธรรมสัจจะนี้ แท้จริงแล้วมิได้มีการบรรลุเลย ฉะนี้เองพระตถาคตเจ้าจึงตรัสเรียกว่าบรรลุถึงธรรมสัจจะ
“ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันนี้ข้าพระองค์ได้สดับพระสูตรอันอัศจรรย์ บังเกิดศรัทธาเลื่อมใส เข้าใจและรับปฏิบัติได้ไม่ยาก แต่ในกาลข้างหน้า เมื่อล่วงไปอีกห้าร้อยปี ถ้าแม้นผู้ใดได้ฟังพระสูตรนี้ยังเกิดศรัทธาเลื่อมใส เข้าใจและรับปฏิบัติ บุคคลเช่นนี้ย่อมเป็นเลิศหาได้ยากแท้ ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเหตุว่า จิตของบุคคลนั้นจะไม่ถูกครอบงำ ด้วยตัวตน บุคคล สัตวะ และชีวะ ข้อนี้เพราะเหตุใด เพราะความคิดเกี่ยวด้วยตัวตนแท้จริงแล้วมิใช่ความคิด ความคิดเกี่ยวบุคคล สัตวะ และชีวะ ก็มิใช่ความคิดเช่นกัน ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเหตุว่า บรรดาพระพุทธเจ้าทั้งปวงได้พระนามว่า พระพุทธเจ้า ก็เพราะท่านเหล่านั้นล้วนเป็นอิสระแล้วจากความคิด
สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสแก่สุภูติ “ เช่นนั้น เช่นนั้น สุภูติ แม้นผู้ใดได้ฟังพระสูตรนี้แล้ว ไม่ตกใจครั่นคร้าม เขาหรือเธอเช่นนั้นย่อมหาได้ยากยิ่ง ไฉนจึงเป็นเช่นนั้นเล่า สุภูติ ก็เพราะเหตุว่าสิ่งที่ตถาคตเรียกปรมบารมีอันเลิศนั้น แท้จริงแล้วใช่บารมีอันเลิศ ดังนี้จึงได้ชื่อว่าบารมีอันเลิศ ”
“ ดูก่อน สุภูติ ตถาคตกล่าวว่า สิ่งที่เรียกว่าขันติบารมีนั้นแท้จริงแล้วมิใช่ขันติบารมี ดังนี้ จึงได้ชื่อว่าขันติบารมี ไฉนจึงเป็นเช่นนั้นเล่า สุภูติเอย ณ เบื้องอดีตกาลเมื่อหลายพันชาติก่อน เมื่อพระเจ้ากลิราชา สั่งให้บั่นร่างกายเราเป็นท่อน ๆ นั้น จิตเรามิได้ยึดมั่นผูกพันอยู่กับตัวตน บุคคล สัตวะ และชีวะเลย ถ้าเมื่อครั้งกระนั้นเรายึดมั่นอยู่กับความคิดเหล่านี้ เราย่อมโกรธอาฆาตราชาพระองค์นั้นเป็นแน่แท้
“ อนึ่ง เรายังตามระลึกถึงกาลที่ล่วงมาแล้วห้าร้อยชาติ เมื่อเราบำเพ็ญขันติบารมีโดยจิตไม่ยึดมั่นผูกพันอยู่กับตัวตน บุคคล สัตวะ และชีวะ ดังนี้แล สุภูติ เมื่อพระโพธิสัตว์บรรลุถึงพุทธจิต รู้ตื่นเป็นนิจอย่างไม่มีใครเสมอเหมือนนั้น ท่านต้องละทิ้งความคิดทั้งปวง เมื่อจิตถึงขั้นนี้แล้ว ท่านย่อมไม่ยึดมั่นผูกพันอยู่กับสิ่งใดเลย ”
“ ตถาคตกล่าวว่าสิ่งของทั้งหลายไม่ใช่สิ่งของ ชีวิตทั้งหลายไม่ใช่ชีวิต สุภูติเอย ตถาคตคือผู้พูดทุกสิ่งตามที่เป็นจริง พูดแต่ความจริง พูดตรงกับความจริง ท่านไม่พูดลวงไม่หลง หรือพูดเพื่อเอาใจผู้คน สุภูติแม้นเราพูดว่า ตถาคตเห็นแจ้งในธรรมที่สั่งสอน คำสอนทั้งปวงนั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่อาจติดตามยึดถือ หรือเป็นสิ่งลวงไร้แก่นสาร ”
“ ดูก่อน สุภูติ ถ้าพระโพธิสัตว์องค์ใดบำเพ็ญทานด้วยความสำคัญมั่นหมาย อุปมาดั่งบุคคลเดินอยู่ในความมืด เขาจะไม่เห็นสิ่งใด แต่ถ้าพระโพธิสัตว์บำเพ็ญทานโดยละความสำคัญมั่นหมายแล้วไซร้ อุปมาดั่งบุรุษตาดีเดินอยู่กลางแดดสว่าง เขาย่อมเห็นทุกสีสันทุกรูปทรง ”
“ สุภูติเอย ในอนาคตข้างหน้า ถ้ากุลบุตรกุลธิดาใดบังเกิด ศรัทธาเลื่อมใสพระสูตรนี้ ได้อ่านแล้วปฏิบัติตามแล้วไซร้ ตถาคตย่อมเห็นบุคคลผู้มีดวงตาแห่งปัญญาผู้นั้น ตถาคตจะรู้จักเธอและบุคคลนั้นก็จะประจักษ์ถึงผลอานิสงส์มากล้นสุดประมาณ จากบุญกุศลซึ่งเขาหรือเธอได้กระทำ ”