ยินดีต้อนรับสู่ฟอรั่ม 96 เสวนาธรรมบำเพ็ญ
กรุณา ลงทะเบียน เพื่อสามารถใช้งานฟอรั่มได้อย่างเต็มรูปแบบ !
ลงทะเบียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและใช้เวลาเพียงเล็กน้อย

"โดยพื้นฐานธรรมชาติเดิมแท้ของตัวเรา
เป็นสิ่งที่บริสุทธิ์และสะอาด
ถ้าเรารู้จิตของเราและเห็นถึงธรรมชาติเดิมแท้ของเรา
เราทั้งหลายก็จะบรรลุถึงความเป็นพุทธะ"

หน้า: [1]   ลงล่าง
  ตอบ  |  พิมพ์  
Share this topic on FacebookShare this topic on Twitter
ผู้เขียน หัวข้อ: มาภาวนากันเถิด  (อ่าน 3110 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
admin
บุคคลทั่วไป
« เมื่อ: กรกฎาคม 30, 2011, 12:12:59 PM »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ




มาภาวนากันเถิด

ธรรมบรรยายโดย : พญ.อมรา มลิลา

lS1       หลาย ๆ ท่านคงเคยทราบแล้วว่า  การทำภาวนา หรือ การทำกรรมฐาน  คืออะไร และ หลาย ๆ ท่านคงอยากทำแต่มีข้อแย้งอยู่ในใจว่า หากทำ จะเอาเวลาที่ไหนไปทำ

                เพราะเรายังผูกพันกับงานการ กับครอบครัว หรือยังมีความไม่เหมาะสมอยู่อีกหลาย ๆ ประการ ทั้ง ๆที่เห็นจริงว่า ธรรมะเป็นสิ่งมีคุณค่า และเป็นสิ่งที่ทุกคนใฝ่หา อยากให้รู้เห็นเป็นขึ้นในใจ

                หรือ มิเช่นนั้นก็มีปัญหาขึ้นมาอีกว่า เรายังเป็นคนบาปหนา ยังไม่ถึงเวลา ยังไม่มีวาสนาบารมี ล้วนแล้วแต่เป็นความลังเล  ความสงสัยความขัดแย้งนานัปการ หรือบางคนก็คิดว่า หากศีลยังไม่บริสุทธิ์ ศีลห้ายังด่างพร้อย

                เป็นต้นว่าตั้งใจจะไม่ตบยุง แต่เผลอ มือเร็วไปกว่าใจ กว่าจะระลึกได้ก็ตบเผียะไปแล้ว ทำให้ศีลขาด ศีลทะลุ อยู่เนืองนิจ แล้วจะมาทำภาวนากันได้อย่างไร

                ตามความเป็นจริง การตั้งต้นทำภาวนาไม่ใช่สิ่งยุ่งยาก หรือต้องการความเหมาะสมแต่ประการใดเลย เมื่อใดที่เราพร้อมใจ เต็มใจ ทดลองฝึกปฏิบัติ  เมื่อนั้นคือเวลาที่เหมาะสำหรับตั้งต้น

                การทำภาวนา หรือ กรรมฐาน แยกตามรากศัพท์ได้ดังนี้ กรรม คือ การกระทำ ฐาน คือ ที่ตั้ง  หมายถึงการที่เรามา หารากฐาน มาหาที่ตั้งให้แก่ใจของเรา

                 เพราะหากใจไม่มีที่ตั้ง ไม่มีรากฐานแล้ว บางวันมันก็คว่ำ บางวันมันก็หงาย มันลุ่ม ๆ ดอน ๆ ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย หรือแม้กระทั่งตนเอง เกิดความไม่แน่ใจในตนว่า ทำไมเราจึงเป็นคนน้ำขึ้นน้ำลง ไม่มีความคงเส้นคงวาอย่างนี้ ทำให้เกิดความยุ่งยากสับสน

                แต่ถ้าเรามีที่ตั้งให้ใจได้ยึดเปรียบเหมือนก่อน ปลูกตึกปลูกบ้าน ถ้าได้ถมที่ให้พื้นฐานแน่นหนามั่นคงก่อน เมื่อปลูกแล้ว ตึกย่อมแข็งแรง ไม่ทรุด ไม่ร้าว อยู่ได้คงทนถาวร

                ใจของเราก็เช่นกัน ใจเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง เราจึงควรหารากฐาน หาเรือนให้ใจอยู่อาศัย และควรหาชนิดที่ถาวร มั่นคง เป็นหลักเป็นฐาน

                ทุกวันนี้ เรามัวแต่สนใจอยู่แค่กาย มัวแต่สนใจว่า ทำอย่างไรจึงจะมีปัจจัยสี่ ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค จนบางครั้งก็มีเกินเลย มากไปกว่าปัจจัยสี่ คือ ไปมุ่งคิดว่า จะต้องดูแลกายให้สุขสะดวกสบายที่สุด เท่าที่สามารถจะหามาให้ได้

                แต่เคยฉุกคิดสักนิดไหมว่า เมื่อเรามีมากถึงอย่างนั้นแล้ว เราผาสุก สงบร่มเย็นจริง ๆ หรือ เรามีความพอใจ มีความสงบ มีความอิ่มเต็มในใจหรือเปล่า

                เราเคยทวนถามตนเองบ้างหรือไม่ว่า การที่เราแสวงหาทรัพย์ แสวงหาชื่อเสียงเกียรติยศ แสวงหาความสำเร็จในทุก ๆ อย่างที่กระทำอยู่นั้นแล้ว เหตุใดทั้ง ๆ ที่มีสิ่งเหล่านั้นครบบริบูรณ์แล้ว บ่อยครั้งกลับพบว่า เรามีความไม่สบายใจ เราเกิดความอยากมากยิ่งขึ้นไปอีก ใจของเราไม่นิ่ง ใจของเราไม่สงบ

                เราเคยนึกสงสัยบ้างหรือไม่ว่า เป็นเพราะเหตุใด อะไรคือสาเหตุ ที่ทำให้ใจของเราไม่เต็ม ใจของเราไม่อิ่ม

                ใจก็เหมือนกาย คือ ต้องการอาหารไปบำรุงรักษาปัญหาจึงเกิดมีขึ้นว่า สิ่งที่เราคิดว่าเป็นอาหารของใจนั้น ใช่จริงแท้แน่แล้วหรือ เพราะอาหารบางชนิด ก็เป็นพิษเป็นภัย

                เช่น อารมณ์รัก อารมณ์ชัง ความรู้สึกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในจิตใจ แล้วพาให้หลง มัวเมา ครุ่นคิด ติดตามไป หรือความจงใจยึดถือ อันเป็นต้นเหตุแห่งการกระทำ คำพูด ความคิด ที่ขาดเหตุผล เอนเอียงไปด้วยอคติ เหล่านี้เป็นต้น

                อาหารที่เป็นคุณประโยชน์ต่อใจคือสมาธิ คือความสงบผาสุกของใจ ที่ไม่ใคร่คิดติดข้องด้วยสิ่งใด อิ่มเต็ม พอเพียง อยู่ด้วยตัวของตัวเอง บริบูรณ์ในตัว พร้อมด้วยสติ ปัญญา ตื่น รู้ตัวทั่วพร้อมอยู่กับปัจจุบันขณะทุก ๆ ขณะ ต่อเนื่องกันไม่ขาดวรรคขาดตอน

                หลายท่านอาจแย้งว่า ยังไม่พร้อม ยังทำไม่ได้ เพราะยังมีกิเลสมาก ยังมีความอยากโน้น อยากนี้เต็มหัวใจ

                พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า ถ้าเรารู้ว่า เรายังมีกิเลส ถ้าเรารู้ว่า เรายังเป็นคนบกพร่องอยู่ นั่นคือสิ่งบ่งชี้ว่า เราต้องศึกษาธรรมะ และยิ่งต้องการธรรมะอย่างยิ่ง

                คนที่ดีแล้ว ไม่จำเป็นต้องศึกษาธรรมะ การจะเข้าสนามรบนั้นต้องรู้จักศัตรู ถ้ารู้ว่าเรามีความชั่ว ถ้ารู้ว่าเรามีกิเลส นั่นแหละเป็นการถูกต้อง เพราะแสดงว่า เราได้เห็นคู่ต่อสู้แล้ว เราจะได้วางแผนสู้รบได้อย่างแน่นอน อย่างรัดกุม อย่างมีสติ และมีปัญญา

                เพราะฉะนั้น หากท่านใดในที่นี้รู้ว่า  เรายังมีความไม่ดี ยังมีความบกพร่องอยู่ นั่นเป็นสิ่งที่สมควรอย่างยิ่ง เหมาะสมอย่างยิ่ง ที่จะต้องมารู้จักธรรมะ มาปฏิบัติภาวนา มาตั้งต้นทำกรรมฐานเสียแต่บัดนี้

                ปัญหาต่อไปก็คือ แล้วจะเอาเวลาที่ไหนมาทำ เพราะงานทุกวันนี้ ก็รัดตัว ล้นเหลือมือเต็มทนอยู่แล้ว

                เราเคยคิดบ้างหรือไม่ว่า เราเอาเวลาที่ไหนมาหายใจกัน คนทุกคนตั้งแต่วันเกิดลืมตาขึ้นมา จนกระทั่งวันตายไม่เคยได้หยุดหายใจเลย ไม่ว่าจะเหน็ดเหนื่อยแค่ไหน ไม่ว่าจะไม่มีเวลาเพียงใด เราก็คงหายใจกันอยู่โดยความเป็นอัตโนมัติ

                เมื่อเป็นเช่นนี้ เวลาทำกรรมฐาน เวลาทำภาวนา มีเท่า ๆ กันเวลาที่เรามีสำหรับหายใจ เพราะการทำภาวนาไม่ได้ต้องการเวลาเป็นพิเศษที่จะให้เราต้องไปนั่งขัดสมาธิ หรือไม่ได้ต้องการเวลาที่จะให้เราแยกตนเอง ตัดขาดออกไปจากโลก ไม่รับรู้ความเป็นจริงที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ใช่การจับเราลงไปในหลุมหลบภัย แล้วปิดประตูขังตัวเองออกจากโลก

                การภาวนาคือ การเอาสติ เอาความจงใจ ตั้งใจมาเพ่งรู้อยู่กับสิ่งที่กำลังทำเฉพาะหน้า เป็นต้นว่า เรากำลังทำงานสิ่งใดอยู่ ก็ให้เอากายและใจของเรา มารวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับงานที่กำลังทำนั้น นั่นแหละคือการทำภาวนา

                คือการอยู่กับขณะปัจจุบัน ด้วยการมีสติสัมปชัญญะ ด้วยเหตุ ด้วยผล ด้วยความตื่น รู้ตัวทั่วพร้อม การกระทำดังนี้กล่าวได้ว่าเป็นมรรคเป็นหนทางที่นำเราไปสู่ความพ้นทุกข์ แต่ถ้าเราทำตามอารมณ์ตามความอยาก ความยึด ความหลง จัดเป็นสมุทัย สาเหตุแห่งทุกข์

                ถนนสายเดียวกันนั้นแหละ แต่ทิศทางผิดกัน ถ้าเราไปในทิศทางที่เป็นสัมมาทิฐิ เราก็ไปในทางที่เป็นมรรค เราก็ไปพบพระพุทธองค์ เราก็ไปเป็นธรรมะ ถ้าหันทิศทางไปในทางของกิเลส ของอารมณ์ ของความอยากทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งเป็นมิจฉาทิฐิ มันก็พาเราไปสู่สมุทัย เราก็ก่อทุกข์เผาตัวเองให้เดือดร้อน

                ธรรมะไม่ใช่สิ่งลึกลับซับซ้อน ไม่ใช่สิ่งประดิษฐานอยู่บนหิ้งบูชา ที่เราต้องมีเวลาอันเป็นพิเศษ ต้องเตรียมตัวผิดแผกไปจากธรรมชาติธรรมดา ต้องมีขนบธรรมเนียมประเพณีพิธีรีตอง อย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งมาแยกเราออกจากความเป็นจริง แยกเราออกจากชีวิตประจำวัน

                ธรรมะคือสิ่งที่เป็นธรรมชาติ ที่อยู่แวดล้อมรอบตัวเรา และจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องนำมาผสมผสานกับชีวิตประจำวัน เพื่อช่วยให้การดำรงชีวิตมีคุณค่าขึ้น มีสาระขึ้น เพราะการทำทุกอย่างด้วยความมีเหตุผล ย่อมทำให้คนที่อยู่ใกล้รู้สึกสุขสบายใจ คลายความตึงเครียด เกิดประโยชน์ทั้งต่อเขาและต่อเราเอง

                ยกตัวอย่างง่าย ๆ  เช้าวันจันทร์เป็นวันที่อะไร ๆ ก็เร่งร้อนซ้ำซ้อนไปหมด เพราะงานที่ชะงัก เนื่องจากวันหยุดเสาร์อาทิตย์อาจมีสิ่งเร่งด่วนประดังอยู่ บรรยากาศเช่นนี้สามารถทำให้เราซึ่งใจปลอดโปร่งอารมณ์ดีมาแต่บ้าน กลายเป็นหงุดหงิดอารมณ์ร้ายไปโดยไม่ทันรู้ตัว กว่าจะได้สติก็อาจก่อวิวาทกับใครต่อใครวอดวายไปแล้วก็ได้.

                หากเรารู้จักภาวนา เราก็เอาสติกำกับใจไว้กับชั่วขณะเฉพาะหน้า กับปัจจุบัน เรื่องอะไรดังมากระทบหู ก็จดจ่อฟังและพิจารณาตามด้วยเหตุผล แล้วปฏิบัติไปตามลำดับความสำคัญมากน้อยลดหลั่นกัน ขณะที่ทำอันใดอยู่ ก็อย่าเอาใจไปนึกถึงอีกหลาย ๆ เรื่องที่ยังคั่งค้าง

                เพราะการคิดระส่ำระสายถึงเรื่องโน้นที เรื่องนี้ที ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น ซ้ำร้ายประสิทธิภาพในการทำงานอาจล่าช้าลงอีก เพราะใจที่วุ่นวายแบ่งภาคเป็นนารายณ์อวตาร ทำให้การตัดสินใจไม่เด็ดขาด มีโอกาสผิดพลาดได้มาก

                เปรียบกับทางขึ้นรถเมล์เวลาคนแน่น ๆ คนขึ้นก็มุ่งแต่จะเบียดแย่งกันขึ้นไป ไม่คอยให้คนได้ลงมาก่อน คนลงก็รีบเบียดเพื่อลงมา เพราะต่างคนต่างคิดว่าตนมีสิทธิ์ก่อน ผลที่สุดไม่มีใครได้ขึ้นหรือลงสมปรารถนา เพราะมัวแต่ขวางทางซึ่งกันและกันเสีย

                ความคิดของเราก็เช่นกัน เวลาที่สับสน เวลาที่คิดว่ารีบนั้นเราจะทำอย่างเดียวกันนี้กับตนเอง โดยเอาเรื่องทุกเรื่องเข้ามาประดังคิด ให้เกิดขวางขัดทางกันเอง แล้วก็หงุดหงิด เพราะไม่รู้จะขยับไปทางไหน

                เวลาที่สูญเสียไปด้วยความไม่มีระเบียบไม่มีเหตุผลอย่างนั้น หากเราค่อย ๆ จัดระเบียบให้รู้จักคิด เหมือนจัดให้คนบนรถเมล์ได้เรียงแถวลงมาจนหมดก่อน แล้วคนจากข้างล่างจึงค่อยเรียงแถวขึ้นไปโดยลำดับ ทุกอย่างก็จะไม่เสียเวลา งานก็เขยิบไปจนสำเร็จลุล่วงโดยรวดเร็ว และเรียบร้อย

                เวลาที่เราวุ่น ลองนิ่ง แล้วมองเข้าไปในใจของตัวเองเถิด จะพบว่าแท้ที่จริง ความเป็นจริงหาได้ยุ่ง หรือหนักหนาเท่าที่เราทำ เงา ขึ้นหลอกตัวเอง แล้วก็หลง ตื่นเงานั้น ยิ่งตื่นเงา ก็ยิ่ง เตลิด ห่างไกลออกไปจากเหตุและผล ยิ่งห่างไกลออกไปจากเหตุจากผล

                ความจำเก่า ๆ อารมณ์หรือสิ่งที่เคยยึดถือ สิ่งที่ฝังใจเชื่อว่า นั่นคือสิ่งดีที่สุดที่ต้องทำ ก็มามีอิทธิพลคอยกระซิบกระซาบให้เราเฉไถลลื่นออกนอกทาง ไกลออกไป ไกลออกไป

                บางครั้งเมื่อหงุดหงิด ความหงุดหงิดนั้นไม่ได้หยุดอยู่เพียงในใจเรา จะกระฉอกออกมาเป็นวาจา หรือกิริยา เมื่อผู้ร่วมงานได้รับวาจาที่ไม่รื่นหู หรือกิริยาที่ไม่ชื่นตาบ่อยครั้งเข้า ก็หมดกำลังใจ

                ครั้นเขาหมดกำลังใจ แทนที่เราจะได้คิด หันมามองตนเอง และแก้ไขความบกพร่องของตน กลับไปเพ่งโทษเขาว่า ดูทีหรือเราเหนื่อยจะแย่อยู่แล้ว ทุกคนยังไร้น้ำใจกับเราอีก ความเอาแต่ใจตน ความสงสารตัว ทำให้พาลหงุดหงิดใส่เขาเพิ่มขึ้น

                เริ่มต้นก็ไม่มีเรื่องอะไรเลย แต่เราเองทำให้ทุกอย่างร้าวฉานขึ้น เมื่อร้าวแล้ว แทนที่จะเห็นตามความจริงว่า ต้นเหตุนั้นมาจากเรา กลับไปโทษปี่ โทษกลอง โทษทุกอย่างหมด แต่ลืมย้อนมาโทษตัวเอง

                หากเรามีธรรม เราปฏิบัติธรรม เมื่อมีอะไรเกิดขึ้น เพ่งโทษตนเองก่อน หันเข้ามามองตนบางทีเราอาจรีบร้อน พูดอธิบายไม่แจ่มแจ้ง หรือคิดทึกทักเอาเองว่า ทุกคนต้องรู้ใจของเรา เพราะฉะนั้น เราอาจคิดไปเอง เข้าใจไปเอง โดยอีกฝ่ายไม่รู้เรื่องด้วยเลยก็ได้

                พอคิดได้อย่างนี้ ความมีน้ำใจต่อผู้อื่น ความรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเราก็จะมีขึ้น เมื่อเกิดมีขึ้นแล้ว ความเห็นใจให้อภัย ก็จะตามมาเอง พอเกิดมีน้ำใจ อะไรต่อมิอะไรที่กำลังร้อน เหลื่อมล้ำก้ำเกินกันสักนิดหนึ่งก็ไม่ได้

                เพราะเป็นการเสียศักดิ์ศรี นี่ไม่ใช่หน้าที่ของเรา เราเป็นนายงานอันนี้ถ้าทำเองทีหลังลูกน้องจะได้ใจ ความคิดทำนองเหล่านี้เป็นต้น จะหมดไป เราจะนึกว่า ... ทุกคนเหนื่อยด้วยกันทั้งนั้น วันนี้บังเอิญยุ่งเป็นจุลกฐิน ช่วยกันคนละไม้ละมือ จะได้เสร็จ ๆ ไป...

         ผู้น้อยก็ยิ่งซาบซึ้ง ก็ยิ่งเคารพรัก นับถือในความมีน้ำใจคนเราเมื่ออยู่กันด้วยพระคุณ ทุกอย่างจะราบรื่น เพราะ น้ำใจเป็นสิ่งที่จะเอาเงินหรือเอาอะไรไปซื้อไปหามาไม่ได้ แต่ถ้าเกิดความเต็มอกเต็มใจ พอใจแล้ว จะหลั่งออกมาเองโดยไม่มีวันเหือดแห้ง

                เรามักติดอยู่ในกรอบของแบบแผนว่า ธรรมะต้องเป็นกาล เป็นสมัย เป็นต้นว่า ถ้าจะทำบุญ รักษาศีล ก็ต้องทำตามวาระ เช่น ในวันพระ หรือวันสำคัญเกี่ยวกับตัวเราเป็นต้น  แบบนั้น จัดเป็นการ ทำบุญเฉพาะกาล เป็นการรักษาศีลเฉพาะภาค

                หรือจะภาวนาก็ต้องมานั่งขัดสมาธิในวัด หรือในห้องพระ อันนั้นเป็นการ ภาวนาเฉพาะกาล จัดเป็นรูปแบบของจริยธรรม ยังไม่ใช่ของแท้ ไม่ใช่ตัวธรรมะ เพราะพระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า ธรรมะเป็นอกาลิโก ไม่มีกาล ไม่มีสมัย ต้องอยู่ในใจ ต้องกำกับอยู่กับใจทุก ๆ ขณะ ต่อเนื่องกันตลอดเวลา

                เมื่อใดที่เราเห็นอย่างนี้ เชื่ออย่างนี้แล้ว เราจะไม่มีปัญหาว่าเวลานี้เหมาะที่จะภาวนาหรือไม่ ทำแล้วจะเสียงานเสียการหรือไม่ เราจะค่อย ๆ เกิดมีความรู้สึกขึ้นมา และคลำรู้ลู่ทางว่า เราสามรถทำภาวนาไปด้วย ทำงานไปด้วย โดยที่งานก็ไม่เสีย ภาวนาก็เห็นผล และธรรมะก็ค่อย ๆ งอกงามขึ้นในจิตใจ

                ธรรมะไม่ได้ตั้งต้นจากการต้องรู้บาลี ต้องรู้พระไตรปิฎก ต้องรู้ศีลห้าเป็นอย่างไร ศีลแปดเป็นอย่างไร

                ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ธรรมะอยู่ที่เจตนาของเรา อยู่ที่การมองทุกอย่างด้วยความเห็นที่ถูกต้อง ที่พระพุทธองค์เรียกว่า เป็นสัมมาทิฐิ อะไรเล่าที่จะเป็นสัมมาทิฐิได้ เราอาศัยหลักง่าย ๆ ว่าสิ่งใดก็ตาม ถ้าทำไปแล้ว มีคนวิพากษ์วิจารณ์หรือติฉินนินทา เราจะเดือดร้อนหรือไม่

                หรือถ้าแม้นสามารถหมุนกาลเวลากลับไปใหม่ได้ เราจะเปลี่ยนใจทำอย่างอื่นแทนสิ่งที่ได้กระทำไปแล้วหรือไม่ หากทวนถามเช่นนี้แล้ว ก็ยังได้คำตอบอย่างเดิมว่า สิ่งที่ได้ทำไปนั้นรอบคอบดีที่สุด เหมาะสมที่สุดแล้ว เราไม่มีวันหวนคิดเสียใจว่า ควรจะได้ทำดีกว่าที่ได้ทำลงไป

                หากเราเห็นว่า สิ่งที่ได้ทำนั้นมาจากใจที่บริสุทธิ์ สุดสติปัญญาความสามารถ สุดกำลังกายของเราแล้ว อันนั้น ถือว่าเป็นสัมมาทิฐิ แต่ถ้าสิ่งใดที่ทำไปแล้ว เราฉุกคิดว่า หากคนโน้นรู้ เขายังจะเห็นเราดีเหมือนอย่างที่เคยเห็นหรือเปล่า หรือถ้าทำไปแล้วมันยุติธรรมแน่หรือ

                หากคิดอย่างนั้น ถือว่า เป็นมิจฉาทิฐิ โปรดอย่าทำ เพราะกิเลสมันสอนให้เรารักสะดวกรักสบาย สอนให้เราฉลาดแกมโกง คิดว่าเราแหลมคมเหนือกว่าคนอื่น ถ้าไม่มีคนเห็น ไม่มีคนรู้ถึงเราจะเบียดบังเข้าข้างตนเองมากไปนิดหนึ่ง ก็คงไม่เป็นไร

                ขณะที่ทำนั้น มันไม่เป็นไร แต่พอผลปรากฏออกมา มันเกิดเป็นไรขึ้น ใจก็ไม่สบาย คอยหวั่นระแวง ผ่านไปเห็นคนหัวเราะกัน ก็คิดว่าเขาคงซุบซิบนินทาเรา ใจก็หวั่นไหว เหมือนไม้หลักปักอยู่กับเลน พอแตะเข้าก็โยกไปโยกมา เพราะฉะนั้นอย่าเผลอคล้อยทำไปตามมิจฉาทิฐิ ตั้งใจให้หนักแน่น แม้ว่าบางครั้งจะแลดูลำบาก แลดูเหมือนเราเสียเวลาไปใช่เหตุ

                ใจที่เคยชินต่อการคล้อยตามกิเลส เปรียบได้กับก้อนหินหนัก ๆ ที่ตกลงไปในหล่ม แล้วเราพยายามงัดให้ขยับขึ้นจากหล่มมาสู่พื้นราบ กว่าจะงัดให้ขยับขึ้นมาได้ บางครั้งทำท่าเหมือนจะเคลื่อนแล้ว เผลอไปนิดเดียวพลาดตกกลับไปในหล่มอย่างเดิมอีกแล้ว

                บางครั้งมันเกิดท้อถอย คล้ายกับว่า เราลงทุนลงแรงไปเปล่าประโยชน์ ไม่เห็นผลของงานเลย ขอได้โปรดอดทนทำต่อไปเถิด เพราะนี่เป็นการทดสอบใจของเราว่า เราเห็นคุณค่าของสิ่งนี้แท้แน่หรือ

                ถ้าความเห็นของเราแน่วแน่ ศรัทธามั่นคงว่า ธรรมะเป็นของประเสริฐ  เป็นของมีคุณค่า เราก็จะพากเพียรบากบั่นต่อไป เมื่อบากบั่นถึงที่ ก็เหมือนก้อนหินขยับจากหล่มไปอยู่บนพื้นราบ คราวนี้เพียงออกแรงเบา ๆ จะกลิ้งไปโดยง่าย เพราะบนที่ราบ เมื่อเริ่มเคลื่อนแล้ว มันจะเคลื่อนต่อไปเองด้วยแรงเฉี่อย

                ความยากนั้นอยู่ตรงครั้งแรก ตอนตั้งต้น แต่โปรดนึกไว้ว่า ถ้าเราแน่ใจ เรามั่นใจ เราเชื่อในธรรมะ เหมือนอย่างกับการปลูกต้นไม้ ถ้าหว่านดอกหญ้า ฝนตกนิดเดียว ๓ - ๔ วันต่อมาก็งอกเต็ม ประเภทนี้ให้ผลเร็วทันใจ

                แต่ถ้าปลูกไม้ยืนต้นที่มีคุณค่า เป็นต้นว่า ไม้ประดู่ ต้องใช้เวลานาน และเมื่อขึ้นเป็นต้นเล็ก ๆ แล้ว ต้องประคบประหงม บังแดด รดน้ำ กว่าจะเป็นต้นสูง ขึ้นมาถึงคืบ หรือศอก กินเวลานับเป็นปี นี่ก็เหมือนกัน การทำให้ใจของเรามีธรรมะ มีเหตุผลนั้น ต้องการเวลา หรือเหมือนการว่ายทวนน้ำ

                โดยปกติ กิเลสทั้งหลายทั้งปวงย้อมมอมเมาใจของเราอยู่เหมือนอย่างกับเราเอาใจไปแช่อิ่มไว้ในกิเลส ในยางของความยึดความหลงทั้งปวง จนกระทั่งขณะใดที่เผลอสติ มันจะไหลไปตามกิเลสไป เหมือนกระแสน้ำที่พัดทุกสิ่งให้ไหลตามน้ำเรื่อยไป

                เมื่อใดที่เรามีสติ นึกฝืนมัน เปรียบเหมือนเราออกแรงว่ายฝ่ากระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว เราออกแรงจนกระทั่งสุดแรงของเราแล้ว ก็ยังถูกพัดตามไปด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถแม้เพียงพยุงตัวเองให้อยู่กับที่ได้ ก็อย่าไปนึกท้อใจว่า การลงทุนของเรานั้นไร้ประโยชน์

                เพราะการที่สามารถฝืนกระแส ฝืนความอยากตามใจตัวเอง ฝืนกิเลสที่คอยเย้ายวน ฝืนใจให้หยุด ไม่ทำตามความชั่วเหล่านั้น นับเป็นจุดเริ่มต้นที่มีความหมายมากมายยิ่งนัก

                เมื่อสามารถฝืนได้อย่างนั้นแล้วอีกมิช้ามินาน เราก็จะมีแรงเคลื่อนทวนกระแสไปได้ เมื่อทวนกระแสไปได้แล้วของที่ยากเหลือแสน ของที่เราคิดว่า เราคงไม่มีบุญวาสนา เราคงทำไม่ได้ ก็จะผลิดอกออกผลเหมือนไม้ประดู่ ที่ยืนต้นดีแล้ว นับวันก็จะเป็นของที่มีคุณค่า มีราคา

                การที่เราจะมีความพยายาม มีความพากเพียรอันสม่ำเสมอได้ ต้องเห็นแจ้งในใจ ต้องเชื่อแน่โดยไม่มีข้อลังเลสงสัย ถ้าเรายังลังเลสงสัยอยู่ การปฏิบัติย่อมคลอนแคลน เสียงพูดนั้นคือ โลกธรรม เปรียบเหมือนลมพายุที่คอยพัดใจของเรา ซึ่งเทียบได้กับต้นไม้ ให้หวั่นไหวโยกคลอน

                ถ้าเราไม่มีเหตุผลไม่มีธรรมะเป็นรากแก้ว พอลมพัดที คลอนไปทางนั้นที ลมพัดอีกทีคลอนมาทางนี้ที คลอนนาน ๆ เข้า รากจะเฉา ต้นก็พาลตายเอา ใจที่ไม่มีธรรมะ ไม่มีศรัทธาที่มั่นคง เหมือนต้นไม้ที่ไม่มีรากแก้ว

                พอโดนลมปากคนโน้นพูดที คนนี้พูดที เลยชักสงสัย เอ....อย่างไรกันแน่นะ ที่ทำไปนั้นคงจะไม่ได้เรื่องเสียแล้ว... ก็เลยไม่อยากทำความเพียรก็ลุ่ม ๆ ดอน ๆ เหมือนอย่างกับสมัยโบราณ เวลาก่อไฟ ท่านเอาไม้สองอันมาสีกัน การสีนี้ ถ้าไม่สม่ำเสมอและนานพอ ความร้อนที่เกิดสะสมกันก็ไม่มากพอที่จะทำให้เกิดเป็นไฟลุกขึ้นมาได้

                ศรัทธาที่ไม่มั่นคงเปรียบเหมือนสีไม้ไปสักหน่อย เกิดลังเล... ไฟคงไม่มี... คิดแล้วก็หยุด ความร้อนที่เริ่มสะสมก็กระจายหมดไป... เอ้า ลองสีใหม่ เพราะท่านว่าเอาไม้มาสีกันแล้วจะเกิดไฟ... คิดแล้วก็เริ่มต้นสีใหม่ สีไปอีกสองสามที เลิกอีกแล้ว ความร้อนมันก็อยู่ตรงนั้น

                แต่ความเพียรของเราไม่ต่อเนื่องมากพอที่จะเห็นผล แล้วจะไปลงความเห็นว่า ธรรมะนั้นไม่มีแล้ว สิ่งที่พระพุทธองค์ตรัสสอนนั้น ตายไปกับท่านแล้ว ไม่มีประโยชน์ที่จะทำความดีกันอีกแล้ว

                โปรดอย่าให้ความคิดเช่นนี้ มาหลอกเรา มาดึงเรา มาเป็นบ่วงจับเราให้หันไปในถนนสายที่เรียกว่า มิจฉาทิฐิ

                การได้เกิดมาเป็นมนุษย์ไม่ใช่ของง่าย มนุษย์เป็นสัตว์ก็จริง แต่ประเสริฐกว่าสัตว์ทั้งหลาย ตรงที่มี สติ และ ปัญญา สามารถเลือกขีดทางข้างหน้าของตนว่า จะไปทางไหน

                ถ้าจะเปรียบเทียบชีวิตกับการทำนา สิ่งที่เกิดกับเราขณะเดี๋ยวนี้ คือผลของสิ่งที่ได้หว่าน หรือปลูกไว้แต่อดีต เรียกเป็นปัจจุบันผล เป็นผลที่มาจากอดีตเหตุ ที่เราได้ปลูกไว้ ถ้าเมื่อ ๓ - ๔ เดือนที่แล้ว เราหว่านข้าวโพดไว้ บัดนี้มันก็งอกเป็นต้นข้าวโพด และกำลังออกฝักเป็นข้าวโพด ให้เราได้เก็บเกี่ยวฝักไปกิน ไปใช้

                สิ่งใดก็ตาม ที่เรากำลังคิด กำลังพูด กำลังทำ อยู่ขณะเดี๋ยวนี้ คือ ปัจจุบันเหตุ เช่นเดียวกันกับเรากำลังเอาเมล็ดหว่านไถลงไปในนา ถ้าหว่านเมล็ดถั่วลงไป เรารู้ เราแน่ใจว่า ต้องเกิดต้นถั่วแน่ ๆ เพราะฉะนั้น อนาคตผลต้องเกิดเป็นต้นถั่วให้เรา เราต้องได้กินถั่ว

                เพราะจากความเป็นจริงที่ได้พบ ตั้งแต่เกิดมาจนบัดนี้ ไม่เคยปรากฏเลยใช่หรือไม่ ที่เอาเมล็ดถั่วปลูกลงไปแล้ว จะเกิดเป็นต้นน้อยหน่า ไม่เคยมีเลยใช่หรือไม่ สิ่งนี้เราเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัย

                ถ้าเราเล็งเห็นว่า เราเป็นผู้รับผลของการกระทำของเราเอง เช่นเดียวกับเราหว่านพืชชนิดใด ย่อมได้รับผลชนิดนั้น กรรมในที่นี้หมายถึงการกระทำ เราเชื่อว่า ไม่ว่าจะคิด พูด หรือทำสิ่งใด มันก็เป็นมโนกรรม วจีกรรม กายกรรมที่เรากำลังหว่านไถอยู่ทุก ๆ วินาทีนี้ และจะงอกเป็นต้นขึ้นมา ผลิดอก ออกผล ตามแต่ชนิดของพืชนั้น ๆ

                ถ้าเป็นพันธุ์ที่ผลิดอกออกผลไว ๓ - ๔ วัน เราก็เห็นต้น เห็นผลทันตา ถ้าเป็นพันธุ์ไม้ยืนต้นชนิดที่ต้องกินเวลาเป็นสิบ เป็นร้อยปี จึงเห็นผล เราอาจลืมไปแล้วว่า เราเคยปุโลปุเลว่า อะไรกัน ทำดีไม่เห็นได้ดี หรือบางคนอาจปลูกต้นประดู่ไว้ เมื่อนานมาแล้ว

                เราไม่เห็นเมื่อเขาปลูก แต่มาเห็นตอนกลางที่เขาหว่านเมล็ดนุ่นไว้ พอดีต้นประดู่โตขึ้นมาให้เราเห็น เราก็เลยสรุปว่า ทำชั่วได้ดี เพราะฉะนั้นเราจะเลิกทำความดีแล้ว

                ถ้าเราคิดตื้น ๆ สั้น ๆ เช่นนี้ เราก็ทำพิษทำภัยให้กับตนเปล่า ๆ

                การทำ ภาวนา คือ การมา สร้างรากฐานให้กับใจ ไม่ให้หวั่นไหวไปตามโลกธรรม ซึ่งได้แก่ มีลาภ มียศ สรรเสริญ สุข เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา และทุกข์ ไม่ให้เป็นมงคลตื่นข่าว ใครว่าอย่างไรก็ถูกพัดตามไป

                พอได้รับสรรเสริญก็ลอยเป็นว่าวติดลม พอถูกตำหนินินทาก็ฟุบจมลงไป ไม่ว่าจะได้ยินได้ฟังอะไรมา ต้องค่อย ๆ ไตร่ตรองหาเหตุผลว่า มีทางเป็นอย่างนั้นได้หรือไม่ ถ้าเป็นไปไม่ได้ก็ฟังหูไว้หู แล้วพากเพียรทำของเราต่อไปตามแนวความคิดที่ได้วางไว้ ด้วยสติและปัญญา ด้วยความรอบคอบ ด้วยความระมัดระวังอย่างที่สุด

                ถึงแม้เราจะมี สติปัญญา ดีที่สุดสำหรับขณะนี้ แต่สติปัญญานั้น ก็ยังไม่ใช่สติปัญญาสมบูรณ์ เช่น ของพระพุทธเจ้า หรืออรหันตสาวก เพราะเราล้วนเกิดมาด้วยอวิชชาทั้งสิ้น อวิชชานี้ไม่ใช่ ความรู้ ชนิดที่เรารู้ตัว อย่างเช่นเราเดิน เข้าไปในห้องมืด แล้วไม่รู้ว่าของที่ต้องการอยู่ที่ใด

                ถ้าแบบนั้น ไม่ใช่ความหลง ไม่ใช่อวิชชา เพราะเรารู้ว่ามืด เราจึงแสวงหาแสงสว่าง เพื่อส่องหาของ อวิชชานี้เหมือนเวลาที่เรา ออกจากโรงหนัง กระทบกับแสงสว่างจ้า เราเข้าใจว่าเราเห็นทุกอย่างได้หมด แต่แท้ที่จริงแสงสว่างนั้นจ้าจนเราตาพร่า มองไม่เห็นอะไรเลย

                อวิชชาเป็นเช่นนั้น เป็นความสุกใสอย่างยิ่ง เป็นความหลงรู้ เป็นความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หากจะเปรียบก็คงเหมือนกระจกที่มีสีต่าง ๆ กัน ตั้งแต่ตำสนิท เท่าแก่ เท่าอ่อน จนกระทั่งใสบริสุทธิ์

                ปัญญาของพระพุทธองค์เปรียบได้กับกระจกที่ใสสะอาด ไม่มีอะไรมาปิดบังกางกั้นเลย ทำให้เห็นแสง เห็นสิ่งต่าง ๆ ได้เที่ยงตรงตามความเป็นจริงครบร้อยละ ๑๐๐  อวิชชาล้วน ๆ คือกระจกดำสนิทแสงผ่านไม่ได้เลย เห็นได้ร้อยละ ๐ แต่ตนเองสำคัญว่าเห็นร้อยละ ๑๐๐

                จิตของพวกเราที่มีอวิชชาคลุกเคล้าแทรกปิดบังอยู่ ก็คงอยู่ระหว่างร้อยละ ๐ ไปจนถึงร้อยละ ๙๙.๙๙ ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดของแต่ละบุคคลนั้น ไม่ใช่การแกล้งทำ แต่เป็นอย่างนั้นจริง ๆ มันเป็นไปตามส่วนผสมของอวิชชาที่มาเคลือบแฝงปัญญาของแต่ละคนไว้

                อย่าไปโกรธ อย่าไปคุมแค้นขุ่นเคืองว่า เขาแกล้งทำ หรือเจตนาร้ายต่อเราเพราะที่เขากระทำลงไปนั้น เป็นสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่เขาสามารถเล็งแลเห็นได้ เมื่อเห็นจริงตามนี้ จะเกิดความเข้าใจ ถ้าเราอยู่ในฐานะสูงกว่าก็อภัยให้เขา พยายามทำให้เห็นเป็นตัวอย่างว่า สิ่งที่เขาเชื่อนั้น ยังมีสิ่งที่ดีกว่าอยู่

                ถ้าเราอยู่ในฐานะต่ำกว่า ก็อย่าหงุดหงิดกับการกระทำนั้น แต่น้อมใจแผ่เมตตา ให้วันหนึ่งเขาเกิดมีสติปัญญา ฉุกเห็นความจริงได้ เพราะเขาอยู่ในฐานะที่เราจะไปว่ากล่าว ตักเตือน แนะสอนก็ไม่ได้

                ของสิ่งใดก็ตาม หากเราทำจนสุดสติกำลังความสามารถแล้ว ยังไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ อย่าเพิ่งด่วนลงความเห็นว่าเป็นสิ่งไม่จริง ไม่มีอยู่ เพราะบางสิ่งที่เรายังรู้ไม่ถึง เห็นไม่ได้นั้น อาจเป็นของที่มีอยู่ ตัวอย่างเช่น ไวรัส เรามองไม่เห็นตัวของมัน แต่เราก็เชื่อว่าไวรัสมีจริง เพราะมันทำให้เกิดโรคที่ตัวเราเคยเป็น เคยเห็นผู้อื่นเป็น

                ในกรณีนี้ก็เช่นกัน ตาของเราสามารถเห็นได้ในวงจำกัด เพียงในช่วงหนึ่งของสเปคตรัม ที่การหักเหของแสงจะถูกรับรู้ได้  ฉะนั้นอย่าไปสรุปเอาว่า ถ้าเรามองไม่เห็นแล้ว สิ่งนั้นจะไม่มีอยู่ การสรุปตื้น ๆ แบบนั้น จะเป็นการปิดกั้นหนทางแห่งการเรียนรู้ของเราเอง ปิดกั้นตัวเราจากการก้าวไปข้างหน้า

                พระพุทธองค์นั้นท่านเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ล้ำเลิศ ของทุกอย่างท่านพิสูจน์ด้วยพระองค์เอง แทนที่ท่านจะทดลองกับสัตว์ทดลอง แทนที่จะมองออกนอกตำหนิผู้อื่น ท่านทดลอง มองค้นเข้าไปในกาย ในใจของท่านเอง ในปริมณฑล ยาววา หนาคืบ กว้างศอก นี้เท่านั้น

                เมื่อได้ค้นคว้า พิสูจน์  จนรู้ชัดแน่แก่ใจแล้ว จึงนำมาบัญญัติ มาสั่งสอนพวกเรา และท่านก็ไม่ได้ปิดกั้นผูกขาด ว่าสิ่งที่ท่านนำมาสั่งสอนนั้น จะต้องเป็นแต่พระพุทธเจ้า หรืออรหันต์สาวกเท่านั้น จึงจะพิสูจน์ได้ จึงจะรู้เห็นเป็นได้

                ถ้าทุกคนพากเพียรมองค้นเข้าไปในกาย ในใจของตน แน่วนิ่ง และนาน จนชัดแจ้งพอ สามารถพิสูจน์ได้ รู้เห็นเป็นอย่างนั้นได้ทั้งนั้น ธรรมะเป็นความจริงเที่ยงแท้ แน่นอน เป็นหนึ่งเดียว ที่ทุกคนมีสิทธิ์รู้เห็น ทำให้เป็นขึ้นในใจของตนได้ ไม่จำกัดกาล สถานที่ หรือ บุคคล

* ภาวนา.jpg (12.11 KB - ดาวน์โหลด 413 ครั้ง.)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 30, 2011, 12:25:00 PM โดย admin » บันทึกการเข้า
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  ตอบ  |  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

+ ตอบด่วน
 


96 ธรรมคือแรงใจ | ปิ๊งแว๊บ ! ปััญญาแจ่มบรรเจิด | อ่านธรรม | มูลนิธิเมตตาอาทร | เสบียงบุญ | วิถีอนุตตรธรรม |

โปรดอ่านกฎกติกาก่อนแสดงความคิดเห็น

1. โปรดงดเว้น การใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
2. ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นเวบบอร์ดโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไปและสมาชิก
ซึ่งทีมงาน 96rangjai มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้
3. หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป
4. ทีมงาน 96rangjai ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ต่อเจ้าของความคิดเห็นนั้น