ยินดีต้อนรับสู่ฟอรั่ม 96 เสวนาธรรมบำเพ็ญ
กรุณา ลงทะเบียน เพื่อสามารถใช้งานฟอรั่มได้อย่างเต็มรูปแบบ !
ลงทะเบียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและใช้เวลาเพียงเล็กน้อย

"โดยพื้นฐานธรรมชาติเดิมแท้ของตัวเรา
เป็นสิ่งที่บริสุทธิ์และสะอาด
ถ้าเรารู้จิตของเราและเห็นถึงธรรมชาติเดิมแท้ของเรา
เราทั้งหลายก็จะบรรลุถึงความเป็นพุทธะ"

หน้า: [1]   ลงล่าง
  ตอบ  |  พิมพ์  
Share this topic on FacebookShare this topic on Twitter
ผู้เขียน หัวข้อ: อย่างไรคือภาวนา  (อ่าน 3037 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
admin
บุคคลทั่วไป
« เมื่อ: กรกฎาคม 28, 2011, 02:51:03 PM »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ




อย่างไรคือภาวนา

ธรรมบรรยายโดย : พญ.อมรา มลิลา

        การปฏิบัติธรรม คือ การกระเทาะ กระเทาะสิ่งเจือปนเคลือบแฝง สิ่งที่เป็นอารมณ์ เป็นกิเลส เป็นความเศร้าหมอง สิ่งที่มาทำให้ใจของเราหลง มัวเมา สำคัญผิด ยึดมั่นถือรั้นจนคุณภาพด้อยถอยลงไป กระเทาะทิ้งให้หมด จนเจอแก่น เจอของแท้ ซึ่งเป็นของที่มีพลังมหาศาล มีคุณค่าเหนือคุณค่าใดๆ ทั้งหมดที่จะเทียบได้

โปรดอย่าคิดว่าเรายากจน เราสติน้อย ปัญญาทราม เรามีข้อบกพร่องอย่างนั้น อย่างนี้ อย่างโน้น ไม่มีเลย ทุกคนมีโอกาสเท่ากันหมด ที่จะค้นให้พบพุทธะอันนี้ ที่ในใจของตน ...เมื่อได้หลักในการภาวนาเช่นนี้แล้ว เวลานั่งและพบว่าใจไม่นิ่ง ก็ค้นหาสังเกตว่า ที่ไม่นิ่งนั้นเพราะอะไร เพราะเราอยากมากไปหรือเปล่า

คนบางคนพอนั่ง จะมีความรู้สึกว่า วันนี้นั่ง ๑๕ นาทีแล้ว จิตต้องลงรวมเป็นสมาธิ ความอยากที่ตั้งกำหนดเอาไว้นั้น จะคอยให้ใจแตกเป็นสอง แทนที่จะนิ่งหาเราเพียงเฝ้าดู ว่า มันจะเป็นยังไงก็ให้เป็นของมันไป เหมือนไปดูละคร เราไปเดาว่าวันนี้ละครเล่นเรื่องอะไร ผู้ร้ายจะชนะพระเอก เราก็ไม่ไปโต้แย้งกับมัน ไม่ไปแต่บทใหม่ว่า ...ไม่ได้ ...ไม่ได้ ไอ้ตัวนี้มันเป็นผู้ร้าย มันจะมาชนะพระเอก เป็นความผิดชัดๆ

ถ้าเราเป็นอย่างนี้ จะนั่งนานเท่าใด ใจ ก็ไม่มีเวลาว่าง เวลานิ่ง เพราะใจจริงๆ เปรียบเหมือนตัวละครที่แสดงให้เราดู พอมันทำท่าจะนิ่ง เราก็จัดแจงกำกับ โอ๊ะ... โอ๊ะ...จะนิ่งแล้ว...พอเกิดความคิดว่า จะนิ่งแล้ว...ใจเราก็แตกเป็นสอง ตกลงมันเลยกระจุยออกมาใหม่ กลับมาฟุ้งอย่างตอนแรกเริ่มนั่ง

เราหงุดหงิด ข่มใจ ค่อย ค่อย ค่อย ประคองมันใหม่ ครั้นกำลังจะได้ที่ เอาอีกแล้ว ไอ้ตัวความคิดของเราแทรกเข้ามา โอ๊ะ ...โอ๊ะ ได้ที่แล้ว ...คราวนี้แหละ... นิ่งเดี๋ยวนี้แหละ ...เอ๊ะ... บอกว่านิ่ง... มันก็หลุดออกไปอีกเป็นอยู่อย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก มัวแต่ตะครุบเงา ล้มลุกคลุกคลาน ปากแตก หัวโน กันอยู่ไม่รู้แล้วอย่างนี้

เมื่อพบว่าใจของเราเป็นอย่างนี้ ก็ทำใจว่า เราจะไปนั่งดูละคร ละครจะแสดงเรื่องอะไรก็ตาม เราจะไม่วิจารณ์ เราจะไม่ออกความเห็นอะไรทั้งนั้น หน้าที่ของเรามีอย่างเดียวคือดู เราจะดูโดยไม่ยอมให้สิ่งใดหลุดลอดสายตาไปได้เลยแม้นิดแม้หน่อย ดูอย่างเดียว ดูด้วยใจว่างเปล่า ไม่ต้องมีความรู้ ไม่ต้องมีความคิดใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าทำได้เคร่งครัดตามนี้ รับรองมันต้องได้สมาธิแน่

ถ้าไม่ใช่ดังที่กล่าวมาแล้ว ก็อาจเป็นไปได้ว่า วันนี้มีงานด่วนที่จะต้องทำ ใจจึงกังวลว่า ตายจริง ...เวลาที่เรามานั่งสมาธินี่ ถ้าเอาไปทำงานชิ้นนี้ อาจทำได้ดีกว่านี้ก็ได้ ใจเลยไม่ยอมเป็นสมาธิ พอทำท่าจะนิ่ง ใจก็ประหวัดไปถึงงานที่ฝังกังวลอยู่ในใจ เลยไม่ได้ผล ถ้าเป็นเช่นนั้น ลุกไปทำงานให้เสร็จเสียก่อน แล้วจึงกลับมาทำสมาธิ

บางครั้งก็ไม่ใช่งานการที่มีสาระ แต่ใจที่ซัดส่าย แว่บไปคว้าอารมณ์โน้น อารมณ์นี้ เถลไถลเล่นอยู่ ก็ดูให้ทันอาการ เกิด - ดับ ของแต่ละอารมณ์ว่า แม้ใจของเราเองก็ไม่เที่ยง เป็นไปตามกฎของสามัญญลักษณะ คือ ไตรลักษณ์ หากเผลอไปยึดเป็นจริงเป็นจัง เราจะทุกข์

พิจารณาและเพ่งสติให้ทันแต่ละอารมณ์ที่วูบ เกิดดับ ซัดส่ายเช่นนั้น ถ้าสติคุมทันไม่ช้าใจจะเชื่องช้า จนสงบได้

หรือบางที วันนี้ทั้งวันเกิดซวย ทะเลาะกับเพื่อนในที่ทำงาน ตอนทะเลาะ เราก็ว่าเราถูกทั้งหมด แต่พอกลับมาถึงบ้าน ตอนนี้ชักไม่ใคร่แน่ใจ เอ...เราก็อาจผิดเหมือนกัน เราก็อาจโมโหมากเกินไป ไปว่าเขาแรงเกินไป ครั้นมานั่งสมาธิ อารมณ์อันนี้ ก็เข้ามา ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีกับอารมณ์ผลัดกันเข้ามาพิจารณาพิพากษาตัวเรา ...ที่จริง ถ้าเราไม่ไปว่าเขาแรงอย่างนั้น เรื่องก็คงไม่รุนแรงถึงเพียงนี้

มันก็พะวักพะวนอยู่ในใจ

 อารมณ์ดึงดันขึ้นมาว่า ...ฮึ..ก็เขามาว่าเราก่อนนี่ก็สมควรแล้ว ...อัตตา ตัวตนของเราก็มาชักเย่อไว้ ทำให้ใจไม่สามารถสงบอยู่กับคำบริกรรม ลงรวมเป็นสมาธิได้

ถ้าเป็นเช่นนี้ แทนการข่มให้มันอยู่กับคำบริกรรมเรายกเรื่องที่เกิดขึ้นมาพิจารณาเสียเลย ถามตัวเอง โจทก์ตัวเอง ให้กิเลสกับพุทธะโต้กันว่าเพราะอะไร กิเลสให้เหตุผลว่าอย่างไร ธรรมให้เหตุผลว่าอย่างไร แล้วค่อยๆ พิจารณาไตร่ตรอง หากเราไม่คล้อยตามกิเลส มันจะเห็นเองว่า ที่ทำไปทั้งหมดนั้น เพราะเราถือว่าเราเป็น เรา คนอื่นมาลูบคมไม่ได้ คนอื่นมาล่วงล้ำก้ำเกินไม่ได้

อะไรคือ เรา อันนี้ ก็อัตตา สักกายทิฐิ  รากเหง้าของตัวของตน

พระพุทธองค์ทรงสอนว่า เพราะความมีสักกายทิฐินี้ จึงทำให้คนเราเดือดร้อน มีพวกเขา พวกเรา  มีคนอินเดีย คนจีน คนไทย มีแล้วก็ตีกันเอง คนอินเดียแบ่งตัวเอง ออกเป็น กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร์ ปะปนกันไม่ได้ หมดจากวรรณะ ก็มาตีกันเองในบ้าน ลูกคนนี้ไม่ได้ดังใจ ไม่รัก สู้ลูกคนนั้นไม่ได้ มันย่อมมีเรื่องกระทบกระทั่งกันอยู่เช่นนี้ ตราบเท่าที่ยังมีสักกายทิฐิ

ท่านจึงตรัสว่า ตราบเท่าที่ใครยังมีความยึดอันนี้อยู่ในใจ ไม่มีวันที่จะสงบผาสุก ถ้าไม่ไปตีกับคนอื่น ก็ตีกับตัวเอง พอเราจะทำอะไรเป็นธรรมชาติธรรมดาไม่ได้ เดี๋ยวเสียศักดิ์ศรี เดี๋ยวคนจะไม่เคารพ

มีอาจารย์ท่านหนึ่ง ท่านสั่งคนงานให้โรเนียวคู่มือสำหรับแจกนักเรียนที่จะเข้าห้องปฏิบัติการ บังเอิญเช้านั้นคนงานมีงานด่วนอย่างอื่น พอจวนบ่ายโมง ท่านลงไปเอาแผ่นคู่มือ ปรากฏว่ายังกองเป็นแผ่นๆ ไม่ได้เรียงหน้า และเย็บติดกันเป็นชุดๆ

ครั้งแรกท่านก็คิดจะเข้าไปช่วยหยิบเรียงและเย็บให้เสร็จ จะได้เอาไปแจกนักเรียนได้ แต่เจ้าอัตตาในใจก็บ่อนทำลายขึ้นว่า ...ไม่ได้นะ ถ้าเราลงไปช่วยละก้อ อีกหน่อยคนงานจะเหลิง ได้ใจ คอยแต่ลนลานทำงานของคนอื่นแต่ของเราไม่สน... ไม่ได้...ไม่ได้ เราเป็นหมอนะ ...ยังไงก็ต้องรักษาศักดิ์ศรีของเราเอาไว้...

พอคิดอย่างนี้ เลยหยิบที่เย็บกระดาษขึ้นมาไม่ได้ ใจก็เดือดร้อนพลุ่งพล่านขึ้น ความรู้สึกคิดปรุงขยายความออกไปว่า ...นี่คนงานชักกระด้างกระเดื่องกับเราแล้วนะ...

อัตตาในใจลากจูงให้เกิดการกระทำและวาจาอันน่าเกลียดขึ้นมาแล้ว และถ้าเก็บอารมณ์เหล่านี้สะสมไว้ คราวหน้ามีเหตุบังเอิญอีก ความระแวงก็ได้ปุ๋ย พาให้สรุปลงความเห็นว่า ...ใช่แล้ว ใช่แล้ว พวกนี้รวมหัวกัน มันไม่เคารพเราจริงๆ ...ตกลงเรื่องก็ไปก้นใหญ่เลย ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่อย่างนั้นเลย มันเป็นความบังเอิญ

คนงานเองก็ตั้งใจ เต็มใจจะทำ แต่มีงานอื่นที่เร่งด่วน แซงเข้ามาตอนเช้า จำเป็นต้องทำก่อน เขาก็ต้องไปทำเขาเองก็เหนื่อย หากเราไปดุ ปรักปรำเอาตามอารมณ์ของเรา เขาย่อมท้อใจ เพราะเขาไม่ได้มีเจตนาล่วงเกินเราเลย

คนบางคนเมื่อถูกกล่าวหา อาจเกิดความฮึดขึ้น เช่นลูกศิษย์คนหนึ่งมาโวยวายว่า ...ไม่มีประโยชน์ที่ผมจะเป็นคนดี ในเมื่ออาจารย์เอาสีดำมาป้ายผมแล้ว เพราะฉะนั้น ผมจะไปคลุกให้มันดำสนิทหมดทั้งตัว ให้สาแก่ใจที่อาจารย์กล่าวหา...

กิเลสแหลมคม และครองหัวใจสัตว์โลกมาแต่ชั่วกาลนานดังนี้เอง เพราะมันดึงให้เราปิดหู ปิดตา เห็นดีตามมัน ประกอบพิธีกรรมประชดตัวเอง

ทำแล้วใครเดือดร้อน ก็ตัวเองนั้นแหละเดือดร้อน

แต่ช่วงเวลาที่ประชดออกไปนั้น แลไม่เห็นว่าตัวเองเปิดโรงงานผลิตทุกข์ขึ้นทับถมตัวเอง เห็นแต่ความรู้สึกอร่อย ความรู้สึกสาแก่ใจ ที่ได้ทำให้เขาเห็นว่า เรานี้ชั่วช้าจริงดังคำปรามาส

ครั้นผลปรากฏขึ้น เราสอบตก เดือดร้อน ผู้ที่ปรามาสไม่ได้รู้เรื่องด้วย มีแต่เรา ซึ่งติดเข้าไปในตาข่าย แล้วหาทางออกไม่ได้

ท่านจึงเปรียบเทียบกรรมที่เราทำให้กับตัวเองด้วยความไม่รอบคอบ ไม่ไตร่ตรองว่าเหมือนมีกำแพงแก้วใสขวางอยู่ เราซึ่งมีอวิชชาอุปทานบังตา เหมือนคนตาสั้น ตาบอด ท่านผู้รู้เตือนว่า... ระวังนะ เดินไปดีๆ ข้างหน้ามีกำแพงแก้วขวางอยู่ เดี๋ยวสุ่มสี่สุ่มห้า ไปชนหัวแตกเข้า...

เราไม่เห็น และเมื่อไม่เห็นแล้ว แทนที่จะน้อมใจให้นึกว่า ถึงยังแลไม่เห็น ก็ต้องเพิ่มความระมัดระวัง เพราะจิ้งจกทักเรายังต้องฟัง นี่คนทักทั้งที เหตุใดจึงไม่ฟัง กลับนึกรำคาญ ...เฮ้อ...เรื่องอะไรกัน ก็ใสๆ ไม่เห็นมีอะไรสักหน่อย ยุ่งไม่เข้าเรื่อง...ว่าแล้วก็วิ่งเปรี้ยงเข้าไปชนกำแพงเต็มรัก

ใครเล่าที่เดือดร้อน คนเตือนเขาไม่ได้เดือนร้อนด้วยเลย ถ้าเราชนไม่ถึงตรีทูต เราก็คงแค่ฟกช้ำดำเขียว แต่ถ้าหัวไปกระแทกกะโหลกแตก ก็ตายไป ถ้าไม่ถึงตาย ตกเลือดในสมอง กลายเป็นอัมพาต ต้องทุลักทุกเล หายก็ไม่หาย ช่วยตัวเองก็ไม่ได้ ใครเดือดร้อน ก็เราเองนั่นแหละที่เดือดร้อน

เวลาทำสิ่งใด พระพุทธองค์ตรัสว่า เราเองเป็นผู้รับผลแห่งการกระทำของเรา ถ้าพยายามระลึก พยายามมองกฎแห่งกรรมให้กระจ่างในใจว่า ใจของเราเปรียบเสมือนเนื้อนา การกระทำ คำพูด ความคิด ทุกอันๆ ของเรานั้นเหมือนเมล็ดที่หว่านลงไปเรื่อยๆ

เราหว่านต้นหนาม เมื่อเดินไป เราก็ต้องเหยียบหนาม เพราะมันย่อมงอกอยู่ในนาของเรา

เราหว่านผลไม้ เราก็อิ่ม เมื่อกินไม่หมด เอาไปแจกผู้อื่น เราก็ได้บุญ ได้กุศล

อะไรก็ตามที่เราหว่านลงไป โปรดอย่านึกว่า ผู้อื่นไม่เห็น ผู้อื่นไม่รู้ ใครจะเห็นจะรู้ไม่สำคัญเท่าตัวเราเห็น ตัวเรารู้ เช่นเรารู้สึกว่าคนนั้นเป็นคนไม่ดี เขาทำให้เราเจ็บช้ำน้ำใจ เราคอยหาโอกาสเพื่อแก้เผ็ดเขาให้สะใจ

พระพุทธองค์เคยถูกพราหมณ์ผู้หนึ่งด่าทอท่าน เพราะเพื่อนพราหมณ์ด้วยกันพากันหันมาเลื่อมใสพระพุทธองค์ ละทิ้งธรรมเนียมพราหมณ์ มาบวชเป็นพุทธสาวกพราหมณ์ผู้นั้นเจ็บแค้นใจ จึงตามมาด่าพระพุทธองค์ ท่านก็นั่งฟังเฉย พราหมณ์ผู้นี้ได้ใจ จึงว่า...โธ่ สมณโคดมที่ใครๆ ร่ำลือว่าเก่งกาจนักหนา แท้ที่จริง พอโดนด่าแค่นี้ ก็กลัวเราจนตกประหม่า ตัวสั่น พูดไม่ออกแล้ว เราไม่เห็นเลยว่า สมณโคดมจะวิเศษสมคำเล่าลือตรงไหนเลย

พระพุทธองค์ปล่อยให้พราหมณ์ด่าไปจนเหนื่อยอ่อนแล้ว จึงเอ่ยว่า ...พราหมณ์ขอเราถามท่านสักคำหนึ่งเถอะ ถ้ามีคนไปถึงเรือนของท่าน ท่านเตรียมน้ำเตรียมข้าวไปต้อนรับ หากแขกไม่กินของที่ท่านนำไปต้อนรับ ของนั้นจะตกแก่ผู้ใด

พราหมณ์ตอบว่า ตกเป็นของเจ้าของเองสิ

พระพุทธองค์ก็ว่า ...นี่ก็เช่นกัน เหมือนเราเป็นแขกไปที่เรือนท่าน คำด่าของท่านเปรียบเหมือนน้ำและข้าวที่ท่านเอามาเลี้ยงเรา เมื่อเราไม่รับ มันย่อมตกเป็นของท่านเอง...

ใครฟังแล้ว ย่อมเห็นได้เองว่า พราหมณ์เป็นคนไม่ดีอย่างไรบ้าง อยู่ดีๆ มาถึงก็มาด่าเอา ด่าเอา พราหมณ์ฟังแล้ว ตรองตาม ก็เห็นจริง เราทำชั่ว เราก็เดือดร้อนไม่มีใครเดือดร้อน พระพุทธองค์ท่านก็ไม่ได้ชอกช้ำไปตามคำของเรา ผู้อื่นที่มองเห็นเขารู้ว่าอะไรเป็นอะไร ทองคำก็ต้องเป็นทองคำ ถึงเอาขี้โคลนไปสาด พอขัดขี้โคลนออกแล้วมันก็ผ่องเป็นทองคำดังเดิม

พราหมณ์เลยละทิฐิ กราบขอขมากรรมต่อพระพุทธองค์ และขอถวายตัวเป็นสาวก

ถ้าเราเห็นเช่นพราหมณ์ว่า เราเองเป็นผู้รับมรดกแห่งการกระทำของเรา ที่เราจะหนักนิด เบาหน่อย ยอมกันไม่ได้ ยังคาในใจอยู่นั้น มันจะยอมได้ และถ้ายอมแล้วยังไม่สนิทใจ ก็นึกต่อไปว่า ถึงเราจะมีอายุถึง ๙๐ ปี หรือ ๑๐๐ ปี ในที่สุด วันหนึ่งเราก็ตาย เขาก็ตาย ต่างคนต่างหนีความตายไม่พ้น ที่เรามัวรังคัดรังแคเกี่ยงงอนกัน จะเป็นผู้ชนะนั้น เมื่อถึงที่สุดคือความตาย เราก็หอบไปไม่ได้ แต่เราย่อมได้บาป ได้อกุศล ได้ความเศร้าหมองย้อมติดอยู่กับใจของเราไปด้วย จากการที่เราหงุดหงิด พยายามแก้แค้นเอาชนะเขาทุกวิถีทาง โดยไม่คำนึงถึงศีลธรรม ถึงความถูกความควร

ท่านจึงตรัสว่า สมบัติทางโลก เป็นสิ่งที่ยังแปรปรวน ยังเสื่อมสลาย เราก็เห็นกันอยู่แล้ว ทุกอย่างทั้งหมดในโลกนี้แม้แต่ร่างกายของเราเอง ก็ไม่ใช่เรา มันเป็นธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่เป็นของเรา แต่จะเสื่อม จะสลายไปสู่ธาตุเดิมของมัน

แต่ใจที่เป็นธาตุรู้ เป็นพลังอันนี้ มันเป็นอริยทรัพย์ เมื่อเราทำบุญ ทำกุศลเราเอาเงินฝากธนาคารสะสมเอาไว้ เป็นอริยทรัพย์ สะสมอยู่ในธนาคารใจของเราและไม่ว่าเราจะเวียนว่ายตายเกิด จะท่องเที่ยวไปแค่ไหน อริยทรัพย์นี้จะติดจิตของเราไปค้ำจุนให้เราได้รับความสุข ความสบายเหมือนเป็นเสบียงกรัง

ถ้าใจเห็นตามที่กล่าวมานี้ ย่อมเกิดความมั่นใจ ความแน่ใจในการปฏิบัติ และไม่ไปพะวงว่า เมื่อปฏิบัติแล้ว จิตจะนิ่ง ลงรวมเป็นสมาธิหรือไม่

 เมื่อจิตคอยตามพิจาณาอารมณ์ของใจสม่ำเสมออยู่เช่นนี้ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ก็ค่อยมีกำลังขึ้นโดยลำดับ เมื่อมีเหตุการณ์อะไรมากระทบใจ สติ เหตุผล จะเข้ามารักษาใจไดทันท่วงที ทำให้ใจไม่กระด้าง กระเพื่อมวู่วามไปตามอารมณ์ ใจก็มีความสงบเป็นพื้นฐานหล่อเลี้ยง ทำให้ง่าย ต่อการนิ่งลงรวมเป็นสมาธิ

เมื่อใดก็ตาม เราให้อภัยคนที่เหยียบย่ำเรา อภัยทานนั้นก็เป็นอริยทรัพย์ ไปสะสมอยู่ในธนาคารใจของเรา เมื่อใดที่เราสามารถแบ่งปันความสุขส่วนตนไปช่วยคนที่ขาดแคลนทุกข์ยาก โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน อันนั้นก็เป็นอริยทรัพย์ เมื่อใดที่เราโมทนาในความสำเร็จ ใจของเราก็เปิดกว้าง ตัวตนก็เบาบางไปตามลำดับ

การภาวนาเป็นอย่างนี้เอง

ผลของการภาวนาคือ การที่เราสามารถอยู่ในโลก ในสิ่งแวดล้อมอันเดิมได้ด้วยใจที่สงบ ใจที่สบาย ใจที่ผาสุก สิ่งภายนอก ไม่สามารถมีอิทธพลมากระฉอกใจของเราให้ตะกอนฟุ้งได้ หรือหากแรงปะทะเกินกำลังของสมาธิจนใจกระฉอก ตะกอนฟุ้งขึ้นมาได้ สติและปัญญาก็สามารถติดตามตะล่อมช้อนตะกอนเหล่านั้นออกทิ้งไปทิ้งไป กลั่นกรองจนน้ำค่อยใส กลายเป็นน้ำที่เหมาะแก่การนำไปใช้ซักฟอก ใช้ดื่ม ใช้บริโภคโดยลำดับ

ใจของเราก็กลายมาเป็นบ่อน้ำที่ใส สะอาด เย็น ใครผ่านไปผ่านมาก็ได้รับความชุ่มชื่น ไม่เป็นน้ำที่เหม็นเน่า ใครผ่านไปผ่านมา ต้องรีบหลีกหนีไปให้ไกลที่สุด หากเผลอนำไปดื่ม ไปบริโภค ก็ปวดท้อง ท้องร่วงจนต้องรีบนำไปให้น้ำเกลือ

นี้คือจุดประสงค์ของการทำภาวนา

 เพื่อให้ใจของเราเป็นความร่มเย็น ผาสุกทั้งกับตัวเองและใครก็ตามที่มาใกล้ มาเกี่ยวข้องด้วย

* การภาวนาที่แท้จริง.jpg (19.13 KB - ดาวน์โหลด 407 ครั้ง.)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 29, 2011, 09:48:32 AM โดย admin » บันทึกการเข้า
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  ตอบ  |  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

+ ตอบด่วน
 


96 ธรรมคือแรงใจ | ปิ๊งแว๊บ ! ปััญญาแจ่มบรรเจิด | อ่านธรรม | มูลนิธิเมตตาอาทร | เสบียงบุญ | วิถีอนุตตรธรรม |

โปรดอ่านกฎกติกาก่อนแสดงความคิดเห็น

1. โปรดงดเว้น การใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
2. ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นเวบบอร์ดโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไปและสมาชิก
ซึ่งทีมงาน 96rangjai มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้
3. หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป
4. ทีมงาน 96rangjai ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ต่อเจ้าของความคิดเห็นนั้น