96เสวนาธรรมบำเพ็ญ

แหล่งความรู้ประดับปัญญา => ธรรมบท => ข้อความที่เริ่มโดย: Uzumaki Naruto ที่ กันยายน 03, 2011, 03:30:33 PM



หัวข้อ: คนมีธรรมะ
เริ่มหัวข้อโดย: Uzumaki Naruto ที่ กันยายน 03, 2011, 03:30:33 PM
(http://www.baanjomyut.com/library/2552/normal.jpg)

ความหมายของธรรมะที่ถูกตรงถูกต้องตามครรลองพระสัจธรรมของพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า หมายถึงเครื่องชำระล้าง ฟอก ขัดเกลาจิตวิญญาณ

      เพราะฉะนั้น คนมีธรรมะก็เหมือนมีเครื่องฟอก เครื่องชำระล้าง เครื่องดูดฝุ่นในตัว ฝุ่นมันเกิดขึ้นตรงไหนก็ดูดมันออก ตรงไหนเป็นขยะก็เก็บมันทิ้ง ตรงไหนมีคราบแสงสีเสียงกลิ่นก็ชำระมันออก นั่นคือคนมีธรรมะ

      คนมีธรรมะไม่ใช่ยายแก่แร้งทึ้ง
      คนมีธรรมะไม่ใช่ตาเฒ่าหัวหงอก
      คนมีธรรมะไม่ใช่คนที่ทำตัวเป็นคนล้าหลังในสังคม
      คนมีธรรมะไม่ใช่คนที่ล่าช้าเฉื่อยชาเหยาะแหยะรวนเรหรือเหลวไหลในสังคม
      และคนมีธรรมะไม่ใช่เป็นคนที่เคร่งเครียดแล้วกลายเป็นคนที่น่าเกลียดในสังคม
      แต่ความหมายของคนมีธรรมะจะเป็นคนที่ใหม่และทันสมัยเสมอต่อทุกสภาวะทุกสถานะและทุกถิ่นทุกที่และทุกเรื่องที่ทำ
      คนที่มีธรรมะมีศักยภาพและสมรรถนะ และวิถีคิด วิถีงาน วิถีจิต วิถีชีวิตที่เป็นวิถีพุทธ คือรู้ ตื่น และเบิกบาน ตามกระบวนการของการดำรงชีวิต
      ผู้มีธรรมะย่อมชาญฉลาดทุกสถาน
      ผู้มีธรรมะย่อมมีชัยชนะทุกถิ่นทุกที่ทุกทางที่ตนอยู่อาศัย
      ผู้มีธรรมะย่อมมีสันติ สงบสุข ร่มเย็น ในขณะที่คนอื่นทุกข์ร้อน เศร้าหมอง ขุ่นมัว
      ผู้มีธรรมะจะรู้จักปล่อยวาง สลัดหลุด และไม่ ปล่อยให้อะไรมาฉุดรั้ง
      ผู้มีธรรมะย่อมมีพระอยู่ในใจ
      ผู้มีธรรมะย่อมต้องรู้จักพอ หรือถ้าต้องการก็รู้จักหยุด
      ธรรมะจึงเป็นสัญลักษณ์ของคนที่ฉลาด สะอาด สว่าง และสงบ

      ธรรมะจะดัดกายวาจาใจของเราให้กลายเป็น บุคคลที่ซื่อตรงต่อตนเอง ซื่อตรงต่อคนอื่น ซื่อ ตรงต่อสังคมส่วนรวม ความซื่อตรงนี่แหละคือคุณลักษณะของคนมีธรรมะ และความซื่อตรงมันเกิดขึ้นได้จากการที่ต้องเรียนรู้ธรรมะ

      มักจะมีคำพูดว่าคนมีธรรมะทำอะไรก็ช้าไปหมด พูดก็ช้า ทำก็ช้า คิดก็ช้า

      ก็ลองคิดกันดูว่าพระพุทธเจ้าถ้าสอนให้เป็น คนเชื่องช้า พระองค์ก็คงไม่ใช่ศาสดาเอกของโลก เป็นแน่ เพราะคนที่ช้าย่อมตกเป็นทาสของคนที่ ว่องไวและรวดเร็ว คนที่อ่อนแอย่อมตกเป็นทาส ของคนที่เข้มแข็ง คนที่โง่เขลาย่อมตกเป็นทาสของ คนชาญฉลาดและรู้มาก

      เพราะฉะนั้นธรรมะอยู่กับใคร คนนั้นจะไม่เป็นคนที่อ่อนแอ จะไม่เป็นคนที่ล่าช้า จะไม่เป็น คนที่เหลวไหล และจะไม่เป็นคนที่โง่เขลา แต่จะทำให้ผู้นั้นมีความตระหนักสำนึก รู้จักความถูกต้อง และไม่บกพร่องในหน้าที่