96เสวนาธรรมบำเพ็ญ

ธรรมะเป็นยาวิเศษ => ธรรมบรรยายโดย ดร.อมรา มลิลา => ข้อความที่เริ่มโดย: admin ที่ กรกฎาคม 30, 2011, 12:40:31 PM



หัวข้อ: ความรัก
เริ่มหัวข้อโดย: admin ที่ กรกฎาคม 30, 2011, 12:40:31 PM


ความรัก
บรรยายให้ความรู้แก่นักเรียนมัธยมปลาย โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากร
ณ ห้องประชุม อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากร
อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2544


ธรรมบรรยายโดย : พญ.อมรา มลิลา


 :lS2: ตัวแทนนักเรียนกล่าวแนะนำเริ่มต้นว่า

สุนทรภู่ ได้กล่าวถึงความรักในบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ไว้ตอนหนึ่งว่า

“เขามักเปรียบเทียบความว่า

ยามรัก น้ำต้มผักรสขมชมว่าหวาน

ครั้นจืดจางห่างเหินไปเนิ่นนาน

แต่น้ำตาลก็ว่าเปรี้ยวไม่เหลียวแล”

มนุษย์กับความรักเป็นสิ่งที่คู่กัน แต่อาจมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับผลกระทบ หรือมีอิทธิพลเหนืออีกฝ่ายหนึ่งได้ ความรักอาจสร้างสรรค์จรรโลงให้คนเรามีความสุข ความมีชีวิตชีวา แต่บางคราว ความรักอาจทำให้คนเราต้องขมขื่น ทุกข์ทน จนอาจถึงขั้นคิดสั้นทำลายชีวิตตนและคนรักได้ ดังปรากฏเป็นข่าวสะเทือนขวัญบ่อย ๆ

ท่านทั้งหลายเคยคิดบ้างไหมว่า เพราะเหตุไรความรักจึงมีอิทธิพลต่อชีวิตคนมากถึงเพียงนี้ และทำไม ความรักของคนที่เคยมีแต่ความหวานชื่นทุกคืนวันนั้น กลับเป็นตรงกันข้ามไปได้ เราน่าจะต้องมาทำความเข้าใจกับความรักกันเสียบ้าง เพื่อให้ความรักกลายเป็นสิ่งสร้างสรรค์เพียงอย่างเดียว ทุกท่านคงเห็นด้วยกับกระผม ใช่ไหมครับ

วันนี้ เราได้เรียนเชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิเพียบพร้อมด้วยความรักและคุณธรรม มีความสามารถสูงท่านหนึ่งของเมืองไทยเรา ท่านจะมาให้ความรู้แก่เราในแง่มุมต่าง ๆ ของความรัก ท่านวิทยากรผู้นั้นก็คือ แพทย์หญิงอมรา มลิลา

ขอกราบเรียนเชิญท่านวิทยากรครับ


แพทย์หญิงอมรา มลิลา

ที่ว่า ยามรักน้ำต้มผักรสขมก็ว่าหวาน ยามห่างเหินน้ำตาลก็ว่าเปรี้ยวนั้น เราจะปรับเปลี่ยนแก้ไขใจของเราอย่างไร เพื่อให้ชีวิตมีความราบรื่นไปตามธรรมชาติ ก่อนอื่นให้เรามานิยาม ความรักกันก่อนว่าความรักหมายความอย่างไร

ความรักคือการที่คนเรามีใจเอื้ออาทรต่อกัน ทำให้อะไรที่รู้สึกขาดตกบกพร่อง ไม่มั่นใจ ไม่แน่ใจ ได้รับการเติมให้เต็ม

แต่บางครั้งความรักก็ทำให้อึดอัด เหมือนถูกบีบบังคับ เป็นเพราะว่าผู้ให้และผู้รับไม่เข้าใจกัน คนที่เราเห็น ๆ กันว่า มี 2 แขน 2 ขา เหมือนสัตว์บางชนิด มี 2 ปีก 2 ขา แต่ 2 ปีก 2 ขา บางตัวก็เป็นนก 2 ปีก 2 ขา บางตัวก็เป็นไก่ บางตัวก็เป็นเป็ด ทีนี้เราเห็น 2 ปีก 2 ขา ที่เราเป็นไก่ ส่วนเพื่อนเราเป็นเป็ด พอเราบอก ไป… ไปหาอะไรกินกัน เพื่อนเราที่เป็นเป็ดก็ลงน้ำไปไซ้ตามขี้เลน แต่เราเป็นไก่จะไปลงน้ำได้อย่างไร เราก็ไปคุ้ยเขี่ยใช้ปากแหลม ๆ คุ้ยดินหาหนอนหาแมลง มันก็เกิดปัญหา ไม่เข้าใจกัน เราจึงบ่นกันว่า รักมาก ๆ แล้วอึดอัดบีบคั้น ทำให้ย่ำแย่ ก็เพราะความไม่เข้าใจซึ่งกันและกันนั่นเอง

ดังนั้น เรื่องที่จะคุยกันในวันนี้ จึงเริ่มด้วยเรื่องของเรากับพ่อแม่ก่อนก็แล้วกัน

ความรัก ความห่วงหวงลูกของพ่อแม่นั้น ไม่ได้คลี่คลายไปตามกาลเวลา เมื่อเราเริ่มโตขึ้น เริ่มรู้สึกว่า เราไปไหนมาไหนดูแลตัวเองได้ พอเลิกเรียนพ่อแม่ก็ยังหวังว่า เราควรจะกลับถึงบ้านเลย อย่างที่นี่เลิกสี่โมงครึ่ง พ่อแม่ก็ว่าสี่โมงสี่สิบเราต้องถึงบ้านแล้ว บางครั้งเรามีกิจกรรมต้องทำกับเพื่อน หรือมีเรื่องอะไรทำเล็ก ๆ น้อย ๆ เรากลับผิดเวลา พ่อแม่ก็ซักไซ้ว่าทำไมกลับบ้านช้า จะออกจากบ้านตอนเช้า พ่อแม่ก็ถาม วันนี้จะกลับบ้านกี่โมง ใจของคนเราที่ครูเปรียบเทียบว่าเป็นเป็ดบ้างเป็นไก่บ้าง ก็ทำนองนี้

ใจของพ่อแม่ที่ถาม เพราะว่าถ้าลูกบอกจะกลับห้าโมง จะได้ไม่ต้องห่วงจนกระทั่ง 5 โมง ลูกจะไปไหนหรือเปล่า ไม่ไปหรอกค่ะ ออกจากโรงเรียนก็กลับบ้านเลย ถ้า 5 โมงครึ่งแล้วลูกยังไม่กลับพ่อแม่จะได้รู้ว่าลูกอยู่ที่สาธิต ออกจากสาธิตก็มาบ้านเลย ถ้ามีอุบัติเหตุหรือมีอะไรเกิดขึ้น ก็พอรู้เบาะแส

ฝ่ายลูกไม่คิดอย่างนั้น ลูกคิดว่า เราโตจนแค่นี้แล้ว ยังจะมาควบคุมบีบบังคับแบบเด็กเล็ก ๆ อีกอะไรจะปานนั้น เห็นไหมว่า วิธีคิดของเราเบียดเบียนตัวเอง เราแปลเจตนาดี ๆ ของคนอื่นให้มาเป็นเจตนาไม่ดีกับเรา เลยทำให้อึดอัดคับข้อง

ถ้าใจของเราเริ่มคิดว่า คนที่รักเราดูแลเราเข้มงวดเกินไป เราก็หาเหตุผลหรือถามไถ่ว่า ทำอย่างนี้เพราะอะไร เราจะได้เข้าใจวิธีคิดของกันและกัน คนเรามีความเข้าใจเสียอย่างแล้ว จะไม่รู้สึกอึดอัดคับข้อง พ่อแม่รักลูก หรือครูบาอาจารย์รักลูกศิษย์ ก็อยากให้ลูก ให้ลูกศิษย์ของตัวดี ดีแล้วก็อยากให้ดียิ่งขึ้น ฉะนั้น ก็แลดูเหมือนเข้มงวด เหมือนกับว่าเราทำดีเท่าไหร่ก็ยังดีไม่พอสักที น่าจะชมก็ไม่ชมสักที

ครูเอง เมื่อเด็ก ๆ ครูก็เป็นประเภทโคนันทวิศาล โคนันทวิศาลนี่เป็นเรื่องในนิทานอีสป สมัยนั้นสัตว์พูดได้ โคนันทวิศาลเป็นวัวมีเจ้าของ แล้วเจ้าของต้องพูดดี ๆ ด้วย เขาจึงจะทำงานให้ ปรากฏว่า วันหนึ่งเจ้าของไปพนันกับเพื่อนว่า โคนันทวิศาลสามารถลากเกวียนที่ผูกต่อกันร้อยเล่มได้

ลองคิดดู โคนันทวิศาลเพียงตัวเดียวเอาเกวียนมาต่อกัน ๆ ถึงร้อยเล่ม แล้วให้โคนันทวิศาลลากขบวนเกวียนไป ลากไป จนเกวียนเล่มที่ร้อยเลื่อนมาอยู่แทนที่ตำแหน่งของเกวียนเล่มแรกที่เป็นหัวขบวน ถ้าโคนันทวิศาลทำสำเร็จ เจ้าของก็จะชนะพนัน

พอถึงวันกำหนดนัด เจ้าของพูดไม่เพราะ ออกคำสั่งกับโคนันทวิศาลว่า “ไอ้วัวดื้อ ไอ้วัวขี้เกียจ รีบทำงานลากเกวียนเข้า” โคนันทวิศาลน้อยใจว่า นายทำไมพูดกับเราไม่ดีต่อหน้าคนอื่น ก็ยืนเฉยเสีย ไม่ลากเกวียน เจ้าของของเลยแพ้พนัน ถูกยึดเงินเดิมพัน มีความเสียใจมาก

โคนันทวิศาลเห็นแล้วก็เกิดความสงสาร จึงบอกเจ้าของว่า “นาย ๆ ไปท้าพนันใหม่ เอาเดิมพันสองเท่า คราวนี้ผมจะลากเกวียนให้ 200 เล่ม” คราวแรก 100 เล่ม โคนันทวิศาลยืนเฉยเสีย ทำให้แพ้พนันย่ำแย่ไปแล้ว คราวนี้มาบอกนายให้ไปท้าพนันใหม่ โดยให้ต่อเกวียนเพิ่มเป็น 200 เล่ม แล้วจะลากให้

นายก็ตัดพ้อว่า “100 เล่ม เจ้ายังไม่ลาก คราวนี้จะให้ไปท้าเขา 200 เล่มหรือ” โคนันทวิศาลประท้วงว่า นายอยากพูดไม่เพราะทำไมล่ะ คราวนี้นายพูดเพราะ ๆ “ลูกเอ๊ย ลูกช่วยลากเกวียนให้พ่อหน่อย” นายก็ซักซ้อมว่า “แน่นะ ไม่ทำให้เสียเงินทองเพราะแพ้พนันอีกนะ” โคนันทวิศาลสัญญาว่า “ถ้านายพูดดี ๆ ผมก็จะลากเกวียน 200 เล่มให้สำเร็จ”

นายก็ไปท้าพนันในวงเงินสูงเป็นสองเท่าของเดิม พอถึงเวลา นายก็พูดกับวัวว่า “ลูกเอ๊ย ลูกช่วยลากเกวียนให้พ่อหน่อยนะ ลูกคนดี๊คนดี” โคนันทวิศาลก็กระวีกระวาดลากขบวนเกียนไป จนกระทั่งเกวียนเล่มที่ 200 เลื่อนมาจอดแทนที่เกวียนเล่มแรก นายก็ชนะพนัน

นี่แหละ คนเราก็เหมือนโคนันทวิศาล ชอบให้พูดดี ๆ แล้วจะมีเรี่ยวแรงทำอะไรได้

แต่ผู้ใหญ่ไทยเราท่านมีความคิดว่า ถ้าลูกดีแล้วให้เฉยเสีย ถ้าลูกผิดต้องดุ ถ้าเราชมลูกเดี๋ยวลูกได้ใจ ต่อไปก็เลยทำไม่ดี พวกเราก็ประเภทโคนันทวิศาล ทำดีแทบตายชมนิดหนึ่งก็ไม่ได้ เราก็เลยชักจะเกเร ถ้าเราคิดเสียใหม่ว่า จริง ๆ แล้วเรารู้ว่าที่เราทำไปนั้นดี เราทำทำไม เราทำเพื่อตัวเราได้ดี เราขยันเรียนหนังสือ เราก็มีวิชาความรู้ติดตัวเรา ต่อไปเราจะไปทำงานอะไร เราก็ทำได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เราตั้งใจทำดี ผลดีก็ได้กับตัวเรา ทำไมเราจะต้องเอาใจของเราไปแขวนไว้กับลมปากของคนอื่น เขาไม่ชมเรา เราชมตัวเราเองก็ได้ ถ้าคิดอย่างนี้ ใจของเรามีกำลังขึ้นเข้มแข็งขึ้น แล้วใจเช่นนี้จะสามารถให้ความรักกับตัวเองได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

ให้กับตัวเองได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยอย่างไร แต่ก่อนนี้เราว่าเรารักตัวเองก็จริง แต่เรารักไม่เป็น เราเอาใจเราไปแขวนไว้กับลมปากคนที่เราคิดว่าเรารักเขา เป็นต้นว่า เรารักเพื่อน เราก็คิดว่าเพื่อนจะต้องชมเรา จะต้องให้กำลังใจเรา หรือว่าจะต้องเห็นเราดีกว่าคนอื่น พอเขาไม่เห็นเราเป็นอย่างนั้น เราก็น้อยใจ

พ่อแม่ก็เหมือนกัน ถ้าพ่อแม่ไม่ชมเรา เราก็น้อยใจ ใจอันนี้นะ เมื่อเป็นอารมณ์ขึ้นมาแล้ว มันกัดกร่อนตัวเอง ทำให้เราแปลอะไรผิด ๆ บิด ๆ เบี้ยว ๆ อย่างที่ครูบอกเมื่อกี้ พ่อแม่ถามเพราะห่วงว่าจะกลับบ้านเมื่อไหร่ เผื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น หรือมีอะไร จะได้ติดตามให้ความช่วยเหลือเราได้ทันท่วงที เราก็ไปคิดว่า พ่อแม่เห็นเราเป็นเด็กทารกอยู่เรื่อย เห็นไหมว่าเราแปลผิดไป แล้วก็เชื่อหมดหัวใจ เกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ เลยประท้วงด้วยการ โรงเรียนเลิกแล้วเคยกลับบ้านทันที ก็เถลไถลเสีย

สมัยที่ครูเพิ่งจบออกมาทำงาน มีนักศึกษาแพทย์คนหนึ่ง อยู่ปีสุดท้ายแล้ว มาฝึกงานที่โรงพยาบาลที่ครูทำงานอยู่ นักศึกษาคนนี้ไม่รู้ว่าเขาไม่ใช่ลูกของพ่อแม่ที่เอาเขามาเลี้ยง แต่เป็นลูกของพ่อแม่ที่มีลูกอยู่ 10 คน ไม่สามารถเลี้ยงลูกที่เพิ่มมากอีกได้ พอคลอดเสร็จก็ยกให้พ่อแม่บุญธรรมซึ่งไม่มีลูก อยากได้ลูกมาก เมื่อได้เด็กคนนี้มา ก็จดสูติบัตรเป็นลูกแท้ ๆ ของตน และห้ามใครที่รู้เรื่องพูดให้เด็กรู้เป็นอันขาด คือให้ทุกคนบอกเด็กคนนี้ว่า ผู้เป็นแม่คลอดเขาออกมาเอง

ฝ่ายแม่จริง ๆ ก็ยังคอยติดตามดูลูกอยู่เรื่อย เมื่อลูกเติบโตได้เรียนเป็นนักศึกษาแพทย์ ก็มาหาเด็กแล้วบอกว่าตัวเองเป็นแม่ มีหลักฐานหลาย ๆ อย่างมาอ้าง ทำให้เด็กตกใจมาก เพราะตลอดเวลาไม่เคยรู้เลยว่าตัวไม่ใช่ลูกจริง ๆ ก็ไปถามพ่อแม่ที่อยู่ด้วยว่า ตัวเขาไม่ใช่ลูกจริง ๆ หรือ พ่อแม่ก็ไม่ได้เฉลียวใจว่า พ่อแม่แท้ ๆ จะมาทำอย่างนี้ เพราะตอนที่ยกลูกให้มาเลี้ยง ก็สัญญากันแล้วว่าจะไม่มาติดต่อ ไม่มากวนลูกเลย แล้วตัวเองก็ปากหนัก ไม่ได้ถามลูกว่า เรื่องอะไรจึงมาถามไถ่อย่างนี้ ก็ยืนกรานท่าเดียวว่า แน่นอน เป็นลูกสิ เพราะแม่คลอดออกมาเอง ลูกรู้สึกคลางแคลงที่พ่อแม่ไม่ซักถามถึงสาเหตุ ตัดบทยืนกรานท่าเดียว เหมือนไม่พูดความจริงต่อกัน ก็เสียใจ แทนที่จะเล่าให้รู้เรื่องว่า มีคนมาอ้างว่าเป็นแม่ พาพี่น้องที่ลำบากยากจนมาหาที่โรงเรียน ก็ไม่ได้เล่า แต่คิดเตลิดด้วยอารมณ์ไปว่า ถ้าพ่อแม่รักเราจริงก็ต้องอภัยให้เราทุกอย่าง ไม่ว่าเราจะดื้ออย่างไร เราจะทำอะไรไม่ดีแค่ไหน ก็ต้องอภัย เด็กที่เรียนดี เชื่อฟังพ่อแม่ อยู่ในโอวาท พูดอะไรก็มีเหตุมีผล ทีนี้ก็เริ่มปฏิวัติ แม่บอกให้ทำอย่างนี้ก็ไม่ทำ ถึงเวลาควรกลับบ้านก็เถลไถลไปกับเพื่อน เริ่มประพฤติไม่ดีเพื่อจะทดสอบพ่อแม่ โดยคิดไปว่า ถ้าพ่อแม่รักเราจริง ต้องอภัยให้เราทุกอย่าง

เมื่อเด็กเริ่มมีพฤติกรรมอย่างนี้ ญาติผู้ใหญ่หลายคนที่รู้ว่าเด็กไม่ใช่ลูก ก็มาเตือนพ่อแม่ว่า “เห็นไหม เมื่อเอาลูกเขามาเลี้ยง เอาเมี่ยงเขามาอม มันก็ไม่แน่นอน เพราะฉะนั้น ต้องทำใจว่า เมื่อเด็กไม่ดี เราก็ต้องดูตามเนื้อผ้า ที่จะเลี้ยงเขาเป็นลูกจริง ๆ มอบทรัพย์สินมรดกให้ทั้งหมดนั้น มันก็ไม่แน่แล้ว เพราะเขาอาจจะเอาไปใช้เสียหายได้” ทางพ่อแม่เมื่อได้ฟัง ใจที่เคยรักอย่างทุ่มเท ก็เริ่มลังเล เอ…นี่เราจะเป็นอย่างที่เขาว่าหรือเปล่านะ เรียกลูกมาเตือนแล้วลูกยังทำหูทวนลม ก็เริ่มคล้อยตาม ถ้าเป็นอย่างนี้ เราจะไว้เนื้อเชื่อใจเขาได้หรือ

ทั้งสองฝ่ายก็เริ่มระแวงซึ่งกันและกัน แล้วก็เลยในที่สุด ถึงเวลาสอบไล่ปีสุดท้ายเพื่อจะจบเป็นหมอ ก็สอบไม่ได้ เด็กก็เกิดอาการทางประสาท จะพักเรียน พ่อแม่ก็ว่า มันอนาคตของลูกเอง ถ้าลูกไม่ปรับตัวแก้ไขทำให้ดี ไม่มีวิชาความรู้ แล้วพ่อแม่เป็นอะไรไป ทรัพย์สินที่มีอยู่ก็หมดได้ เกิดไฟไหม้หรือโจรมาปล้นไป ลูกก็จะพึ่งพาตัวเองไม่ได้ ลูกก็คิดไปว่า น่ากลัวพ่อแม่จะไม่ให้มรดกเรา เลยไปกันใหญ่ จนอาจารย์ที่ดูแลแนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์ แล้วเรียกเด็กมาพบเป็นระยะ ๆ

ช่วงนั้นเองที่เขามาฝึกงานที่โรงพยาบาลที่ครูทำงานอยู่ เขาถูกใจกับครู ก็คุยกันมีความสนิทสนมจนเขาเล่าเรื่องชีวิตของเขาให้ฟัง พร้อมทั้งความรู้สึกหวั่นไหวว่า พ่อแม่ไม่รัก ไม่อภัยให้เขา ครูก็อธิบายให้เขาฟังว่า “ถ้าเขาเป็นพ่อแม่ ถึงจะรักอย่างไรก็ตาม รักต้องมีระเบียบวินัยด้วย มีกฎเกณฑ์ด้วย ไม่ใช่รักแบบที่สมัยนี้ พ่อแม่จ๋าอย่าฆ่าฉันเสีย การรักแบบตามใจโดยไม่มีขอบเขต ก็คือความรักที่ฆ่าลูก เพราะว่าลูกทำอะไรผิด แทนที่จะเตือนจะดุ กลับสนับสนุนว่าดีลูก ลูกก็จะติดเป็นนิสัย ไม่รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด ต่อไปจะอยู่กับใครก็อยู่ไม่ได้ เพราะทำสิ่งที่ผิดที่พลาดไป เป็นต้นว่า ไปลักขโมยของเขา พ่อแม่ก็บอก ดี ลูก โตขึ้นติดนิสัยไปขโมยเขาเข้า คราวนี้ถูกตำรวจจับได้ให้เข้าคุก กลายเป็นไม่ดีแล้วสิ พ่อแม่ก็มาร้องไห้คร่ำครวญว่า ตายจริง ลูกทำไมทำอย่างนี้ ลูกก็ว่า อ้าว… เมื่อเด็ก ๆ ทำอย่างนี้ แม่ก็ว่าดีทั้งนั้น ตอนนี้จะมาติฉันได้อย่างไร ครูเปรียบเทียบให้ฟังเขาอย่างนี้

เขาก็เริ่มได้คิด ในที่สุดก็กลับตัวกลับใจ ประพฤติตนอยู่ในเหตุผล ตั้งใจเรียนหนังสือ แล้วไปเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้พ่อแม่ฟัง พ่อแม่อธิบายว่า ที่ไม่เล่าความจริงให้ฟัง เพราะไม่ทันคิดว่าพ่อแม่จริง ๆ จะมาหา มาแสดงตัวอย่างนี้ ทางญาติทุกคนก็ห้ามปรามไว้หมดแล้ว จึงไม่คิดว่าลูกจะรู้เรื่องได้

เวลาที่เรารักอะไรหรือจะทำอะไรให้ใคร เริ่มต้นต้อง มีความจริงต่อกัน เช่น เราเอาเด็กมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม เราก็ต้องบอกความจริง หาจังหวะที่จะบอก พอเด็กอายุขวบกว่า ๆ เราก็เริ่มเล่าให้เด็กฟังเรื่อย ๆ ว่า นี่นะ พ่อแม่อยากมีลูกก็มีไม่ได้ เสียใจ ต่อมาก็คิดว่า ถ้าเรามีลูกของเราเอง อาจจะไม่ดีอย่างที่เราไปเลือกมาก็ได้ พ่อแม่ก็ไปเลือก ๆ ในที่สุดก็ชื่นใจ เพราะว่าเด็กที่เลือกมา ได้อย่างที่ใจเราชอบ ถ้าคลอดออกมาเองอาจจะไม่ดีเท่า คือ ให้เด็กเริ่มรู้ว่า ถึงเขาไม่ใช่ลูกก็จริง แต่เรารัก เราภูมิใจในเขามาก โตขึ้นเขาก็ไม่มีปมด้อม ใครพูดอะไร เขาก็มีภูมิคุ้มกันอยู่ในใจ ให้ไม่หวั่นไหวตามไป

เพราะฉะนั้น โปรดจำไว้ เวลาที่เรารักอะไร รักใคร ขอให้มีความจริงต่อกัน ถึงความจริงจะแลดูน่ากลัว เป็นต้นว่าพ่อแม่เราเกิดเป็นโรคร้ายแรง เป็นมะเร็ง เราก็หาวิธีที่จะบอกท่าน ให้มีความจริงต่อกัน อย่าปิดบังกัน ถ้าคิดว่าพ่อแม่จะรับความจริงไม่ได้ทันที เรามีวิธีที่จะพูดอย่างไรให้นุ่มนวลแต่ไม่หลอกกัน อันนี้สำคัญที่สุด เมื่อมีความจริงต่อกันแล้ว เราจะช่วยกัน หรือเราจะดุกัน หรือจะมีระเบียบวินัยอย่างไร ก็จะเป็นเหตุผล อธิบายให้ฟังกันได้ เพราะฉะนั้น ความรัก ไม่ใช่ความหมายว่าจะต้องตามใจกันตลอดกาล ถ้าเธอไม่ตามใจฉัน แปลว่าเธอไม่รักฉัน อย่างนั้นเป็นอารมณ์ ไม่ใช่เหตุผล ไม่ใช่ความถูกต้อง

เรารักแล้ว มีความจริงต่อกันแล้ว มีอะไรติดตามมา มีหน้าที่ เราเป็นลูก เราก็มีหน้าที่ต้องเป็นลูกที่ดี เราต้องปฏิบัติอย่างไร จะต้องเรียนหนังสือ ต้องเชื่อฟังพ่อแม่ ต้องรู้ว่าจะประพฤติตัวอย่างไร ถ้าเข้าใจอย่างนี้ เราก็เริ่มใช้ความรักในทางที่ถูกต้องกับตัวเอง เพื่ออบรมบ่มปั้นให้ตัวเองดี เพราะรักแล้วไม่มีคำว่ายากและทำไม่ได้ แต่ถ้าไม่รัก พออะไรไม่ชอบใจ เราก็เลิก ไม่ทำ ถ้าเรารักพ่อแม่ รักครูอาจารย์ รักตัวของเราเอง เราก็หนักเอาเบาสู้ ไม่มีคำว่ายากและไม่ได้สำหรับสิ่งที่เรารัก ความรักจึงเป็นเหมือนกับแรงที่เคลื่อนเราให้เอาสิ่งที่ดีงามของเราออกมา เพราะถ้าไม่รักแล้ว เขาก็บอกให้ปีนเขา ก็ขี้เกียจ ไม่ปีนหรอก แต่ถ้ารักแล้ว อีกนิดหนึ่งนะ อีกหน่อยนะ แล้วก็อีกสักหน่อยเถอะ เราก็ทำได้สำเร็จ ใจที่มีรักพันผูกกันไว้นี้ สามารถทำให้สิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้นได้จริง

คราวหนึ่ง ครูไปในงานมุทิตาจิต ของหัวหน้าพยาบาลหออภิบาล ห้องไอซียู เพื่อเป็นเกียรติแก่พยาบาลท่านนี้ที่เกษียณอายุ โรงพยาบาลก็เชื้อเชิญคนไข้หนัก ๆ ที่รอดชีวิต และประทับใจในบริการของคุณพยาบาลท่านนี้ ให้มาเล่าถึงความประทับใจของตัวเองให้ผู้คนได้รับทราบ

ปรากฏว่า มีคนไข้คนหนึ่ง ซึ่งครูฟังแล้วประทับใจมาก คนไข้คนนี้เป็นหนุ่มฉกรรจ์ มาอยู่ที่หออภิบาลเพราะประสบอุบัติเหตุ ตำรวจทางหลวงพาเขามา ตอนเข้ามา เขาไม่รู้สึกตัวเลย หมอบอกกับญาติว่า ไม่รับรองว่าจะรอดหรือไม่รอด ระหว่างนั้นเขาไม่รู้ตัวอยู่เป็นอาทิตย์ ในช่วงที่เขาเหมือนไม่รู้ตัว เหมือนลอยอยู่ในปุยเมฆนั้น เขาจะรู้เวลามีมือหนึ่งซึ่งมีกำลังมาก มาแตะที่ตัวเขา แล้วมีเสียงพูดให้กำลังใจ มือที่มาแตะนี้ ทำให้ใจที่กำลังลอยไปไม่รู้หนเหนือหนใต้กลับมารวมตัวกัน เกิดสติรู้ตัวขึ้น แต่สักพักสติก็เลือนลางไปอีก เป็นอย่างนี้อยู่ทุกวัน

คุณพยาบาลท่านนี้ เมื่อมาถึงหออภิบาล ก็จะเยี่ยมคนไข้ทุกคนไปตามรายเตียง แต่ละเตียง แต่ละเตียง คนไหนที่พูดกันรู้เรื่อง ก็จะถามไถ่ให้กำลังใจคนไหนไม่รู้ตัว ท่านจะเอามือไปวางที่หน้าอกบ้าง ที่แขนบ้าง แล้วก็เริ่มแผ่เมตตา เอาพลังใจของท่าน สิ่งที่ท่านกระทำที่เป็นบุญเป็นกุศล มาเป็นพลังให้คนไข้ฟื้นขึ้นมา ตอนบ่ายเลิกงาน ก่อนออกเวรไป ท่านก็จะไปลาคนไข้แบบนี้ คนไข้รายนี้ก็สัมผัสพลังนี้ได้

ต่อมา เขาเริ่มรู้ตัวดีขึ้น เวลากลางวันมักไม่เจ็บไม่ปวด อาการดี แต่พอกลางคืน กลับมีอาการปวดหรืออาการผิดปกติขึ้นมาใหม่ บางทีมีความรู้สึกหาที่สบายไม่มี เจ็บปวดเสียจนกระทั่งอยากเลิกหายใจไปเสียเลย แต่พอจะเลิกหายใจไปจริง ๆ ก็คิดถึงความห่วงหาอาทรของคุณพยาบาล ที่ก่อนจะลงเวรไป เธอจะมาให้กำลังใจ “เป็นอย่างไรบ้างคะ มีอะไรที่ดิฉันจะช่วยคุณได้บ้าง คืนนี้หลับให้สบายนะคะ แล้วพบกันพรุ่งนี้”

ถ้าเราเลิกหายใจ แล้วคุณพยาบาลมาพบเตียงว่างเพราะเราตายไป คุณพยาบาลก็ต้องเสียใจว่าเธอบกพร่องตรงไหนหรือ เพราะฉะนั้น อดทนอีกหน่อยเถอะ หายใจต่อไปก่อน พรุ่งนี้จะได้ลาคุณพยาบาลว่า ระหว่างคุณลงเวรไปแล้ว ถ้าอาการผมหนักหนาสาหัส จนหายใจไม่ไหว หยุดหายใจไป ไม่ใช่ความผิดของคุณหรอก คุณทำดีที่สุดแล้ว แล้วมันก็เป็นอย่างนี้ทุกที ตอนกลางวันอาการของเขาจะปกติดี คุณพยาบาลมาร่ำลาจะลงเวร เขาก็ลืมทุกทีไป เขาเป็นอย่างนี้อยู่ 7-8 วัน แล้วอาการก็ค่อย ๆ ดีขึ้นจนหายเป็นปกติ

เขาสรุปว่า ถึงหมอจะดี ยาจะดี อะไร ๆ จะดีทั้งหมดก็ตาม แต่ที่เขายังมีชีวิตอยู่ได้จนทุกวันนี้ เป็นเพราะคุณพยาบาล ถ้าใจเขาไม่รักและผูกพัน ในน้ำใจที่คุณพยาบาลเอื้อเฟื้อกับคนไข้ทุกคนแล้ว เขาคงไม่รอดวิกฤตตรงนี้มาได้ พอถึงเวลาที่กระวนกระวายจนเหลือทน เขาคงทอดอาลัยคิดหยุด เลิกหายใจเถอะ จะตายก็ให้ตายไป

ใจที่มีความรักความผูกพันต่อกันนั้น มีการให้ ให้ความเสียสละ ความอดทน ทำให้เราพยายามเพื่อสิ่งที่ดี ทั้ง ๆ ที่เราไม่รู้ว่าจะไหวหรือไม่ แต่ก็อดทนอีกนิดเถอะนะ อีกหน่อยเถอะน่า เช่นตัวอย่างเมื่อน้ำท่วมปักษ์ใต้หลายปีมาแล้ว ปรากฏว่า ตอนที่น้ำซัดบ่ามา มียาย แม่ และหลานชาย 2 คน กำลังคุยกันอยู่ น้ำซัดพัดแม่กระเด็นหายไปต่อหน้าต่อตา ยายกับหลานทั้ง 2 คนเกาะพยุงกันตะเกียกตะกายไปขับขอนไม้ได้ ยายโอบหลานทั้งสองให้เกาะขอนลอยตัวอยู่ในน้ำ เผื่อจะมีใครมาช่วย

เวลาผ่านไป จากกลางวันเป็นเย็น เป็นค่ำคืน ยายรู้สึกหนาวจนตะคริวจับ ฉันคงตายแน่ ยายคิด ขณะที่ความรู้สึกดับวูบไป มารู้ตัวอีกครั้งเมื่อถูกหลานคนเล็ก 4 ขวบเขย่า แล้วพูดกรอกหูว่า “ยายหายใจไว้ ยายตายไม่ได้”

ยายซึ่งกำลังแย่จนแทบจะหมดสติอยู่แล้ว กลับรู้สึกตื่นตัวขึ้นฉับพลัน เราจะต้องหายใจ เราตายไม่ได้ เพราะหลานจะอยู่กับใคร พลังของความรัก ความห่วงใยหลาน ถักทอให้ใจของยายเกิดกำลังแกร่งกล้าขึ้น จนพวกหน่วยช่วยเหลือเห็นยายกับหลานเกาะขอนไม้อยู่ จึงนำเรือมาช่วยขึ้นจากน้ำได้ เมื่อถูกสัมภาษณ์ ยายก็เล่าว่า “ตอนที่ใจหวิว ๆ เหมือนจะตาย เพราะทนไม่ไหวแล้ว เสียงหลานก็ก้องขึ้นในหูว่า …ยายหายใจอีกนิดหนึ่ง ยายตายไม่ได้… ยายตายไม่ได้ …ยายก็เลยรู้ตัวขึ้นมาอีก”

เมื่อเอาความรักมาใช้กันทำนองนี้ เราจึงสามารถผันพลังของเรา ศักยภาพของเรา มาใช้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ทำให้สามารถทำในสิ่งที่เราเองก็ไม่เชื่อว่าตัวจะทำได้ ความรักจึงเป็นน้ำประสานโลกประสานใจแต่ละดวง ๆ ที่ไม่เหมือนกัน เป็นไก่บ้าง เป็นเป็ดบ้าง เป็นนกบ้าง ให้เข้าใจกันได้ แล้วพยายามกระทำความดีงามทั้งปวงเพื่อส่วนรวม ทำให้โลกสงบร่มเย็นเป็นสุข แล้วเราก็อยู่กันอย่างศานติ

ถ้าจะโกรธจะเกลียดกัน เราก็เอาความอภัยคือความไม่มีพิษมีภัย มาใส่ไว้ในใจเรา แล้วเรื่องที่รู้สึกว่าทนไม่ได้ ทนไม่ไหว ก็จะเบาขึ้น ในที่สุดเราก็ตั้งต้นกันใหม่ได้ เพราะเป็ดก็เข้าใจแบบเป็ด ไก่ก็เข้าใจแบบไก่ ตกลงเราก็รับในความเป็นจริงของแต่ละฝ่ายกัน มันก็อยู่กันได้ โดยไม่ได้หมายความว่า “นี่ถ้าเธอรักฉัน เธอต้องเลือกเอาว่า เธอจะเอาฉัน หรือจะเอาอีกคนหนึ่ง” แบบนั้นไม่ใช่รักแล้ว แต่เป็นความเห็นแก่ตัว ความคับแคบ เพราะมีข้อแม้ที่ต้องเลือก เอาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ถ้ารักกันจริง ไม่ต้องเลือก มันเอาหมดทุกฝ่าย เพราะว่ารักมีแต่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เป็นความงอกงาม ทำให้คนที่มีความทุกข์อยู่ก็มีความสุข คนที่มีความสุขอยู่แล้วก็มีความสุขเพิ่มขึ้น รักเป็นของดี มีคุณมีประโยชน์กับทุกฝ่าย