รู้เห็นเป็นขึ้นในใจ
(Wisdom In mind)
ธรรมบรรยายโดย : พญ.อมรา มลิลา เรื่องที่จะพูดกันก็หนีไม่พ้นเรื่องของใจ ปกติที่เรารู้ ๆ กัน เรารู้จากสมอง จากความนึกคิด แต่ไม่เคยรู้ขึ้นมาจากใจ ถ้ามีใครบอกว่า พยายามทำใจให้นิ่ง กำหนดสติตามรักษาให้ใจของเรานิ่ง แล้วมันจะรู้ขึ้นมา ก็ไม่มีใครทำอย่างนั้นได้ ยิ่งถ้าเราจะเข้าประชุม หรือจะไปทำอะไรที่เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ใจก็ยิ่งว้าวุ่น ปรุงคิด เป็นจิตสังขาร เราจึงรู้จักแต่เงาของใจ รู้จักแต่ขันธ์ 5 คือ กายและอาการของใจ ที่เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร เป็นวิญญาณ
สิ่งที่รู้กันเจนตาเจนใจ คือสัญญากับสังขารประเดี๋ยวมันก็ขึ้นมาเป็นความจำจากสิ่งที่ผ่านไปแล้ว ซึ่งได้ยินได้ฟังมา หรือไม่อย่างนั้นก็เป็นสังขาร ความปรุงคิดขึ้นมา ทุกคนจะมีแต่สัญญากับสังขารนี่แหละขึ้นมาเป็นเงา ทำให้ใจของเรากระเพื่อมกระฉอกอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งไม่เคยได้ความสงบสงัด ไม่เคยสัมผัสความรู้ที่เป็นปัญญา ซึ่งรู้เห็นเป็นขึ้นเองในใจที่สงบถึงฐาน
สิ่งที่เราคิดนึกขึ้นมาเป็นจินตมยปัญญา หรือสิ่งที่ได้จากการได้ยินได้ฟังมาเป็นสุตมยปัญญา ยังไม่ใช่ของแท้ เวลาเข้าที่คับขัน มีวิชาท่วมหัวเอาตัวไม่รอด แต่เมื่อไรก็ตามที่มันรู้เห็นเป็นใจขึ้นในใจ เป็นภาวนามยปัญญา อันนั้นจึงเป็นปัญญาตัวแท้ไม่ใช่เงา เมื่อเราเข้าที่คับขัน หรือขับเคี่ยวกับกิเลส เราจึงจะน็อคกิเลสได้ มีตนเป็นที่พึ่งแห่งตนได้คราวนี้เราก็อยากรู้ว่าขั้นตอนที่จะลงมือทำเป็นอย่างไร แรกเริ่มที่ตัวเราเข้าวัด ท่านอาจารย์สิงห์ทองบอกว่า “หน้าที่ของเรามีอยู่อย่างเดียวคือกำหนดสติเอาไว้กับใจ ถ้าไม่มีอะไรทำ ก็กำหนดอยู่กับลมหายใจของเรา ถ้ามีงานทำอยู่ ก็ย้ายทุ่นจากลมหายใจไปเป็นงานการที่กำลังทำ” เป็นต้นว่า เราไปช่วยเขาทำครัว เราก็กำหนดอยู่กับสิ่งที่ทำ ถ้าเขาให้หั่นผัก เราก็กำหนดอยู่กับมีดที่จรดลงไปบนผัก หรืออะไรที่เราหั่น ล้างผลไม้ก็กำหนดอยู่กับผลไม้ที่กำลังล้าง แรกๆ ก็ไม่อยู่หรอก ปากก็ว่ากำหนด แต่ใจเลื้อยไปถึงไหนก็ไม่รู้ มารู้อีกที อ้าว...ตัวนั่งล้างผลไม้ แต่ใจไปถึงป่าหิมพานต์โน่นแล้ว
เวลาขึ้นไปฟังท่านอาจารย์เทศน์บนศาลา ท่านก็ให้กำหนดอยู่กับเสียงของท่าน เสียงกระทบหู เราว่าอย่างไร ก็กำหนดรู้เท่านั้น ไม่มีหน้าที่ต้องมาให้คะแนนว่า ท่านพูดถูกพูดผิด พูดถูกใจหรือไม่ ถูกใจเรา เราก็ว่าเราเชื่อฟังคำสั่ง เป็นลูกศิษย์ที่เคร่งครัด พอท่านอาจารย์เทศน์ไปสักประเดี๋ยวเดียว สัญญาสังขารเราเริ่มฉายเงาขึ้นมาแล้ว เอ๊ะ ที่หลวงตาบัวพูดไม่ใช่อย่างนี้นี่นะ ทำไมท่านอาจารย์พูดอย่างนี้ แน่ะ ไปให้คะแนนท่านอาจารย์แล้ว
แรกๆ ท่านอาจารย์ก็ไม่ว่าอะไร เทศน์ไปจนจบ จึงมาสำทับว่า หน้าที่ศิษย์มีว่ากำหนดเสียง อาจารย์ให้ใจเป็นสมาธิอย่างเดียว ไม่มีหน้าที่ต้องปรุงคิดซัดส่ายออกความคิดเห็น เพราะเราจะมาฝึกทำให้ใจของเรานิ่ง เพื่อรู้เห็นเป็นขึ้นมาในใจ เราก็รับคำท่าน
ได้เรื่องอีกแล้ว พอท่านพูด ตอนแรกเราก็ว่าเรากำหนดอยู่ ประเดี๋ยวเดียวเท่านั้นแหละ ไม่รู้สติปลิวหายไปได้อย่างไร คราวนี้ท่านไม่ไหวแล้ว สติของเราตามไม่ทันที่จะรู้ว่าใจหลุดออกไปเมื่อไร แล้วไปวุ่นวายปรุงคิด เมื่อออกไปปรุงคิด ใจที่กำลังจะรวมตัวเข้ามาก็ฟุ้งกระจายออก เหมือนกับเรากำลังเหวี่ยงแหออกไปแวบไปตรงโน้น แวบมาตรงนี้
ท่านกำลังสอนให้เรารวบรวมแหเข้ามา เพื่อให้รวมเข้าเป็นจอมแห ก็ปรากฏว่าเราทำท่ารวมมาแล้วนาทีหนึ่ง แล้วก็หลุดปลิวไปอีกครึ่งค่อนชั่วโมง แล้วได้สติ รวบมาอีกสักนาทีหนึ่ง แล้วก็กระจุกออกไปอีก ซ้ำซากอยู่อย่างนั้น
ถ้าทำอยู่แบบนี้ มันไม่ไปถึงไหนแน่ๆ ท่านก็เลยเปลี่ยนวิธี ขณะที่ท่านกำลังเทศน์ ถ้าใจเราแวบออกไปปรุงคิด... ท่านอาจารย์เทศน์อย่างนี้ได้อย่างไร หนังสือที่อ่านมามันไม่ใช่อย่างนี้นี่นา... แบบของเราล่ะ ฟังครูสอนไปก็ให้คะแนนไปเรื่อย คิดวุ่นวายไปเรื่อย ท่านอาจารย์จะหยุดเทศน์ เราก็ยังไม่ได้สติอีกว่า ความคิดของเราเป็นคลื่นรบกวนไปกระทบจิตของท่านแล้ว
ท่านก็ปล่อยให้เราคิดไปจนกว่าจะหยุด แล้วท่านก็ตอบสิ่งที่เราคิดบ้าบวมนั้นขึ้นมา ทำให้ผู้คนที่นั่งฟังเทศน์อยู่สะดุ้งว่า จะต้องมีผู้ก่อการร้ายตัวแสบตัวหนึ่งอยู่ตรงนี้ เพราะกำลังฟังเทศน์อยู่ดีๆ ท่านอาจารย์ก็หยุดเหมือนกับว่ามีใครพูดจาเลื่อนเปื้อนแซงขึ้นมา แล้วท่านก็จำเป็นต้องไปตอบความเลื่อนเปื้อนอันนั้นให้สิ้นเรื่องเสียก่อน
กิเลสยังยุให้รำตำให้รั่วต่อไป แทนที่ได้คิดแล้วใจจะสงบ ประเดี๋ยวเดียวมันก็เผลออีกนั่นแหละ ใจซัดส่ายออกไปอีก... ท่านอาจารย์รู้ในใจเราจริงๆน่ะหรือ... มันยุให้รำตำให้รั่ว ท่านอาจารย์ก็หยุดอีก พอเราซัดส่าย ท่านก็ตอกกลับออกมา โดนไม้นี้เข้าเราก็ต้องเขม็งเกลียวสติ เพราะทุกคนเริ่มมองหาตัวไหนนะตัวแสบ พระเณรแทนที่จะนั่งหลับตาทำสมาธิ ก็ติดเชื้อจากเรา ภูมิคุ้มกันชักย่อหย่อน
ด้วยวิธีนี้เราต้องสงบ พอท่านอาจารย์หยุดเทศน์ ท่านไม่ได้หยุดเพราะเราเผลอคิด แต่ท่านจะหยุดของท่าน หรือจะทดสอบว่าสติเรามีแค่ไหน พอท่านหยุด เราก็สะดุ้งผวา คราวนี้ใจของเราที่กำหนดรู้อยู่กับเสียงของท่าน ก็เริ่มรู้ตามติดกับเสียงของท่านจริง ๆ ทีนี้ก็เกิดความประหลาดขึ้นมา ตอนฟังนี่รู้ชัดเจนแจ่มแจ้งซาบซึ้ง รู้เรื่องหมด ไม่ได้มีตรงไหนหายหกตกหล่นเลย
แต่พอกลับลงมาถึงกุฏิ คุณแม่ชีไม่ได้ขึ้นไปฟังด้วย ท่านก็ถามว่า วันนี้ท่านอาจารย์เทศน์เรื่องอะไร เราบอกดีมาก ท่านให้เล่าให้ฟัง พอตั้งท่าจะเล่า มันเหมือนอย่างกับสมองเราเป็นเทปที่ถูกลบหมดเกลี้ยง... ว่างเปล่า กำหนดอยู่กับปัจจุบัน กับลมหายใจ ไม่ยอมกระดุกกระดิกออกไปคิด ให้เป็นสัญญา ใจถูกอบรมไว้ดีมาก พยายามนึกทบทวนเท่าไร ๆ ๆ ก็นึกไม่ออก ...เอ เมื่อกี้ที่เราแจ่มแจ้ง ซาบซึ้ง เข้าใจ ไม่หายหกตกหล่นไปสักคำเดียว มันหายไปข้างไหนหมด
คุณแม่ชีมองหน้าเป็นทำนอง พุทโธ่เอ๋ย ขึ้นไปนั่งหลับแล้วยังมาโม้อีกว่ารู้เรื่อง เราก็เจ็บใจ อัตตาเริ่มกระเพื่อมขึ้นมา แต่ไม่ว่าจะพยายามคิดเท่าไร เท่าไร ก็ไม่มีอะไรขึ้นมาเลย แม้กระทั่งคำเดียวก็ไม่มีโผล่ขึ้นมา ก็นึกในใจ เราเป็นอะไรไป ในที่สุดท่านก็หมดความอยากฟัง ต่างคนต่างไปภาวนา เราไปภาวนาแล้วยังนึกพิศวงสงสัยว่า เราเป็นอะไร ความจำเสื่อมถึงขั้นนี้เชียวหรือ แต่ใจก็สงบดี เราก็ภาวนาของเราไปรุ่งเช้าเพื่อนมาเล่าถึงเขาพิจารณาแล้วมาติดอยู่ตรงนี้ พอดีเรื่องของเขาตรงกับที่ท่านอาจารย์เทศน์เมื่อคืน มันเหมือนกับเทปที่ตั้งอัตโนมัติเอาไว้ ถึงเวลาก็ดังขึ้นมาเลย เราก็ว่าเป็นน้ำไหลไฟดับ ท่านอาจารย์ว่าอย่างนี้ ๆ ซึ่งเมื่อคืนคิดเท่าไรก็คิดไม่ออก ก็นึกสงสัยว่าเป็นอย่างไรนะ เมื่อคืนนี้เราก็ว่าเราจำได้หมดอย่างนี้ แล้วทำไมเมื่อคุณแม่ชีถามมันไม่ออกมา แต่พอตอนนี้เพื่อนเขามีปัญหาเท่านั้นแหละ มันหลั่งไหลออกมาไม่ได้ขาดตกบกพร่องเลย
ตอนสายๆ ท่านอาจารย์ลงมาที่ครัว ท่านอธิบายให้ฟังว่า เวลาที่เราฟังอะไรด้วยสติกำหนดให้ใจเป็นสมาธิ มันจะสัมผัสเข้าไปในใจ คือถ้าใจของเราอยู่ในฐานสงบนิ่ง จนกระทั่งสิ่งนั้นเข้าไปรู้อยู่ในใจได้ ก็เหมือนกับใจเราเป็นสายเทปที่อัดเสียงนั้นเอาไว้ ถ้าไม่มีปัญหาจริงเกิดขึ้น เราคิดอยากจะเอาเรื่องนั้นมาเล่าโม้โอ้อวดกับใคร มันจะไม่ออกมาเทปอันนี้มันแสนกล ถ้าจะเอามาพูดเล่น เอามาพูดเพื่อโปรยประโยชน์ มันจะทำเหมือนกับว่าเราไม่เคยได้ยิน ได้ฟังมา เราควบคุมบังคับมันไม่ได้ แต่ถ้าเมื่อไรมีปัญหา เป็นของจริงแท้ ที่จะเอาไปแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไปได้ ปุ่มอัตโนมัติของมันจะเลือกขึ้นมาให้พอดีตรงเผงกับเหตุการณ์ตรงนั้น แล้วแก้ปัญหาได้อย่างดีที่สุด
เพราะฉะนั้น เราไม่ต้องไปห่วง ไม่ต้องไปคอยทวนว่า มันจะจำได้หรือเปล่า ยังแม่นแค่ไหน ท่านบอก... ไม่ต้อง ถ้าทำอย่างนั้นจะไม่มีอะไรขึ้นมา แต่เมื่อถึงวาระที่จะได้ประโยชน์แท้จริง มันจะขึ้นมาเองดิฉันก็อัศจรรย์เพราะเจอกับตัวเองมาแล้ว แต่ก็ยังอยากรู้ให้แน่ชัดว่า มันจะจริงแท้อย่างนี้ทุกครั้งหรือ
บางครั้งเวลาฟังเทศน์ท่านอาจารย์ก็ไม่ยอมหลับตา เพราะกลัวสติจะเผลอไปไหน เขม็งถ่างตาเอาไว้ แน่ใจว่าฟังรู้เรื่อง ไม่มีหายหกตกหล่น พอกลับมากุฏิก็คิดจะจดไว้ ปรากฏว่าไม่มีอะไรออกมาเลย
แต่อีกสักอาทิตย์หนึ่งหรือเดือนหนึ่ง มีปัญหาจริงๆ มาตรงกับเรื่องนั้น มันก็จะออกมาเอง ให้เห็นว่าที่ท่านอาจารย์พูดนั้นเป็นของแท้ของจริง เมื่อใจเริ่มเข้าใจอย่างนี้แล้ว ที่เคยคิดแผนที่ 1 แผนที่ 2 เตรียมไว้ เพราะเราเป็นคนต้องเตรียมงานล่วงหน้า ก็ค่อยน้อยลงไป พอจะฟุ้งซ่านเตรียมแผน 1 แผน 2 แผน 3 ผู้รู้ก็เตือนขึ้นมาว่า แล้วเคยได้ใช้ไหมล่ะ เตรียมเอาไว้จนไม่ได้หลับไม่ได้นอน ถึงเวลาเข้าจริง ๆ ปรากฏว่ามันกลับกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ถ้าใจของเราอยู่กับปัจจุบันได้จริง ข้อมูลที่ได้มาแต่ละเวลานาที ล้วนมีประโยชน์ต่อการตัดสินใจแต่ละขณะ แต่ละขณะ ขณะที่เราไปคิดเตรียมนั้น ข้อมูลจริงยังไม่ครบถ้วน เพราะยังไม่ได้เวลาที่จะตัดสินใจ ถ้าคิดเอาไว้ แล้วเราเชื่อตามที่เตรียมเอาไว้ เราก็พลาดไป เพราะว่าสิ่งที่เตรียมยังขาดข้อมูลสำคัญ ซึ่งได้มาหลังจากที่คิดเตรียมแผนแล้วถ้าเราเป็นคนยึดมั่น อุปาทานในใจสูง อะไรๆ ก็เป็นอุปาทานขันธ์ไปหมด เมื่อคิดเตรียมเอาไว้แต่เมื่อคืนนี้แล้ว ทั้งๆ ที่ข้อมูลตอนเช้าเพิ่มขึ้นมาจนถึงตอนที่จะต้องตัดสินใจ แต่เพราะเราเป็นคนยึดมั่นถือรั้น เมื่อคิดคำตอบเอาไว้แล้ว เพราะฉะนั้นก็ต้องเอาคำตอบนั้นมาใช้ สิ่งที่กระทำลงไปเลยไม่ดี ไม่ถูกต้อง เพราะไม่ได้เอาข้อมูลที่ได้เพิ่ม มาพิจารณาไตร่ตรองให้เป็นประโยชน์ ถ้าเป็นแบบนี้ การตัดสินใจ หรืออะไรที่เราทำลงไปจะไม่ได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วยถ้าเรากำหนดใจให้อยู่กับปัจจุบัน เป็นปัจจุบันไปเรื่อย อะไรที่เป็นผัสสะมากระทบ เราก็รับรู้ตามความเป็นจริง พอถึงวินาทีที่คู่กรณีมาเอาคำตอบ เราก็ได้ใช้ข้อมูลทุกอัน ตัดสินใจออกไปจากที่รู้เห็นเป็นขึ้นในใจ เราจะพบว่าการแก้ไขปัญหาตามปัจจุบันได้ผลดีกว่าตามแผนที่คิดเตรียมไว้มากมาย
เมื่อประสบการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นหลาย ๆ ครั้ง ใจจะเริ่มเชื่อมั่น พอจะคิด สติก็ไวทัน ทำให้เราหยุดอยู่ ไม่คิดเตรียมล่วงหน้า แล้วก็ได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วยเสมอ ซึ่งก็เป็นของแปลก เมื่อใจอยู่กับปัจจุบันจริงๆ ทั้งๆ ที่จิตสำนึกไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่จิตไร้สำนึกที่เป็นตัวรู้ ตื่น เบิกบาน เป็นใจของตัวแท้ของเรา จะออกไปรับรู้ได้
เหมือนเมื่อดิฉันเป็นวิทยากรใหม่ๆ ต้องเตรียมตัวอย่าง เตรียมอย่างโน้นอย่างนี้ให้เข้ากับเรื่องที่จะพูด เพราะคิดว่า เราจะพูดทั้งทีก็อยากให้ได้ประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย ปรากฏว่า วันนั้นพอนึกถึงตัวอย่างที่อยากจะยก ตัวอย่างหาย นึกไม่ออก เหมือนกับว่าเรากลายเป็นโรคความจำเสื่อม ก็พูดเรื่องอื่นไป
ขณะกำลังพูดอยู่ ก็มีตัวอย่างเรื่องนางทาสีขึ้นมาในใจ ทั้งที่ตัวเองขณะนั้นไม่คิดจะเล่า เพราะไม่ใช่ประเด็นที่ตั้งใจจะกล่าวถึงโดยพิสดาร แต่ประหลาด เรื่องนางทาสีกลับขึ้นมาอีก คราวนี้ ปากก็เล่าออกไปถึงว่า นางทาสีเป็นไข้มาหลายวัน พอสร่างไข้ก็โซเซออกจากบ้านเพื่อไปเอาอาหารที่โรงทานของอานาถบิณฑิกเศรษฐีทางที่ไปต้องผ่านหน้าบ้านท่านเศรษฐี พอดีบ่าวท่านเศรษฐีเอาอาหารเหลือแต่เย็นวานนี้จะไปเททิ้ง นางทาสีก็ขอไปกิน บ่าวติงว่าเป็นของค้างคืนอาจจะบูด นางทาสีก็ยืนยันว่ากินได้ เพราะกลิ่นยังหอมหวนชวนกิน นางนึกกระหยิ่มว่า วันนี้จะได้กินอาหารอันประณีตของท่านเศรษฐี บ่าวก็เทให้จนเต็มภาชนะ
ขณะเดินกลับบ้าน พระพุทธเจ้าเสด็จสวนมากับพระอานนท์ นางทาสีลืมไปแล้วว่าอาหารที่ได้มาเป็นอาหารที่เขาจะเอาไปเททิ้งแล้ว ดีใจ เออ... วันนี้นางทาสีมีบุญเหลือเกิน พระพุทธเจ้าเสด็จมาให้ใส่บาตร พระพุทธเจ้าเล็งรู้ในใจ ก็หยุดให้ใส่บาตร นางทาสีใส่อาหารที่ได้มาทั้งหมดด้วยความปลื้มปีติ
ครั้นเดินไปสักครู่ก็นึกได้ ประเดี๋ยวพระพุทธเจ้าเสด็จถึงบ้านท่านเศรษฐี บ่าวก็จำได้ เขาก็เอาไปเททิ้ง ใครจะให้พระพุทธเจ้าเสวยของเหลือ ท่านเศรษฐีย่อมเตรียมของใหม่ๆดีๆ มาถวาย นางทาสีนึกน้อยใจในวาสนาของตัวเอง พระพุทธเจ้าก็ให้พระอานนท์ลาดที่นั่งริมทางนั้น แล้วเสวยอาหารที่นางทาสีใส่ทั้งหมด เมื่อไปถึงบ้านออนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ไม่เสวยอีก
เมื่อพระพุทธเจ้าองค์กลับถึงเชตวันมหาวิหารแล้ว ตรัสถามพระอานนท์ว่า ประมาณได้ไหม บุญที่นางทาสีใส่บาตรมื้อนี้ เทียบกับบุญของอนาถบิณฑิกเศรษฐี จะเป็นสักเท่าไร พระอานนท์ทูลว่า จะถึงกึ่งหนึ่งไหม พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุญของนางทาสีมากกว่าที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีทำมาทั้งหมด รวมถึงสร้างเชตวันมหาวิหารและโรงทาน 4 มุมเมืองด้วย
พระอานนท์ก็สงสัย พระพุทธเจ้าทรงอธิบายว่า ทานที่บริจาคแล้วมีผลแปรตามตัวผู้รับ ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน และแปรตามตัวผู้รับซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน และแปรตามวัตถุที่ทำทาน และเจตนาของผู้ให้ ในกรณีนี้ วัตถุที่ทำทานก็ล้วนบริสุทธิ์ได้มาโดยชอบธรรม เป็นประโยชน์แก่ผู้รับเหมือนๆ กัน มาถึงเจตนาของผู้ให้ ทั้งอนาถบิณฑิกเศรษฐีและนางทาสีต่างก็เลื่อมใสศรัทธาเปี่ยมล้น ตั้งใจทำทั้งขณะก่อนให้ กำลังให้ และให้ไปแล้ว แต่ท่านเศรษฐีไม่ว่าจะศรัทธาให้เท่าไร ก็ไม่ถึงจุดที่ต้องเสียสละเอาส่วนที่ตัวเองจะกินมาให้
นางทาสีนั้นไม่สบาย อดอาหารมา 3 วัน ตั้งใจจะกินของนั้นเองให้หมดด้วยความหิว แต่พอเห็นพระพุทธเจ้า ปลื้มใจ ศรัทธา ดีใจ ก็ใส่บาตรทั้งหมดเลย ไม่ได้นึกแบ่งเอาไว้สักนิดเพื่อจะกินเอง ตรงนี้แหละ ทำให้บุญของนางทาสีมากมายมหาศาล นี่เป็นอุทาหรณ์ให้เห็นว่า ถึงเราจะยากจน อย่าน้อยเนื้อต่ำใจในวาสนาของเรา อานิสงค์ของบุญนั้นเปิดกว้าง เรามีสิทธิทำได้ดีเสียยิ่งกว่าท่านเศรษฐีอีกหากรู้จักทำอีกคนหนึ่งเป็นบ่าวในบ้านท่านเศรษฐี เพิ่งมาอยู่ใหม่เป็นคนทำสวน พอดีวันนั้นท่านเศรษฐีจะทอดกฐิน ได้ประกาศให้บ่าวไพร่ทั้งหมดมาอนุโมทนากองกฐิน ทุกคนต่างมีเงินไปร่วมอนุโมทนากัน บ่าวคนนี้เพิ่งมาอยู่ใหม่ ยังไม่ได้เงินค่าจ้าง แต่ก็อยากอนุโมทนาด้วย ทำอย่างไรล่ะ ทั้งเนื้อทั้งตัวมีผ้าผืนเดียวที่นุ่งอยู่ แต่ก็อยากทำบุญ ตกลงก็เอาผ้าผืนนี้ไปซักอย่างดี แล้วเอาใบไม้มาเย็บเป็นผ้านุ่งแทน เอาผ้าไปเร่ขายในตลาด ได้เงินมาพอซื้อเข็มเย็บผ้าได้ 1 เล่ม ก็เอาเข็ม1 เล่มมาใส่กองกฐินของท่านเศรษฐี คนอื่นก็มองคล้ายๆดูถูกว่าจะทำบุญทั้งทีมีเข็มเล่มเดียว
ท่านเศรษฐีมีจิตใจเป็นธรรม เมื่อบ่าวเอาเข็มเล่มหนึ่งมาให้ ท่านก็อนุโมทนา จริงนะ ทุกคนทำโน่นทำนี่ มัวไปนึกแต่ของใหญ่ของโต ในกองกฐินเราเลยไม่มีเข็มสักเล่ม เข็มของเจ้ามีคุณประโยชน์เหลือเกิน ก็ทำให้บ่าวชื่นใจ
เทวดาเห็นในเจตนาของบ่าวคนนี้ ก็พากันอนุโมทนาบุญกฐิน เสียงดังลั่นสะเทือนเหมือนฟ้าคำราม ได้ยินไปถึงวังของพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าแผ่นดินประหลาดพระทัยว่า จะเกิดเหตุเภทภัยอะไร เพราะไม่ใช่ฝนตก ไม่ใช่ฟ้าร้อง เสียงอะไรกันนี่ ก็ถามปุโรหิต
ปุโรหิตจับยามดูแล้วทูลว่า เทวดาอนุโมทนาบุญกฐินคนสวนท่านเศรษฐี พระเจ้าแผ่นดินตกพระทัย ทำบุญอะไร ใหญ่โตขนาดเทวดาอนุโมทนาบุญเสียงสะเทือนโลกธาตุอย่างนี้ ก็ให้ราชบุรุษไปเชิญคนสวนเข้ามาในวัง จะขอซื้อบุญ คนสวนไม่ยอมไปเพราะไม่มีเสื้อผ้า มีแต่ใบไม้ปกปิดเอาไว้
ราชบุรุษกลับไปกราบบังคมทูลว่า คนสวนไม่ยอมมาเฝ้า พระเจ้าแผ่นดินซักว่า ทำไมถึงไม่มาเฝ้า ไปจัดการเอาตัวมาให้ได้ ถึงทราบว่าเขาไม่มีเสื้อผ้าจะใส่มาเข้าเฝ้า ท่านก็พระราชทานเสื้อผ้าไปให้เขา
พอมาถึง พระเจ้าแผ่นดินก็ขอซื้อบุญกฐินอันนี้ ทั้งๆที่ตัวยากจนอย่างนั้น แต่ใจของเขาใหญ่มาก เขาตอบว่า บุญใครก็บุญมัน เขาไม่ขาย แต่พระเจ้าแผ่นดินจะอนุโมทนาร่วมกับเขาเท่าไร ๆ เขาไม่ขัดข้อง ใครจะอนุโมทนาเขาก็ยินดีให้อนุโมทนาด้วย แต่ไม่ขาย เพราะบุญนี้ไม่มีของสิ่งใดที่สามารถนำมาแลกแล้วจะให้เขาปีติอิ่มเอิบเท่านี้ได้ เพราะฉะนั้น เงินทองทรัพย์สินอะไร ๆ มากมายแค่ไหนก็มาซื้อไม่ได้
พระเจ้าแผ่นดินนึก คนๆ นี้ใจเด็ดขาด เป็นคนจริง เลยแต่งตั้งให้เป็นเศรษฐีประจำตำบลนั้น พระราชทานทรัพย์สิน ช้าง ม้า วัว ควาย ข้าทาสประจำตำแหน่งให้ไป ไม่ใช่แต่เทวดาอนุโมทนากระเทือนไปทั่วโลกธาตุ บุญยังทันตาเห็นคือ พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานวัตถุสิ่งของให้เห็นทันตาเหมือนกันตอนพูดไปนั้นดิฉันก็นึก เรื่องอะไรนะ มาเล่าเรื่องอย่างนี้ ไม่เห็นตรงกับเรื่องที่พูดสักหน่อยหนึ่ง เราเป็นอะไรไปนี่
ครั้นพูดเสร็จ ปรากฏว่ามีผู้ฟังคนหนึ่งวิ่งเข้ามาบอกว่า อาจารย์คะ อาจารย์ตอบข้อสงสัยของหนูได้หมดเกลี้ยง แต่นี้ต่อไปหนูจะใส่บาตรแล้ว เพราะหนูเจอเคยแต่พระที่ไม่น่าเลื่อมใส นอกจากนั้นก็เข้าใจว่า การทำบุญน่ะ ถ้าของเราไม่เลิศประเสริฐดีมีค่า ทำแล้วก็ไม่ได้ประโยชน์ สู้เอาไปช่วยคนยากจน หรือว่าไปทำการกุศลอื่นๆ ที่ทำไปแล้วเป็นคุณเป็นประโยชน์จะดีกว่า แม่เลยทุกข์ใจ เพราะแม่อยากให้ลูกทะนุบำรุงให้พระสงฆ์ยังมีอยู่ เพื่อจะได้ครบรัตนตรัย มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่หนูก็ไม่ยอมเข้าใจ อย่างไรก็ไม่ยอมเข้าใจ
พอหนูได้ฟังตัวอย่างที่อาจารย์เล่าถึงรู้ว่า สิ่งที่เข้าใจยังไม่ถูกต้องทั้งหมด หนูยังทำการกุศลอย่างเดิม แต่จะทำบุญใส่บาตรด้วย
ดิฉันเลยถึงบางอ้อว่า จิตผู้รู้ของเราไปรู้โดยที่เราเองก็ไม่รู้หรอก ถ้าใจของเรายึดตามอุปาทาน คราวหน้าต้องจดโพยเอาไว้ แล้วก็พูดตามโพยไม่ยอมให้หายตกหกหล่น เราก็เพิกเฉยต่อข้อมูลที่ขึ้นมาในปัจจุบันขณะนั้น ไม่ยอมเล่าเรื่องนางทาสีและบุญกฐิน เราก็ไม่รู้ว่าประโยชน์ที่ควรจะได้หายหกตกหล่นไปเท่าไรแล้ว
เมื่อเราปล่อยให้เหตุปัจจัยเป็นไปตามปัจจุบันขณะ แล้วได้ผลออกมาเช่นนี้ เราก็ชื่นใจว่า ใจของผู้ฟังท่านนี้คงถึงวาระที่จะได้ความรู้ ธัมมะจึงจัดสรรให้ปากเราพูดสิ่งที่ท่านควรจะได้ฟัง แล้วก็ได้ประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย คนอื่นฟังแล้วถึงจะยังไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยอย่างนั้น ก็อาจจะเอาไปใช้ประโยชน์ต่อไปในกาลข้างหน้าได้
ครั้งหนึ่ง พวกเราห่วงสุขภาพท่านอาจารย์พระมหาบัวกันมาก ท่านไม่แข็งแรง ออกไปบิณฑบาตบางวันก็จะล้มหงายหลังลง คุณหมอที่โรงพยาบาลอุดรธานีขอโอกาสมาเจาะเลือดท่านไปตรวจน้ำตาล ก็พบว่าระดับน้ำตาลของท่าน 49 มก.% ซึ่งค่าปกติประมาณ 80 มก.%ลูกศิษย์ทั้งหลายก็โวยวาย กราบเรียนให้ท่านรักษาธาตุขันธ์เพื่ออยู่เป็นร่มโพธิ์ของลูกศิษย์ต่อไป พักนั้นโรคหัวใจท่านก็กำเริบด้วย หมอทั้งหลายจัดแจงแนะนำว่า ถ้าท่านพูดแล้วเหนื่อยก็อย่าพูด
ท่านก็ปล่อยให้พวกเราพูดจนจบ แล้วจึงว่า จะบอกให้ฟังนะ ตกมาถึงตอนนี้ เราไม่รู้หรอกว่าเราจะพูดอะไรหรือจะไม่พูดอะไร จิตอันนี้มันรู้ของมันเอง บางทีเราเองก็รู้สึกว่าเราหายใจเกือบไม่ออกอยู่แล้ว กระทั่งจะเป่าลมหายใจเข้าออกก็เหนื่อยจนจะขาดใจ พูดไม่ออกแล้ว แต่ถ้าจิตของคนฟังกำลังเป็นภาชนะที่รองรับธรรม แล้วสิ่งที่เราพูดออกไปมันจะเป็นประโยชน์ต่อเขา แล้วไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อเขาคนเดียว เขาจะเอาไปกระจายให้เป็นประโยชน์ต่อคนอื่นต่อไป เราก็ต้องพูด ไม่ใช่อยากหรือไม่ อยากจะพูด แต่ธัมมะทำให้เราต้องพูด พูดจนเข้าใจ ตายคาคำพูด มันก็ต้องพูด
ท่านแสดงให้รู้ว่า มันไม่ใช่ท่านเป็นตัวกำหนดเมื่อมาปฏิบัติแล้ว ธัมมะเป็นตัวกำหนด ทุกอย่างขึ้นอยู่กับผู้รับ ถ้าใจผู้รับกำลังเป็นภาชนะที่หิวกระหายธรรม จำเป็นที่ท่านจะแสดงธรรม ธาตุขันธ์อันนี้จะมามีอำนาจเหนือไม่ได้ นึกถึงพระพุทธองค์ตอนจะดับขันธ์ปรินิพพาน มีพราหมณ์มาทูลถามปัญหา พระอานนท์ไม่ให้เข้ามารบกวน พระพุทธเจ้ากำลังไม่สบาย จะพักผ่อน แต่พระพุทธเจ้ากลับเรียกให้เข้ามา แล้วแสดงธรรมให้ฟัง พราหมณ์ฟังจบแล้ว ไปปฏิบัติจนหลุดพ้นเป็นพระอรหันต์ ก่อนที่พระพุทธองค์จะดับขันธ์ปรินิพพาน เป็นพระอรหันต์องค์สุดท้ายในพระชนม์ชีพของพระพุทธเจ้า เห็นหรือไม่ว่า ผู้รู้ มันรู้
แล้วก็รู้ว่าอะไรจะเป็นคุณประโยชน์ที่ผู้รู้ต้องเกื้อกูลออกไป ถ้าเราปฏิบัติจนกระทั่งรู้เห็นเป็นขึ้นในใจอย่างนี้แล้ว สิ่งที่เรารู้และเอามาเผื่อแผ่แก่กัน จะเป็นธรรม ไม่ไปเบียดเบียนซึ่งกันและกัน
ปัญหามีอยู่ว่า ทำอย่างไรสิ่งที่รู้นั้น ถึงจะเป็นความรู้เห็นเป็นขึ้นในใจ ไม่ใช่รู้ด้วยจิตสังขาร โดยมากจิตสังขารที่เรารู้กัน มักไม่ปรุงให้เป็นกุศล แต่จะปรุงด้วยมีตัวกูของกู มาเป็นจุดศูนย์ถ่วงอันใหญ่ดึงดูดเข้าไว้ เมื่อปรุงไปปรุงมาเสร็จ อะไรที่จะเป็นกลางๆ ก็บิดๆ เบี้ยวๆ อะไรที่จะเป็นประโยชน์กับคนอื่นก็ถูกลิดรอน เอามาเติมเป็นของเรา ให้เป็นผลประโยชน์ส่วนตน ประโยชน์คนอื่นช่างเขา ใครจะเป็นอย่างไรเรื่องเขาเราไม่เกี่ยว ผลจึงกลายเป็นเอารัดเอาเปรียบคนอื่น ของดีเอาเข้าตัว ของชั่วปัดไปให้คนอื่นทุกข์เดือดร้อน เกิดการจองเวร อาฆาตพยาบาท เป็นความไม่ปกติสุขขึ้นในสังคม
บางท่านก็ว่า บางทีก็รู้เหมือนกัน แต่ที่รู้นั้นคือกว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ คือทำไปเสร็จเรียบร้อยแล้ว สติจึงตามทันมาเพ่งโทษให้เห็นว่า ไม่ควรทำอย่างนี้ ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะทำ แต่ตอนกำลังทำสติไม่รู้ไปสลบอยู่เสียที่ไหน โดยอัตโนมัติ ใจวิบออกไปอีกแล้ว ก็อย่าไปเสียใจท้อใจ ท่านอาจารย์พระมหาบัวสอนว่า เราเป็นขี้ข้ากิเลสมาไม่รู้นานเท่าไร ๆ มันพาเราเวียนวนเกิดตายเกิดตาย แล้วมีจิตใจที่เอาเป็นที่พึ่งไม่ได้อยู่อย่างนี้ มาบัดนี้เราฉลาดขึ้นแล้ว เรามีครูบาอาจารย์ เรามาปฏิบัติแล้ว การจะประกาศความเป็นไทจากกิเลสนั้นไม่ใช่ของง่าย ก็ต้องมีเผลอไปบ้าง ย่อหย่อนไปบ้างก็ไม่เป็นไร เรารู้อย่างนี้แล้ว ก็ตั้งในใจว่า คราวหน้าถ้าจะเผลอตอบออกไปโดยอัตโนมัติ เงียบเข้าไว้ก่อน ติดซิปปากไว้ก่อน ตั้งสติให้ดี แล้วทบทวนสิ่งที่เราจะทำไป ว่ามันชอบธรรมแน่แล้วหรือ ถ้าแน่ใจว่าชอบธรรม หากมีอะไรผิดพลาด เราก็จะยอมรับผิดแล้วยอมชดใช้ทุกกรณี ถ้าใครทำอย่างที่เรากำลังทำกับเขา เราก็พอใจเต็มใจ ถ้าอย่างนั้นทำลงไปอะไรเกิดขึ้น โอกาสจะมาเสียใจทีหลังก็จะน้อยหรือไม่มีเลย
แต่ถ้าไม่คิดอย่างนี้ มันก็จะเป็นแบบเดิม คือว่า รู้งี้ไม่ทำอย่างนี้ก็ดีหรอก คือนึกได้ทีไรถั่วไหม้ไปหมดแล้ว งาไหม้ไปหมดแล้ว ไม่มีอะไรเหลือ เพราะว่ากิเลส อวิชชา คือความผ่องใสอย่างยิ่ง เราไม่ต้องท้อใจ พากเพียรปฏิบัติของเราไปเวลาที่ลืมตาตื่นอยู่ ก็อย่าไปทิ้งขว้างสติเสีย ขณะจะเดิน ถ้าไม่มีใครเดินไปกับเรา กำหนดอยู่ที่เท้าซ้าย เท้าขวา เวลาอยู่คนเดียว ไม่มีอะไรจะทำ กำหนดไว้ที่ลมหายใจ
ถ้ามีอะไรทำก็กำหนดอยู่กับอิริยาบถหรืองานการที่กำลังทำอยู่ขณะนั้น เวลาฟังใครพูด กำหนดอยู่ที่เสียงของเขา พอเราจะตอบ ก็ย้ายมากำหนดที่ความคิดของเรา
ฝึกเอาไว้ สติหลุดไปเมื่อไรก็ช่างมัน รู้ตัวก็กำหนดใหม่ ตั้งต้นใหม่ ฝึกนิสัย ไม่ต้องไปหวังผลอะไร เอาเป็นว่าเราจะฝึกนิสัย รู้ตัวว่าเผลอไปเมื่อไร ก็เริ่มต้นใหม่ แรกๆ สติอาจจะโหว่หายไปเป็นชั่วโมง คราวนี้ก็ค่อยแคบเข้ามา ต่อมาเผลอหลุดไปได้สักครึ่งประโยคก็รู้ตัวแล้ว มันก็ค่อยดีขึ้นมาเรื่อย ๆ ถ้าฝึกทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ถึงจะไม่เห็นผลทันทีทันใด แต่วันหนึ่งพอมีอะไรเกิดขึ้น สติจะมารักษาใจของเราไว้ทันท่วงที ให้เราได้เห็นว่า เดี๋ยวนี้เราคิดดีคิดชอบเป็นแล้ว อย่างมีท่านผู้ปฏิบัติท่านหนึ่ง ปกติท่านทนไม่ได้เวลาขับรถแล้วมีแท็กซี่หรือมอเตอร์ไซด์ปาดหน้ารถท่าน ท่านจะหงุดหงิดไปหมด ท่านอาจารย์สอนไว้ว่า นิสัยอะไรที่ไม่ดีที่สุดของเรา เราต้องทำลายตรงนั้น แก้ตรงนั้นก่อนเหมือนตัดต้นไม้ อย่าไปตัดตรงรากฝอย ต้องตัดตรงรากแก้ว เราเป็นคนขี้โมโหโทโส เพราะฉะนั้นต้องกำราบโทสะอันนี้ของเราให้ได้
วันหนึ่ง รถของท่านผู้นั้นแอร์เสีย ท่านต้องไขกระจกลง ขนาดไขกระจกลงทุกบานแล้ว เหงื่อก็ยังย้อย พอดีแท็กซี่คนหนึ่งปาดหน้าท่านไป ท่านเกิดความเห็นใจเพราะแท็กซี่ไม่มีแอร์ เหงื่อคนขับแท็กซี่ก็ย้อยพอๆ กับท่าน ใจของท่านที่ฝึกสติมาเรื่อยๆ คงถึงจุดที่พอคิดแล้ว เกิดความคิดที่เป็นสัมมาทิฐิ ท่านบอกกับตัวเอง เราเป็นคนด้วยกัน อยู่ในโลกนี้ด้วยกัน แต่บางคนก็เหมือนอยู่บนสวรรค์ บางคนกลับอยู่ในนรก อย่างเรามีรถมีแอร์ก็เหมือนกับอยู่บนสวรรค์ บังเอิญวันนี้เรายังไม่ได้ขึ้นสวรรค์ แต่ประเดี๋ยวถึงที่ทำงาน ห้องทำงานมีแอร์ เราก็ไม่ต้องทุกข์เดือดร้อน
แท็กซี่นั้น ไหนเขาจะร้อน ไหนเขาจะไม่แน่ใจว่าค่าเช่ารถจะได้พอหรือเปล่า ที่โฉบปาดหน้าไปนั้นก็ไม่ได้แกล้งเราหรอก เขาเห็นคนโดยสารอยู่ตรงนี้ก็ต้องรีบโฉบมา ประเดี๋ยวใครมาแย่งคนโดยสาร ใจเขาห่วงกังวลอยู่ตลอดเวลา ก็เหมือนอยู่ในนรก ใจที่แต่ก่อนเคยหงุดหงิดขุ่นเคืองสาปแช่งไปถึงพ่อแม่แท็กซี่ด้วย วันนี้กลับเข้าใจถึงเหตุผลที่แท็กซี่ทำกิริยาให้ระคายใจ เกิดความสงสาร เห็นใจนึกให้แท็กซี่ได้เงินพอเป็นค่าเช่ารถ แล้วเหลือไปใช้สอยในครอบครัว จิตใจจะได้สงบร่มเย็น
ใจที่รู้เห็นตามเป็นจริงนั้น จะเกิดความเข้าใจและเมตตาต่อกัน ท่านก็อัศจรรย์กับตัวเองมากว่าอะไรเกิดขึ้นกับท่านวันนี้ แต่ก็ยังกลัวว่าที่คิดได้นั้นคงเป็นความบังเอิญ พรุ่งนี้เจอแท็กซี่ปาดหน้าอีกอาจจะไปโมโหสาปแช่งทออย่างเดิมก็ไม่แน่ ท่านก็ระวังตัวเอาไว้ แล้วก็พบว่าปัญหาเห็นชอบอันนี้เป็นของแท้ ถึงแอร์รถท่านดีแล้ว ท่านก็ไม่ไปคิดเบียดเบียนแท็กซี่หรือมอเตอร์ไซด์อีกเลย แต่จะชะลอรถตัวเอง แล้วแผ่เมตตา ให้พ่อคุณมีความสุขความเจริญเถิด อย่าไปมีเรื่องกับใครเข้า
เมื่อมีโอกาสไปวัด ท่านก็กราบเรียนท่านอาจารย์ ท่านอาจารย์อธิบายว่า นี่แหละเวลาที่เราฝึกสติของเราให้เป็นฐานอยู่กับใจ จนสติมีความคมไวอะไรมากระทบใจ สติจะเคลื่อนตามออกไปเป็นคลื่นเดียวกัน มันไม่มีผลออกมาในขณะทำสมาธิ เพราะตอนนั้นเปรียบเหมือนเราชาร์จแบตเตอรี่ ใจสงบนิ่งเกิดกำลัง
สติที่ฝึกฝนให้เป็นฐานอยู่กับใจ จะรักษาให้ความคิดที่เกิดขึ้น เป็นปัญญาเห็นชอบ ขณะนั้นใจของท่านจดจ่อระวังรถที่ขับอยู่ ขณะเดียวกันก็กำลังพิจารณาสภาวะปัจจุบัน มันร้อนเหมือนกับอยู่ในนรกประเดี๋ยวเราไปถึงที่ทำงานมีแอร์ ก็เหมือนอยู่บนสวรรค์ ใจกำลังอยู่กับอรรถธรรม พอแท็กซี่ปาดเข้ามา แทนที่จะไปคิดด้วยอารมณ์อย่างเคย สติก็รักษาให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา วันทั้งวันเขาต้องขับอยู่ในนรกอย่างนี้ มันก็รู้เห็นถึงใจ ไม่มีเสื่อมเลือนลืม เพราะอะไรที่รู้ด้วยปัญญา ถึงใจแล้ว จะเป็นสมบัติติดอยู่ในใจไม่มีหลงลืม เหมือนเราขี่จักรยานเป็นแล้ว ถึงจะไม่ได้ขี่จักรยานไปอีกหลายปี พอไปจับจักรยานเข้าใหม่ ครั้งแรกอาจแลดูเงอะงะ เหมือนกับจะขี่ไม่ได้ แต่ประเดี๋ยวเดียวก็จะขี่ได้คล่องอย่างเดิม
ท่านจึงบอกไว้ว่า อะไรก็ตามที่รู้จากการภาวนา และเป็นปัญญาตัวแท้ รู้เห็นเป็นขึ้นในใจแล้ว ต่อให้เราลืมเลือนไปเป็นปีๆ แล้วมีเรื่องทำนองนั้นเกิดขึ้นใหม่ เราก็จะแก้ไขได้ เพราะปัญญาเห็นชอบนั้นเป็นสมบัติติดอยู่ในใจเราแล้ว เป็นอริยทรัพย์ เป็นเสบียงที่จะปกป้องรักษา ไม่ให้ใจเรากลับไปเป็นอารมณ์ เป็นอกุศลอย่างแต่ก่อนอีก เราจะได้ชื่นใจว่า อะไรที่เป็นตัวปัญญา รู้ขึ้นมาแล้ว จะไม่เสื่อมถอย เหมือนเราเคี่ยวน้ำกะทิจนเป็นน้ำมันมะพร้าวแล้ว จะตั้งทิ้งไว้นานเท่าไรเท่าไร มันก็ไม่คืนตัวกลับเป็นกะทิอีกปัญญาที่ได้จากการรู้เห็นเป็นขึ้นในใจ มันเป็นอย่างนี้ ลักษณะที่ได้ก็อาจจะได้แบบท่านผู้ปฏิบัติกับคนขับแท็กซี่ หรือแบบตัวอย่างที่จะเล่าต่อไปนี้ มีพ่อแม่คู่หนึ่งอายุยังไม่ถึง 30 ปี เพิ่งมีลูกคนแรกก็เห่อลูกเป็นอย่างมาก คุณพ่อเป็นนายทหาร ทั้งคุณพ่อและคุณแม่ทำงานมีเงินเดือนดีพอสมควร สามารถหาซื้อหาข้าวของสารพัน มีพรักพร้อมให้ลูก
พอลูกอายุ 3 ขวบกว่า ก็เอาไปเข้าเตรียมอนุบาล ให้ขนของเล่นไปด้วย เพื่อลูกจะได้ไม่ว้าเหว่ที่โรงเรียน ผลปรากฏว่า พอกลับบ้านวันแรก ของเล่นกระจุยกระจาย แตกหักไปบ้าง ถูกขโมยไปบ้าง หน้าตาลูกก็บวมช้ำเพราะถูกชกมา พ่อซักถามว่า เรื่องเป็นอย่างไร ลูกเล่าว่า “เด็กที่โตกว่าอยากได้ของเล่นของเรา พอเราไม่ให้ เขาก็เลยชก แล้วเอาของเล่นไปเลย ถ้าไปแย่งคืนมา เขาก็ทำให้พังเสียเลย” คุณพ่ออบรมลูกชาย “ไม่ได้ลูก เราต้องรักษาศักดิ์ศรี ลูกเป็นลูกนายทหาร ใครจะมาเหยียบย่ำดูถูกดูหมิ่นไม่ได้ สอนให้ลูกชกคู่ต่อสู้ พรุ่งนี้ถ้าเขารังแกเราอีก ลูกชกสั่งสอนเลย ถ้าเขายังเป็นพาลบอกพ่อ พ่อจะไปช่วยชก”
รุ่งขึ้นใส่ของเล่นให้ลูกไปอีก ปรากฏว่า ลูกตาปูดกลับมาเพราะชกสู้เขาไม่ได้ คุณพ่อแค้นเคืองมาก สั่งสอนอบรมเป็นการใหญ่ วันรุ่งขึ้นก็ไม่ได้สังเกตว่าลูกทำอย่างไร ตกเย็นลูกกลับมาดีเรียบร้อย พ่อก็นึกว่าวิทยายุทธ์ที่สอนลูกไปประสบความสำเร็จ วันต่อมาก็ดีเรียบร้อยอีก พ่อก็ถามลูกว่า “เดี๋ยวนี้เพื่อนเขากลัวกำปั้นลูกแล้วใช่ไหม” “ไม่ใช่หรอกพ่อ เราอย่าเอาของเล่นไปโรงเรียนก็หมดเรื่อง” เด็ก 3 ขวบตอบอย่างนี้ พ่อยังไม่ทันได้คิด ก็ประท้วงว่า “ทำไมล่ะลูก ก็เรามีจะเล่นนี่” ลูกตอบ “แต่คนอื่นเขาไม่มี เราเอาไปแล้วทำให้เขาอยาก แล้วเราก็ไม่มีจะแจกเขา ทำให้ใจเขาไม่สบาย ถ้าเราไม่เอาไปเขาไม่เห็น เขาก็ไม่อยาก ไม่ทะเลาะกัน เราก็เป็นเพื่อนกัน ชกกันน่ะมันเจ็บนะพ่อ กำปั้นก็เจ็บ เนื้อก็เจ็บ แล้วเราก็ไม่เป็นเพื่อนกัน มันมีดีที่ไหนล่ะพ่อ” พ่องงเลย มาเล่าให้ดิฉันฟัง พร้อมกับปรารภว่า สงสัยผมต้องไปเรียนธัมมะกับลูกเสียแล้ว
เราอย่าไปเข้าใจว่า ความแตกฉานในธรรมต้องขึ้นอยู่กับอายุ หรือจำนวนชั่วโมงของการฝึกปฏิบัติ เพราะใจที่เป็นพุทธะไม่เกิด ไม่ตาย ไม่หมดไปพร้อมกับลมหายใจในชาติภพนี้ ใจอันนี้เป็นอมตธาตุ เป็นธาตุรู้ เปรียบเหมือนนักเดินทางท่องเที่ยวที่ไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย พอหมดลมหายใจจากชาตินี้ก็เหมือนเดินทางออกจากโรงแรมนี้ ครั้นไปเกิดใหม่ก็เข้าไปพักแรมในโรงแรมใหม่ นักเดินทางก็ไม่ได้หอบข้าวของตั่งเตียงอะไรไปด้วย มีแต่บัตรเครดิตไป เหมือนรามีบาปทรัพย์หรืออริยทรัพย์ติดจิตเราเป็นเสบียงไป เราทุกคนคลอดจากท้องแม่ก็มาตัวเปล่าด้วยกันทั้งนั้น ไม่เห็นได้กำอะไรมาด้วย แต่ระหว่างมีชีวิตอยู่ บางคนก็ร่ำรวยมหาศาล เขาเอามาจากไหนล่ะ ก็เอามาจากอริยทรัพย์ที่ติดกับใจมานั่นแหละ บางคนตั้งแต่เกิดจนตายไปก็มีแต่ตัวเปล่าๆ ไม่มีอะไรพันติดกลับไปเหมือนกัน เพราะเขามีแต่บาปทรัพย์ เอาไปแลกอะไรก็ไม่มีใครให้ ดีไม่ดียังมีหนี้ติดเพิ่มไปอีก เป็นสนิมติดกับใจไปอีก เราอย่าไปประมาทว่า อายุเท่านี้เท่านั้น จะรู้ธรรมได้อย่างไร บางที 3 ขวบเขาก็สอนเราได้อย่างที่คุณพ่อท่านนี้มาเล่าให้ฟัง สิ่งที่เขาคิดล้วนเป็นความจริงที่เถียงไม่ได้ เมื่อเรามี แต่เขาไม่มีแล้วเราเอาของเราไปเร้ากิเลสเขา แล้วก็ไม่แบ่งปันให้เขา เราจะทำไปทำไม เราเองบางทียังคิดไม่ได้เลย เราอาจจะบอกว่า ก็เจ้าเซ่อที่ไม่รู้จักหาเอาเอง แล้วจะมาอิจฉาอะไรฉัน คือคิดแบบเอาอัตตาไปเหยียบเขาต่อ ไปท้าทาย พอเขาโกรธแค้น เราก็หาว่าเขาเป็นพาลสันดานหยาบ เวลาที่เราคิด มันเหมือนเรายืนอยู่บนทางสองทางแพร่ง ถ้าคิดดีรู้เห็นเป็นขึ้นในใจ ความคิดนั้นก็เป็นกุศล เป็นสัมมาทิฐิ ถ้าเอาอัตตามาเป็นแกนนำ มันก็เป็นมิจฉาทิฐิ ทำให้โลกทุกข์เดือดร้อนทั่วไปหมด ที่ผู้คนทะเลาะกัน ทำสงครามกัน ก็เพราะมันคิดไม่เป็นคิดไม่ดี
การจะรู้เห็นเป็นขึ้นในใจนั้น ก็ไม่ใช่ว่าจะรู้ขึ้นมาจากชีวิตประจำวัน อย่างคุณลูก 3 ขวบคนนั้น บางคนต้องนั่งสมาธิ ทำภาวนา จิตสงบลงรวมแล้วจึงรู้ขึ้นมาเป็นนิมิตเหมือนคนนอนหลับแล้วฝันไป มีผู้ชายคนหนึ่ง มีพี่เป็นผู้ชาย ตัวเขาเป็นคนที่ 2 น้องคนที่ 3 เป็นผู้หญิง เขาน้อยเนื้อต่ำใจพ่อแม่ว่า ในชีวิตไม่เคยได้อะไรที่เป็นของใหม่เลย เพราะพี่กับเขาเป็นผู้ชายทั้ง 2 คน เป็นต้นว่า เสื้อผ้าพี่ชายใช้ยังไม่ทันขาดก็ต้องตกมาถึงเขา แต่น้องเป็นผู้หญิงจึงได้ของใหม่ เขาเลยเชื่อว่า พ่อแม่รักแต่พี่ชายกับน้องสาว ตัวเขาเป็นส่วนเกินที่ไม่มีใครต้องการ เขาจึงได้แต่ของเหลือเดนจากพี่ทุกครั้ง เขาไม่มีความสลักสำคัญอะไรต่อครอบครัวเลย
เมื่อเขาเรียนจบวิชาชีพ ก็ปลีกตัวออกจากบ้านไป ด้วยความคิดว่าเมื่อพ่อแม่ไม่รัก เรื่องอะไรจะต้องอยู่ด้วย เขาก็ปลีกตัวไปอยู่ของเขาเอง ทำงานหาเลี้ยงตัวโดยคิดว่าจบกันแล้ว เขาไม่มีอะไรเป็นหนี้เป็นสินกับพ่อแม่ บังเอิญมีเพื่อนที่ถูกใจกันมาเช่าห้องอยู่ด้วย กับเพื่อนคนนี้สนใจปฏิบัติฝึกทำสมาธิ จึงลากเอาเขาไปฝึกด้วย เขาก็ตั้งใจทำ วันหนึ่งเขาทำสมาธิแล้วจิตรวมลง เกิดมีภาพนิมิตถึงชีวิตเขาเองเมื่อวัยเด็ก เขาเห็นตัวเขาตอนเด็ก ๆ แต่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจกลายเป็นความรู้สึกของพ่อแม่ ไม่ใช่ความรู้สึกของตัวเขา
เมื่อเขาเจ็บ พ่อแม่ก็ห่วงใย ลุกขึ้นมาดู มาอุ้มสารพัน แทบจะตายตามลูกไปด้วย พอโตขึ้นมาหน่อย พ่อแม่ไม่ได้มีฐานะดีถึงกับจะซื้อเสื้อผ้าใหม่ให้เขาได้ ก็เอาเสื้อผ้าของพี่มาสำรวจดู มันยังดีอยู่นะ พ่อแม่ปรึกษากัน ลูกเราใส่แล้วก็คงไม่อับอายขายหน้าใครหรอกนะ เขาได้ไปรู้ในจิตใจของพ่อแม่ว่า ท่านรักเขาเท่าๆ กับที่ท่านรักพี่รักน้องของเขา ได้ไปสัมผัสถึงความห่วงใย ความคิดแต่ละอันๆ ซึ่งเขาไม่มีทางจะล่วงรู้ หากดูแต่จากพฤติกรรมที่แสดงออกมา ก็ว่าเออ... เอาแต่ของเก่าของเดนมาให้ ใจถอนออกจากสมาธิแล้ว น้ำตาเขาไหลพรากรู้ขึ้นในใจว่า ไม่มีความรักของใครจะใสบริสุทธิ์ยิ่งใหญ่กว่าความรักของพ่อแม่ ก็เลยไปเยี่ยมพ่อแม่พร้อมทั้งหาของไปฝากด้วย พ่อแม่ดีใจจนน้ำตาไหล เข้ามากอดเขาแล้วบอกว่า ดีใจที่ลูกมีความสุข พ่อแม่เป็นห่วง แต่ก็ไม่รู้ว่าลูกไปอยู่ที่ไหน เป็นอย่างไรบ้าง ได้แต่สวดมนต์ไหว้พระ ขอให้พระปกปักรักษาลูกด้วย เขาก็ยิ่งตื้นตันใจ สารภาพให้ท่านฟังถึงความรู้สึกของตัว พ่อแม่ก็เสียใจว่า ทำไมลูกไม่ถามพ่อแม่สักคำหนึ่ง จะได้อธิบายให้ลูกรู้ ให้ลูกเข้าใจ นี่ลูกไม่เคยพูดสักคำ ก็เลยนึกว่าลูกเข้าใจจิตใจของพ่อแม่ดีแล้วเขาเล่าให้ฟังว่า ใจอันนี้เป็นสิ่งมหัศจรรย์จริงๆ ถ้าได้รับการฝึกฝนให้เป็นธรรม เขาเชื่ออย่างไม่มีข้อสงสัยเลยว่า ธัมมะของพระพุทธเจ้าเป็นของร่มเย็นและมีคุณ มีประโยชน์ ใจที่ฝึกจนได้ที่แล้วรู้เห็นเป็นขึ้นในใจ จะเป็นแสงส่องทางให้ชีวิตไม่มีวันตกต่ำไป เพราะสิ่งที่รู้เห็นเป็นขึ้นในใจย่อมเป็นสัมมาทิฐิ พาให้ชีวิตดำเนินอยู่บนมรรค จากนั้นคุณงามความดีอื่นๆ ก็จะตามมาโดยลำดับ เรื่องนี้ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เราเกิดกำลังใจ ความรู้นี้ไม่ได้รู้แต่เรื่องโลกเท่านั้น
มีหลวงปู่องค์หนึ่งที่ดิฉันเคารพเลื่อมใส ท่านมรณภาพไปแล้ว ท่านเล่าให้ลูกศิษย์ฟังว่า ก่อนบวช ท่านมีครอบครัวแล้ว เห็นทุกข์ภัยในครอบครัวเลยมาบวช ท่านอ่านหนังสือไม่เป็น จึงต้องเป็นผ้าขาวอยู่หลายปี เพื่อฟังเขาซ้อมท่องขานนาค จนท่านท่องคำเหล่านั้นได้ไม่มีผิดพลาดขาดตกบกพร่อง จึงบวชได้ เมื่อบวชแล้ว ท่านก็ธุดงค์ไป ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ แต่ไม่รู้พระวินัยเพราะอ่านหนังสือไม่ออก จะรู้ก็แต่เฉพาะที่มีการปลงอาบัติกันให้ท่านได้ยิน ท่านเล่าถึงว่า ถ้าเรากำหนดให้มีสติอยู่กับใจ แล้วคอยสังเกต ระมัดระวัง จิตผู้รู้นี้จะคุ้มครองเรา ถึงไม่รู้พระวินัย เราก็จะไม่มีวันอาบัติ ท่านยกเรื่องที่เกิดขึ้นกับท่านระหว่างธุดงค์มาเป็นอุทาหรณ์ กล่าวคือ วันหนึ่งท่านไปถึงที่พักซึ่งมีลำธารอยู่ข้าง ๆ สำหรับใช้อาบน้ำได้ พอท่านลงไปจะสรงน้ำ ตลิ่งเป็นทราย ท่านก็คิดจะเด็ดใบไม้มารองสบู่ เพื่อไม่ให้เปื้อนทราย ท่านบอกพอมือท่านแตะใบไม้ มันรู้สึกเหมือนไฟฟ้าแล่นตลอดแขนท่าน ท่านก็รู้แล้วว่าสิ่งที่จะทำคงไม่ถูกต้อง ก็เลยไม่เด็ดใบไม้ หาอะไรอย่างอื่นมารองสบู่
คืนนั้นเสร็จกิจหมดแล้ว ท่านก็ตั้งในใจถามก่อนนั่งทำสมาธิว่า วันนี้ที่ท่านจะเด็ดใบไม้ มีอะไรไม่ถูกต้อง ท่านทำไปแล้ว มันจะผิด จะอาบัติหรืออย่างไร แล้วท่านก็ทำสมาธิ พอจิตท่านสงบลงรวม ตัวผู้รู้ รู้เป็นเสียงขึ้นมาในใจว่า พระภิกษุพรากของเขียวจากต้นไม่ได้ ท่านพิจารณาต่อไป อ๋อ... ท่านจะไปเด็ดใบไม้ ก็เป็นการพรากของเขียวจากต้น ต้นไม้มีชีวิตเราก็ผิด
หลังจากนั้น ท่านไปเจอครูบาอาจารย์ มีโอกาสได้ซักถามถึงเรื่องนี้ ท่านได้รู้พระวินัยละเอียดขึ้น ท่านบอกกับพวกเรารวมทั้งพระเณรว่า ถึงไม่มีความรู้ แต่ถ้าตั้งใจปฏิบัติธรรมให้สมควรกับธรรมแล้ว มันจะรู้เห็นเป็นขึ้นในใจ ไม่ว่าจะเป็นพระธรรม พระวินัยและเรื่องอะไร ๆ ถ้าเกิดกรณีที่เราเข้าที่คับขัน จิตผู้รู้นี้จะเตือน จะปกป้อง ให้เรามีสติที่จะรับรู้การเตือน ความรู้ยังไม่ออกมาชัดเจน แต่ให้เราชะงัก ให้เราหยุดเอาไว้ก่อน แล้วไตร่ตรองพิจารณา เสาะถามท่านผู้รู้เพื่อให้แน่ใจว่ารู้ถูกต้องแล้ว ด้วยวิธีนี้ ชีวิตของเราไม่มีวันหลุดลงไปสู่ภยันตราย เพราะอะไรที่ทำลงไปด้วยความมีสติ มีปัญญาที่รู้เห็นเป็นขึ้นในใจ ไม่ใช่ตามจิตสังขารที่ฟุ้งปรุงซัดส่ายไปตามอุปาทาน ตามอารมณ์ การกระทำเหล่านั้น ไม่ว่า กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม จะเป็นมรรค เป็นกุศลทั้งนั้น
เมื่อเป็นอย่างนี้ เราไม่ต้องห่วงว่าชีวิตจะเป็นอย่างไร เพราะหนทางนี้ถ้าเราพากเพียรเดินต่อไปก็จะต้องไปถึงจุดหมายปลายทาง ถ้าเรายังขี้เกียจขี้คร้านจะนั่งพัก เราก็ไม่ตกอยู่ในภัยอันตรายที่ไหน เพราะอยู่บนมรรค หนทางไปสู่ความสิ้นทุกข์แล้ว นี่คือการปฏิบัติ เราปฏิบัติกันเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า สิ่งที่เป็นสติปัญญาของเรานั้นถูกต้อง ออกมาจากใจที่เป็นพุทธะ เพื่อคุ้มครองปกป้องเรา ถึงขั้นนี้แล้วเราไม่ห่วงว่าจะได้ไปวัดไหม จะมีครูบาอาจารย์องค์ไหน เพราะเพียงแค่เรากำหนดนึก ครูบาอาจารย์ทั้งหลายก็เหมือนมาสถิตอยู่ในใจที่เป็นพุทธะของเรา นี่ก็คือพระพุทธเจ้าประทับอยู่กับเรา ปกป้องเราอยู่ตลอดเวลาความตรึกนึกคิดของเราที่ออกมา ที่รู้-เห็นเป็นขึ้นในใจ ล้วนเป็นธัมมะทั้งนั้น จะเป็นอะไรอื่นไม่ได้
กิเลสไม่สามารถส่งเสียงยุให้รำตำให้รั่วเข้ามาได้อีกแล้ว เราผู้ที่ปฏิบัติอยู่ตลอดเวลาก็คือสังฆะ ดังนั้น รัตนตรัยจึงอยู่กับเรา อยู่ในใจของเรา ปกปักรักษาเราให้ถึงซึ่งไตรสรณาคมน์ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง ไม่มีที่พึ่งอื่นใดที่เราจะไปเชื่อเลื่อมใสอีกแล้ว เราจึงมีตนเป็นที่พึ่งแห่งตน แล้วก็ไม่มีปัญหาอะไรอีกแล้ว ดิฉันขอฝากข้อคิดเหล่านี้ไว้ให้เป็นกำลังใจกับท่านที่ปฏิบัติทุกท่าน ทุกท่าน เพื่อให้ชั่วชีวิตนี้ เราจะได้อบอุ่นอยู่ในใจ มีกำลังปฏิบัติต่อไปด้วยความมั่นใจ