ตอบ
ยินดีต้อนรับสู่ฟอรั่ม 96 เสวนาธรรมบำเพ็ญ
กรุณา ลงทะเบียน เพื่อสามารถใช้งานฟอรั่มได้อย่างเต็มรูปแบบ !
ลงทะเบียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและใช้เวลาเพียงเล็กน้อย

"โดยพื้นฐานธรรมชาติเดิมแท้ของตัวเรา
เป็นสิ่งที่บริสุทธิ์และสะอาด
ถ้าเรารู้จิตของเราและเห็นถึงธรรมชาติเดิมแท้ของเรา
เราทั้งหลายก็จะบรรลุถึงความเป็นพุทธะ"

ตอบ
คำเตือน: หัวข้อนี้ไม่มีการตอบกระทู้ อย่างน้อย 120 วัน
คุณแน่ใจหรือไม่ ที่จะตอบกระทู้, กรุณาพิจารณาเริ่มหัวข้อใหม่
ชื่อ:
อีเมล์:
หัวข้อ:
ไอค่อนข้อความ:
ตัวหนาตัวเอียงตัวขีดเส้นใต้ตัวมีขีดกลาง|ตัวเรืองแสงตัวมีเงาตัวอักษรวิ่ง|จัดย่อหน้าอิสระจัดย่อหน้าชิดซ้ายจัดย่อหน้ากึ่งกลางจัดย่อหน้าชิดขวา|เส้นขวาง|ขนาดตัวอักษรแบบตัวอักษร
ใส่แฟลชใส่รูปHighslide Imageใส่ไฮเปอร์ลิ้งค์ใส่อีเมล์ใส่ลิ้งค์ FTP|ใส่ตารางใส่แถวของตารางใส่คอลัมน์ตาราง|ตัวยกตัวห้อยตัวพิมพ์ดีด|ใส่โค้ดใส่การอ้างถึงคำพูด|ใส่ลีสต์
ธรรมะ
 

shortcuts: กด alt+s เพื่อตั้งกระทู้ หรือ alt+p แสดงตัวอย่าง

dookdik_greenTea_14 dookdik_greenTea_8 dookdik_greenTea_20 dookdik_greenTea_18 dookdik_greenTea_12 dookdik_greenTea_11 dookdik_greenTea_2 dookdik_greenTea_9 dookdik_greenTea_4 dookdik_greenTea_7 dookdik_greenTea_5 dookdik_greenTea_15 dookdik_greenTea_10 dookdik_greenTea_16 dookdik_greenTea_19 dookdik_greenTea_13 dookdik_greenTea_1 dookdik_greenTea_17 dookdik_greenTea_3 family3 family1 family2 family4 ร้อน [เพิ่มเติม]
รหัสโค๊ด
พิมพ์อักขระ ตามที่คุณเห็นในภาพ วิธีการนี้จะช่วยป้องกันการโพสต์กระทู้โดยอัตโนมัติ


+ ตัวเลือกเพิ่มเติม...
สามารถอัพโหลดได้หลายรูปพร้อมกัน
Support File :
jpg, jpeg, gif, png Size 2MB



สรุปหัวข้อ
ข้อความเมื่อ: กรกฎาคม 29, 2011, 11:36:10 AM
ข้อความโดย: admin


ปัจจุบันจิต

ธรรมบรรยายโดย : พญ.อมรา มลิลา

:lS1:ทุกคนคงแปลกใจว่าทำไมเราจึงต้องมาพูดถึงเรื่อง ปัจจุบันจิต เพราะใจของเรานี้ เราว่าเราก็รู้ ก็เป็นปัจจุบันอยู่แล้ว แต่จริงๆไม่ได้เป็นหรอก ทำไมดิฉันจึงว่าไม่เป็น เพราะน้อยครั้งที่ใจจะอยู่นิ่งเฉยๆ เราคุ้นกับภาวะที่มีความคิด จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ แล้วก็ทึกทักว่าเป็นธรรมชาติของใจที่จะต้องปรุงคิด ถ้าเราเป็นคนละเอียดอ่อน มีสติปัญญา การปล่อยใจให้อยู่เฉยๆถือเป็นความผิดปกติ เราไปเข้าใจว่า การที่ใจมีความนึกคิด มีอะไรอยู่ตลอดเวลานั้นเป็นปกติ และไม่เคยไปใส่ใจสนใจสังเกตว่าที่ใจกระเพื่อมอยู่ตลอดเวลานั้น ดีหรือไม่ดี

 : L1 :ทีนี้ เมื่อมาปฏิบัติแล้วถูกสอนว่า การปฏิบัติคือการฝึกให้ตัวของตัวมีสติ ความระลึกรู้ ที่จะตามรู้ขณะจิตแต่ละขณะๆ ไปเรื่อยๆ เหมือนใจของเราเป็นเรื่องราวที่กำลังฉายอยู่ในจอโทรทัศน์ สติก็คือตัวเราที่นั่งดูอยู่หน้าจอเพื่อที่จะรู้เรื่องเหล่านั้น พอมาฝึกสติของเราอย่างนี้ จะพบว่าใจเรามักไม่เป็นปัจจุบันจิต เพราะอะไร ขณะดูโทรทัศน์ ดิฉันแน่ใจว่าหลายท่านในที่นี้ จะไม่เป็นเพียงคนดูโทรทัศน์ แต่เผลอเข้าไปแสดงโทรทัศน์เสียเองด้วย ทำไมจึงว่าอย่างนั้น ก่อนดูละครโทรทัศน์เรามักอ่านเรื่องราวมาก่อน แล้วใจก็ลุ้นทีเดียวว่า ต้องเป็นอย่างนี้นะ พอไม่เป็นอย่างนี้ “อื๊อ! ไม่ใช่” ใจกระโดดจากเก้าอี้นั่งดูแล้วไปออกสิทธิออกเสียง บางทีเรื่องแสดงอย่างนี้ เราบอก “ไม่ใช่” ต้องเป็นอีกอย่างหนึ่ง จะเป็นอย่างที่เป็นนี้ไม่ได้ เป็นต้นว่าเรื่องคู่กรรมที่คนดูส่วนใหญ่เขียนถึงผู้แต่งว่า จบอย่างนี้ไม่ได้ ต้องมีภาคพิเศษ
 : L1 :นี่แสดงว่าเป็นธรรมดาของทุกคน ไม่ใช่เฉพาะแต่ละบุคคล ทุกคนที่กระโดดเข้าไปเล่นคู่กรรมหมดตัว กลายเป็นส่วนประกอบคู่กรรม เพราะฉะนั้นไม่เป็นปัจจุบันจิตแล้ว เพราะเราไม่ได้อยู่กับความเป็นจริงแล้วว่า นี่เรากำลังดูโทรทัศน์ แต่เรากำลังเอาเรื่องอันนั้นมาเป็นเรา แล้วเอาประสบการณ์หรือภูมิหลังของตัวเรามาตัดสินว่า คู่กรรมจะเป็นอย่างที่คนแต่งให้เป็นไม่ได้ แต่จะต้องเป็นอย่างที่เรายึด เอาอุปาทานไปยึดเข้าไว้ ใจเราตอนนั้นหลุดไปจากความเป็นจริง เรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่เห็นชัดเจน

 : L1 :เวลาที่เราอยู่ในชีวิตประจำวันกัน ก็เหมือนเรานั่งอยู่หน้าจอโทรทัศน์ เพราะว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเราจริงๆแต่ละขณะ ก็เหมือนเรื่องในโทรทัศน์ที่เกิดขึ้น มีเหตุการณ์เกิดขึ้นกับผู้ร่วมงานของเรา กับที่บ้าน ลูกเต้าหรือคู่ครอง เหมือนแต่ละเรื่องที่เกิดขึ้นบนจอโทรทัศน์ มีใครบ้างที่กำหนดใจของตัว ให้ดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เก็บรายละเอียดตามความเป็นจริง แล้วยอมรับว่า เรื่องที่เกิดเป็นอย่างนี้นะ ร้อยทั้งร้อยพอมันเกิดขึ้น ยิ่งถ้าเป็นเรื่องที่เราไม่อยากให้เกิด เราจะบอกว่า “เป็นไปไม่ได้ มันต้องไม่ใช่” แล้วเราจะพยายามเปลี่ยนเรื่อง ตัวละครในเรื่อง คือเหตุการณ์จริงๆที่เกิดขึ้นนั้น ให้เป็นไปอย่างที่เราต้องการ

 : L1 :สมมติเราเป็นแม่ เราจะบอกลูกว่า “ลูกทำอย่างนี้ไม่ได้ ลูกจะต้องเปลี่ยนใหม่” มีเรื่องๆหนึ่ง ซึ่งดิฉันเคยยกมาเป็นตัวอย่างแล้ว มีแม่ท่านหนึ่งซึ่งลูกกำลังวัยรุ่น เข้ามหาวิทยาลัยเป็นปีแรก คุณแม่เป็นผู้ที่ถูกอบรมมาอย่างกุลสตรีโบราณ ลูกไปเที่ยวกับเพื่อนฝูง ทุ่มหนึ่งเป็นอย่างช้าที่สุด ลูกจะต้องกลับเข้าบ้าน ลูกก็ให้เหตุผลร้อยสี่พันอย่าง หนักเข้าก็สี่ทุ่ม หนักเข้าลูกก็บอกสองยาม ค่อยๆดึกไปเรื่อยๆ คุณแม่ก็พยายามประนีประนอม ต่อมาวันหนึ่ง ลูกก็มาบอกแม่ว่า เขามีท้องขึ้นมา ลูกก็ใจเด็ด บอกว่า เขาเป็นคนทำความผิด เขาจะยอมรับผิด อย่างสัตว์มันยังรักลูกของมัน เมื่อเขาพลาดไปแล้ว เขาก็จะยอมรักษาให้ท้องครบกำหนดแล้วคลอดออกมา ซึ่งแม่รับไม่ได้ ตอนแรกที่รู้ว่าลูกท้องก็จะเป็นลมตาย ตระกูลเราไม่เคยมีเรื่องอย่างนี้มาก่อน นี่จะเอาหน้าไปไว้ที่ตรงไหนได้

 : L1 :ความคิดแวบแรกคือต้องทำแท้ง ครั้นลูกบอกว่า ครั้งแรกเขาดื้อดึงกับแม่ จนกระทั่งบัดนี้เขาผิดไปแล้ว ก็จะยอมรับผิดด้วยการที่ว่า ถึงแม่จะเสือกไสไล่ส่งไปไหนหรืออย่างไร ก็จะลูกในท้องไว้จนกระทั่งครบกำหนดคลอดแล้วเขาก็จะดูแล แม่ขัดเคือง รับไม่ได้ เสียชื่อเสียงวงศ์ตระกูลแล้วอะไรต่อมิอะไรอีก ปู่ย่าตายายจะเดือดร้อนอย่างไร ก็บอกลูกว่าต้องทำแท้ง ลูกยืนยันว่าลูกผิดไปแล้ว ลูกจะยอมรับผิด เรื่องนี้ขอแม่อย่าห่วง แม่ก็ทำตามไม่ได้

 : L1 :ไม่ได้เป็นการนั่งดูโทรทัศน์เฉยๆ ไม่ได้เป็นปัจจุบันจิต ว่าพระพุทธเจ้าเคยสอนไว้ “ของทุกอย่างมาแต่เหตุ” มีเหตุอย่างไรจึงเกิดอย่างนี้ขึ้น หรือว่า เมื่อเหตุมีจึงต้องเป็นอย่างนี้ เป็นไปแล้วเราจะจัดการอย่างไรให้ถูกต้อง แต่ใจที่ยึดติดกับภูมิหลัง กับอะไรๆที่เรามี เป็นกรอบอยู่โดยไม่รู้ตัว เพราะมันอยู่ลึกลงไปในจิตใจไร้สำนึกของเรา เวลาที่เราไม่ตั้งสติกำหนดรู้ตามความเป็นจริง สิ่งที่เป็นแรงผลักดันอยู่ข้างในจะพุ่งออกมาบังคับให้เรากระโดดเข้าไปทุกข์กับเรื่องที่เกิดขึ้น ลืมปัจจุบันหมด ลืมว่าเราเป็นใคร เรากำลังทำอะไร เราอยู่ที่ไหน เราคิดแต่เพียงว่า สิ่งที่เป็นความอึดอัดคับอยู่ในใจนี้จะต้องแก้ตามวิธีของเรา

 : L1 :ตกลงคุณแม่ท่านนี้ก็กระโดดเข้าไปในจอโทรทัศน์ ลืมไปว่านี่เป็นปัญหาของลูก เรื่องของลูก เราไม่มีสิทธิ เราเป็นแม่เขาก็จริง แต่เราไม่รู้เลยว่า เหตุปัจจัยของเขาที่มีกันมาเป็นอย่างไร เขากับเราเกี่ยวข้องกันแค่ไหน เรามีสิทธิในชีวิตเขามากแค่ไหน คุณแม่ก็คิดแต่ว่า อย่างไรๆ ฉันต้องทำให้ลูกเราทำแท้งให้ได้ แต่ก็ยังดีนิดหนึ่งตรงที่คุณแม่คิดว่า ตอนนี้เราชักจะเป็นอารมณ์มากไปแล้ว เพราะฉะนั้นเอาเถิด ยุติไว้แค่นี้ก่อน แต่ยังไม่ยอมเลิก เราต้องหาวิธีที่นุ่มนวลให้ลูกเราเชื่อตามให้ได้ เห็นไหม จนกระทั่งได้เรื่องแล้วยังจะดื้อต่อไปอีก คือยังเห็นว่าวิธีของเรานี่ถูก อุปาทาน คือรวงรังแห่งทุกข์ทำให้เราหลุดออกไปจากความเป็นจริง ใจของเราไม่ได้อยู่กับปัจจุบันแล้ว ไม่รู้ว่ามันถอยไปอยู่ที่ตรงไหน เพราะคิดทีไรก็นึกว่า นี่ถ้าเผื่อแม่ของเรายังมีชีวิตอยู่ ท่านก็ต้องเห็นอย่างนี้เด็ดขาด คนเราจะไปยึดเอาตามสิ่งที่เราเคยถูก อบรมบ่มสอนมา โดยไม่ได้พิจารณาว่า แล้วจริงๆข้อมูลที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร เราควรแก้ไขอย่างไร

 : L1 :ท่านว่าท่านถูก ทั้งที่หลุดออกไปจากความเป็นจริง เคราะห์ดีที่คุณแม่ท่านนี้มีนิสัยว่าถึงเวลาสวดมนต์ การสวดมนต์ของท่านคือการทำใจให้เป็นปัจจุบัน มีสติรู้อยู่ ท่านจะสวดมนต์โดยไม่ให้มีตรงไหนผิดพลาด ถ้าผิดพลาดก็ตั้งต้นสวดใหม่ วันนั้นท่านก็ปฏิบัติเหมือนที่เคยทำอยู่เป็นประจำ ปรากฏว่าสวดมนต์ไม่ถูก เดี๋ยวผิด เดี๋ยวผิด เพราะใจไปผูกพันกับเรื่องที่เกิดขึ้น จนกระทั่งไม่จดจ่อกับการสวดมนต์ แฉลบหลุดไปเรื่อยๆ จนต้องตั้งต้นใหม่ ไม่รู้จักกี่ทีๆ ท่านก็เริ่มระลึกนึกได้ว่า วันนี้ใจของเราแย่มากๆ ไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน ไม่ได้อยู่กับบทสวด ท่านก็เลยตั้งใจว่า เอาละในเมื่อเห็นที่ผิดที่บกพร่องของเราอย่างนี้แล้ว เราต้องแก้ไข ถ้าปล่อยให้ใจเป็นอยู่อย่างนี้ พรุ่งนี้ไปทำอะไรมันจะต้องแย่หนักไปกว่านี้ ก็บอกกับตัวเองว่า ถ้าเราดึงใจของเราให้มาอยู่กับปัจจุบันคือคำสวดมนต์ไม่ได้ คืนนี้ไม่นอนก็ไม่ต้องนอน ถวายพระพุทธเจ้าเป็นปฏิบัติบูชา

 : L1 :เมื่อใจตั้งมั่นอย่างนี้แล้ว ที่จะเผลอแฉลบออกไปก็น้อยลงๆ คุณภาพค่อยดีขึ้นๆ จนในที่สุดท่านก็สวดมนต์ได้เรียบร้อย ไม่มีตก ไม่มีผิด ไม่มีอะไรเลย ใจที่ได้ผ่านการต่อสู้กับตัวเองมา ก็เหมือนเราสู้กับจิตเวทนาของเราโดยไม่รู้ตัว ก็เป็นการปฏิบัติส่วนหนึ่ง สวดมนต์เสร็จ ท่านก็นั่งสมาธิต่อ จิตรวมตัวเร็ว พอลงรวม จิตใจของท่านคงเป็นจิตที่ได้ฝึกมาพอสมควร ปัญญาก็เกิดขึ้น ท่านแวบขึ้นมาว่าไหนเราว่าถือศีลห้า ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ยุงสักตัวเราก็ไม่ตบ แล้วนี่เรากำลังทำอะไร เรากำลังบอกให้ลูกทำแท้ง สิ่งที่อยู่ในท้องเป็นสิ่งมีชีวิตนะ ไม่ใช้ชีวิตใครที่ไหน ชีวิตหลานของเราเอง แล้วนี่เรากำลังถือศีลอะไรกัน พอใจได้คิดขึ้นมาอย่างนี้ มันเบาทันทีเลย ท่านเห็นทันทีว่า ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ของทุกอย่างมาแต่เหตุ” ลูกเป็นลูกของท่านก็จริง แต่ท่านไม่รู้ที่มาที่ไป ไม่รู้ว่าเขามีวิบากอะไร มีบุพกรรมอะไรเป็นมูลมรดกมา แล้วเขาก็ถูกต้อง เราไปดุว่าเขาเลอะเทอะเปรอะเปื้อน แต่เขาก็มีสัญชาติญาณของความเป็นแม่ เขารักษาศีลไม่ไปทำลายชีวิต เราซิไปยึดติดในอุปาทาน ในชื่อเสียงเกียรติยศของวงศ์ตระกูล ยึดมั่นสำคัญผิดติดกับเปลือก โดนโลกธรรมหวั่นไหวโดยไม่รู้ตัว นี่ขนาดว่าเราปฏิบัตินะ ถอนออกจากสมาธิแล้ว ท่านก็เห็นที่คุณที่ครูบาอาจารย์สอนว่า ปัจจุบันจิต อยู่กับปัจจุบันให้ได้ แล้วใจของเราจะเหมือนพระอาทิตย์เที่ยงวัน ไม่มีเงาตรงไหนที่จะมาทำให้ใจของเราวอกแวกไป อย่างนี้เอง ท่านเกิดความซาบซึ้ง ธัมมะเป็นอย่างนี้เอง

 : L1 :แต่ก่อนนั้น ถ้าใครมาบอกท่านว่า ท่านไม่อยู่กับปัจจุบัน ท่านก็ไม่เชื่อ เราทุกคนที่บอกว่าอยู่กับปัจจุบัน อาจจะอยู่เพียงเศษหนึ่งส่วนเท่าไหร่ก็ไม่รู้ นอกนั้นแฉลบไปอยู่ที่อื่นอยู่ตลอดเวลา เหมือนเราดูของที่พลิ้วเป็นพยับแดด เป็นระลอกอยู่ตลอดเวลา เราก็ไม่เข้าใจ พอท่านเห็นอย่างนี้ ท่านจึงซาบซึ้งที่ครูบาอาจารย์บอกว่า การปฏิบัตินั้น ใจจะเป็นสมาธิหรือไม่เป็น ไม่ใช่ปัญหาสำคัญ แต่ต้องพยายามให้มีสติรู้กับความเป็นจริง รู้อยู่กับแต่ละขณะจิตๆ อะไรที่เกิดขึ้นแล้วทำให้เสียดแทง เป็นปัญหาที่เราแกะไม่หลุด ดูมันเฉยๆ เหมือนเรานั่งดูโทรทัศน์ แต่อย่ากระโดดเข้าไปแต่งบทโทรทัศน์ กำกับโทรทัศน์ แล้วเราออกไปจากปัจจุบัน สิ่งที่เราแก้ปัญหานั้นจะเป็นกิเลส เพราะเป็นสิ่งที่อยู่ในจิตไร้สำนึกที่เป็นอัตโนมัติ โดยไม่รู้สึกตัว

 : L1 :จากตัวอย่างอันนี้ที่ดิฉันยกขึ้นมา ถ้าท่านมองตามจะเห็นว่า มันอย่างนี้เอง แล้วทำไมเราจึงบอกว่า ปัจจุบันจิตคือกุญแจดอกสำคัญที่จะทำให้ชีวิตของเราเป็นกุศลหรืออกุศล เพราะใจของเราเหมือนของผสม ที่ผสมอยู่ระหว่างธาตุแท้ คือจิตรู้ที่เป็นพุทธะ รู้ตามความเป็นจริง กับแขกจร คือจิตหลอน ที่ถูกอิทธิพลของอวิชชา อุปาทาน กิเลส สิ่งแคลบแฝง มาครอบคลุมเอาไว้

 : L1 :อิทธิพลของความรู้ที่ไม่เป็นจริง ความรู้ที่คิดผิดเห็นผิด ตามอวิชชาอุปาทานมันสูง เพราะอะไร เพราะเราถูกอวิชชาอุปาทานกล่อมจนเชื่อหมดหัวใจ จนกระทั่งเราเป็นกระบอกเสียงของมัน มือของเราก็เป็นขี้ข้ามัน ความคิดของเราก็เป็นขี้ข้ามัน ปากของเราก็เป็นขี้ข้ามัน ความคิดของเราก็เป็นขี้ข้ามัน คือคิดทีไรเราจะคิดด้วยความเป็นอกุศล แต่ทั้งหมดนี้เราไม่รู้ตัว เราจึงมาเกิดอยู่อย่างนี้ เราจึงมีเหตุคือกรรม ที่สร้างให้เป็นตัวเป็นตน อย่างที่เราเป็นอยู่ทุกวันนี้ เพราะฉะนั้น เมื่อไรก็ตามที่เราตกอยู่ในภาวะวิกฤต อะไรที่เราหลุดไปจากปัจจุบันทันทีมันเป็นกิเลส เป็นสถิติของกิเลสทั้งนั้น เพราะความเคยชินเราไม่ทันรู้ตัว มันรวดเร็วมากจนกระทั่งเราคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เราไตร่ตรองดีแล้ว

 : L1 :ทุกๆขณะจิตของเรา เหมือนเราอยู่บนทางสองแพร่ง ทุกๆขณะจิตเราต้องตัดสินใจเดินออกไป การตัดสินใจของเราก็มีสาเหตุอยู่สองประการ คือ เหตุที่เป็นหนทางสู่ความดับทุกข์ คือ มรรค หรือ เหตุที่เป็นหนทางของการสร้างทุกข์ คือ สมุทัย เพราะฉะนั้น ทุกๆขณะจิตของเรา เราอยู่บนทางสองแพร่งตลอดเวลา อยู่ที่เราตัดสินใจว่าจะเอาอะไร หลายๆคนติดเป็นนิสัยว่า จะต้องดูหมอก่อน เข้าขึ้นมาต้องรีบเอาหนังสือพิมพ์มาพลิกหาคอลัมน์หมอดูว่าวันนี้พยากรณ์ไว้อย่างไร ไม่ต้องว่าใครหรอก ดิฉันเองก็ที่หนึ่งเลย พอหนังสือพิมพ์มาถึง จะต้องรีบเปิดดูก่อน ปากบอกว่าไม่เชื่อ แต่อย่างน้อยถ้าพยากรณ์ว่าดี ใจวันนี้ก็ฟู ถ้าบอกว่าวันนี้ไม่ดี จะได้เตือนตัวเองไว้ วันนี้จะได้ระมัดระวัง แต่ใจก็เฉาไป กังวลไปแล้ว

 : L1 :เห็นไหม โดยไม่รู้ตัวนี่แหละ เราไม่ได้คิดพึ่งตัวเอง เราคิดพึ่งดวงดาว เราเชื่อว่ามีอะไรอย่างหนึ่งที่บันดาลชีวิตของเรา พรหมลิขิต กรรมลิขิต หรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งจริงๆแล้ว พระพุทธเจ้าทรงสอนว่าสิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนเป็นพลัง อย่างที่เราเรียนเมื่อเด็กๆว่า เวลาพระจันทร์เต็มดวงจะมีอิทธิพลดึงดูดให้น้ำขึ้น ดาราศาสตร์ไม่ใช่เรื่องเหลวไหล หากเป็นสถิติจากการที่คอยเฝ้าสังเกตปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ จากพลังงานทั้งหลายที่ประยุกต์ต่อกัน โหราศาสตร์ก็เป็นเรื่องจริง เพราะเป็นเรื่องพลังของดวงดาวทั้งหลายที่มีต่อพลังจิตของคน แยกแยะตามราศีเกิด เวลาที่ดวงดาวเคลื่อนไปแล้ว แรงต่อแรงเหล่านั้นมาประยุกต์กันแบบกลศาสตร์มีผลเป็นอย่างไร

 : L1 :แต่พระพุทธเจ้าทรงย้ำว่า ฤกษ์ย่อมเป็นประโยชน์ต่อฤกษ์ ดวงดาวทั้งหลายจะทำอะไรได้ ท่านทรงศึกษาจนกระทั่งรู้ชัดแจ้งว่า ในประดาพลังทั้งหลายในจักรวาล ไม่มีพลังอะไรจะรุนแรงเข้มแข็งยิ่งใหญ่กว่าพลังจิตของมนุษย์ ถ้าย้อนนึกถึงประวัติของเจ้าชายสิทธัตถะ ตอนที่พระเจ้าสิริสุทโธทนะโปรดให้โหรทั้งหลายมาพยากรณ์ โหรทั้งหลายพยากรณ์กันว่า ถ้าเจ้าชายอยู่ทางโลกก็จะเป็นจอมจักรพรรดิ แต่ถ้าท่านสนใจใฝ่ธรรมท่านจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เห็นไหมว่า ดวงดาวทั้งหลายบ่งบอกได้แต่เพียงศักยภาพของท่าน สิ่งที่ท่านสั่งสมมา พลังที่ประกอบกันอยู่ในจิตของท่านเป็นสุดยอด แต่ว่าตรงทางสองแพร่ง ในคืนที่ท่านจะตัดสินพระทัยหลบเร้นออกบวชนั้น ไม่มีใครล่วงรู้ ไม่มีใครกำหนดทิศทางได้ว่า เจ้าชายสิทธัตถะจะเลี้ยวทิศใด สู่แพร่งไหน

 : L1 :ศักยภาพอันนี้เป็นอิสรเสรี จะอยู่กับสติสัมปชัญญะปัญญา หรือจะเผลอ คล้อยไปขึ้นกับอัตโนมัติของกิเลสที่เราเคยชิน เป็นสิ่งที่คาดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ปัจจุบันจิตจึงเป็นโอกาสทองและล้ำค่าไม่มีสิ่งใดเทียบเท่าสำหรับแต่ละคนในความเป็นมนุษย์ ถ้าเราตระหนักถึงความมหัศจรรย์อันนี้ แล้วพยายามฝึกตัวของตัวเอง ฝึกเอาไว้ ในแต่ละขณะที่ถูกบีบคั้นอยู่ด้วยเหตุการณ์รอบข้าง หยุดใจของเราให้แน่แน่วนิ่งให้ได้ ให้สติมาประกบ แล้วอะไรที่ตัดสอนตอบสนองออกไปนั้น ให้เป็นไปตามความระลึกรู้เท่าทันตามความเป็นจริง

 : L1 :อย่างที่ดิฉันยกตัวอย่าง คุณแม่ได้พากเพียรสวดมนต์จนกระทั่งจิตหลุดออกจากความเกาะเกี่ยวและไปผูกพันกับปัญหา มาเป็นจิตที่เป็นปัจจุบันจิตจริงๆ คือเปิดรับข้อมูลทั้งหลายเที่ยงตรงตามความเป็นจริง แล้วตรงนั้นแหละ สติที่เต็มรอบก็จะเป็นปัญญาขึ้นมาให้เห็นได้เราว่าเราถือศีล เรารักษาศีลยิ่งกว่าชีวิตยุงเราไม่ตบ แต่เรากำลังจะฆ่าชีวิตมนุษย์ มันเห็นขึ้นมาหมด แต่ถ้าเรายังยึดอยู่เหมือนเส้นผมบังภูเขา ไปยึดชื่อเสียงเกียรติยศวงศ์ตระกูล ในฐานะที่เป็นแม่ ในฐานะที่เป็นหลักของครอบครัว เราจะปล่อยให้เรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร สามีเราเป็นคนมีหน้ามีตา แล้วเราจะให้เขามัวหมองได้อย่างไร

 : L1 :เราถูกลมพายุของโลกธรรมหวั่นไหว ถ้าไม่ได้เห็นด้วยตัวเอง เมื่อใครมาพูดเราก็ต้องเถียงว่า “แน่ละซิ เธอไม่ใช่ฉัน เธอก็พูดได้ ลองเธอมาเป็นฉัน เธอก็จะไม่พูดอย่างนี้” นี่แหละอุปาทาน มันน่ากลัวอย่างนี้ ทำให้เราเห็นว่าเราเป็นผู้เชี่ยวชาญ เรามองรอบคอบกว่าคนอื่น เพราะคนอื่นไม่ใช่เราเขาจะมารู้เรื่องของเราดีไปกว่าเราได้อย่างไร มันถึงตกหลุมกิเลสอย่างนี้ พอเราเห็นตัวกิเลสอย่างนี้แล้ว เราจะได้พากเพียรฝึก เพราะถ้าไม่ฝึก จะไม่มีโอกาสเลย ดิฉันเองกว่าจะมองเห็นตรงนี้ ก็ถูกกิเลสยุแยงตะแคงข้าง แล้วเถียงกับท่านอาจารย์สารพันห้าร้อยอย่าง ท่านอาจารย์แนะนำอะไรเห็นเป็นของแปลกประหลาด เพราะอะไร ธรรมะก็เป็นสิ่งซึ่งสวนทางอยู่กับกิเลสตลอดเวลา สมุทัยก็คือเลี้ยวซ้าย มรรคก็คือเลี้ยวขวา เพราะฉะนั้นมันสวนทางกันอยู่ตลอดเวลา ที่เราตัดสินว่าเราดีที่สุดทางโลก ก็ยังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอวิชชาอยู่นั่นเอง

 : L1 :อย่างที่เล่าให้ฟังว่า มีคนเข้าใจดิฉันผิดว่า ดิฉันปฏิบัติจนกระทั่งเพี้ยนไปแล้ว ท่านอาจารย์ก็บอกว่า ให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ ไม่ต้องไปชี้แจงแถลงไขอะไรทั้งสิ้น ดิฉันฟังแล้วก็ไม่เข้ารูหู นึกว่าเราก็เคยเป็นครูบาอาจารย์มา ถ้าลูกศิษย์เราถูกเขานินทาว่าร้ายปู้ยี่ปู้ยำมาอย่างนี้ เราจะทำอย่างไร ถามทีไร ตั้งสติทำสมาธิเสร็จ คำตอบก็ออกมาว่าเราต้องเรียกลูกศิษย์มาบอกให้รู้ตัวเอาไว้ ถ้ามีใครมาว่าอะไรก็ต้องชี้แจง สรุปแล้ว เหตุผลของเราก็คือสถิติของกิเลสที่เคยทำ เรายังไม่เคยเจอของแท้ แต่ท่านอาจารย์บอกว่าให้หุบปาก ให้เงียบเอาไว้ แล้วให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์เอง อะไรจะดังยิ่งใหญ่ไปกว่าการกระทำ สิบปากว่าไม่เท่าหนึ่งตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่าหนึ่งลงมือทำ ลงมือทำให้เขาเห็นเป็นประจักษ์พยานแล้วอีกหน่อยเขาก็เงียบเอง ดิฉันประท้วง “ท่านอาจารย์เจ้าขา กว่าเขาจะเงียบ กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้” ท่านก็ตอกกลับไปว่า “แล้วอุปาทานแก้ไขกันได้ด้วยคำพูดหรือ ถ้าพูดแล้วคนสามารถเปลี่ยนทิฐิจากมิจฉาทิฐิเป็นสัมมาทิฐิได้ เจ้าชายสิทธัตถะไม่ออกบวชให้โง่หรอก”

 : L1 :เหตุผลของท่านยันเราจนไม่มีประตูเถียง แต่กิเลสในใจก็แย้งต่อ ท่านอยู่แต่ในป่า ท่านไม่รู้หรอกว่า ในวงสังคม คำที่พูดไปแล้วมันเสียหายหลายแสนแค่ไหน ขอให้ได้ตะแบงว่า เรานี่แหละนะรู้มากกว่า ชำนาญมากกว่า แต่เอาเถอะ ท่านอาจารย์ก็ไม่ได้ออกบัตรเชื้อเชิญเรามา เราอุตส่าห์เข้าไปรบกวนทำให้วัดของท่านวุ่นวาย ไหน ๆ เราขอเข้าโรงเรียนท่านแล้ว ก็ต้องเคารพเชื่อฟังทำตามหลักสูตร ให้สอบผ่านเสียก่อน หรือไม่ผ่าน ก็ค่อยมาว่ากันใหม่แทนที่จะหัวฟัดหัวเหวี่ยงว่าวิธีการของท่านไม่ได้เรื่อง ได้ดีตรงนี้เอง คืออย่างน้อยที่สุดเรารู้ว่า เมื่อตั้งต้นทำอะไรแล้วก็ต้องทำให้ถึงที่สุด ก่อนที่จะมาวิพากษ์วิจารณ์ว่ามันได้ผลหรือไม่ได้ผล เราทำตามไป แต่ในใจก็นึกเถียงว่าเสียเวลาเปล่า แต่พอผลจริงปรากฏออกมา เราจึงรู้ว่าอวิชชาในใจของเรามันทุเรศแค่ไหน

 : L1 :ขนาดตัวเองงี่เง่า แต่กลับสำคัญว่าเราไบร้ท์เสียเต็มประดา เราไม่เคยคิดว่า คำตอบที่ถูกต้องจะดูเชยๆ ทีนี้ทำตามไปแล้ว เหตุการณ์ค่อยคลี่คลาย คนที่เขาประโคมข่าวกัน หลังจากเห็นท่าเราไม่รู้ร้อนรู้หนาว เขาก็เริ่มแบ่งแยกกันเองว่า ถ้าเป็นอย่างนี้จริง ทำไมเราจึงเป็นปกติอยู่อย่างนี้ได้ อาจจะไม่ใช่ก็ได้นะ หรือคนที่มีเหตุผลก็บอกว่า ถ้าอยากรู้ความจริงก็ไปที่วัด ไปกราบเรียนถามท่านอาจารย์เลย นั่นแหละคือการหาข้อมูลที่ถูกต้องตามความเป็นจริง แต่ถ้าไปไม่ได้ เราสังเกตดูจากอากัปกิริยาก็คิดว่าน่ากลัวข่าวที่ได้มาคงจะโคมลอย

 : L1 :พวกที่มีเหตุผลก็หยุดพูดอย่างนั้นต่อไป เราเองก็ได้เรียนรู้ว่า ในประดาคนที่เรานึกว่าเป็นเพื่อน หรือเป็นคนที่เราไว้วางใจได้ แต่จริง ๆ เรายังไม่เคยรู้จักเขาถึงแก่น อย่างน้อยที่สุดเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นก็ดี ทำให้เราได้รู้ว่าต่อไปข้างหน้ามีเรื่องคับขันเราจะไว้ใจใครได้คนประเภทที่มีอะไรก็พูดไปเรื่อย ไว้วางใจเรื่องอะไรเขาก็ขาดทุน เพราะเขาเอาเรื่องของเราไปพูดจนเปรอะไปหมด ปากเขาบอกว่าอันนี้เป็นความลับนะ เขาก็ช่วยกันปิดให้แซ่ดไปหมด ไม่ว่ามีอะไรเกิดขึ้นเขาจะพูดไปเรื่อยไม่ต้องรับผิดชอบ พูดไปแล้วใครจะเสียหายหลายแสนเขาก็ไม่เข้าใจ เพราะเชื่อว่าเขาทำถูก คือรู้อะไรแล้วไม่เก็บปิดบังเอาไว้ ต้องให้คนอื่นได้รู้ด้วย แต่รู้แล้วจะเสียหายหรือรู้แล้วจะมีประโยชน์อะไรนี่ ฉันไม่ได้คิด ไม่ได้สนใจ แต่อีกประเภทเป็นคนมีเหตุผล เวลาจวนตัวหันไปพึ่งพาอาศัยก็จะพึ่งได้

 : L1 :เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สอนให้เราเริ่มเห็นและได้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้น ยิ่งกว่านั้น เราก็เริ่มเห็นว่า ถ้าพูดไป กิริยาที่ร้อนรน พยายามชี้แจง ทำให้คนฟังสงสัยว่าน่ากลัวมูลฝอยจะมีอยู่นะ เพราะว่าแต่ก่อนนั้นเราก็ไม่ใช่คนลุกลี้ลุกลนอย่างนี้ นี่คงใช่ มิเช่นนั้นทำไมจึงเดือดร้อนบีบบังคับให้คนอื่นเชื่อว่าเราไม่ได้เป็นอย่างนั้น การมีตัวตนอยู่ในใจก็ทำให้เรากระสับกระส่าย เดือดร้อน เพราะกลัวจะเสียหน้า ชื่อเสียงที่เข้าใจผิดไปแล้วต้องตามแก้ คนเรามีผลประโยชน์เป็นส่วนตัวแล้วย่อมทำให้ใจเอนเอียง ไม่เป็นกลาง มีพฤติกรรมบิดเบือนไปจากความเป็นจริงที่คนเคยพบเห็น

 : L1 :เพราะฉะนั้น ท่านจึงว่า ถ้าจิตของเราไปยึดไปอยากไปผูกไปพันอยู่กับอะไรแล้ว มันจะทรงความเป็นปกติเสมอต้นเสมอปลายอยู่ไม่ได้ จึงมีเวลาวูบวาบขึ้นลง ใจอย่างนี้เวลาอยู่กันทางโลกจึงเกิดแต่อารมณ์ กำลังถูกใจกัน ดีใจรักใคร่ เดี๋ยวก็เสียใจ แค้นใจ ขัดเคือง ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ มีความสุข ความทุกข์ กลับไปกลับมาอยู่ตลอดเวลา ทำให้ใจเราไม่ได้ความสงบ ไม่ได้พักผ่อน แรงที่ควรจะเป็นแรงสร้างสรรค์หรือแรงที่ไปแก้ไขปัญหาให้หมดสิ้นไป จึงกลายเป็นแรงเสียดทาน เกิดเป็นอารมณ์ต่อกัน เดี๋ยวก็ดีเดี๋ยวก็ร้าย ปากก็บอกอธิษฐานขออย่าได้เจอะเจอกันอีกเลย จะไปไหม ตายไปเสีย ฉันคงดีใจ แต่พอตายเข้าจริง ๆ “โถ! รู้อย่างนี้จะไม่ทำอย่างที่ทำไปหรอก” คร่ำครวญ เสียดาย คิดถึงใจที่ไม่อยู่เป็นปัจจุบันจิต ไม่รู้จักตัวเอง ทำร้ายตัวเองอยู่ตลอดเวลา

 : L1 :ย้อนไปถึงคุณแม่ท่านเมื่อกี้ ท่านเล่าให้ฟังว่า ท่านดีใจที่การสวดมนต์ของท่านคุ้มครองท่านให้เห็นผลในปัจจุบัน เพราะท่านบอก หากว่าท่านเกิดหว่านล้อมลูกให้ทำแท้งได้สำเร็จเป็นจริงอย่างนั้นขึ้นมา แล้ววันหนึ่งกำลังทำสมาธิ คิดได้ว่ามันก็คือมนุษย์ เราได้ฆ่าหลานในไส้ไป ป่านนี้จะเป็นอย่างไร เราแผ่เมตตาไปจะถึงไหม ใจก็จะเป็นกังวลขึ้นมาเรื่อยๆ ท่านก็เลยเห็นว่า การกระทำ อะไรที่เป็นอกุศลแล้ว ไม่ใช่จะเป็นความทุกข์เฉพาะต่อบุคคลที่เราทำเท่านั้น คนแรกที่จะเป็นทุกข์เดือดร้อนก็คือตัวของตัวเอง และท่านก็เห็นต่อไปถึงว่า ท่านจะภาวนาอย่างไร ๆ ก็ไม่แน่ใจว่าจะยกจิตขึ้นพ้นจากความมัวหมองได้ ตอนกระทำก็มีความสุขว่า เราทำสำเร็จ เรารักษาชื่อเสียงของวงศ์ตระกูลได้สำเร็จ แต่พอต่อๆ ไป ท่านบอกว่าไม่คุ้มกันเลย ใจที่ภาวนาก็ไม่ได้ แวบขึ้นมาแล้วก็หมอง ยิ่งกว่าตกนรกอเวจีอีก ไม่รู้ว่าจะชดใช้ได้อย่างไรจึงสำเร็จ

 : L1 :นี่แหละ จึงเรียนให้ท่านทราบถึงความสำคัญของปัจจุบันจิต ขณะเดี๋ยวนั้นมองไม่เห็นกัน เพราะยังถูกปิดบังด้วยเมฆหมอกของอวิชชา ทำให้ใครเอาแสงสว่างมาส่องให้เห็นหนทาง เราก็มองไม่เห็น หาว่าผิดอยู่ร่ำไป แต่พอเราได้ผ่านพ้นเหตุการณ์ตรงนั้นไปหลาย ๆ อย่าง ความผิดหรืออะไรได้ประจักษ์ขึ้นแล้ว คือเรียกได้ว่า กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้แล้ว ความเสียใจ หนี้สิน ราคาค่าเสียหายที่เขาเรียกนั้นประมาณไม่ได้ เราก็มานึก ถ้ารู้อย่างนี้เราจะหยุดตั้งแต่ตอนนั้น แต่ทำไมถ้าไม่มีใครชี้แจงให้เรารู้อย่างนี้

 : L1 :จริงๆ เขาก็ชี้แจงให้เรารู้อย่างนี้ แต่เราปิดหูปิดตา เราไม่ยอมฟัง เพราะใจที่มองเห็นแต่เงา แล้วก็ไปคว้าแต่เงา ทำให้เราพลาดจากเป้าของจริงไป ด้วยเหตุนี้เอง เราจึงพูดกันว่า ปัจจุบันจิตคือหัวใจของการปฏิบัติ ถึงเราทำสมาธิ นั่งปุ๊บได้สมาธิทุกครั้งไป ก็อย่านึกว่า อันนั้นคือความเจริญก้าวหน้า เพราะอะไร นั่งปุ๊บนิ่งเงียบไปหมดเลย น่ากลัวเราหลอกตัวเอง เพราะใจของเรายังมีที่ผิดที่บกพร่องอีกเยอะ ท่านอาจารย์สอนว่า ถ้าใจของเรานิ่งอย่างนั้นจริงแล้ว เป็นพระอรหันต์แล้ว แต่นี่เรายังไม่ได้เป็น ตกกระแสเราก็ยังไม่ได้ตกเลย ปรากฏว่าพอนั่งปุ๊บ เราจะได้แก้ไขที่ผิดของเรา เงียบหมดไม่มีที่ผิดเลย ท่านอาจารย์บอก “หลง”

 : L1 :ตอนแรกฟังแล้ว ท่านอาจารย์กล่าวโทษรุนแรงเกินไป พอเดี๋ยวนี้มาซึ้งจริง ๆ ถ้าวันไหนนั่งปุ๊บ เงียบกริบหาที่ผิดไม่ได้ เวลากลืนกินชีวิตเราไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะอะไร แทนที่เราจะขุดคุ้ยตะกอนของเราขึ้นมาให้ปรากฏ เพื่อจะได้ช้อนทิ้งได้ เรากลับเอามันไปอัดไว้ แล้วเราก็เหลิง เห็นตัวเองว่าแน่แล้ว พอวันดีคืนดี มีเหตุการณ์ชนเราสั่นสะเทือน จนกระทั่งตะกอนพวกนี้แตกพรูกระจายออกมา เราซึ่งเคยภูมิใจว่า ฉันไม่มีกิเลสแล้ว โกรธไม่เป็นแล้ว ก็โกรธจนกระทั่งเส้นเลือดแตก คราวนี้ช่วยตัวเองไม่ได้เลย เพราะสติไม่รู้ไปอยู่ที่ไหนแล้ว

 : L1 :เราถึงได้บอกว่า เวลาเข้าไปยึดผิดๆ เข้าใจผิดๆ นั้นเป็นอันตรายต่อตัวเองอย่างยิ่ง แต่ถ้าปฏิบัติแล้วเราเป็นอะไรก็ไม่รู้ ใจยังไม่ยอมลงรวมเป็นสมาธิสักทีหนึ่ง นั่งก็วุ่นวี่วุ่นวาย ผิดกับแต่ก่อนนั้นตัวเองดูก็สงบดีอยู่ แสดงว่าสติเราดีขึ้น พัฒนาดีขึ้น ใช้ได้ ท่านอาจารย์บอกแต่ก่อนเราก็วุ่นอย่างนี้แหละ คนอื่นเขาเห็นว่าเราวุ่นอย่างนี้ แล้วเขาก็อดทน อดกลั้นกับเรา แต่เราไม่เห็น ตอนนี้เราเริ่มเห็นแล้ว ก็ดีแล้ว จะได้เอายาใส่แผล และก็ไม่ไปรบกวนคนอื่นเขา

 : L1 :วิธีมองของท่านที่ใจเป็นสัมมาทิฐิ ท่านมองสวนทางกับเรา เราไปโทษว่า แต่ก่อนปฏิบัตินั้น เราก็ดีๆ อยู่ พอมาปฏิบัติแล้วเราจึงเห็นว่าเราไม่ดี ซึ่งแต่ก่อนนั้นเราไม่ดีอย่างนี้แหละ ทุกคนเหลือจะอดจะทน เขาเห็นว่าเรายังละเมอ ก็ปล่อยไปก่อนเถอะ ถึงปลุกขึ้นมาบอกว่าเราแย่ กิเลสที่ปิดหลังนั่งคอเราอยู่ ขนาดถูกปลุกตื่นขึ้นมาแล้วมันยังกล่อมว่า อย่าเพิ่งตื่นเลย ตื่นแล้วก็เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นอย่ามาปฏิบัติดีกว่าจะได้สบาย ๆ เราจึงต้องตามมองวิธีคิดของเราให้ดีๆ มีผู้ถามดิฉันว่า เขามีลูกเล็กๆ อยู่สองคน จะบังคับให้ลูกปฏิบัติตั้งแต่เดี๋ยวนี้จะฝืนธรรมชาติไป เพราะฉะนั้น แม่ควรทำอย่างไรจึงจะเลี้ยงลูกโดยกรุยแนวทางไว้ให้เขาอยากปฏิบัติธรรมต่อไป แต่ขณะเดียวกันก็รู้เท่าทันโลก และอยู่กับเพื่อนฝูงได้โดยไม่งมงายล้าหลัง เธอไปเห็นว่าการปฏิบัติธรรมกลายเป็นความงมงายล้าสมัยไปเสียแล้ว

 : L1 :ดิฉันเรียนท่านว่า การปฏิบัติธรรมคือการมาทำใจของเราให้เป็นพุทธะมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ พุทธะคือการ รู้ ตื่น เบิกบาน คนที่รู้ก็ต้องเป็นคนที่ดี ทันสมัย ตื่นดีกว่าสลึมสลือละเมอ เบิกบานก็ดีกว่าหดหู่ โมโหโทโส แล้วทำไมการฝึกใจเราให้ รู้ ตื่น เบิกบาน จะกลายเป็นไม่เหมาะสมกับโลกนี้ การที่พระพุทธเจ้าสอนให้เรารู้จักเพียงพอ รู้จักที่จะสะดุ้งละอายต่อบาป ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เราเป็นคนไม่ทันโลกและเสียเปรียบ พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราขวนขวาย ดูในพุทธประวัติอย่างอนาถบัณฑิกเศรษฐี ก็เป็นเศรษฐีรวยล้นเหลือ ถ้าอยู่สมัยนี้ ดิฉันว่าก็คงยิ่งกว่าอภิมหาเศรษฐีทั้งหลายทั้งปวงที่เรานินทา ก็ไม่เห็นพระพุทธเจ้าว่า “อนาถบัณฑิกเศรษฐี เลิกทำเสีย มาบวชเสียเถิด” ท่านไม่เคยว่า ท่านตรัสแต่ว่า “จงพยายามรักษาคุณงามความดีที่มีอยู่แล้วเอาไว้ แล้วก็ขวนขวายเพื่อให้คุณความดีที่ยังไม่มี งอกงามขึ้นไปอีก”

 : L1 :คำสอนของท่านว่า อะไรที่เป็นของดีของงาม เราต้องขวนขวายให้งอกงามยิ่งๆ ขึ้นไป ที่ท่านทรงสั่งให้สันโทษก็คือ อะไรที่เป็นความผิดความชั่ว เราอย่าไปยุ่งเกี่ยว เราอย่าไปหน่วงเหนี่ยวมาเป็นอารมณ์ให้เป็นหนอนบ่อนไส้เรา ทำให้เราตกต่ำ อะไรก็ตามที่เป็นความทะเยอทะยานอยากก้าวหน้า ความเจริญรุ่งเรืองในทางที่ถูกที่ควร พระพุทธศาสนาไม่เคยห้ามปราม พุทธศาสนาสอนเพียงให้เราประกอบเหตุอันเป็นสิ่งดี มีศีลธรรม ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เพื่อว่าทำไปแล้ว เราได้ความเจริญงอกงามในวัตถุแล้วขณะเดียวกันจิตของเราต้องไม่ขึ้นขี้สนิม ต้องได้อาหารใจ ได้อุปนิสัยที่ทำให้ใจของเราเกิดความเบาสบาย เป็นเสรี ขณะเดียวกันก็มีความเชื่อมั่นในตัวเองว่า เรามีตนเป็นที่พึ่งแห่งตน คือสิ่งที่เรากระทำขอให้อยู่ในกรอบของศีลธรรมนั่นเอง

 : L1 :ท่านเน้นวิธีการ ความละเอียดถี่ถ้วน คุณภาพของการกระทำ แต่ท่านไม่เคยห้ามว่า อย่ารวย อย่าอยากเจริญก้าวหน้า ท่านทรงสอนให้อุบาสกอุบาสิกาขวนขวายเพื่อความเป็นปึกแผ่น เพื่อความเจริญรุ่งเรือง เพื่อความก้าวหน้า แต่ว่าวิธีที่จะก้าวหน้านั้นอย่าเอารัดเอาเปรียบคนอื่น อย่าทำให้คนอื่นทุกข์เดือดร้อนเพราะเรา อย่างทำให้เราขาดทุนสูญกำไร ด้วยการติดนิสัยที่เป็นกิเลสมา

 : L1 :คนเราไปเข้าใจว่า ถ้าปฏิบัติแล้ว อยากไม่ได้ พระพุทธเจ้าไม่ทรงสอนอย่างนั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เรามีธรรมฉันทะ คืออยากเพื่อทำคุณงามความดี อยากเมื่อมรรคผลนิพพาน ท่านให้จักรของความสำเร็จเอาไว้ คือ อิทธิบาท 4 ท่านไม่เคยให้เราอยู่เฉย ๆ ทำตัวเป็นขอทานกันอย่างนี้ ท่านไม่เคยสอน ท่านทรงสอนแต่ให้เราขวนขวายเพื่อคุณงามความดีที่ดียิ่งขึ้นไป เราต้องเปรียบเทียบวันนี้กับเมื่อวานนี้ เราก้าวหน้างอกงามไป หรือว่าเราถอยหลังกลับเข้าคลอง เวลากลืนกินชีวิตเราไปหรือเปล่า

 : L1 :ถ้าเป็นสมณะ ท่านตรัสให้ดูว่า วันเวลาที่ล่วงไป เรามีคุณงามความดีพอจะคุยกับเพื่อนสหธรรมิกได้ไหม ไม่ใช่ว่าพอไปเข้าหมู่กับเขาแล้ว เราก็เก้อเขิน พูดอะไรกับเขาไม่ได้ เพราะไม่มีอะไรรู้ เห็น เป็นขึ้นในใจ พอที่จะไปพูดชี้แจงกับหมู่เพื่อนได้ ท่านทรงสอนให้เราทำงานของเราอย่างเต็มความสามารถ เต็มความภาคภูมิ แต่เราเอากิเลสของเราไปแปล ก็เลยไขว้เขวไปหมด คิดไปว่าอะไร ๆ ที่จะทำนี้ ทำไม่ได้ทั้งนั้น เราก็เลยเอาธัมมะมาแปลตามพจนานุกรมของพระเทวทัต ของพญามาร แล้วบอกว่าพุทธศาสนาทำให้ประเทศของเราเป็นประเทศด้อยพัฒนา

 : L1 :ท่านอาจารย์เคยว่า พุทธศาสนาไม่ได้เสื่อมาเพราะคอมมิวนิสต์หรือเดียรถีย์ พักนั้นมีคนห่วงว่าท่านอาจารย์มาอยู่ในป่าอย่างนี้ คอมมิวนิสต์เยอะ ระวัง เขาตั้งค่าหัวให้ฆ่าท่านอาจารย์องค์ละเท่านั้นเท่านี้ ท่านอาจารย์ตอบว่า “พุทธศาสนาไม่ได้เสื่อมเพราะคอมมิวนิสต์หรือเดียรถีย์หรอกนะ แต่มันเสื่อมเพราะลูกศิษย์ใกล้ชิดนี่แหละ ที่ไปอ้างว่าท่านอาจารย์สอนอย่างนั้นอย่างนี้” นี่แหละเราทำให้ครูบาอาจารย์เสื่อมไปโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในใจของเราโดยที่เราไม่รู้ตัว นี่แหละอวิชชา คือความรู้ไม่รอบ ทั้งรู้ทั้งหลง เรานึกว่าเรารู้ แต่ในความรู้อันนั้นมีมุมบอดที่ปิดบังเราอยู่ เหมือนกับเราบอกว่า รู้นะ เหรียญบาท แต่เรารู้ด้านที่เป็นครุฑ เราไม่ได้เห็นเวลาที่เอาเหรียญบาทตั้งเป็นสัน มันเป็นอย่างไร อีกหน้าหนึ่งเป็นพระเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างไร จะว่าเราไม่รู้ก็ไม่ใช่ เราก็รู้ แต่เราก็ทั้งรู้ทั้งหลง พอใครมาบอกเราว่า ไม่ใช่นะ เขาเอาเหรียญบาทตั้งเป็นสันนี่ ๆ เหรียญบาท เราบอกไม่ใช่ เห็นไหม จะว่าเราผิดทั้งหมดก็ไม่ใช่ เราก็มีส่วนถูก แต่ไม่ถูกทั้งหมด

 : L1 :อวิชชาเป็นสิ่งที่ทำให้เรายากที่จะยอมรับว่าเราผิด เหมือนที่ดิฉันเคยยกตัวอย่าง กระดาษไขที่พิมพ์แล้วไม่คม พอเอาไปอัดโรเนียว ตัวหนังสือจะเว้าแหว่ง เป็นต้นว่า ตัวเลขจริง ๆ เป็นเลข 8 อารบิก บางคนอาจอ่านได้เป็นเลข 3 เพราะว่าปรุไม่ขาด บางคนอ่านเป็นเลข 6 บางคนอ่านเป็นเลข 0 เพราะไปขาดตรงกลางเสีย ทุกคนถ้าเราพูดตรง ๆ ว่า 8+3 ได้เท่าไร ก็ได้ 11 ทุกคน แต่พออ่านจากกระดาษไขที่แจกไป ถ้าใครเห็นเป็น 0+3 คำตอบก็เป็น 3 ถ้าเราบอกผิด เขาก็บอกผิดตรงไหน ก็เธอ 8+3 แล้วได้ 3 8+3 ก็ 11 เห็นไหมมันรู้ แต่เวลาที่ใจถูกอิทธิพลของอวิชชาปิดบังเอาไว้ก็ไม่เป็นปัจจุบันจิต ไม่คม ตามไม่ทัน มันพลาดไปอย่างนี้แหละ เราก็รับไม่ได้ เราถึงเจ็บแค้น

 : L1 :ทำไมถึงมาว่าเราผิด เรารู้ว่าเรารู้นี่นา แต่เราลืมไปว่า ในปัจจุบันชั่วขณะจิตนั้น ทั้ง ๆ ที่เรารู้ แต่เราไม่ได้เอาความรู้นั้นมาใช้ให้ถูกต้อง เอาความรู้ไม่จริงมาใช้ แล้วเมื่อมันผ่านไปแล้วจะไปยืนยัน นั่งยันอย่างไร ก็แก้สิ่งที่ผ่านไปแล้วไม่ได้ เราจะทำ 3 ให้เป็น 11 ขึ้นมาไม่ได้แล้ว แต่ถ้าเราได้สติ เรารู้ว่า นี่ไง พระพุทธเจ้าทรงสอนให้จดจ่ออยู่กับปัจจุบันอย่าให้พลาด ครั้งนี้พลาดแล้วเป็นบทเรียน ครั้งนี้ครั้งเดียว เราจะจำติดใจแล้วจะไม่พลาดอีกเป็นอันขาด

 : L1 :ถ้าเราระลึกอย่างนี้ได้ก็เป็นบุญของเราไป เราก็จะจำเอาไว้ จะไม่ให้พลาดตรงนี้ได้อีก พอตรงไหนพลาดต่อไป…อ้อ! เกิดตะกอนขึ้นมาอีก เราจะได้ช้อนทิ้งอีก อะไรที่เกิดขึ้นดีที่สุดสำหรับเรา ถึงจะพลาดพลั้งไปก็ทำให้เราเห็นที่ผิดพลาดของเรา ถ้าเราไม่เห็นที่ผิดของตัวเอง เราจะไปแก้ตรงไหนได้ ขอบคุณที่เรื่องนี้เกิดขึ้น ใจเราก็ไม่เป็นสนิมกับคู่กรณี แหม! เขาทีเดียวเชียวมาทำซ่า ทำให้เราเสียหน้าหมด ยับเยิน เย็บกี่เข็มกันนี่ ถ้าไปคิดอย่างนี้กลายเป็นแรงเสียดทานแล้ว เกิดเป็นอารมณ์แล้ว ใจเราก็หมอง มีตัวสัตว์ ตัวบุคคล แล้วพอเห็นเขาคราวหน้า โดยไม่รู้ตัว เราเกิดความรู้สึกแล้ว “จะเอาอะไรกันอีกล่ะ” ใจเราก็เกิดอคติแล้ว

 : L1 :ถ้าเราคิด เออ ดีนะ ถ้าไม่มีเรื่องนี้เกิดขึ้น เราก็ไม่ได้เห็นที่ผิด ที่บกพร่องของตัวเอง คนอื่นเขาหัวเราะขบขัน แต่ตัวเราละเมออยู่ตลอดเวลา ขอบคุณนะที่มีเรื่องนี้เกิดขึ้น พอเจอกันครั้งใหม่เราก็ไม่มีอะไรกับเขา ใจเราก็ใส ยิ้มแย้มแจ่มใสไปตามเนื้อผ้า แล้วแรงที่จะกลายเป็นแรงเสียดทาน ทำให้เรามีอารมณ์ ทำให้เราทุกข์ เดือดร้อน มันก็ไม่มี เราก็ได้แก้ไข ได้เรียนรู้ตามความเป็นจริง ได้เพิ่มสิ่งที่ถูกต้องให้กับใจเรา ใจเราซึ่งแต่ก่อนมีแต่อวิชชาอยู่ เดี๋ยวนี้มีความรู้จริงทดแทนเข้ามา วิชชาก็ค่อย ๆ ไปละลายสิ่งที่จะทำให้เราบิดเบือนไป ค่อยใสขึ้นสว่างขึ้น

 : L1 :ใจที่ได้ฝึกอย่างนี้ ถึงแม้จะยังไม่ใสเต็มที่ แต่อย่างน้อยพื้นนิสัยเริ่มเปิดรับฟังคนอื่นเป็น การมีคนมาตำหนิติเตียน แล้วเราเริ่มเห็นตามความเป็นจริงว่า เขาไม่ใช่จะมาฉีกหน้าเรา ไม่ใช่จะมายกตนข่มท่าน แต่ว่าเขาทำเพื่อช่วยเหลือเรา หรือเขาทำด้วยเจตนาบ่อนทำงานเราก็จริง แต่ใจของเรามีภูมิคุ้มกันพอที่จะไม่ยึดมั่นสำคัญตนมากมายจนรู้สึกว่า “มันเรื่องอะไรกันนะ” เราก็จะวางใจของเราให้เป็นธรรมชาติ รับสิ่งนั้นเข้ามาแก้ไขตัวเองได้

 : L1 :เราก็ได้ประโยชน์ ทั้งๆที่เขามุ่งร้ายทำลายเรา แม้มีเหตุที่ไม่ดีต่อกัน เราก็เปลี่ยนอันนั้นให้เป็นหินลับปัญญา ทำให้เป็นอโหสิกรรมต่อกัน เขาจะยังผูกโกรธเรา เราก็ไม่รับรู้ เราก็ไม่ถือ แต่หมุนเอาสิ่งที่เขาทำนั้นให้มาเป็นประโยชน์กับตัวเรา พอเราทำได้อย่างนี้แล้วชีวิตจะเบาขึ้นเยอะ ไม่อย่างนั้นบางทีเราก็อึดอัดกังวลว่า วันนี้เราจะไปเจอคนดีหรือคนไม่ดีนะ ถ้าพบอะไรๆหลายอย่างที่ทำให้ผิดหวังติดๆ กัน ใจก็แหยง “เจ้าพระคุณ! วันนี้ขอให้เราอย่าเจอปัญหาเลยนะ”

 : L1 :พอทำท่านว่าจะเจอปัญหา ใจเราก็ฝ่อแล้ว ไม่อยู่กับปัจจุบันแล้ว กลับไปคิดเรื่องเก่าๆ ข้อมูลก็ผิดพลาด เลข 8 เราอาจเห็นเป็นเลข 6 เป็นเลข 0 ถ้านึกอย่างนี้ได้ไม่เอาไม่กังวล อย่างน้อยที่สุดถ้าเราเอาสติไว้กับใจ อะไรเกิดขึ้น พระพุทธเจ้าทรงสอนแล้ว มันคือผลของการกระทำเก่าๆของเราเอง เราทำมรดกอย่างนี้ไว้ให้ตัวเอง แล้วจะไปโวยวายกับใคร จะไปหนีมันทำไม ชดใช้เสียตอนนี้ ขณะเรายังมีเรี่ยวมีแรง มีกำลังใจจะทำไหว มาเท่าไหร่ก็มาเลย เราจะได้สบายตอนแก่ตัวลง เพราะใจมันสู้ ความตั้งมั่นก็เกิดขึ้น กำลังก็มี สติปัญญาก็มา ตกลงอะไรๆ ก็กลายเป็นเรื่องดีไปทั้งนั้น ถ้าระลึกนึกอย่างนี้เอาไว้ เราจะได้เข้าใจว่า พอมาปฏิบัติแล้ว อย่างน้อยที่สุด ดึงใจของเราให้อยู่กับปัจจุบัน อย่าไปปรุงคิด อย่าไปนึกถึงอดีต อย่าไปนึกถึงอนาคต อย่าไปคาดคอยว่าที่เราทำเมื่อไรจะได้ผลออกมานะ

 : L1 :หลวงพ่อชาเคยสอนคุณหมอท่านหนึ่งซึ่งกลุ้มใจเมื่อมารับงานบริหาร ท่านเล่าถวายหลวงพ่อว่า “ไอ้โน่นก็ทำอย่างนี้ ไอ้นี่ก็ทำอย่างนั้นแล้ว ทำไมจึงยังไม่ได้ผลอย่างใจสักทีหนึ่ง” ท่านก็ถามคุณหมอว่า “เวลาคุณหมอปลูกมะม่วงแล้ว หน้าที่ของมะม่วงจะออกลูก หรือหน้าที่ของคุณหมอจะไปออกลูกมะม่วง” คุณหมอบรรลุตรงนั้นเลย ท่านก็สอนต่อ “มะม่วงบางต้นเป็นกิ่งตอน ปีสองปีก็ออกลูกแล้ว มะม่วงบางต้นเพาะเม็ด อาจจะ 5 ปี จึงจะออกลูก เราจะไปรู้ได้อย่างไรเล่า คนอื่นเขาทำอาจจะกิ่งตอน เราจะไปรู้ได้อย่างไรเล่า คนอื่นเขาทำอาจจะกิ่งตอน ของเรามะม่วงเพาะเม็ด เพราะฉะนั้น เรามีหน้าที่ปลูกมะม่วง เราก็รักษามันให้ดี แต่ไม่ใช่หน้าที่ของเราจะออกลูกมะม่วงแทนต้น”

 : L1 :นี่แหละ เราจะใจร้อนใจเร็วกัน พอทำอะไรปุ๊บ เราไม่ได้นึกว่าเราจะประกอบเหตุอย่างไรมันจึงจะดีงามที่สุด แต่เราไปนึกว่า ผล ผล ผล พูดถึงตรงนี้แล้ว นึกถึงตอนที่ดิฉันเข้าวัดช่วงแรก ๆ เราก็ประเภททำอะไรเล็งผลเลิศไปหมด แล้วก็ว่าสิ่งที่เราทำนี้เหน็ดเหนื่อยเต็มทนแล้ว ใจเราก็กระตึ๊กกระตั๊กอย่างนี้แหละ

 : L1 :วันหนึ่ง ท่านอาจารย์ลงมาเทศน์ว่า “หมอ…กิเลสของหมอนี่เท่ากับต้นไม้ขนาดสามคนโอบก็ยังไม่รอบเลยนะ แล้วอาจารย์สั่งให้เลื่อยไป แทนที่หมอจะไปก้มหน้าก้มตาเลื่อยไปเรื่อยๆ ถ้าทำไปถึงที่มันขาดมันก็ล้มลงมาเองแหละ นี่ปรากฏว่าเลื่อยสองสามทีก็มายืนเท้าสะเอว มันควรเอียงทำมุมอย่างนั้น แล้วล้มลงมาอย่างนี้…อย่างนี้ แล้วไปยืนสะกดจิตต้นไม้จะให้มันล้ม มันยังไม่ล้มก็มาแบมือขอค่าจ้างอาจารย์ แล้วมันจะได้อะไรเล่า” ตอนนั้นเราก็นึก “ท่านอาจารย์พูดอะไรเกินเหตุ เราไม่ใช่คนอย่างนั้นสักหน่อย เราทำ เกิดมาในชีวิตไม่เคยเหนื่อยอย่างนี้เลย” พอตกมาถึงตรงนี้ก็หลับตาเห็นภาพจริงๆ คือว่าเรายังไม่ได้ทำจริง เราคิดเอาเอง

 : L1 :แรก ๆ เราบอกว่าวันนี้เราจะนั่ง 1 ชั่วโมง ตั้งนาฬิกาปลุกเอาไว้ “นี่น่ากลัวนาฬิกาคงไม่ปลุกนะ คง 2 ชั่วโมงได้แล้ว” ลืมตาขึ้นมาดู “ต๊าย ตาย 15 นาที” นี่แหละ แทนที่เราจะได้คิดว่า ใจเรามันโกงตัวเอง เรากลับคิดว่าหรือนาฬิกาเราแอบตายตรงไหน ลุกขึ้นไปดูนาฬิกาในครัว กิเลสมันพาให้เถลไถล ชักให้อ้างว่าพอพิสูจน์ว่านาฬิกาทุกเรือนตรงกัน นาฬิกาในใจของเราเดินเร็วเกินไปเอง คราวนี้เอาใหม่ ใจก็ไม่ได้ดีขึ้นไปกว่าเดิม คราวที่แล้วสงบได้ตั้ง 15 นาที คราวนี้ 10 นาทีก็ร้อนรุ่มกลุ้มใจไปหมดแล้ว “โอ๊ย! เหน็บจะกินหมดแล้ว” ใจที่ไม่ยอมฝึกปรือจะเป็นอย่างนี้ ถ้าเราไม่รู้เท่าทัน อีกหน่อยมันก็เอาไปเรื่อย ถ้านั่งไม่ติดเลยก็ไม่ต้องนั่งกัน หรือไม่อย่างนั้นก็มาไม้นี้อีก “แหม! วันนี้ก็เหนื่อยมากแล้ว ดึกแล้วด้วย ถ้านั่งเดี๋ยวพรุ่งนี้จะไม่ตื่น” ตกลงเรานอนเลย พอวันไหนที่ไม่ดึงนักหนา มันติดนิสัยแล้วขี้เกียจขี้คร้านที่จะทำงาน นั่งไม่ติดเลย พอนั่งได้หน่อยหนึ่ง โอ๊ย! นี่ชั่วโมงหนึ่งแล้ว แท้ที่จริง 5 นาทีเท่านั้น

 : L1 :พอเราได้คิด อยู่กับปัจจุบัน เราก็สอนตัวเองว่าจะฝึกนิสัยนี่นา ไม่ใช่ว่านั่งแล้วจะเป็นสมาธิ หรือไม่เป็นสมาธิ ถ้ามันบอกเราว่าง่วงมากนัก ก็ไม่เป็นไร เรานั่งเพื่อสร้างอุปนิสัย จะนั่งหลับก็ช่างหัว จะนั่งอย่างไรก็ได้ เราไม่หวังผล แต่ว่าถึงเวลานั่งเจ้าต้องนั่ง เมื่อโดนเข้าไม้นี้ ได้ผล เพราะเวลาที่ตัวมันเหนื่อยมากๆ นี่ กิเลสก็เหนื่อยตาม ปากบอกว่าคงไม่หลับหรอก แต่ว่าพอเราเอาจริงเอาจังกับมัน ช่างมัน มันจะหลับก็หลับ เรามีหน้าที่ดูลมหายใจ เราก็ดูลมหายใจไป พุทโธไป เราไม่ได้หวังผล ไม่ได้วอกแวก ปรากฏว่ามันลงรวมเป็นสมาธิ เราก็เลยพบว่า จริงๆ แล้ว เวลาเหนื่อยก็ดีไปอีกแบบหนึ่ง แต่ถ้าเราไปยึดหวังว่า เวลาเหนื่อยๆ นั่งปุ๊บต้องได้ คราวนี้ก็เลยไม่ได้ เพราะใจเราไม่ได้ตั้งใจประกอบเหตุ ไม่ได้ตั้งใจว่า หายใจเข้านะ หายใจออกนะ คิดไปแล้ว “คราวที่แล้วประเดี๋ยวเดียวก็ลง” ตกลงเราก็ไปคิด เมื่อไหร่จะเป็น เมื่อไหร่จะเป็น ตกลงมันก็ไม่เป็น

 : L1 :ถ้าใจไม่อยู่กับปัจจุบัน นิดเดียวแค่นี้มันก็ไปแล้ว เราไม่เห็น เรานึกว่าเราอยู่กับปัจจุบัน เราก็นึก “อะไรกัน ทีวันก่อนดี ทีวันนี้ทำไมไม่ดี จะเอาอย่างไรกัน” หงุดหงิดคับข้องใจไปอีก เวลาที่สติไม่เท่าทันใจของเรา เราจะเดือดร้อนอย่างนี้แหละ ทีนี้เราก็ฉลาดขึ้น แล้วเมื่อไหร่ผลไม่เป็นอย่างที่คาดหวังไว้ เรารู้ทันทีว่าใจของกระฉอกแล้ว ไม่ใช่ปัจจุบันแล้ว อนาคตบ้าง อดีตบ้าง

 : L1 :ทั้ง ๆ ที่เรามองไม่เห็น แต่จากผลของมัน เราเชื่อโดยไม่มีข้อสงสัยว่า ที่ผิดคือตัวเรา ไม่ใช่ทฤษฎีของพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปทะเลาะเบาะแว้ง ไม่ต้องไปหาเหตุผลข้างนอก พอผลไม่เป็นอย่างที่เราคาดหวัง กลับมาสำรวจตัวเราว่า ใจของเรานิ่งอยู่กับปัจจุบัน ทำงานจริง ๆ คือประกอบแต่เหตุจริงหรือเปล่า หรือเมื่อไหร่ที่เราบอกว่าเราปฏิบัติสัมมาทิฐิ แต่ปรากฏว่าคนเดือดร้อนไปหมด ตัวเราเดือดร้อนไปหมด ไม่ต้องไปถามใคร สัมมาทิฐิของเราหมุนกลับทิศทางเสีย จะเป็นอะไรก็ช่าง แต่กลับทิศทางเสียแล้ว ผลที่เกิดขึ้น ที่กำลังบ้าเลือดกันกลับสงบลง ก็จะบอกให้เรารู้เองแหละว่าเมื่อกี้สัมมาทิฐิของกิเลสนะ

 : L1 :จากประสบการณ์แบบนี้ เราจะค่อย ๆ ดึงใจของเรากลับมาเป็นปัจจุบันได้ง่าย บ่อยขึ้น และเราจะรู้ได้เร็วขึ้นว่าเมื่อไหร่มันกระฉอกออกไปจากปัจจุบันแล้ว จะค่อย ๆ ทำให้มีผลเกิดขึ้นกับใจเรา คือใจจะสงบและมีฐานแน่นหนา ความรู้สึกว่าใจสบาย อันนี้จะค่อย ๆ เตือนเรา แต่ถ้าสงบแล้ว เดี๋ยว ๆ มันพลิกกลับไปสงสัย ก็ให้รู้ว่าเราถูกหลอกอีกแล้ว ใจก็จะสงบเสงี่ยม อ่อนน้อมถ่อมตน กรรมวิธีนี้ ใครเขาจะแซว เขาจะว่า เราก็ดูใจเราเอง เรายังมีตะกอนอยู่นะ ภูมิคุ้มกันเรายังน้อยอยู่นะ อย่าให้ซิบแตก

 : L1 :มาตรการเหล่านี้จะค่อย ๆ มาเป็นพี่เลี้ยง อีกหน่อยใจที่เราทำถูกแล้ว เข้ามรรคแล้ว ทำให้เรามีความสุข ทำให้เราเชื่อและพยายามดึงใจของเราให้มาจดจ่ออยู่กับปัจจุบันความเป็นจริง และพิจารณาไตร่ตรองจนกระทั่งได้สัมมาทิฐิจริง ๆ นิสัยอันนี้จะค่อย ๆ เจริญขึ้น จนในที่สุดพออะไรมากระทบใจ เราไม่ต้องไปออกแรงฉุดรั้งบีบบังคับมากเท่าแรก ๆ มันจะค่อย ๆ เป็นอัตโนมัติของเรา

 : L1 :ถึงตรงนี้ เราก็เริ่มนึกสนุก และจะทำต่อเนื่องกันโดยไม่รู้สึก แต่ก่อนนั้นยังนึก ทำไมนะ คนอื่นเขาสนุกกันแล้ว เรามาทำอย่างนี้ เมื่อไหร่เราจะได้ดีมีสุข มันยังอิดออดยังโกงอยู่ พอพึงตอนที่เห็นผลอย่างนี้แล้ว ใจจะค่อยดิ้นรนอย่างนี้ จะรู้หน้าที่บางทีปากจะบอกว่าเหนื่อยเหลือเกิน ง่วงนะ ครั้นลงนอนเข้าจริง ๆ ปรากฏว่าตามลมเอง คล้าย ๆ รู้หน้าที่แล้ว พอถึงตรงนี้เราจะรู้สึกเบาตัว เบาใจขึ้นว่าเมื่อมีอะไรเกิดขึ้น สติจะมาคุ้มครองรักษาเรา

 : L1 :บางทีเราเคยคิด เวลาที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น ใจจะนิ่งดีและรับฟัง เรารู้แล้วก็วาง รู้แล้ววาง แต่พอผ่านพ้นไปแล้ว กิเลสขึ้นมาแซง “เอ๊ะ! เมื่อกี้ทำไมเราปล่อยให้เขาด่าเราอยู่ได้ เขาคงคิดว่าเรางี่เง่านะ ทำไมเราจึงไม่ตอบเขาออกไป” คือดีแล้วยังไม่อยากดี กิเลสยังมาแซวว่า “เดี๋ยวเขาว่าเรางี่เง่าไม่มีศักดิ์ศรี” มันตลกอย่างนี้แหละ บางทีสัญญา เงาของกิเลส ยังมาแซวเรา ถ้ารู้ไม่เท่าทัน เราก็ทุกข์เดือดร้อน แล้วได้เที่ยวไปถามครูอาจารย์ว่า "ท่านอาจารย์เจ้าคะ อย่างนี้ถูกหรือผิด เราควรตอบเขาไปไหม" คือยังจะอนุรักษ์กิเลสเอาไว้อีก ท่านอาจารย์ตอกกลับว่า "เราจะภาวนาเพื่อละกิเลสหรือภาวนาเพื่อสะสมกิเลสล่ะ"

 : L1 :บางทีภาวะปัจจุบันดีแล้ว เพราะสติที่ฝึกเอาไว้มาอยู่กับใจเรา มาคุ้มครองเราได้ แต่สัญญาความอาลัยรักในกิเลสยังมีอยู่ ผ่านพ้นไปด้วยดีแล้วยังไปเสียดายอีกว่าถูกหรือเปล่า เพราะฉะนั้นอย่าตกใจไป ใจของเราหลอกเราอยู่อย่างนี้เรื่อยๆ ถ้าเผื่อเรารู้คิดอย่างนี้ได้ เราระมัดระวังอยู่ พอเป็นอย่างนี้เราก็ดูและขบขันมัน อีกหน่อยก็จะค่อยๆ หายไป แล้วก็จะเป็นปัจจุบันมากขึ้นๆ

 : L1 :ถึงตรงนี้เราไม่อยากทำสมาธิใจก็เป็นสมาธิ และอันนี้จะเป็นฐานให้สติปัญญาพัฒนาไปเรื่อยๆ จนอีกหน่อยปัญญาอันนี้จะเป็นปัญญาญาณ พออะไรมากระทบเราปุ๊บ ใจเรายิ่งเป็นปัจจุบัน ตัวคำตอบก็จะโผล่ขึ้นมา ทำให้อะไรๆ ที่เป็นปัญหาในชีวิตเราคลี่คลายไปในทางที่ดีที่สุด ชีวิตเราก็จะปลอดภัยอยู่บนมรรค เราเดินไปๆ ถึงที่สุดจุดหมาย พอถึงตรงนี้เราไม่กังวล เราไม่ห่วง เราไม่ไปหาหมอดูหมอเดาที่ไหน เพราะรู้ว่าเราคือหมอดูที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด และเราจะดูของเราเอง และจำทำของเราให้เป็นมรรคอยู่ตลอดเวลา

 : L1 :หวังว่าที่พูดกันมานี้ จะเป็นกำลังใจในการปฏิบัติสำหรับทุกๆ ท่าน

96 ธรรมคือแรงใจ | ปิ๊งแว๊บ ! ปััญญาแจ่มบรรเจิด | อ่านธรรม | มูลนิธิเมตตาอาทร | เสบียงบุญ | วิถีอนุตตรธรรม |

โปรดอ่านกฎกติกาก่อนแสดงความคิดเห็น

1. โปรดงดเว้น การใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
2. ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นเวบบอร์ดโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไปและสมาชิก
ซึ่งทีมงาน 96rangjai มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้
3. หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป
4. ทีมงาน 96rangjai ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ต่อเจ้าของความคิดเห็นนั้น